ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ออกซิเจนอะตอม กับออกซิเจนโมเลกุลนั้นมีความแตกต่างกัน โดยทั่วไปออกซิเจนอะตอมมีสัญลักษณ์เป็น O แต่ออกซิเจนโมเลกุลมีสัญลักษณ์เป็น O2 และออกซิเจนที่เราใช้หายใจกันก็คือ ออกซิเจนโมเลกุลหรือ O2 เป็นออกซิเจนที่ประกอบไปด้วยออกซิเจน 2 อะตอมเชื่อมต่อกันด้วยพันธะโควาเลนต์ จึงมีความเสถียร เพราะโมเลกุลของออกซิเจนมีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับสารประกอบอื่น ๆ น้อยกว่าออกซิเจนอะตอม ซึ่งออกซิเจนโมเลกุลนี้มีอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 21% ของอากาศทั้งหมดในโลกของเรา
ส่วนออกซิเจนอะตอมนั้นไม่มีอยู่ตามธรรมชาติบนโลก เนื่องจากพวกมันขาดความเสถียร จึงมีแนวโน้มที่จะทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบหรือสารประกอบอื่น ๆ ทางเคมี เพื่อให้เกิดความเสถียรขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอวกาศมีออกซิเจนลักษณะนี้อยู่ถึง 96% เลยทีเดียว แต่เราก็ไม่สามารถนำมาหายใจได้อยู่ดี เพราะมนุษย์ต้องการออกซิเจนระดับโมเลกุลหรือ O2 สำหรับการหายใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมากในอวกาศ
โลกของเราเป็นดาวเคราะห์ที่มีแรงดึงดูด เราจึงสามารถยืน เดิน นั่ง นอน บนผิวโลกของเราได้อย่างสบาย แต่แรงดึงดูดนี้ไม่เพียงดึงดูดร่างกายของเราหรือวัตถุต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำหนักเท่านั้น แต่ยังดึงดูดมวลอากาศ ซึ่งเป็นที่มาของความดันอากาศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยิ่งสูงขึ้นไป หรือยิ่งห่างแกนโลกออกไปมากเท่าไร แรงดึงดูดหรือสนามโน้มถ่วงของโลกก็ยิ่งลดลง ออกซิเจนยิ่งเบาบาง ความดันบรรยากาศลดลง ดังนั้น เมื่ออยู่ในที่สูง เราจึงรู้สึกได้ว่าหายใจลำบาก แต่เมื่อหลุดออกจากสนามโน้มถ่วงโลกแล้วและไม่มีแรงกระทำอีกต่อไป ออกซิเจนจะเริ่มอยู่ห่างไกลกันออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ อะตอมของออกซิเจนในอวกาศที่มีความไม่เสถียรจะจับตัวแน่นกับละอองดาว ขัดขวางการรวมตัวกันเองเป็นโมเลกุลออกซิเจน จึงกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีออกซิเจนโมเลกุลที่เราใช้หายใจได้อยู่ในอวกาศเลย และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักบินอวกาศหรือมนุษย์อวกาศต้องสวมชุดอวกาศเมื่ออยู่นอกยานอวกาศนั่นเอง