Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะทำยังไง...เมื่อต้องโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยแบบอย่างที่ไม่ดี

Posted By Plook Magazine | 05 พ.ย. 64
6,165 Views

  Favorite

ครอบครัวถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นสร้างตัวตนของตัวเอง ครอบครัวสามารถทำให้วัยรุ่นมองเห็นตัวเองเป็นคนที่มีคุณค่าหรือเกิดมาเป็นคนไร้ค่า เป็นคนดีหรือเป็นตัวปัญหา นิสัยใจคอเป็นยังไงดีหรือไม่ หรือแม้กระทั่งฉันอยากจะเป็นใครในอนาคต ครอบครัวจะช่วยเราสร้างอัตลักษณ์ในทุกเรื่อง ดังนั้นหากคนในบ้านไม่ได้ช่วยให้เราเรียนรู้ตัวตนด้านดีหรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเรา เราก็มีแนวโน้มที่จะมองตัวเองเป็นคนไร้ค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

Cr. IMDb

 

เป็นความจริงที่ว่าสภาพแวดล้อมที่มี ‘ผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างที่ดี’ จะทำให้วัยรุ่นเติบโตมามีทักษะทางสมอง EF สูง คือเป็นคนที่จะมีความเก่งและเป็นคนดีที่สังคมโลกต้องการ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยหนึ่งของช่วงชีวิตที่จะมีความสับสนทางจิตใจสูงเพราะเป็นวัยที่ต้องการค้นหาตัวตนของตัวเองและต้องการเข้าใจตัวเองว่า ‘ฉันเป็นใคร’ ‘ฉันมีความสามารถ’ และ ‘มีคุณค่าไหม’ ต่อคนในครอบครัว ต่อสังคม และต่อโลกใบนี้ 

 

อุปสรรคที่จะทำให้วัยรุ่นพัฒนาตัวเองไปในทางที่ถูกหรือว่าผิดนั้นมาจากวุฒิภาวะและการควบคุมอารมณ์ตัวเองยังไม่เต็มที่ เนื่องจากสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ควบคุมเหตุและผลยังพัฒนาไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นวัยรุ่นจึงต้องการตัวอย่างที่ดีให้เขาได้เรียบรู้ และสะท้อนสิ่งที่เขายังทำได้ไม่ดีเพื่อให้เขาได้ปรับปรุงตัวเองและพร้อมที่จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบและเป็นคนน่ารัก

 

 

ทำไมตัวอย่างที่ดีในบ้านถึงเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นสมองดี

Cr. IMDb

 

Giacomo Rizzolatti และ Laila Craighero นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปาร์มาได้ค้นพบเซลล์กระจกเงา (The Mirror-Neuron System) ในบริเวณของสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Prefrontal Cortex ด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก MRI เซลล์กระจกเงานี้ทำหน้าที่สะท้อนการได้ยิน ได้เห็นการกระทำของผู้อื่นราวกับว่าตัวเองเป็นผู้กระทำ ทำให้สามารถเรียนรู้ผ่านการเห็น การได้ยิน เกิดการเลียนแบบ เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมราวกับเป็นคนทำเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองเหมือน ๆ กัน ซึ่งเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ หรือ ‘ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่’ หมายความว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนยังไง เด็กก็มีแนวโน้มที่จะลอกเลียนแบบนิสัยบางอย่างไปโดยอัตโนมัติ

 

 

เราจะโตเป็นคนแบบที่พ่อแม่เราเป็น มากกว่าแบบที่เขาพร่ำสอนให้เราเป็น

Cr. twitter @FloridaProject

 

เซลล์กระจกเงาทำงานอัตโนมัติโดยไม่มีการคัดกรอง ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมการเลียนแบบกันโดยไม่ตั้งใจ เพราะคนเราเรียนรู้จากผู้อื่นผ่านการเลียนแบบมากกว่าการถูกสั่งสอนที่จะได้ผลเพียงเบาบางเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำเวลาโมโห ลูกก็จะทำแบบนั้นเวลาโมโห พ่อนั่งดูฟุตบอลยันเช้าแต่กลับบอกให้ลูกอ่านหนังสือให้มากขึ้น แม่สอนให้ลูกเคารพความคิดเห็นคนอื่นแต่ตัวเองกลับไม่เคยรับฟังความคิดเห็นลูก พี่ชายสูบบุหรี่และบอกเราว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี 

 

ทุกการกระทำของพ่อแม่ คนในครอบครัว ครู ผู้ใหญ่ในสังคมอยู่ในสายตาของเด็กผ่านการทำงานของเซลล์กระจกเงา ซึ่งการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีตัวอย่างที่ไม่ดีและขัดแย้งกับคำสั่งสอนถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อคำพูด และทำให้วัยรุ่นตกอยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงที่จะทำพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งพร้อมจะหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนประเภทเดียวกันหรือกลายเป็นคนโกหกในที่สุด

 

