ตัวอย่างบทสนทนาที่แห้งเหือดข้างต้นคือการพูดคุยอย่างผิวเผินที่เรียกว่า “Small Talk” หรือ “Small Conversation” มันคือบทสนทนาเล็ก ๆ ที่มักจะจืดชืด ไร้สีสัน และตัดจบลงอย่างห้วน ๆ สาระการพูดคุยก็มักจะตื้นเขิน ซึ่งต่างกับการพูดคุยเชิงลึกที่เรียกว่า “Deep Talk” หรือ “Deep Conversation”
Deep Conversation คือการพูดคุยเชิงลึกที่มีความหมายและสาระแก่นสาร มันจึงมีอีกชื่อเรียกว่า “Meaningful Conversation” คู่สนทนาแบบ Deep Conversation มักจะพูดคุยกันอย่างออกอรรถรสเพราะเรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นเชิงลึกที่เค้นให้คู่สนทนาต้องงัดข้อมูล รายละเอียด และอารมณ์ร่วมออกมาพูดคุยกัน จนทำให้บทสนทนามีสีสันอย่างออกรส
แต่อย่าเข้าใจผิดว่า “ประเด็นเชิงลึก” จะต้องเป็นอะไรที่ยากเหมือนกับวิทยาศาสตร์การผลิตจรวดหรืออะไรเทือกนั้น แค่เป็นประเด็นที่มีแก่นสารสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนและแตกประเด็นไปยังเรื่องอื่น ๆ ได้ เท่านี้ก็สามารถเป็น Deep Conversation ได้เหมือนกัน หากยังนึกไม่ออกว่าบทสนทนาเชิงลึกเป็นยังไงเพราะชื่อเรียกมันดูขึงขังไปหน่อย ก็อาจลองนึกถึงตอนที่เรา “เม้าท์มอย” กับเพื่อนก็ได้ Deep Conversation ก็จะเป็นอะไรในทำนองนั้น ซึ่งบรรยากาศในวงเม้าท์มอยนี่แหละที่ทำให้ Deep Conversation เป็นสิ่งที่เลอค่า
พูดง่าย ๆ คือหนึ่งในช่องทางที่คนเราใช้เพื่อสานสายสัมพันธ์กันคือบทสนทนา บรรยากาศในวงเม้าท์ที่เข้าขากันจึงกลายเป็นพื้นที่ในการกระชับสายสัมพันธ์เป็นอย่างดี แน่นอนว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก มันสามารถทอดสะพานไปสู่ความสุขที่เพิ่มพูนขึ้นได้ และหนึ่งในสะพานเชื่อมที่ว่าก็คือ Deep Conversation ที่น่าสนใจคือมีการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและ Deep Conversation โดยนักจิตวิทยาแห่ง University of Arizona ส่วนผลการวิจัยจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน
Matthias Mehl นักจิตวิทยาแห่ง University of Arizona ได้ทำการวิจัยโดยการทดสอบระหว่างกลุ่มนักศึกษาที่มี Deep Conversation มากกว่า Small Talk โดยผลวิจัยของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Psychological Science พบว่ากลุ่มที่มี Deep Conversation มากกว่าจะมีความสุขมากกว่า โดย Mehl กล่าวในทำนองว่าเราสามารถค้นพบความหมายและสาระสำคัญของชีวิตผ่านบทสนทนาเชิงลึก ซึ่งจุดนี้เองที่สามารถปูทางไปสู่ความสุขของชีวิตได้
แม้ว่าข้อสรุปดังกล่าวอาจจะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามคาใจ เช่น จริง ๆ แล้วเรามีความสุขมากขึ้นเพราะการมี Deep Conversation กับคนอื่น หรือคนที่มีความสุขอยู่แล้วเลือกที่จะมี Deep Conversation กันแน่ ซึ่งไม่ว่าไก่หรือไข่จะเกิดก่อนกัน สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือความสุขและความสัมพันธ์ที่มีความหมาย (ที่ทางหนึ่งเกิดขึ้นจาก Deep Conversation) นั้นเป็นสิ่งที่เกื้อกูลและสัมพันธ์กัน
สาเหตุที่ทำให้ Mehl คิดว่า Deep Conversation นั้นสัมพันธ์กับความสุขก็เพราะ Mehl มองว่าคนเรามักแสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเองอยู่ตลอด และ Deep Conversation สามารถช่วยเติมเต็มตรงจุดนี้ได้ และเขายังกล่าวอีกว่า คนเราไม่ว่าจะเป็น Introvert หรือ Extrovert ต่างก็เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการสานสายสัมพันธ์กับคนอื่นเหมือนกัน (โดยเฉพาะกรณีของ Introvert ที่แม้จะไม่ค่อยชอบเข้าสังคม แต่ถ้าได้คุยแล้วมักจะนิยม Deep Talk มากกว่า Small Talk) ซึ่ง Deep Conversation นั้นมีขุมพลังในการสานสายสัมพันธ์กับคนอื่นมากกว่า Small Talk อยู่ค่อนข้างเยอะ แต่ใช่ว่า Small Talk จะไร้ซึ่งความสำคัญไปเสียทีเดียว !
Deep Conversation คือสะพานเชื่อมสู่สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น
โดยใช้ Small Talk เป็นตัวเชื่อมไปสู่ Deep Conversation
เราสามารถใช้ Small Talk อย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าเรื่องสำคัญที่นำไปสู่บทสนทนาแบบ Deep Conversation ส่วนจะทำได้อย่างไร ติดตามต่อได้ในบทความหน้าค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ฝึกเป็นคนเฟรนด์ลี่ แบบใครอยู่ด้วยก็อบอุ่นและสบายใจ
• เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening
• The Power of saying ‘Hi’ ชวนคุยอย่างไรให้ได้เพื่อน
• The Anatomy of Friendship สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เพื่อน’
• เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น
• เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน
• Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่
• การเป็นผู้ฟังที่ดี หนึ่งในทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
• รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร
• คุยคนเดียวไม่ได้บ้า เขาเรียกว่าซ้อมเป็นคนฉลาด
แหล่งข้อมูล
- Why We Need to Have Deeper Conversations
- Cut the Small Talk: Deep Conversations Lead to Happiness
- Deep, Meaningful Conversations Always Have These 8 Things
- How To Have Deep Conversations (With Examples)