Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบต่อมไร้ท่อ

Posted By sanomaru | 20 ต.ค. 64
170,385 Views

  Favorite

ร่างกายมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์ มันมีระบบการทำงานหลายระบบที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น รวมถึงมีความซับซ้อน และยังมีความลับอีกมากมายที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับมัน โดยระบบหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานของร่างกายอย่างมากแต่กลับถูกพูดถึงไม่มากนัก นั่นคือระบบต่อมไร้ท่อ

 

ระบบต่อมไร้ท่อและการทำงานของต่อมไร้ท่อ

ระบบต่อมไร้ท่อหรือเรียกอีกอย่างว่าระบบฮอร์โมน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไปจนถึงสัตว์จำพวกนก ปลา และสิ่งมีชีวิตบางประเภท โดยต่อมไร้ท่อนี้เป็นต่อมที่ไม่มีท่อ อย่างไรก็ตาม ต่อมเดียวกันนี้ก็อาจเป็นทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อก็ได้ ต่อมไร้ท่อมีหลายชนิดและอยู่ทั่วร่างกายของเรา  ซึ่งฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อจะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดหรือของเหลวรอบ ๆ เซลล์ และเมื่อฮอร์โมนไปถึงอวัยวะเป้าหมาย จะมีเพียงเซลล์เป้าหมายที่มีตัวรับที่อยู่ในอวัยวะนั้น ๆ ที่เข้ากันได้และพร้อมจะรับรู้และตอบสนองต่อฮอร์โมน

ภาพ : Shutterstock

 

ระบบต่อมไร้ท่อจะควบคุมปริมาณของฮอร์โมนแต่ละชนิดที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งอาจขึ้นกับระดับของฮอร์โมนในเลือดหรือระดับของสารอื่น ๆ ในเลือด เช่น แคลเซียม นอกจากนี้ ความเครียด การติดเชื้อ การเปลี่ยนแปลงความสมดุลของของเหลวและแร่ธาตุในเลือด ก็มีผลต่อระดับของฮอร์โมนเช่นกัน

 

ต่อมพิทูอิทารีหรือต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีบทบาทมากในการควบคุมการสร้างหรือหลั่งฮอร์โมนของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ เมื่อมันรับรู้ถึงระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นจนผิดปกติ มันจะบอกต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ให้หยุดสร้างและหลั่งฮอร์โมนออกมา และเมื่อระดับฮอร์โมนลดลงถึงจุดหนึ่งแล้ว พิทูอิตารีจะออกคำสั่งให้ต่อมเหล่านั้นสร้างและหลั่งออกมามากขึ้น นี่คือกระบวนการที่เรียกว่า homeostasis มันทำงานคล้ายกับ thermostat ภายในบ้าน และในร่างกายของมนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ มีฮอร์โมนมากกว่า 50 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ควบคุมอารมณ์ ควบคุมการเจริญเติบโต ควบคุมกระบวนการเมทาบอลิซึม ควบคุมการเจริญพันธุ์ การนอนหลับ และความดันโลหิต

ภาพ : Shutterstock

 

ประเภทของต่อมไร้ท่อ

ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus)

เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ในส่วนกลางตอนล่างของสมอง มีความเชื่อมโยงกับระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท เซลล์ประสาทในไฮโพทาลามัสจะสร้างสารเคมีซึ่งควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนจากต่อมพิทูอิตารีหรือต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) โดยไฮโพทาลามัสทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่สมองรับรู้ เช่น อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ความรู้สึก และส่งต่อไปยังต่อมใต้สมอง จึงมีอิทธิผลต่อฮอร์โมนที่ต่อมใต้สมองผลิตและปล่อยออกมา มีบทบาทการขับเคลื่อนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ

 

ต่อมพิทูอิตารีหรือต่อมใต้สมอง  (Pituitary Gland)  

เป็นต่อมขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วและมีน้ำหนักประมาณ 0.5 กรัมเท่านั้น และตำแหน่งของมันอยู่ใต้สมองจึงเรียกอีกชื่อได้ว่า ต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมองมี 2 กลีบด้วยกัน คือด้านหน้าและด้านหลัง ทำหน้าที่รับสัญญาณจากไฮโพทาลามัส แล้วจึงสร้างหรือหลั่งฮอร์โมนเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ตัวอย่างของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง เช่น
- โกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) กระตุ้นการเจริญของกระดูกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ
- โพรแลกติน (Prolactin) กระตุ้นการสร้างน้ำนมในหญิงที่ให้นมบุตร
- แอนติไดยูเรติก (Antidiuretic) ช่วงควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการทำงานของไต
- ออกซีโทซิน (Oxytocin) กระตุ้นการหดตัวของมดลูกระหว่างการคลอด
ต่อมพิทูอิตารียังหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า เอนโดรฟิน ซึ่งมีบทบาทต่อระบบประสาทและช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดลงได้ นอกจากนี้ยังหลั่งฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณให้อวัยวะสืบพันธุ์สร้างฮอร์โมนเพศ ควบคุมการตกไข่และรอบเดือนในเพศหญิงด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland)

เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าของบริเวณคอติดกับหลอดลมและกล่องเสียง ลักษณะของต่อมไทรอยด์จะคล้ายกับปีกผีเสื้อที่กางสยายออก ต่อมนี้หลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) และ ไทร็อกซิน (thyroxin) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยให้กระดูกของเด็กเติบโตและพัฒนาขึ้น ทั้งยังมีบทบาทในการพัฒนาสมองและระบบประสาทอีกด้วย

 

ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Gland)

เป็นต่อมขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเพียง 0.10-0.14 กรัม อยู่ติดกับด้านหลังของต่อมไทรอยด์ หลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ซึ่งคอยควบคุมระดับความสมดุลของแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ที่สร้างขึ้นจากต่อมไทรอยด์

 

ต่อมอะดรีนัลหรือต่อมหมวกไต (Adrenal Gland)

ต่อมอะดรีนนัลหรือต่อมหมวกไตเป็นต่อมเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม อยู่บนยอดสุดของไต มีน้ำหนักเพียง 7-10 กรัม ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นคอร์เท็กซ์และเมดัลลา เป็นต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenalin) และ นอร์แอดรีนาลิน (Noradrenalin) มีผลต่อการหดตัวของเลือดและทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างฮอร์โมที่เรียกว่า คอร์ติโคสเตอรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจน การไหลเวียนเลือด และสมรรถภาพทางเพศด้วย

 

ตับอ่อน (Pancreas)

ตับอ่อนตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายของช่องท้องใต้ตับ โดยเป็นทั้งต่อมมีท่อและต่อมไร้ท่อ สำหรับต่อมมีท่อ ตับอ่อนจะส่งเอนไซม์ไปช่วยย่อยอาหาร ส่วนต่อมไร้ท่อ ตับอ่อนจะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่ากลูคากอน (Glucagon) และอินซูลิน (Insulin) เพื่อช่วยควบคุมระดับของน้ำตาลกลูโคสในเลือด

ภาพ : Shutterstock

 

ต่อมไพเนียล (Pineal Gland)

เป็นต่อมขนาดเล็กอยู่บริเวณกลางสมอง มีน้ำหนักประมาณ 0.2 กรัม ต่อมนี้ทำหน้าที่หลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้รู้สึกง่วง

 

ต่อมไทมัส (Thymus Gland)

ต่อมไทมัสเป็นต่อมที่อยู่บริเวณกลางทรวงอก มีบทบาทสำคัญในระบบน้ำเหลือง (https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/88692/-scibio-sci-) และระบบต่อมไร้ท่อ โดยมีหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการพัฒนาและผลิตเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ทีลิมโฟไซต์ (T-lymphocytes) ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก

 

ต่อมเพศ (Gonads)

รังไข่เป็นต่อมเพศในเพศหญิง อยู่บริเวณใต้บริเวณท้องด้านข้างของลำตัวข้างละ 1 รังไข่ ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเพศอย่าง โพรเจสเตอโรน (Progesterone) เอสโทรเจน (Estrogen) และเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
อัณฑะเป็นต่อมเพศในเพศชาย ทำหน้าที่ผลิตสเปิร์มและหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีผลต่อกระบวนการผลิตสเปิร์ม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และแรงขับเคลื่อนทางเพศ

 

จะสังเกตได้ว่า ต่อมไร้ท่อนั้นมีความสำคัญกับระบบการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ อย่างมาก ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติของต่อมหรือเสียสมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้ ก็อาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนในการสร้างอินซูลิน หรือโรคกระดูกพรุน ซึ่งเกิดจากรังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพียงพอ โดยพบบ่อยในเพศหญิง ส่วนเพศชายอาจพบภาวะกระดูกพรุนนี้ได้เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำเกินไป

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
- ต่อมไทรอยด์และหน้าที่ของต่อมไทรอยด์
- "สารสื่อประสาท (Neurotransmitter)" ส่วนเล็ก ๆ ที่มีผลต่ออารมณ์และการทำงานของร่างกาย
- ระบบน้ำเหลือง
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow