เทคนิคการยกระดับบทสนทนาคือการขยายความในคำถามของเราให้มีรายละเอียดมากขึ้น และคอยยิงคำถามต่อเนื่องเพื่อเป็นการแตกประเด็นและทำให้บทสนทนามีรายละเอียด ชีวิตชีวา และไหลลื่นมากขึ้น การทำแบบนี้ก็จะช่วยเปลี่ยนจาก Small Talk ให้เป็น Deep Conversation ได้ ทีนี้เราลองไปดู 15 เทคนิคที่จะช่วยยกระดับบทสนทนาของเราไปสู่ขั้น Deep Conversation กันว่ามีอะไรบ้าง
1. หาคนที่คลิกกับเรา
เอาเข้าจริงใช่ว่าทุกคนที่จะเพลิดเพลินไปกับการเม้าท์มอยแบบ Deep Conversation บางคนแค่ทักทายหรือถามไถ่ธรรมดาก็อิ่มใจแล้ว และบางคนก็ไม่ถนัดหรือสันทัดกับการพูดคุยเชิงลึกจริง ๆ ถ้าเป็นแบบนี้การไปบังคับตัวเองหรือคนอื่นให้มามี Deep Conversation ก็จะกระไรอยู่ แต่ถ้าอยากจะเริ่มมีบทสนทนาเชิงลึกกับคนอื่นดูจริง ๆ เราอาจเริ่มจากการสกรีนกลุ่มคนที่ชอบและสนใจอะไรที่คล้ายกับเราก่อน ด้วยการหากลุ่มคน คลับ สโมสร หรือกลุ่มออนไลน์ที่เราสามารถพูดคุยกับเขาในเชิงลึกได้
2. เปิดประเด็นให้ถูกกาลเทศะ
บรรยากาศหรือสถานที่ในการเปิดประเด็นเพื่อสนทนากันเชิงลึกก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ยกตัวอย่างสุดโต่งเลยคือการเลือกเปิดประเด็นสนทนาเชิงลึกกลางงานคอนเสิร์ตเฮฟวี่เมทัลระหว่างที่ศิลปินทำการแสดง และเพื่อน ๆ ของคุณกำลังเหวี่ยงหัวตามจังหวะดนตรีอยู่ ไอ้อย่างนี้แทนที่จะได้บทสนทนาเชิงลึกอาจได้บทสวดเชิงลึกจากเพื่อนกลับมาแทนมากกว่า จังหวะเวลาในการเลือกเปิดประเด็นก็สำคัญ เช่น เราควรดูก่อนว่าคู่สนทนาของเราพร้อมที่จะ Deep Conversation กับเราไหม ถ้าเกิดเขากำลังเหนื่อยหรือเครียดอยู่ การอัดข้อมูลเยอะ ๆ ให้คู่สนทนาของเรามากเกินไปก็จะทำให้เขาไม่สามารถโฟกัสประเด็นของเราได้ มิหนำซ้ำอาจทำให้เขาเหนื่อยหรือเครียดมากกว่าเดิมอีกด้วย
3. ลดการ์ดต่ำบ้างก็ไม่เสียหาย
อาการสงวนท่าที คุยแบบกั๊ัก ๆ ไม่ยอมปล่อยของออกมามักเกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งเคยคุยกัน แต่ถ้าไม่ปรับท่าทีแม้เวลาผ่านไปบทสนทนาก็อาจจะยังกั๊ก ๆ กันอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดกำแพงนี้ลงมาคือการลดการ์ดต่ำ หรือการคุยแบบเปิดใจใส่เต็มไม่มีเหนียม เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้คู่สนทนารู้ว่าเราให้ 100 เต็มนะและคุณก็สามารถทำเช่นนั้นได้เหมือนกัน
4. เริ่มต้นด้วย Small Talk
หากใช้ Small Talk อย่างถูกวิธีมันก็สามารถเป็นการอุ่นเครื่องและเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ Deep Conversation ได้เหมือนกัน ซึ่งในบางสถานการณ์ถือเป็นสิ่งจำเป็นซะด้วยซ้ำ เพราะถ้าเริ่มรุกคู่สนทนาด้วย Deep Conversation เลยเขาอาจจะยังไม่ได้เตรียมตัว สมองอาจยังไม่แล่นก็เป็นได้
5. ยิงคำถามปลายเปิด
การยิงคำถามปลายเปิดจะสร้างมิติให้กับบทสนทนาที่จะตามมาได้มากกว่าคำถามปลายปิดที่มักจะมีคำตอบสั้น ๆ แบบ yes no ok เช่นจากคำถามว่า “วันหยุดเป็นไง” อาจเปลี่ยนเป็น “วันหยุดทำอะไรมาบ้าง” คำตอบที่ได้อาจจะสั้นหรือยาวก็ได้แต่มักจะมีรายละเอียดให้เราได้ถามต่อเสมอ (ถ้าคิดจะถามต่อจริง ๆ)
6. ยิงคำถามพ่วง
แม้ประเด็นพูดคุยจะไม่ค่อยมีสีสัน แต่ด้วยการยิงคำถามพ่วงหรือคำถามต่อเนื่องก็สามารถแตกประเด็นการพูดคุยไปเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่ Deep Conversation ที่มีความหมายและสาระที่ลึกซึ้งได้เหมือนกัน เทคนิคนี้สามารถใช้ในขั้นตอนการอุ่นเครื่องด้วย Small Talk หรือใช้แตกประเด็นระหว่าง Deep Conversation ก็ได้
7. โฟกัสในบทสนทนา
หากเราจิตหลุดระหว่างการสนทนาจนคู่สนทนาของเราจับได้ เขาอาจจะรู้สึกไม่ได้รับความสนใจในสิ่งที่พูด ซึ่งอาจทำให้เขาปิดกั้นและไม่พยายามที่จะ Deep Conversation กับเราอีกเลย ดังนั้นการที่เราโฟกัสในสิ่งที่เขาพูดจะช่วยให้เขารู้สึกมั่นใจและกล้าที่จะจัดเต็มกับเราได้
8. แสดงพลัง Empathy
หากเราแสดงให้คู่สนทนาเห็นว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดหรือมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันผ่านการแสดงความร่วมรู้สึก (Empathy) ก็จะช่วยให้คู่สนทนาแชร์ประสบการณ์ต่อจนอาจจะถึงขั้นกล้าแชร์เรื่องส่วนตัวเลยก็ได้
9. แนบหูฟังอย่าง Active Listening
หากเราสามารถสดับฟังอย่างใจจดใจจ่อมันจะช่วยป้องกันการพูดแทรกของเราได้ ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาสามารถพูดจนจบ ส่วนเราเองก็จะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนไม่ตกหล่น ช่วยให้บทสนทนาต่อ ๆ ไปอิงบนพื้นฐานที่เราเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายตรงกัน
10. แสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลรองรับ
เมื่อถึงคราวที่จะต้องแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่คุยกันจะเป็นการดีถ้าเราให้เหตุผลรองรับต่อความคิดเห็นของเราด้วย เช่นถ้าเราคุยกันเรื่องเศรษฐกิจของประเทศแล้วแสดงความเห็นว่า “เศรษฐกิจมันช่างแย่จริง ๆ” พร้อมกับแนบเหตุผลต่าง ๆ นานาไม่ว่าจะเป็นเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด การพึ่งพาภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งมากเกินไป ฯลฯ การทำแบบนี้จะช่วยให้คู่สนทนาของเราสามารถโต้ตอบกับเราได้ ทั้งแสดงความเห็นที่เห็นด้วยหรือเห็นแย้ง อาจถึงขั้นวิวาทะกันอย่างผู้ที่เจริญทางสติปัญญาแล้วได้อีกด้วย การถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันอย่างถึงพริกถึงขิงด้วยเหตุผลนี้เองที่เป็นอีกมิติของ Deep Conversation
11. สานต่อประเด็นเก่า
เราสามารถหยิบประเด็นเก่า ๆ ที่เคยคุยกันไปแล้วมาอัปเดตหรือถกเถียงต่อได้เมื่อมีความเห็นหรือข้อมูลใหม่ที่อยากแชร์กับคู่สนทนา ในกรณีที่เราสานต่อประเด็นที่คู่สนทนาเคยเป็นคนเปิดประเด็นเองจะช่วยให้คู่สนทนาของเรารู้สึกว่าเราใส่ใจกับสิ่งที่เขาพูดจริง ๆ และการหยิบประเด็นเก่าขึ้นมาพูดคุยกันต่อสามารถทำให้เราร่วมกันขบคิด ตกผลึก และแตกประเด็นไปเรื่องอื่น ๆ ได้อีกด้วย ในแง่นี้จะช่วยให้ Deep Conversation ของเรายิ่ง Deep ยิ่งขึ้น
12. แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว
ระหว่างคุยกันนอกจากการเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว เมื่อถึงจังหวะที่เราต้องพูดบ้างก็ไม่ควรกั๊ก (หากไม่จำเป็น) เพราะการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวร่วมกันจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ ตรงกันข้ามถ้าเรายิงคำถามและให้คู่สนทนาตอบอย่างเดียว จากที่จะเป็น Deep Conversation ก็อาจกลายเป็นการสอบสวนเชิงลึกหรือ Deep Interrogation ได้
