Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีรับมือ อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์

Posted By Plook Parenting | 17 พ.ย. 64
3,521 Views

  Favorite

อายุครรภ์ที่มากขึ้น ปัญหาเรื่องหลังยิ่งตามมาสำหรับแม่ท้อง เนื่องจากยิ่งครรภ์มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากขึ้น หลังของแม่ท้องยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย การเตรียมพร้อมสำหรับภาวะปวดหลังต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

ผู้หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 50-80 มักมีอาการปวดหลัง ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว น้ำหนักของลูกในครรภ์ และความแข็งแรงของแม่ท้อง โดยอาการปวดหลังจะเป็นการปวดหลังช่วงล่าง มีอาการตึงกล้ามเนื้อและเอ็น เพราะกล้ามเนื้อส่วนนี้ต้องช่วยพยุงครรภ์ที่มีขนาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม่ท้องจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาอาการปวดหลังไว้ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย เพื่อให้แม่ท้องมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาการปวดหลังมากวนใจ

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีการ

1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ปวดหลัง

แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ปวดหลังได้ เช่น การนั่งหลังงอ การใช้หลังนั่ง การลุกนั่งที่ไวเกินไป การเดินหลังงอ การยืนเป็นเวลานาน การยกของหนัก การนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน การขยับตัวไวเกินไป การก้มลงหยิบของ เป็นต้น แม่ท้องควรปรับพฤติกรรมให้ทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลง เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ การเก็บของที่พื้นก็ควรเปลี่ยนเป็นการย่อแทน

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

แม่ท้องควรออกกำลังกายง่าย ๆ ที่ไม่เป็นภาระร่างกายมากนัก อาทิ การเดิน ว่ายน้ำ โยคะ ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ช่วยลดอาการปวดหลัง แต่แม่ท้องต้องออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง ไม่หักโหม และเมื่อรู้สึกเจ็บควรงดออกกำลังกายทันที

3. จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ

แม่ท้องและคุณพ่อควรจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลังของแม่ท้อง อาทิ เข็มขัดคาดพุงสำหรับพยุงน้ำหนักครรภ์ เก้าอี้ที่ช่วยซัพพอร์ตหลัง กางเกงพยุงครรภ์ กระเป๋าประคบน้ำอุ่น-เย็น ฯลฯ ทั้งนี้การจัดหาอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ แม่ท้องและคุณพ่อควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์นั้น ๆ เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่ท้องและลูกในครรภ์

 

ภาพ : Shutterstock

 

4. ปรับเปลี่ยนท่านอนให้เหมาะสม

เมื่อท้องเริ่มใหญ่ แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการนอนหงาย ควรนอนตะแคงแทนโดยหาหมอนมาหนุนระหว่างขาไว้ หรือหนุนหมอนข้างที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้แม่ท้องนอนตะแคงซ้าย เพราะจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงแม่ท้องและลูกในครรภ์ได้ดีขึ้น

5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

การควบคุมน้ำหนักตัวแม่ท้องให้อยู่ในเกณฑ์ นอกจากจะช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อหลังรับน้ำหนักมากเกินไปแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพกายของแม่ท้องแข็งแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวแม่และลูกในครรภ์นั่นเอง

6. เลือกรองเท้าให้เหมาะสม

ถึงจะตั้งครรภ์แต่แม่ท้องก็สามารถใส่ส้นสูงได้ โดยควรสูงไม่เกิน 1-2 นิ้ว และไม่ควรใส่เป็นระยะเวลานาน เพราะรองเท้าส้นสูงจะส่งผลให้หลังของแม่ท้องทำงานหนักมากเกินไป หากแม่ท้องทรงตัวหรือถ่ายน้ำหนักผิดสัดส่วนก็อาจทำให้หลังยิ่งเกร็ง อาการปวดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากแม่ท้องต้องออกไปนอกบ้านเป็นเวลานานควรสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยที่ช่วยพยุงน้ำหนักหรือกระชับกับเท้า ช่วยในการทรงตัว และเคลื่อนที่ได้คล่องแคล่วสะดวกสบายจะดีที่สุด

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกรองเท้าของแม่ท้องได้ที่นี่

แม่ท้อง ต้องใส่รองเท้าแบบไหนถึงจะปลอดภัย เข้ากับสรีระ

 

อาการปวดหลังของแม่ท้องขณะตั้งครรภ์เป็นอาการที่พบได้บ่อยและสามารถทำให้บรรเทาลงได้ แต่หากแม่ท้องท่านใดยังคงมีอาการปวดหลัง และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์โดยเร็ว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดมีผลกับครรภ์ รวมไปถึงอาจทำให้มีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมาได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow