นักวิจัยด้านประสาทวิทยาพบว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ ส่งผลมากที่สุดต่อความฉลาดและพฤติกรรมของคนเรา ซึ่งก่อรูปเป็นนิสัยและตัวตนของเราให้ดีหรือไม่ดีได้ การเติบโตและกระบวนการการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาทจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็น ‘ประสบการณ์’ ทำให้วงจรประสาทที่เกี่ยวข้องแข็งแรง สิ่งแวดล้อมจึงมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF หลาย ๆ ด้าน
เมื่อก่อนนั้นคนเราคิดว่าการมีไอคิวสูงจะเป็นเครื่องกำหนดได้ว่าคน ๆ นั้นจะต้องประสบความสำเร็จ แต่ผลการวิจัยที่พบกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ลูอิส เทอร์แมน (LewisTerman) บิดาแห่งจิตวิทยาการศึกษาได้ติดตามวิจัยเด็กที่มีไอคิวสูงกว่า 140 ซึ่งเป็นไอคิวระดับอัจฉริยะจำนวน 1,500 คน เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยพบว่าเด็กเหล่านี้มีเพียง 3-4% เท่านั้นที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่น้อยกว่าเด็กปกติเสียอีก ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าไอคิวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จในชีวิตเสมอไป
ยังมีการศึกษาต่อ ๆ มาอีกที่พบว่าความสำเร็จของคนมาจากความฉลาดที่เกิดจากประสบการณ์ถึง 90% และความสำเร็จจากความฉลาดในการจำมีเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ความจำเพื่อใช้งานที่ได้จากการลงมือทำ (working memory) กับการยั้งคิดไตร่ตรอง (inhibitory control) เป็นสิ่งที่บอกถึงความสำเร็จหลังจบจากโรงเรียนแล้วได้ดียิ่งกว่าการทดสอบ IQ นั่นหมายความว่า เด็กที่มีปัญญาเลิศอาจจะมีความสามารถต่ำในการยับยั้งแรงกระตุ้น ขาดทักษะการวางแผน หรือจัดการกับชีวิตประจำวันได้ไม่ดี นอกจากนี้ การที่เด็กมีความสามารถในการใช้ปัญญาวิเคราะห์และเข้าใจการงาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กเหล่านั้นจะลงมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จเสมอไป การส่งเสริมให้วัยรุ่นได้ฝึกฝนทักษะสมอง EF จึงไม่ใช่การเน้นให้เขาท่องจำจากตำรา แต่เป็นการส่งเสริมให้เขาได้มีประสบการณ์ที่ดีที่จะบันทึกลงในความทรงจำอย่างมีความหมายต่อตัวเขา แล้วเขาจะนำประสบการณ์และทักษะเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมผ่านการลงมือทำ
สร้างความผูกพัน ไว้เนื้อเชื่อใจ (attachment)
ความผูกพันจะวางรากฐานความเข้มแข็งของทักษะสมอง EF ให้วัยรุ่นรู้สึกมั่นคงทางใจสูง ทำให้เรียนรู้ได้ดี มีอิสระ ทนต่อความเครียดและมีความกล้า ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แกน HPA (Hypothalamus-Pituitary-Adrenal) ในสมองไม่ให้หลั่งสารความเครียดมากเกินจนทำลายพัฒนาการของทักษะสมอง EF นอกจากนี้ความรัก ความเอาใจใส่ และวินัยเชิงบวกเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องใดทั้งหมดเมื่อต้องการจะสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับวัยรุ่น หากที่บ้านเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดหรือว่าปล่อยเกินไปก็ยากที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน โดยสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ดังนี้
• ชื่นชมตัวเองบ่อย ๆ ยอมรับคำชมเมื่อมีคนมาชม อย่าปฏิเสธ
• รับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับอย่างดีที่สุด
• ได้มีอิสระเลือกทำในสิ่งที่สนใจ รู้จักแบ่งเวลา
• กำหนดความสำคัญก่อนหลัง เช่น ทำการบ้านเสร็จแล้วเล่นเกมได้ 1 ชั่วโมง
• รู้จักระบายอารมณ์ พูดในสิ่งที่รู้สึกเพื่อให้รับรู้อารมณ์ตัวเองและการจัดการกับอารมณ์นั้น
สร้างประสบการณ์ Active learning
การให้วัยรุ่นเอาแต่เรียน อ่าน เขียน ท่องหนังสือเป็นการเรียนแบบ Passive learning ที่ใช้ประสาทสัมผัสไม่ครบส่วน นอกจากจะทำให้จำสิ่งที่เรียนได้ยากแล้ว (เรียนไปก็ลืมเป็นต้น) ยังเสียโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะ EF อีกด้วย วัยรุ่นควรได้ลองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงโดยใช้ร่างกายและความคิดอย่างจริงจังด้วย ซึ่งหมายถึงระบบการเรียนรู้ที่ต้องได้ลองทำ (active learning) เช่น การเรียนแบบ Problem-based learning และ Project-based learning ที่มีโครงสร้างดังต่อไปนี้
• มีการแบ่งกลุ่มทำงานเป็นทีมกับคนที่มีความหลากหลาย
• สนใจกระบวนการหาคำตอบ
• ไม่พุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์
• ได้ลงมือทำจริงโดยมีวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์เป็นฐาน
• ไม่ลืมว่า ‘เรียนหนังสือ’ ไปเพื่ออะไร
• มีการ AAR (after action review) คือโปรเจกต์นี้ได้ให้อะไรกับเรา ได้เรียนรู้อะไร และทบทวนตัวเอง
• รายงานผลได้ นำไปปรับใช้ได้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
พัฒนากายภาพสมอง
ในช่วงวัยรุ่นการนอนไม่พออาจทำให้เกิดปัญหาทั้งทางร่างกายและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ลดลง แถมยังทำให้ตัดสินใจผิดพลาดบ่อยขึ้น ในสภาพสังคมไทยที่วัยรุ่นส่วนใหญ่นอนดึกแต่ต้องตื่นแต่เช้าไปเรียนทำให้ยากที่จะมีเวลานอนที่เพียงพอ หลายคนนอนไม่เต็มอิ่ม แถมวัยรุ่นยังชอบกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ออกกำลังกายเพียงพอ ทำให้เสียสมาธิได้ง่าย แต่เมื่อมีกิจกรรมทางกายในระดับที่ชีพจรเต้นแรงกว่าปกติ เช่น วิ่ง เดินเร็ว เต้น ว่ายน้ำ สมองของวัยรุ่นจะแข็งแรงและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะสมอง EF ได้
