วิตามินและแร่ธาตุเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย พวกมันทำงานหลายร้อยอย่าง แต่ก็ใช่ว่าการมีวิตามินและแร่ธาตุมาก ๆ ในร่างกายจะเป็นเรื่องดีเสมอไป เพราะหากได้รับในปริมาณที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป วิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้ทั้งสิ้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดเพื่อสุขภาพร่างกายของเรา คือการรับประทานอาหารเพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่เพียงพอ หรือเท่าที่ร่างกายต้องการ
ในทุก ๆ วัน ร่างกายของเราจะมีการสร้างผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ และเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งนำวัตถุดิบมาจากเลือดแดงที่อุดมไปด้วยสารอาหารและออกซิเจน นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งกระแสประสาทระหว่างสมองกับร่างกายเป็นระยะทางไกล ๆ ในการทำงานประสานกัน และทั้งหมดที่กล่าวมาจำเป็นต้องอาศัยวิตามินและแร่ธาตุ โดยที่วิตามินหรือแร่ธาตุบางส่วนร่างกายก็ไม่สามารถผลิตได้เองในปริมาณที่เพียงพอ
วิตามินและแร่ธาตุ ทำหน้าที่แตกต่างกัน และยังมีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน เนื่องจากวิตามินเป็นสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งสามารถสลายได้ด้วยความร้อน อากาศ หรือกรด ส่วนแร่ธาตุนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่แร่ธาตุที่ผ่านมาจากดิน น้ำ พืช สัตว์ หรือของเหลวอื่น ๆ จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายกว่า ขณะที่วิตามินจากอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายยากกว่า เพราะสูญเสียไปผ่านการปรุง การเก็บรักษา หรือสัมผัสกับอากาศ
วิตามินที่ร่างกายต้องการมีวิตามินที่จำเป็นทั้งสิ้น 13 ชนิด โดยแบ่งเป็น 1) วิตามินที่ละลายในไขมัน 2) วิตามินที่ละลายน้ำได้ วิตามินเหล่านี้จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์ การเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของร่างกาย
วิตามินที่ละลายในไขมัน วิตามินเหล่านี้ดูดซึมได้ง่ายเมื่อบริโภคอาหารที่มีไขมันเข้าไปเล็กน้อย ได้แก่
Vitamin A (retinol)
Vitamin D
Vitamin E (tocopherol)
Vitamin K
วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่
Vitamin C (ascorbic acid)
Vitamin B1 (thiamine)
Vitamin B2 (riboflavin)
Vitamin B3 (niacin)
Vitamin B5 (pantothenic acid)
Vitamin B6 (pyridoxine)
Vitamin B7 (biotin)
Vitamin B9 (folate)
Vitamin B12 (cobalamin)
วิตามินมีอยู่ในอาหารหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถรับประทานวิตามินเป็นอาหารเสริมได้ เพื่อให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ เพราะการได้รับวิตามินไม่เพียงพอหรือมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพในหลาย ๆ ประการ สำหรับวิตามินที่ละลายในน้ำ เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที และไม่ถูกสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ยกเว้นวิตามินบี 12 ที่สามารถเก็บไว้ในตับได้นานหลายปี
แร่ธาตุเป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูก สร้างฮอร์โมน ควบคุมการเต้นของหัวใจ แร่ธาตุบางชนิดทำหน้าที่อิเล็กโทรไลต์ ซึ่งร่างกายใช้อิเล็กโทรไลต์เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ รวมถึงรักษาสมดุลกรดเบสและสมดุลของน้ำ
แร่ธาตุหลักที่ร่างกายต้องการ
แคลเซียม (Calcium)
คลอไรด์ (Chloride)
แมกนีเซียม (Magnesium)
ฟอสฟอรัส (Phosphorus)
โพแทสเซียม (Potassium)
โซเดียม (Sodium)
ซัลเฟอร์ (Sulfur)
แร่ธาตุรองที่ร่างกายต้องการ
โครเมียม (Chromium)
ทองแดง (Copper)
ฟลูออไรด์ (Fluoride)
ไอโอดีน (Iodine)
เหล็ก (Iron)
แมงกานีส (Manganese)
โมลิบดีนัม (Molybdenum)
ซีลีเนียม (Selenium)
สังกะสี (Zinc)
มิลลิกรัม เป็น 1 ใน 1000 ของกรัม โดยทั่วไปใช้ตัวย่อว่า mg
ไมโครกรัม เป็นหน่วยย่อย 1 ใน 1,000,000 กรัม โดยทั่วไปใช้ตัวย่อว่า μg หรือ mcg