ไม่ว่าเราจะถนอมอาหารด้วยวิธีใด แต่อาหารเหล่านั้นก็มีโอกาสเน่าเสียได้ การตรวจสอบว่าอาหารเน่าเสียหรือไม่ มีหลากหลายวิธี โดยไม่ต้องเข้าห้องแล็บวิทยาศาสตร์ แต่เบื้องต้นเราสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเราเป็นตัวบ่งบอก
1. พิจารณาด้วยตา เชื้อราหรืออาหารที่ขึ้นรา เป็นอาหารเสียที่ดูได้ง่ายที่สุด เราจะมองเห็นเส้นใยของราและการเปลี่ยนสีไปของอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ น้ำพริก ขนมปัง หรือของกินชนิดต่าง ๆ หากมีเชื้อราขึ้นอยู่ เราก็สามารถมองเห็นได้ทันที แต่อย่าพยายามที่จะตัดหรือตักเอาส่วนที่เป็นราเท่าที่ตาเห็นออกไป แล้วรับประทานส่วนที่เหลือ เพราะจริงๆ แล้วเส้นใยของราสามารถแทรกซึมเข้าไปในอาหารได้ลึกกว่าที่เราคิด
2 พิจารณาจากการดม อาหารบางชนิมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป มันอาจกลายเป็นกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ต้องระวังในการดม เพราะหากอาหารนั้นขึ้นรา การสูดดมอาจทำให้สปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างากายของเราและเกิดอาการแพ้ได้
3 พิจารณาจากการชิม หากสีหรือสภาพอาหารรวมถึงกลิ่นยังดูปกติดี การพิจารณาว่าอาหารนั้นเน่าเสียหรือไม่อีกวิธีหนึ่งคือ การชิม ซึ่งหากมีการเน่าเสียเกิดขึ้น อาหารจะมีรสเปรี้ยวหรือรสขม เป็นต้น เช่น นม ให้คายอาหารนั้นทิ้งและบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกาย
4. พิจารณาจากวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ หากเป็นอาหารกระป๋องหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะมีการระบุวันหมดอายุของอาหารเหล่านั้นไว้ที่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาหารบางประเภทอาจไม่ได้เสียในทันทีเมื่อถึงวันหมดอายุ แต่สูญเสียรสชาติหรือคุณค่าของอาหารนั้น ๆ ไปแล้ว ดังนั้น หากจะฝืนรับประทานก็ควรคำนึงถึงวันหมดอายุร่วมกับการพิจารณาอื่น ๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นไปได้ควรจัดการทิ้งตามวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์จะดีกว่า
อาหารเกิดการเน่าเสียได้จากจุลินทรีย์ 3 ชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย รา และยีสต์ พวกมันเป็นต้นเหตุให้สีของอาหาร รูปลักษณ์ กลิ่น หรือรสชาติของอาหารเปลี่ยนไป อาหารบางชนิดมีการบูดหรือเน่าเสีย แม้ดมกลิ่นแล้วก็ยังไม่ทราบว่าเสียหรือไม่ แต่เมื่อชิมเข้าไปจะพบว่าโดยส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยวหรือขม เช่น นม เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เมื่อในอาหารมีน้ำ ยิ่งอาหารมีน้ำมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเสียง่ายขึ้นเท่านั้น และหากปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์ จุลินทรีย์เหล่านี้จะเติบโตในอาหารของเราด้วยปัจจัยที่เหมาะสมต่าง ๆ ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ รังสี สารอาหาร สภาพความเป็นกรดเบส เป็นต้น จุลินทรีย์บางชนิดจะนำเอาคาร์โบไฮเดรตมาเป็นอาหาร โดยปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อย และสร้างของเสียอย่างกรดแลกติกออกมา เช่น Lactobacillus, Leuconostoc, Pediococcus,Streptococcus หรือสร้างกรดแอซิติกออกมา เช่น Acetobacter, Gluconobacter จึงทำให้อาหารนั้นมีรสเปรี้ยวได้
ตัวอย่างของนมจืดที่เสียและมีรสเปรี้ยว เกิดจากแลกโทสในนมทำปฏิกิริยากับน้ำโดยมีจุลินทรีย์ที่ปล่อยเอนไซม์ออกมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จึงกลายเป็นกรดแลกติก
Lactose + Water → Lactic Acid
C12H22O11 + H2O → 4C3H6O3