Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การวางแผนอนาคตของลูกแบบมีส่วนร่วม

Posted By Plook TCAS | 19 พ.ย. 64
4,995 Views

  Favorite

          ช่วงที่มาทำบทความคู่มือสำหรับผู้ปกครองมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมากขึ้น ปัญหาใหญ่ ๆ ที่พบคือ ผู้ใหญ่มักสื่อสารกับเด็ก ๆ ลูกหลานด้วยความยากลำบาก ยิ่งกับเด็กยุคใหม่นี้  การสร้างความเชื่อใจให้เด็ก ๆ ไว้วางใจกับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเป็นประเด็นหลักสำคัญก่อนที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ จะเข้าไปมีส่วนร่วมวางแผนในชีวิตของพวกเขา

          ปรับทัศนคติเดิม ๆ ท่องจำไว้ว่าคุณไม่ได้เลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตเพื่อฝากบั้นปลายของชีวิตตัวเองไว้ พวกเขามีอนาคตเป็นของเขาเอง คุณมีหน้าที่เลี้ยงดูให้เขาเติบโตให้การสนับสนุนช่วยเหลือให้พวกเขาพร้อมสำหรับอนาคต  การสื่อสารสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความสนิทสนมเป็นความเชื่อใจไว้ใจให้เขาพร้อมรับฟังรับคำแนะนำจากคุณ หากคุณกับพวกเขายังสื่อสารกันไม่ได้ อย่าเพิ่งใจร้อนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือจัดการวางแผนอนาคตให้เขาเด็ดขาด ท่องให้ขึ้นใจว่า อย่าดึงดันจะจัดการกับอนาคตของพวกเขา แค่เพียงตอบสนองความต้องการของตนเอง   

          มาดูเคล็ดลับสำคัญที่ไม่ยากเกินไปสำหรับการเริ่มต้น ปรับพื้นฐานทัศนคติใหม่ให้เขาพร้อมเปิดรับคุณเข้ามามีส่วนในชีวิตของเขา

 

เหตุผลต้องมาก่อนอารมณ์เสมอ

          ท่องให้ขึ้นใจว่าเด็กศตวรรษที่ 21  คาถาเป็นผู้ใหญ่เกิดมาก่อนหรือฉันคือพ่อคือแม่ผู้ให้กำเนิดเธอ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป! การเป็นพ่อเป็นแม่เป็นผู้ใหญ่กว่ายิ่งต้องพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเอง เด็ก ๆ ไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ของคุณ ไม่ว่าความผิดจะอยู่ที่ตรงไหน ใช้เหตุผลในทุกสถานการณ์  อดทนและใจเย็นให้มากที่สุด อย่าปล่อยพลังสิ่งร้าย ๆ ให้พวกเขา ยิ่งร้อนยิ่งใช้คาถา ยิ่งทำให้เขาต่อต้านอยากเอาชนะ มันยิ่งยากที่คุณเข้ามาในชีวิตของพวกเขาได้อีกต่อไป

 

รับฟังลูกเสมอ  

          ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาวะใดสถานการณ์ใดก็ตาม เมื่อลูกเอ่ยปากพูด พวกเราต้องรับฟังพวกเขาทันที ฟังให้จบ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีสาระหรือไม่มีสาระ สำคัญมากน้อยเพียงใดก็อย่าเพิ่งแสดงความรู้สึกใด ๆ  อย่าตั้งอคติ อย่าดุว่าก่อน อย่าขัดเปลี่ยนเรื่องหรือตัดบทจบ หากยังไม่พร้อมรับฟังจริง ๆ ก็บอกให้พวกเขาทราบก่อนว่า ขอแค่ประเด็นหัวข้อ ส่วนเนื้อหารายละเอียดให้มีเวลาพูดคุยกันทีหลังทันทีที่เสร็จธุระ แต่ข้อสำคัญอย่าลืมแล้วกัน!

 

เมื่อลูกขอความช่วยเหลือต้องตอบสนองเสมอ

          เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการพึ่งพา ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เช่นเดียวกับการพูดคุย คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรตอบสนองการร้องขอในทันที ต้องทำให้เขามองหาคุณ มองหาครอบครัวคนในบ้านก่อนไปขอความช่วยเหลือจากคนนอกบ้าน

 

พูดความจริงเสมอ

          แม้การพูดเล่นจะเป็นเรื่องสนุกสนานของคนในครอบครัว แต่ต้องจำไว้ให้แม่นว่า ไม่มีใครชอบการโกหก ไม่ว่าจะโกหกด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือแม้แต่การปกปิดความจริงโดยอ้างเหตุผลว่า พวกเขายังเป็นเด็กยังไม่พร้อม ยังไม่ถึงเวลาที่จะมารับรู้ เราต้องไม่ลืมว่ายุคนี้เป็นยุคของการไหลบ่าถาโถมของข้อมูลข่าวสาร บางทีถ้าเขาไม่รู้จากเรา แต่รู้จากคนอื่น อาจจะทำให้เราควบคุมผลลัพธ์และความรู้สึกที่ตามมาได้ยาก ดังนั้นใช้ความจริงเป็นเนื้อหาสำคัญในการสร้างการเรียนรู้และพูดคุยกับลูก 

 

รักษาสัญญาเสมอ

          การรับปากคำสัญญาที่ให้ไว้กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการรับปากแค่เพียงเปลี่ยนประเด็น หรือแค่เอาใจลูกขำ ๆ  ที่คุณอาจไม่ได้ใส่ใจจนเผลอหลงลืม แต่มันคือคำสัญญา เด็ก ๆ ไม่มีวันลืมและจำมันได้อย่างแม่นยำ อย่าทำลายความน่าเชื่อถือที่เด็ก ๆ มี ด้วยการไม่จริงจังกับการรับปากพวกเขา หากยังไม่พร้อมทำตามสัญญา ให้อธิบายเหตุผล และเปิดนัดหมายใหม่ หรือหากว่าคุณเผลอผิดสัญญาจริง ๆ ต้องรีบขอโทษบอกกล่าวพวกเขา และทำสิ่งนั้นทันทีเมื่อนึกขึ้นได้

 

หาเวลามีกิจกรรมร่วมกันเสมอ ๆ

          นึกถึงสมัยที่พวกเขาอยู่ในท้องของคุณแม่ คุณให้ความสำคัญและใช้เวลาอยู่กับพวกเขาตลอด 24 ชั่วโมงยาวนานเป็นปี ๆ  ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้นคุณก็ไม่อาจละเลย  สร้างความสนิทสนมเป็นเพื่อนกับเขาให้เหมือนเดิม ดูแลเอาใจใส่เหมือนตอนที่เขายังไม่รู้ความ จัดเวลาจากกิจวัตรการทำงานของคุณ ให้ความสำคัญมีกิจกรรมกับพวกเขาสม่ำเสมอ อาจไม่ต้องใกล้ชิดตลอดเวลา แต่ก็ให้มากที่สุด เชื่อเถอะว่าคนที่เขารู้จักคนแรกบนโลกนี้คือคุณแม่คุณพ่อ แล้วทำไมเขาจะไม่ให้คุณมีส่วนร่วมในชีวิตของเขา

 

ยอมรับความเป็นส่วนตัว และการตัดสินใจของลูกเสมอ

          การเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ คุณต้องเคารพและให้เกียรติความคิดความรู้สึกความเห็นของพวกเขา หากสิ่งใดไม่เหมาะสม ควรช่วยให้คำแนะนำอธิบายให้เขาเพิ่มเติม โดยที่การตัดสินใจนั้นเป็นของเขาเองไม่ใช่ของคุณ  อีกสิ่งที่ต้องท่องจำเป็นพิเศษ ทุกคนต้องการพื้นที่ส่วนตัว ให้เขามีพื้นที่ส่วนตัวทั้งกายภาพและจิตใจอย่างเหมาะสม ยอมรับความเป็นส่วนตัวอย่าเข้าไปวุ่นวายมากเกินเหตุ อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ไม่มีใครชอบถูกประจานเปรียบเทียบ อย่าเอาตัวเด็ก เอาเรื่องส่วนตัว หรือสิ่งที่พวกเขาทำ ไม่ว่าถูกหรือผิดไปเล่าต่อให้คนอื่นฟัง แม้จะด้วยความเอ็นดูสนุกสนานก็ตาม  และต้องไม่เปรียบเทียบพวกเขากับใคร ๆ ไม่ว่าพี่น้องหรือญาติของตัวเอง 

 

          เมื่อคุณปรับทัศนคติของตัวเองได้มากพอให้เป็นพื้นฐาน จนพวกเขาสนิทสนมไว้ใจคุณมากพอ การมีส่วนร่วมในชีวิตของพวกเขาก็จะไม่เป็นเรื่องยาก มันกลายเป็นเรื่องปกติในวงสนทนาวงกิจกรรมในครอบครัว สิ่งที่ผู้ปกครองและคุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับอีกเรื่องคือ อนาคต เรื่องเรียน อาชีพ สังคมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มีตัวแปรรอบตัวและบริบทมากมาย คุณควรลดความกังวล ความคาดหวัง ไม่แนะนำอย่างชักนำชักจูงไปในทิศทางที่เป็นความต้องการเฉพาะของคุณเอง สิ่งเหล่านั้นจะยิ่งเพิ่มความกดดัน ลดความมั่นใจในตัวเองของพวกเขา  ท่องให้ขึ้นใจว่า คุณมีหน้าที่เพียงแค่เป็นพี่เลี้ยงเป็นเพื่อนแนะนำสนับสนุนสร้างกำลังใจให้พวกเขาก้าวเดินไปในอนาคตอย่างมั่นคง เห็นมั้ยว่างานไม่ยากแค่นี้เอง

 

คราวนี้มาดู 2 เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยแนะนำให้คุณมีส่วนร่วมในการวางแผนสำหรับอนาคตของพวกเขา 

1. สนับสนุนมองหาจุดเด่นจุดด้อยเพื่อเพิ่มเติมทักษะ  

          จริง ๆ แล้วยุคสมัยนี้มีตัวช่วยในการเลี้ยงดูลูกหลานมากมาย และทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากหลักสูตรบทเรียนจากห้องเรียนตามปกติแล้ว คอยสังเกตว่าเด็ก ๆ มีความชอบ มีความถนัดคล่องตัวในเรื่องใด ควรขยายผลสนับสนุนให้ศักยภาพของพวกเขาเด่นชัดขึ้น ทักษะไหนที่ลูกขาดควรช่วยเพิ่มเติม แนะนำให้เขาเรียนรู้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเขาในอนาคต อยากเรียนอะไร อยากทำงานอะไร ลองให้เขาเพิ่มเติมเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ  เรียนรู้ในการใช้ชีวิต การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน  ไปฝึกทักษะที่โลกอนาคตต้องการสำหรับประกอบอาชีพ อย่างเช่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฝึกการอดทนอดกลั้น การรอคอย การทำงานเป็นทีม  เพิ่มเติมทักษะสร้างความคิดสร้างสรรค์   

          อีกสิ่งที่สำคัญคุณต้องไม่ลืมดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย ฝึกการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ให้ถูกต้องให้เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับอนาคตของพวกเขา

 

2. ช่วยหล่อหลอมและขัดเกลาตัวตน 

         พวกเขากำลังเติบโต การหล่อหลอมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมารวมให้เป็นบุคลิกของตัวเอง เป็นหน้าที่ที่คุณต้องมีส่วนช่วยเป็นที่ปรึกษา ช่วยสนับสนุนแนะนำให้เขาค้นหาเรียนรู้ความเป็นตัวเอง ค้นพบตัวตน สร้างบุคลิกภาพที่ดีน่าประทับใจของตัวเขาเพื่ออนาคต สร้างความสมดุลให้ชีวิต ไม่ว่าความมั่นใจ การแสดงออก จริยธรรมศีลธรรม เรื่องของความดีความชั่ว สร้างสรรค์เพื่อตัวเองและจิตอาสาเพื่อผู้อื่น ช่วยเขาขัดเกลาบุคลิกภาพให้เหมาะสมกับการไปสู่เส้นทางอนาคตอาชีพการทำงานอย่างที่พวกเขาอยากเป็นและต้องการ

 

         สุดท้ายแล้ว เราจะเห็นว่าทั้งหมดคือความอบอุ่นในครอบครัว ความสุขในบ้าน การพูดคุยสื่อสารมีความสัมพันธ์ การเป็นเพื่อนที่ดีกับลูก ถึงแม้จะมีเรื่องขัดใจ ไม่เป็นที่น่าพอใจตามสถานการณ์ต่าง ๆ บ้างก็ตาม แต่ต้องถือว่าเป็นพื้นฐานที่มั่นคง การวางแผนอนาคตของลูกแบบมีส่วนร่วมของคุณจะเป็นไปอย่างอัตโนมัตินั่นเอง  ลองคิดดูว่า คุณจะมีความสุขมากแค่ไหนที่เห็นเด็ก ๆ ลูกหลานของคุณมีพื้นฐานเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรงเต็มไปด้วยความมั่นใจ และศักยภาพที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเดินไปตามเส้นทางชีวิตของเขาในอนาคตที่คุณและเขาช่วยกันวางแผนออกแบบร่วมกัน

 

อังสนา  ทรัพย์สิน

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.orghttp://www.oecd.orghttps://www.familylives.org.uk,  https://www.amarinbabyandkids.comhttps://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow