นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกับบางเรื่องเรามีวิธีแก้ปัญหาที่เวิร์ค แต่บางเรื่องกลับไม่ได้ผล เพราะแต่ละปัญหามักจะมีความเฉพาะตัวที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางในการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาทางการเงินก็ต้องใช้ความรู้ด้านการเงินเข้ามาช่วย ส่วนปัญหาความรักก็คงต้องใช้สกิลด้านศิราณีกันสักหน่อย
แต่ไม่ว่าปัญหาร้อยแปดจะแตกต่างหรือมีความเฉพาะตัวมากแค่ไหน มันจะมีชุดทักษะ (skill set) พื้นฐานที่เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาต่าง ๆ ได้แทบทุกปัญหา เราลองไปดูกันเลยว่ามันมีอะไรบ้าง
ก่อนที่เราจะระบุองค์ประกอบหรือร่างแยกของทักษะการแก้ไขปัญหาได้ เราต้องมานิยามกันคร่าว ๆ ก่อนว่าทักษะที่ว่ามันหมายถึงอะไร
ความหมายอย่างง่าย ๆ ของ problem solving skills คือทักษะที่จะทำให้เราระบุแหล่งที่มาของปัญหาและช่วยให้เราคัดสรรวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นทักษะที่มีชื่อเรียกของมันเอง แต่ทักษะการแก้ไขปัญหานี้คือร่างรวมของทักษะและความรู้อื่น ๆ อีกมากมายอย่างที่เกริ่นไปแล้ว การที่เราจะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีทักษะย่อยอื่น ๆ เข้ามาเติมเต็ม โดยเราได้คัดชุดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อร่างรวมของ problem solving skills มาให้ทุกคนได้ลองสำรวจกันดูดังนี้
ทักษะการวิจัย (Research Skill)
การวิจัยหรือค้นคว้านับเป็นทักษะตั้งต้นที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหา ถ้าเป็นปัญหาเล็ก ๆ เราอาจจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ถ้าเป็นปัญหาใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและระบุถึงที่มาของปัญหาได้อย่างชัดเจน ส่วนแนวทางค้นคว้าก็สามารถทำได้ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลออนไลน์ ศึกษาเพิ่มเติม หาที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ และอีกมากมาย
ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skill)
เมื่อมีทักษะการวิจัยแล้วสิ่งที่ควรมีคู่กันคือทักษะการวิเคราะห์ เพราะมันจะช่วยให้เรานำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อพัฒนาไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับปัญหาที่เรากำลังเจออยู่
ทักษะในการตัดสินใจ (Decision-Making Skill)
แน่นอนว่าการตัดสินใจไม่ใช่แค่การกระทำธรรมดา ๆ แต่มันเป็นทักษะสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่นในบางสถานการณ์ถึงแม้จะค้นคว้าวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลมาดีแล้ว แต่พอจะต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหากลับเลือกไม่ได้ ซึ่งประสบการณ์มีส่วนสำคัญในการปิดจุดบอดตรงนี้ คำถามคือแล้วถ้าไม่มีประสบการณ์จะทำยังไง จะตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่จะมาทดแทนประสบการณ์ได้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ทักษะในการวิจัยและวิเคราะห์ เพราะถ้ามีผลการวิเคราะห์ที่แน่นจริง มันจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill)
นี่เป็นอีกทักษะสำคัญในกระบวนการการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในบริบทของงานกลุ่มหรือปัญหาของทีม เพราะแม้ว่าเราจะได้ข้อสรุปและวิธีการแก้ไขปัญหาที่สุดแสนจะเพอร์เฟกต์ แต่ถ้าเราอธิบายรายละเอียดของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีพอ ผลลัพธ์อาจจะออกมาไม่ตรงตามคาดเหมือนกับเล่มเกมกระซิบส่งสาร ความสามารถในการสรุปเนื้อหาและอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกันจึงเป็นทักษะการสื่อสารที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาของกลุ่ม และแม้จะเป็นปัญหาส่วนตัวทักษะประเภทนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่เราต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ถ้าเราไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของปัญหาให้กับที่ปรึกษาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน คนที่เราปรึกษาอาจปฏิบัติหน้าที่ของเขาได้ไม่เต็มที่ จนคำปรึกษาที่เราได้มาไม่ช่วยแก้ปัญหาของเราได้
ทักษะบริหารจัดการ (Managment Skill)
การจัดลำดับความสำคัญ การนำแนวทางไปปฏิบัติ การติดตามผล การประเมินผล การปรับปรุงแนวทางใหม่ และการรักษาเวลา ล้วนเป็นทักษะในการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาด้วยกันหมดทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าจะมีิวิธีแก้ไขปัญหาระดับเทพ แต่ถ้าบริหารจัดการไม่เป็นผลลัพธ์ก็อาจกลายเป็นว่าปัญหาที่มีก็ยังจะดำรงอยู่ มิหนำซ้ำอาจพอกพูนกลายเป็นปัญหาใหม่ ๆ ตามมาด้วย
เมื่อเรารวบรวมร่างแยกที่เป็นพื้นฐานสำคัญของ Problem Sovling Skills ได้แล้ว ต่อมาเรามาดูกันว่าการนำทักษะการแก้ไขปัญหาไปใช้จริงอย่างเป็นลำดับขั้นตอนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ติดตามอ่านต่อได้ในบทความหน้าค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• แก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วย 6 ขั้นตอนง่าย ๆ
• ทฤษฏีหมวก 6 ใบ หลักการคิดที่ช่วยเรื่องการจำและการแก้ปัญหา
• หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน
• 12 Soft Skills สำคัญที่ควรมีติดตัวก่อนเรียนจบ
• Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ
• ‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
• 6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
• เคล็ดลับการตัดสินใจให้ไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุด ไร้อาการ 'FOBO'
• เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบลงมือทำจาก Stanford
• ฝึก ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เคล็ดไม่ลับอัปผลการเรียนให้ดีขึ้น
แหล่งข้อมูล
- Problem-Solving Skills: Definitions and Examples
- 7 Steps to Effective Problem Solving