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดก็คือต้องให้คนในครอบครัวปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นจนไม่ทำอีก แต่จะทำยังไงถ้าคนในครอบครัวไม่สนใจจะปรับตัวเองเลย และยังคงทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้เราเห็นอยู่ หรือบางครั้งเราก็รู้สึกว่าเรารับเอาพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่างจากเขามาแล้ว ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานานจนทำให้การแก้ไขมักทำได้ยาก ดังนั้นการป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็นและสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

 

 

Cr. IMDb

 

จะทำยังไงดี เมื่อต้องโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยแบบอย่างที่ไม่ดี

คีย์เวิร์ดของการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่เราเห็นจากสังคมหรือคนในครอบครัวก็คือ การมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะคนที่มีสุขภาพจิตดีจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มี ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อผู้อื่น ไม่เกิดอาการทางจิตเวช  หรือโรคทางจิตเวชได้ง่าย ถึงแม้ชีวิตจะเผชิญปัญหามากก็สามารถปรับตัวและแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 

 

มีสติ 

ท่องเอาไว้ว่าเราไม่ใช่คนอย่างที่พ่อแม่เราเป็นหรือเป็นอย่างที่เขาพูด ไม่เอาคุณค่าของตัวเองไปผูกไว้กับคำพูดของคนอื่น ในบางครั้งคนที่ทำตามที่พูดไม่ได้เขาอาจมีเจตนาดีที่ไม่อยากให้เราทำตามเขา แต่เขาอาจเลิกพฤติกรรมนั้นยังไม่ได้ เราต้องมีสติแยกแยะรู้ให้ได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี โดยเอาเป้าหมายในชีวิตเป็นที่ตั้ง  


 

เรียนรู้ด้วยตัวเอง

วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งในบางครั้งครูหรือพ่อแม่ก็อาจไม่สามารถสอนความรู้ให้ได้ทุกเรื่อง ในอนาคตการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-learning) เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะป้องกันไม่ให้เราหลงไปเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี รวมถึงการรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สร้างสิ่งใหม่จากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา การตกตะกอนทางความคิดเพื่อเลือก model แบบอย่างในชีวิตที่ดีให้ตัวเอง


 

ค้นหาตัวตนของตัวเอง

สิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เรากลายไปเป็นคนที่เราเกลียดหรือว่าไม่ชอบก็คือ การรู้จักตัวเองให้ไวว่าเราเป็นคนยังไง มีความชอบความถนัดอะไรบ้าง มีจุดเด่นจุดด้อยอะไร อยากเรียนทางไหน อยากทำอาชีพใด ทำอะไรแล้วมีความสุข รวมถึงเอกลักษณ์ทางเพศด้วย ตัวตนของเราจะได้แข็งแกร่งและไม่ถูกทำลายได้ง่าย ๆ จากคนอื่นเพราะเรารู้ว่าเราเป็นใคร    


 

ทำงานร่วมกับคนอื่น 

เมื่อเราได้ลองทำงานกับคนที่หลากหลายทั้งอายุเท่ากันหรือมากกว่า เราจะมีทักษะการสื่อสารเจรจาที่มีประสิทธิภาพ ได้เรียนรู้ผู้คนจากการทำงานร่วมกัน แล้วเราจะเห็นว่าเราทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีไหม คนอื่นเห็นอะไรในตัวเราบ้าง และที่จริงแล้วเราเข้ากับคนอื่นได้ดีไหม รวมถึงการได้ออกไปเห็นทั้งคนที่ดีและไม่ดีในสังคมอีกมาก แบบอย่างที่ดีเพียงแบบเดียวอาจส่งผลให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการรักษาตัวตนให้เป็นคนที่น่านับถือต่อไปได้


 

มีกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข

มีอะไรบ้างที่ทำให้เรามีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต เพื่อนคนไหนที่รักเรา รับฟังเรา เพราะเมื่อทำกิจกรรมอะไรแล้วเกิดความสุขก็จะเกิดแรงจูงใจที่จะอยากทำอีก คนที่มีวงจรความสุขมักจะไม่เข้าหายาเสพติด แอลกอฮอล์ บุหรี่ การลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น หรือทำอะไรที่จะส่งผลเสียต่อตัวเอง  

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ "คนโปรด" ของพ่อแม่

พ่อแม่ชอบด่า ไม่ค่อยให้กำลังใจ...จะทำยังไงดีเมื่อครอบครัวบั่นทอนจิตใจเรา

เมื่อพ่อแม่จะหย่ากัน คนเป็นลูกควรทำยังไง

4 ทักษะสำคัญที่จะช่วยพัฒนา ‘ความฉลาดทางอารมณ์’

​​• เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง

9 วิธีเพิ่มความเข้มแข็งให้ตัวเอง ไม่หวั่นไหวแม้เจอเรื่องยาก ๆ

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

Toxic Positivity อีกด้านของการคิดบวกที่พร้อมเฆียนตีเรา

รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น

Emotional Agility ทักษะการจัดการอารมณ์ให้สมดุลจากนักจิตวิทยา

เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน

ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'


 

แหล่งข้อมูล

- คู่มือ พัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กวัย 13-18 ปี สำหรับพ่อแม่และครู 

- ปัญหาพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ (Imitation Behavior) 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow