ความฉลาดทางการเงิน คือ ความสามารถในการหารายได้ บริหารค่าใช้จ่าย เก็บออม และลงทุน ซึ่งฟังดูแล้วกว้างมาก แต่ถ้าจะสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจง่าย ความฉลาดทางการเงิน หมายถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเงินของตัวเอง เช่น เราเคยใช้เงินที่พ่อแม่ให้มาแต่ละอาทิตย์ได้ไม่ถึงอาทิตย์เลยเพราะหมดก่อนทุกทีจนต้องไปขอหยิบยืมจากเพื่อนตลอด แต่พอรู้ตัว เราก็ปรับเปลี่ยนิสัยและบริหารเงินให้ใช้ได้ทั้งอาทิตย์ แบบนี้เรียกว่ามีความฉลาดทางการเงินในการบริหารค่าใช้จ่าย อีกตัวอย่างหนึ่งคือเราอยากซื้ออัลบั้มใหม่ของไอดอลที่ชอบโดยไม่ขอเงินพ่อแม่ผู้ปกครอง เราเลยตั้งเป้าเก็บออมจนสามารถซื้ออัลบั้มไอดอลที่ชอบได้ด้วยเงินของตัวเอง แบบนี้เรียกว่าเรามีความฉลาดทางการเงินในการเก็บออม ซึ่งความฉลาดทางการเงินจะครอบคลุมอยู่ 4 เรื่องด้วยกันดังนี้
• การหารายได้ (Earning)
• การใช้จ่าย (Spending)
• การออม (Saving)
• การลงทุน (Investing)
สังคมไทยเราไม่ค่อยสอนเรื่อง Money Literacy หรือความรู้ด้านการเงินในโรงเรียนมากนัก ทำให้เยาวชนไม่มีความรู้ด้านการเงินที่พอจะช่วยให้พวกเขามีความฉลาดด้านการเงินมากขึ้น แถมยังมีการสร้างมายาคติฝังลึกเกี่ยวกับความความฉลาดทางกางเงินที่ไม่ถูกต้อง บางคนถึงขั้นคิดว่าความฉลาดทางการเงินหรือความรู้ด้านการเงินเป็นเรื่องของคนรวย คนมีตังค์ แต่คุณอภิชิต บาเนอร์จี (Abhijit V. Banerjee) และ เอสแตร์ ดูโฟล (Esther Duflo) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจน กล่าวไว้ว่า ความจริงแล้วคนที่ไม่ค่อยจะมีตังค์ต่างหากที่ยิ่งต้องมีความฉลาดทางการเงินเป็นพิเศษเพื่อที่จะประคับประคองสุขภาพการเงินของเราให้ไม่ดิ่งลงเหวแย่ไปกันใหญ่ มีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Money Fitness) มีสภาวะทางการเงินที่เหมาะสมแก่การใช้ชีวิต เอาตัวรอดในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ขัดสน และมีพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งในอนาคต
ฉลาดทางการเงินมาก
• รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์สินและหนี้อยู่เท่าไหร่เพราะทำบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอย่างสม่ำเสมอ
• ออมเงินอย่างสม่ำเสมอ ได้เงินมาเมื่อไหร่ก็เก็บออมก่อน
• ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในแต่ละเดือน และพยามใช้จ่ายไม่ให้เกินงบนั้น
• ซื้อของตามความจำเป็น เน้นประโยชน์ คุณภาพและราคาก่อนซื้อทุกครั้ง
• ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเราก็มีเงินสำรองเพียงพอใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือน (หรือ 1 ปี)
• มีแผนเตรียมตัวสำหรับการเกษียณอายุไว้แล้ว
ฉลาดพอใช้ได้
• รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์สินและหนี้อยู่เท่าไหร่ แต่ไม่ได้ทำบัญชี
• ออมเงินบ้าง ถ้าเมื่อไหร่ที่มีเงินเหลือก็จะเก็บออม
• ตั้งงบใช้จ่ายรายเดือนไว้แต่ก็อาจใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้บ้าง
• บางครั้งเห็นของที่ชอบก็ซื้อเลยทันที โดยอาจไม่ได้ใช้ และพบว่าของมันดีแต่ราคาแพงไปหน่อย
• ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเราก็มีเงินสำรองเพียงพอใช้จ่ายไม่เกิน 3 เดือน
• ไม่แน่ใจว่าจะเตรียมตัวสำหรับการเกษียณอายุได้
ต้องปรับปรุง
• มีทรัพย์สินและหนี้อยู่เท่าไหร่ตอนนี้ตอบไม่ได้ ต้องขอกลับไปดูก่อน
• ไม่เคยออมเงินได้เลย เป็นเรื่องไกลเกินฝันจริง ๆ
• มีค่าใช้จ่ายอะไรก็จ่าย ไม่เคยตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในแต่ละเดือนเลย
• ทุกครั้งที่เห็นของที่ชอบก็จะซื้อทันทีและพบว่ามีของที่ซื้อมาไม่ได้ใช้งานเยอะมาก
• ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นก็ไม่มีเงินสำรองใช้จ่ายเลย
• ไม่เคยคิดเกี่ยวกับการเตรียมตัวสำหรับการเกษียณอายุเลย
ความฉลาดทางการเงินนั้นสร้างได้ด้วยการปลูกฝังความรู้เรื่องการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะว่ากันว่าแม้จะมีเงินมากคนเราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้เสมอไป แต่เป็นความรู้ทางการเงินที่มากพอต่างหาก เช่น หากในอนาคตเราถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง เราคงคิดว่าเรารวยแล้ว เอาเงินไปใช้จ่ายโดยไม่วางแผนการใช้เงินเลย ทำให้เงินหมดตั้งแต่ปีแรก แทนที่จะเก็บออมเงินไว้หรือเอาไปใช้หนี้ให้หมด แต่กลับกลายเป็นว่าเราเอาเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำให้ต้องเดือดร้อนเมื่อต้องจ่ายในสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นแม้จะมีเงินมากแต่ก็กลับต้องพบปัญหาทางการเงินอยู่ดีหากไม่มีความฉลาดทางการเงิน
1. ความสามารถในการหารายได้ มีความรู้เพื่อหารายได้ให้ตัวเอง ขยันตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัยในตัวเอง มีความคิดในเรื่องของการหารายได้ ใช้ความสามารถที่มีให้เปลี่ยนเป็นเงินได้ หางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง เช่น ทำงานพิเศษ ทำงานพาร์ทไทม์ รับจ้าง ขายของออนไลน์ ฯลฯ
2. ความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เมื่อได้เงินมาแล้วเราก็ต้องเอาไปใช้ในรายการที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ค่ารถไปโรงเรียน ค่าอาหารเช้า อาหารกลางวัน ค่าอุปกรณ์การเรียน ควรนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก่อน ไม่ใช่เอาเงินจำนวนนั้นไปซื้อของที่ไม่จำเป็น จนทำให้ไม่มีเงินจ่ายในเรื่องที่ควรจะจ่าย
3. ความสามารถในการออม รู้จักเก็บก่อนใช้ ไม่ใช่ใช้ก่อนเก็บ หากมีเงินก้อนพิเศษเข้ามาก็ต้องรู้จักจัดแบ่งเงินที่เหลือให้เหมาะสมตามความจำเป็น ไม่ใช้หมดเลยทีเดียว เช่น เงินก้อนนี้เก็บเพื่อเรียนพิเศษ เงินก้อนนี้เก็บเพื่อไปเกาหลี หรือว่าเงินก้อนนี้เก็บเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย แบ่งเงินออกไปตามความจำเป็นที่จะต้องใช้ในอนาคต
4. ความสามารถในการลงทุน คนสมัยก่อนจะถูกสอนว่าทำงานหนักแล้วเก็บเงินไปฝากธนาคารดีที่สุด โตไปจะได้สบายเพราะเงินฝากประจำสมัยก่อนจะได้ดอกเบี้ย 10-12% แต่ปัจจุบันจะอยู่ที่ 0.5-1% แถมยังโดนภาษีอีกต่างหาก ดังนั้นเราต้องรู้จักหาความรู้เรื่องการลงทุนให้เหมาะกับสไตล์ตัวเองเพื่อให้มันงอกเงยในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง
• รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
• เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
• รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
• ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
• แนะนำวิชาน่าเรียนที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่มีเรียนบนโลกออนไลน์ฟรี
• รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !
• เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
• เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก
• รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
• The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !
แหล่งข้อมูล
- ความรู้ทางการเงิน 4 ด้าน กับ 6 คำถามวัดความฉลาดทางการเงิน