13. ถามถึงแรงจูงใจในเรื่องต่าง ๆ
หากคู่สนทนาบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาได้เลือกทำ เราอาจถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้เขาตัดสินใจทำเช่นนั้นได้ เพราะข้อมูลเพิ่มเติมที่เราร่วมแชร์กันสามารถกลายเป็นวัตถุดิบหรือ add-on ให้เราพูดคุยกันได้มากขึ้น
14. ขอความเห็นกับคู่สนทนา
เราอาจเป็นฝ่ายที่เม้าท์มอยก่อนแล้วตบท้ายด้วยการขอความเห็นกับคู่สนทนาเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้แชร์ความเห็นหรือประสบการณ์ส่วนตัวของเขาได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหนทางที่จะนำไปสู่ Deep Conversation
15. เลี่ยงการยัดเยียดคำพูดใส่ปากคนอื่น
เมื่อเราแลกเปลี่ยนกันกับคู่สนทนา สิ่งหนึ่งที่ควรเลี่ยงคือการสรุปหรือบิดความเห็นของเขาไปในทางของเรา เพราะมันอาจทำให้เขารู้สึกถูกบิดเบือนคำพูดและไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมากับเราอีก โดยเฉพาะในกรณีที่ความเห็นของอีกฝ่ายแตกต่างไปจากของเรา ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นการดีกว่าถ้าเราจะใช้เทคนิคข้อ 13 คือการถามถึงแรงจูงใจในเรื่องต่าง ๆ ว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น แบบนี้จะดีกว่าเพราะเป็นการแสดงความสนอกสนใจในความเห็นของเขา
มาถึงตรงนี้เราคงเห็นภาพกันแล้วว่า Small Talk และ Deep Conversation ต่างกันอย่างไร เราจะใช้ Small Talk เพื่อปูทางไปสู่ Deep Conversation ได้อย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้างที่จะช่วยให้เราพูดคุยกับคนรอบข้างได้อย่าง deep deep เพราะมันคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สามารถช่วยให้เรามีความสุขได้มากขึ้น เนื่องจาก Deep Conversation สามารถช่วยให้เราสานสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนอื่นได้ และสายสัมพันธ์ที่ดีก็จะช่วยให้เรายิ้มได้ไม่มากก็น้อย ทั้งในวันที่ดีและแย่ ก็เลยอยากให้น้อง ๆ ลองนำเทคนิคดี ๆ ไปทดลองใช้ในชีวิตประจำวันกับคนข้างกายดู ได้ผลอย่างไรหรือมีความเห็นเพิ่มเติมอะไรอย่าลืมมาบอกกันนะ เผื่อว่าเราจะได้มีบทสนทนาที่ deep deep ด้วยกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ฝึกเป็นคนเฟรนด์ลี่ แบบใครอยู่ด้วยก็อบอุ่นและสบายใจ
• เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening
• The Power of saying ‘Hi’ ชวนคุยอย่างไรให้ได้เพื่อน
• The Anatomy of Friendship สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เพื่อน’
• เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น
• เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน
• Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่
• การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
• รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร
• คุยคนเดียวไม่ได้บ้า เขาเรียกว่าซ้อมเป็นคนฉลาด
แหล่งข้อมูล
- Why We Need to Have Deeper Conversations
- Cut the Small Talk: Deep Conversations Lead to Happiness
- Deep, Meaningful Conversations Always Have These 8 Things
- How To Have Deep Conversations (With Examples)