Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 เหตุผลที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา

Posted By sanomaru | 24 พ.ย. 64
10,087 Views

  Favorite

เคยสังเกตตนเองไหมว่า ทำไมไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า หรือรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากการนอน แต่นอกจากนี้แล้วยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้เราอ่อนเพลียได้อย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย

 

1. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีแล้วมากเกินไป

คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ เมื่อเรารับประทานคาร์โบไฮเดรตเข้าไป ร่างกายจะย่อยให้เป็นน้ำตาลและนำไปเป็นพลังงานเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา แต่หากรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ขัดสีแล้วมากเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุให้รู้สึกเหนื่อยทั้งวันได้เลย เพราะเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และร่างกายจะพยายามทำงานให้ระดับน้ำตาลให้เลือดลดลง ตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินในปริมาณมากเพื่อเอาน้ำตาลออกจากเซลล์และกระแสเลือด

 

ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง เด็ก ๆ ที่กินขนมที่มีคาร์โบไฮเดรตขัดสีสูงก่อนการแข่งขันฟุตบอล รายงานความเหนื่อยล้ามากกว่าเด็กที่กินขนมที่ทำจากเนยถั่ว

 

2. การใช้ชีวิตประจำวันแบบนิ่งอยู่กับที่

หลายคนโดยเฉพาะวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุคิดว่าตนเองเหนื่อยเกินกว่าจะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (chronic fatigue syndrome, CFS) อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่า 1,500 คน พบว่า การออกกำลังกายอาจลดความเหนื่อยล้าในผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ ดังนั้น แทนที่จะจำกัดอยู่เพียงพฤติกรรมเดิม ๆ ในแต่ละวันอาจจะเพิ่มพฤติกรรมให้ตนเองกระฉับกระเฉงขึ้น เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนลิฟต์ เป็นต้น

 

3. การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่ชัดเจนของความเหนื่อยล้า หากได้นอนอย่างมีคุณภาพ ร่างกายจะตื่นมาด้วยความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า โดยผู้ใหญ่ควรนอนหลับเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

ภาพ : Shutterstock

 

4. การแพ้อาหาร

การแพ้อาหาร อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เป็นนผื่นแดง น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ รวมถึงความเหนื่อยล้าซึ่งเป็นอาการที่มักถูกมองข้าม โดยอาหารทั่วไปที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ได้แก่ กลูเตน ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเหลือง และข้าวโพด

 

5. การรับประทานพลังงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การบริโภคอาหารในปริมาณแคลอรีที่น้อยเกินไปก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ เพราะมันคือแหล่งพลังงานเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเคลื่อนไหว การหายใจ การรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ เมื่อแคลอรีน้อยเกินไป กระบวนการเมทาบอลิซึมหรือการเผาผลาญก็จะช้าลงเพื่อจะประหยัดพลังงาน ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า

 

6. การนอนผิดเวลา

ไม่เพียงแค่การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้า หรือเหนื่อยตลอดเวลา แต่การนอนผิดเวลาก็สามารถลดระดับพลังงานในตัวเรานำไปสู่ความรู้สึกอ่อนเพลียได้เช่นกัน เพราะเราต่างมีนาฬิกาชีวิตของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาในกลุ่มผู้ที่ทำงานเป็นกะหรือทำงานกลางคืน นอกจากนี้การตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ก็ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าได้อีกด้วย

 

7. การได้รับโปรตีนที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

การบริโภคโปรตีนจะเพิ่มกระบวนการเมทาบอลิซึมหรืออัตราการเผาผลาญในร่างกายได้มากกว่าการรับประทานคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน จึงช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าได้ ในงานศึกษาวิจัยหนึ่ง รายงานว่าระดับความเหนื่อยล้านั้นลดลงในกลุ่มนักศึกษาเกาหลีที่มีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ปลา เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่ว อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

 

8. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

เราสูญเสียน้ำไปกับการขับถ่าย ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และลมหายใจ ดังนั้น หากดื่มน้ำไม่เพียงพอก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ และนั่นจะทำให้เรารู้สึกถึงความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ กระหายน้ำ และแม้ว่าจะมีหลายคนบอกว่าควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน แต่ในความเป็นจริงแล้วปริมาณที่ดื่มอาจมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นกับน้ำหนัก อายุ เพศ และกิจกรรมที่ทำด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

9. การพึ่งพาเครื่องดื่มชูกำลัง

การพึ่งพาเครื่องดื่มชูกำลังช่วยให้สดชื่นได้อย่างรวดเร็ว แต่มันเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยในเครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยคาเฟอีน น้ำตาล กรดอะมิโน และวิตามินบี ซึ่งเครื่องดื่มชูกำลังเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้รู้สึกอ่อนล้าเมื่อผลจากคาเฟอีนและน้ำตาลหมดลง

 

10. มีระดับความเครียดสูง

โดยทั่วไปมนุษย์มีภาวะความเครียดเป็นเรื่องปกติ แต่ระดับความเครียดที่มากเกินไปก็เชื่อมโยงกับความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึ่งการรู้จักวิธีที่ดีในการจัดการความเครียดจะช่วยป้องกันไม่ให้เรารู้สึกเหนื่อยล้ามากเกินไปได้

 

นอกจากนี้การมีโรคประจำตัวบางโรคก็ยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้เช่นกัน เช่น เบาหวาน โลหิตจาง โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow