ส่วนในประเทศไทยพบมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยใหม่ประมาณปีละ 9,100 ราย และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือทุก ๆ 1 วันจะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิต 13 คน
จากข้อมูลข้างต้นแล้ว Plook Friends จึงอยากชวนน้อง ๆ วัยเรียนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HPV ว่าคืออะไร ถ้าอายุยังน้อย ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะเสี่ยงติดเชื้อไหม และหากติดเชื้อจะมีอาการอย่างไรบ้าง มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HPV และโรคมะเร็งปากมดลูกให้มากขึ้นกัน !
เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือ ไวรัส Human Papilloma Virus คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งมันสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ได้ มักพบบ่อยในเพศหญิง เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกมากมาย สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ปลายองชาต ปากช่องคลอด ทวารหนัก บริเวณเยื่อบุผิวปากมดลูก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
เชื้อ HPV มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ย่อย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
• HPV ชนิดก่อมะเร็ง - มี 14 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยคิดเป็น 70% รองลงมาคือสายพันธุ์ 45, 31 และ 33
• HPV ชนิดไม่ก่อมะเร็ง - เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 เป็นต้น ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่หรือหูดกามโรค
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV ที่เซลล์บริเวณปากมดลูก จนเกิดการอักเสบขึ้นในบริเวณนั้นและนำไปสู่ความผิดปกติของเซลล์ที่รุนแรงมากขึ้น ความน่ากลัวก็คือเมื่อมองจากภายนอกแล้วจะสังเกตอาการของโรคได้ยาก เพราะมักไม่มีอาการแสดงออกของโรคในระยะแรก ๆ ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในช่วงเวลาอันตรายหรือยากต่อการรักษาแล้ว
Good to know: เชื้อ HPV จะเข้าไปทำให้กลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์บริเวณปากมดลูกเสียและผิดปกติ ซึ่งมันจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะฉะนั้นถ้าเราหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปีก็จะช่วยให้รักษาได้ทันก่อนที่เชื้อจะลุกลามกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก
• คนที่มีคู่นอนหลายคน
• คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
• คนที่มีระบบภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอ
• คนที่มีคู่นอนติดเชื้อนี้มาก่อน
• คนที่มีคู่นอนและคู่นอนมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นมากกว่า 1 คน
Good to know: การสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีเวลามีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้
หลายคนอาจคิดว่าสาเหตุหลักของการติดเชื้อ HPV นั้นมาจากการมีเพศสัมพันธ์ คำตอบคือใช่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่เคยมีอะไรกับคนอื่นแล้วจะไม่เสี่ยงติดเชื้อ เพราะการติดเชื้อ HPV สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่น ติดเชื้อผ่านทางช่องปากจากการทำออรัลเซ็กซ์ ติดเชื้อผ่านทางผิวหนังจากการสัมผัสกับคนที่มีเชื้อนี้ หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันก็สามารถติดเชื้อได้
อย่างที่บอกไปว่าเชื้อ HPV จะใช้เวลาฟักตัวตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 10 ปี อาการเริ่มแรกที่สามารถสังเกตเห็นได้ก็คือจะมีหูดหรือผื่นคันขึ้นแถว ๆ อวัยวะเพศและทวารหนัก หากมีอาการดังกล่าว ควรงดการมีเพศสัมพันธ์แล้วไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ HPV ทันที นอกจากนี้ในบางคนอาจไม่มีอาการอะไรเกิดขึ้นเลย ถ้าอยากให้สบายใจว่าไม่ติดเชื้อก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ HPV ก็จะสามารถบอกได้ว่าเรามีความเสี่ยงหรือไม่
นอกจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18, 45, 31 และ 33 ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
• สูบบุหรี่เป็นประจำ
• ทานอาหารที่มีสารเคมีประกอบเป็นประจำ
• ทานยาคุมกำเนิดมาเป็นเวลานานติดต่อกันกว่า 5 ปี
• มีลูกคนแรกตอนอายุน้อยมาก หรือมีลูกหลายคน
• ติดเชื้อ HIV หรือเอดส์ ซึ่งมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ
• แม่ พี่สาว หรือน้องสาวเคยเป็นมะเร็งปากมดลูก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ถึง 9 สายพันธุ์ ถือเป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึง 90% การฉีดวัคซีน HPV จะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น โดยวัคซีนจะเริ่มป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อภายใน 1 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม
Good to know: หากอยากให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยสามารถฉีดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี
ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรรับการตรวจภายในทุก ๆ 1-2 ปี และควรตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งในระยะเริ่มแรก และระยะก่อนเป็นมะเร็งอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี โดยมีการตรวจด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) สูตินรีแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเชื้อ
2. การตรวจตินเพร็พ (ThinPrep Pap Test) วิธีการตรวจจะคล้าย ๆ แบบแรก คือสูตินรีแพทย์จะเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ แล้วนำส่งเข้าห้องปฏิบัติการ
3. การตรวจคัดกรองหาดีเอ็นเอของเชื้อ HPV (HPV DNA Test) เป็นการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อ HPV โดยตรง มีความแม่นยำค่อนข้างสูง นิยมใช้ตรวจเพื่อค้นหาโรคก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
4. การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) คือการสอดกล้องที่มีขนาดเล็กเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
5. การทดสอบด้วยกรดอะซิติก (Acetic Acid Solution Test) เป็นการใช้สารละลายกรดอะซิติกเพื่อทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติ กรดอะซิติกจะเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว
สุดท้ายนี้ก็อยากจะแนะนำว่าอยากให้ผู้หญิงทุกคนดูแลตัวเองให้ดี คอยสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายของเราอย่างสม่ำเสมอ และอย่ากลัวการไปตรวจภายใน เพราะการไม่ไปตรวจอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นในกรณีที่เรามีเชื้ออยู่ รวมถึงหากมีอาการผิดปกติอย่างปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด มีตกขาวบ่อยและเยอะผิดปกติ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ส่วนใครที่รู้สึกอายหมอก็สามารถรีเควสขอเป็นหมอผู้หญิงได้นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ชอบสด ไม่ใส่ถุงยาง เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ง่ายกว่าที่คิด !
• เราพร้อมจะมีเซ็กซ์ มีอะไรครั้งแรกกับแฟนแล้วใช่ไหม ?
• Sexting คืออะไร เราคุยเรื่องเซ็กซ์กันได้ไหม ?
• ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่มีตกขาวทุกเดือน ผิดปกติไหม
• กินยาคุมฉุกเฉินแล้วมีเลือดออก แปลว่าไม่ท้องใช่ไหม
• สิวขึ้นเยอะมาก ซื้อยาคุมมากินดีไหม ?
• เอาน้ำอสุจิมาทาหน้า ช่วยลดสิวจริงไหม
• 3 บทเรียนวิชาเพศศึกษาที่ห้องเรียนไทยไม่เคยสอน จากซีรีส์ขวัญใจวัยรุ่น SEX EDUCATION
• รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง
• คุณกำลังเป็นโรคหัวใจสลาย ‘Broken Heart Syndrome’ อยู่หรือเปล่า
แหล่งข้อมูล
- HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น
- ถามตอบเรื่องวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ที่ผู้หญิงต้องรู้
- คู่มือห่างไกลมะเร็งปากมดลูก โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)