เนื้อหาล้อเลียนเสียดสี (Satire or Parody) ล้อเลียนหรือทำให้ขบขัน มักเป็นการล้อเลียนเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน หรือล้อเลียนคนมีชื่อเสียง ข่าวประเภทนี้มีระดับความรุนแรงน้อยที่สุด
เนื้อหาไม่ตรงพาดหัว (False connection) ข่าวมีการเชื่อมโยงเนื้อหาที่ผิด รูปภาพไม่ได้เชื่อมโยงกับเนื้อหาข่าวจริง ๆ เน้นพาดหัวข่าวให้หวือหวาเพื่อดึงความสนใจให้คนกดเข้ามาอ่าน
เนื้อหาชี้นำ (Misleading) เป็นข่าวที่มีเนื้อหาข้อเท็จจริง แต่จงใจบิดเบือนเรื่องราวหรือใส่ร้ายผู้อื่นให้เข้าใจผิดโดยการชี้นำไปทางอื่นด้วยอคติของผู้เขียน
เนื้อหาที่ผิดบริบท (False Context) เป็นข่าวที่มีเนื้อหาข้อมูลจริง แต่นำบริบทอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหานั้นมาเชื่อมโยง เช่น ข่าวกู้ภัยจับงูเหลือมเข้าบ้าน เนื้อข่าวเป็นเรื่องจริง แต่นำภาพประกอบงูอนาคอนดาจากภาพยนตร์มาประกอบ ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่างูเหลือมที่ถูกจับนั้นตัวใหญ่มาก
เนื้อหาแอบอ้าง (Impostor) คือ ข่าวที่มีการแอบอ้างบุคคล แหล่งข้อมูล หรือแหล่งข่าวที่ไม่จริง หรืออ้างตัวเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ
เนื้อหาหลอกลวง (Manipulated) คือ ข่าวตัดต่อ หรือข่าวที่มีเนื้อหาข้อมูลหรือภาพข่าวจริง ๆ แต่ถูกดัดแปลงด้วยการปลอมหรือตัดต่อเพื่อสร้างเรื่องหลอกลวง
เนื้อหากุขึ้นมา (Fabricated) คือ ข่าวที่กุเรื่องขึ้นมาทั้งหมด เป็นข้อมูลเท็จ 100% มีเจตนาที่จะหลอกลวงใส่ร้าย โดยอาจจะทำเองหรือจ่ายเงินจ้างให้ผู้อื่นทำเพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง
นอกจากข่าวปลอมจะแบ่งประเภทตามระดับความรุนแรงของเนื้อหาแล้ว ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ ยังเสนอว่าข่าวปลอมนั้นสามารถแบ่งตามเจตนาความตั้งใจของผู้ส่งสารหรือผู้สร้างข่าว ดังนี้
1) แชร์ข่าวปลอมโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาปั่นป่วนหรือทำร้ายใคร แต่แชร์เพราะความไม่รู้ เช่น ผู้สูงอายุหลาย ๆ คน
2) แชร์เพราะตั้งใจปั่นป่วน ให้ร้าย โจมตีผู้อื่น มีเจตนาที่จะชักนำความคิดของสังคม และปิดบังความจริง
3) แชร์เพราะอยากสร้างความเกลียดชัง เป็นข่าวที่มีข้อเท็จจริงอยู่บ้างแต่เจตนาสร้างขึ้นเพื่อดูถูก เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชังให้ผู้ตกเป็นข่าว ข่าวประเภทนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุด เช่น การล่าแม่มดในโลกออนไลน์ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง มีการแบ่งเขาแบ่งเรา เป็นต้น
ข่าวพาดหัว ยั่วให้คลิกหรือคลิกเบต (Clickbait)
ข่าวที่ใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้หรือดึงดูดใจให้เราคลิกเข้าไปอ่าน ผู้สร้างข่าวอาศัยประโยชน์จากความสงสัยโดยให้ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ พอชวนให้สงสัย แต่ไม่พอจะขจัดความสงสัยนั้นจนต้องคลิกเข้าไปดูเนื้อหานั้น ๆ ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือความถูกต้องของข้อมูล แต่การพาดหัวทำให้คนหลงคลิกเข้าไปเพื่อเรียกยอดวิวในเว็บไซต์นั่นเอง เช่น ยายอายุ 90 กินสิ่งนี้แล้วยังหน้าเด็ก
โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)
เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งชักจูงทัศนคติของเราต่ออุดมการณ์หรือมุมมองบางอย่าง โดยการนำเสนอการให้เหตุผลเพียงข้างเดียว การโฆษณาชวนเชื่อมักทำซ้ำและกระจายในสื่อหลายชนิดเพื่อหวังผลให้เราเชื่อและคล้อยตามอุดมการณ์ที่เขาต้องการสื่อ เช่น น้ำหอมฟีโรโมน น้ำหอมที่มีกลิ่นทำให้เราหลงรักตัวเอง
ข่าวแฝงการโฆษณา (Sponsored content, Native Advertising)
รูปแบบโฆษณาที่ใช้รูปแบบเนื้อหาแนบเนียนไปกับเนื้อหาปกติในเว็บไซต์นั้น ๆ หรือแนบเนียนไปกับสิ่งแวดล้อมของแพลตฟอร์มของสื่อนั้น ๆ พร้อมทำหน้าที่ให้เนื้อหาที่คนต้องการรับรู้หรือรับชม โดยไม่ทราบว่าเป็นโฆษณาจนกว่าจะได้อ่านหรือดูจบ ข่าวแฝงการโฆษณานี้จะทำการแฝง (Tie-in) เรื่องราวของแบรนด์และสินค้าไม่มากเกินไป ทำให้คนอ่านหรือคนเสพสื่อนั้นรู้สึกว่าไม่ได้อ่านโฆษณาอยู่ เนื้อหาคอนเทนต์นั้นอาจจะเป็นทั้งการผลิตโดยผู้ลงโฆษณา หรือเป็นการร่วมกันผลิตระหว่างผู้โฆษณาและเจ้าของช่องทาง
ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax)
ข่าวที่ดัดแปลงข้อมูลเพื่อมุ่งสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้อ่าน ใช้เนื้อหาที่ตลกขบขันเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการล้อเลียนหรือเสียดสี
ข่าวที่ผิดพลาด (Error)
บางครั้งแม้แต่ข่าวที่เผยแพร่จากสํานักข่าวออนไลน์ที่เชื่อถือได้ ก็อาจมีความผิดพลาดได้เช่นกัน เช่น การเขียนข้อความที่ผิด ชื่อบุคคลหรือรูปภาพผิดจากเนื้อข่าวจริง ๆ ซึ่งทําให้ผู้รับสารเข้าใจไปในทิศทางอื่น หรือไม่เข้าใจในข่าวนั้น
ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan)
เป็นข่าวบิดเบือนข่าวสาร มักจะเลือกข้างโดยนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ ในขณะที่ฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนจะเสนอข่าวชื่นชมเกินจริง ไม่มีความเป็นกลางและชี้นำว่าใครดีกว่าอย่างชัดเจน
ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory)
เป็นเรื่องเล่าหรือบทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคนหรือกลุ่มคนที่นําเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ทฤษฎีสมคบคิดอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น เครื่องบินพาณิชย์ที่หายไปจากจอเรดาร์อย่างไร้ร่องรอยเกิดจากมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป ทฤษฎีสมคบคิดยังอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ เพื่อให้ประโยชน์ ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่ง เช่น เครื่องบินที่หายไปนั้นโดน CIA ยึดไว้เพราะต้องการของสำคัญที่อยู่ในเครื่องบิน
วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience)
คือข้อเขียนที่อ้างว่าเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง แต่จริง ๆ แล้วขัดแย้งหรือเข้ากันไม่ได้กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือไม่มีหลักฐานหรือความเป็นไปได้ใด ๆ มาสนับสนุน ไม่สามารถทำการตรวจสอบหรือขาดฐานความเป็นวิทยาศาสตร์ ในแวดวงข่าว วิทยาศาสตร์ลวงโลกจะมาในรูปแบบของบทความทางการแพทย์หรือบทความสุขภาพที่แฝงโฆษณายารักษาหรืออุปกรณ์เพื่อสุขภาพ โดยแอบอ้างว่าได้ผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้ว มีการสร้างภาพผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น กินฟ้าทะลายโจรแล้วจะช่วยรักษาโควิด-19 ให้หายได้อย่างแน่นอน
ข่าวที่ให้ข้อมูลผิด ๆ (Misinformation)
คือข่าวที่ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ข้อมูลอาจมีทั้งจริงและเท็จผสมกัน ผู้ส่งสารตั้งใจจะส่งข่าวออกไป แต่อาจจะไม่ได้ตระหนักว่าข่าวนั้นมีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่ เช่น ข่าวลือ
ข่าวหลอกลวง (Bogus)
คือข่าวปลอมที่เจตนาในการสร้างขึ้นมาและจงใจให้แพร่กระจาย มีวัตถุประสงค์เพื่อหลอกลวงอาจมีเนื้อเรื่อง ภาพ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นเท็จมาประกอบกัน ซึ่งรวมถึงการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าวหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ทุกวิธีการที่จะทําให้ข่าวนั้นดูเป็นข่าวปลอมที่สมบูรณ์มากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
• 10 จุดรู้ทัน Fake News เพราะวัยรุ่นยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ
• Critical Reading คืออะไร ช่วยให้รู้ทันเนื้อหาที่อ่านได้มากน้อยแค่ไหน
• Life Skills Outside the Classroom ทักษะชีวิตนอกห้องเรียน
• วัยรุ่นโปรดฟัง เล่นโซเชียลยังไงไม่ให้ทัวร์ลงจนต้องอัดคลิปขอโทษ
• 5 ประเด็นสังคมที่วัยรุ่นไม่ควร ignorance ในปี 2020
• ความตลกร้ายของวัฒนธรรมการข่มขืนในนิยายรักวัยรุ่น
• เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยผ่านหนังและสารคดี 14 เรื่อง
• 20 ข้อคิดดีๆ ที่วัยรุ่นควรเก็บไว้เตือนสติตัวเองตอนอายุ 20
แหล่งข้อมูล
รู้เท่าทันข่าว (News Literacy). (2562). มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.). ปทุมธานี: บริษัทวอล์คออนคลาวด์จำกัด