• นอนประมาณวันละ 8-10 ชั่วโมง ไม่นอนดึกตื่นสาย
• ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 6-8 แก้ว โดยเฉพาะช่วงที่ต้องใช้สมองมาก ๆ เช่น ช่วงเรียน ช่วงสอบ น้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้าช่วยให้การเชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์เป็นไปได้ดี
• กินอาหารที่สมองชอบมากขึ้น เช่น ปลาทู ปลาช่อน ไข่ ผักโขม ถั่ว ข้าวกล้อง อาหารทะเล ลดการกินเนื้อแดงลงบ้าง
• ออกกำลังกายบ้างเพื่อช่วยให้มีสมาธิ คิดคำนวณได้ดี และไม่วอกแวก
ปรับสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ และความคิดของวัยรุ่น สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF หมายถึงพื้นที่ที่วัยรุ่นสามารถแสดงความเป็นตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ได้เชื่อมโยงตัวเองกับผู้อื่น มีสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เพราะความรู้สึกปลอดภัยเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน วัยรุ่นจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจและอารมณ์มั่นคง รู้จักยับยั้งชั่งใจ ยืดหยุ่น จดจ่อ ควบคุมตนเองได้ จนกลายเป็นนิสัยใจคอที่ดีจากการได้ใช้เวลาในพื้นที่เหล่านี้บ่อย ๆ เช่น
• สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีบ้านสะอาด ร่มรื่น สงบ มีพื้นที่ส่วนตัวให้ทำในสิ่งที่อยากทำ
• สภาพแวดล้อมเชิงสังคม มีพื้นที่ให้วัยรุ่นได้ทำกิจกรรมร่วมกันหลากหลายเพื่อเรียนรู้ร่วมกับผู้คน
• สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ พื้นที่ที่วัยรุ่นจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสมาชิก
• สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตวิญญาณ พื้นที่ที่วัยรุ่นจะได้เรียนรู้ที่จะลดความเห็นแก่ตัวเพื่อผู้อื่น
• สภาพแวดล้อมที่ก่อเกิดสุนทรียะ มีพื้นที่ให้วัยรุ่นได้อ่านหนังสือดี ๆ มีภาพเขียนศิลปะให้ชม ได้ดู ได้เห็น ได้ยิน ได้ดูการแสดงที่ก่อให้เกิดสุนทรียะ
เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Social emotional learning)
วัยรุ่นต้องการแบบอย่างที่จะสร้างโอกาสและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้วัยรุ่นได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะสมอง EF ตัวอย่างที่ดีจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใน working memory ของวัยรุ่นให้จดจำไปใช้ได้ทันท่วงทีในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ทุกการกระทำของพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ในสังคมจะอยู่ในสายตาของวัยรุ่นผ่านการกระทำของเซลล์กระจกเงาแม้ว่าเขาอาจไม่ได้ตั้งใจดู ครอบครัว โรงเรียน รวมทั้งชุมชนและสังคมเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นจะได้ฝึกทักษะทางสังคมในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เป็นการช่วยให้สมองส่วนหน้าใช้ทักษะที่ไม่เป็นไปเพื่อตัวเองคนเดียว หรือมีเป้าหมายของชีวิตในแต่ละเรื่องที่ต้องการไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับการคิดถึงคนอื่นและส่วนรวมด้วย เมื่อได้ทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นรู้จักตัวเองมากขึ้น
• การตระหนักรู้ในตนเอง(self-awareness) รู้ทันอารมณ์ตัวเอง
• การจัดการตนเอง (self-management) จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
• การตระหนักรู้ทางสัมคม (social-awareness) เห็นอกเห็นใจคนอื่น มองเขาอย่างที่เขาเป็นแม้จะมีพื้้นฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน
• ทักษะการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคม (relationship skills) มีความสัมพันธ์ที่ดีได้แม้ในกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน
• การตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ (responsible decision-making) คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
• 6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
• ‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
• ฝึกกระตุ้นรหัสสมองทั้ง 8 กลุ่ม ช่วยให้สมองแข็งแรงและสดใส
• 12 Soft Skills สำคัญที่ควรมีติดตัวก่อนเรียนจบ
• พัฒนาและฟื้นฟูสมองด้านความจำด้วยวิธี Walking Exercise
• วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
• รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองที่จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น !
• หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน
• รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลิกผ่าน 'สี' ตัวเราคือสีอะไร ?
• 10 วิธีออกกำลังสมองให้ฉลาดขึ้น ด้วยวิธี ‘Neurobic exercise’’
• 10 เกมมือถือน่าเล่น ช่วยบริหารสมอง ฝึกความจำให้ดีขึ้น
แหล่งข้อมูล
สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป). (2561). คู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF Executive Functions ในเด็กวัย 13-18 ปี สำหรับพ่อแม่และครู. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไอดีออลดิจิตอล พร้ินท์จำกัด