คนไทยเรามีคำตอบที่ถูกต้อง เมื่อถูกถามว่าแบบไหนที่เรียกว่าสวยมาอย่างยาวนาน คือทุกคนในสังคมสามารถบอกได้ว่าแบบไหนคือสวย เช่น ผิวขาว หน้ารูปไข่ ตาโต ปากกระจับ จมูกโด่ง เอวเล็ก ขาเรียวยาว เเขนเล็ก ขาเล็ก ผมยาวสวย น่าจะเป็นมาตรฐานความสวยของคนไทยที่เราถูกสอนมาตลอดว่า ถ้าเราขาว รักแร้เนียน เราจะมั่นใจแค่ไหน เราจะกล้าที่จะมีชีวิตที่สนุกสนาน แฮปปี้ หรือสามารถการันตีได้ว่าถ้าเรามีทุกอย่างตาม Beauty Standard ก็จะมีผู้คนมาตาม มารักและชอบมากขึ้น แต่ถ้าเรามีผิวดำก็จะถูกทำให้ดูเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองทันที ดูไม่พอใจในตัวเองอย่างมากจากภาพจำในโฆษณาขายครีมทาผิวต่าง ๆ ที่ทำให้คนผิวคล้ำหรือคนที่ไม่ตรงตาม Beauty Standard ต้องดูด้อยกว่าเสมอ
หนำซ้ำสังคมในบ้านเราก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย นั่นก็คือคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องของเราเองที่มักจะคอมเมนต์ว่าเราไม่สวยให้ได้ยินอยู่เสมอตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ขาใหญ่บ้าง ตัวดำบ้าง อ้วนบ้าง สิวเยอะบ้าง โดยที่เราก็ต้องยอมรับไปโดยปริยายว่า เรามันไม่สวย หน้าตาไม่ดี หุ่นไม่ปัง ไม่ตรงตาม Beauty Standard ทำให้การรักตัวเองเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับเด็กผู้หญิงที่เกิดมาพร้อมเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร นำมาซึ่งการถูกเลือกปฏิบัติมากมายไม่เว้นแม้แต่พี่น้องท้องเดียวกันที่ถ้าคนพี่สวยกว่าคนน้อง คนน้องก็จะรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัวหรือจากญาติ คนที่อ้วนและหน้าตาไม่ดีในประเทศนี้มักจะถูกมองข้ามเสมอเมื่อเทียบกับคนที่สวยและหุ่นดี เช่น คนสวยพูดอะไรคนก็จะฟัง ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้รับการช่วยเหลือก่อนเสมอ เวลาไปสมัครงานก็มักจะถูกเลือกก่อน ทำให้สังคมเรากลายเป็นสังคมที่คนหน้าตาดีจะได้สิทธิพิเศษ กลายเป็นสังคมที่มองคนที่ภายนอกไม่ใช่ความสามารถ ทำให้คนที่ไม่สวย ไม่โดดเด่น หน้าตากลาง ๆ ที่มีความพร้อม มีความสามารถกลายเป็นกรวดหินดินทรายให้คนอื่นเหยียบย่ำ ไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมอย่างที่ควรจะเป็น
น้อง ๆ หลายคนมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะเกลียดตัวเองและรู้สึกถึงผลกระทบของ Beauty Standard หนัก ๆ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 เพราะเมื่อเราต้องจากโรงเรียนมัธยมซึ่งอาจเป็นสังคมเล็ก ๆ ที่ไม่อนุญาตให้เด็กแต่งหน้าแต่งตัวมากนัก นั่นจึงทำให้การขึ้นมหาวิทยาลัยเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เราจะเจอสังคมที่ใหญ่ขึ้น ผู้คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเรามากมาย และการที่เราดูไม่เป็นสาวเหมือนเพื่อนจะทำให้เรารู้สึกด้อยกว่า เราจะรู้สึกว่า คนนั้นก็สวย คนนี้ก็หุ่นดี หน้าใสมาก ทำไมเพื่อนไม่มีสิวเหมือนเราเลย ผิวก็ดี ในขณะที่เราดำและมีสิว มองไปทางไหนก็มีแต่คนที่ดูดี ราศีจับ ออร่ามาแต่ไกล (ซึ่งเพื่อนบางคนของเราอาจเป็นดาราก็ได้) แล้วเราจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นโดยอัตโนมัติ บวกกับวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยบางอย่างที่สนับสนุนให้ Beauty Standard กดทับเราอยู่ นั่นคือการเห่อรุ่นน้องที่หน้าตาดี (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เด็กที่หน้าตาไม่ดีก็จะรู้สึกได้ว่า ความรู้สึกที่ถูกมองข้าม ไม่มีตัวตนเวลานั่งอยู่ในแถววันปฐมนิเทศมันเป็นยังไง
ปัญหาที่ตามมาก็คือหากเราพยายามที่จะสวยในแบบที่คนอื่นคิดว่าสวย เราจะเหนื่อยมาก มีน้อง ๆ หลายคนพยายามกินยาลดความอ้วนที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งส่งผลให้เสียสุขภาพอย่างเลวร้าย มีน้องปี 1 หลายคนเป็นโรคคลั่งผอม กินแล้วต้องไปล้วงคออ้วก และอีกหลายคนที่ซื้อคอร์สดูดไขมันเพื่อลดน้ำหนัก หมดเงินไปกับการซื้อเครื่องสำอางเพื่อที่จะไปให้ถึงมาตรฐานความสวยเพื่อที่จะได้เป็นที่ยอมรับ แต่เชื่อไหมว่าไม่มีใครสามารถที่จะไล่ตามมาตรฐานความสวยได้ทัน เพราะ Beauty Standard มันเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคทุกสมัย เมื่อก่อนคนไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นิยมสาวร่างเล็ก หน้าคม ผิวน้ำผึ้ง นัยน์ตาคม คิ้วโก่ง แบบแม่มะลิ อังศุมาลิน หรือไม่ก็นางสาวสยาม แต่เดี๋ยวนี้เราต้องขาวถึงจะเรียกว่าสวยและผ่าน !
เมื่อก่อนขอแค่จมูกโด่งก็สวยแล้ว แต่เดี๋ยวนี้จมูกสวยคือต้องจมูกหยดน้ำแบบเกาหลี หน้าเรียว คางแหลมเหมือนคิมแตฮี (Kim Tae-Hee) ซึ่งเหมือนกับฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกาที่เมื่อก่อนสวยคือต้องรูปร่างอย่าง “อเมริกันสแตนดาร์ด” คือหน้าอกใหญ่ ผิวขาว ผมลอน จริตจะก้านเย้ายวน เป็นพิมพ์นิยมของนางเอกหนังฮอลลีวูดอย่าง มาริลิน มอนโร ที่ต้องมีส่วนโค้งส่วนเว้าอันเย้ายวน เอวเล็ก สะโพกใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้คนอเมริกันเขาพัฒนาเรื่องมาตรฐานความสวยจนไม่เหลือเค้าเดิมของมาริลิน มอนโรแล้ว ด้วยการให้นางแบบพลัสไซส์ ‘แอชลีย์ เกรแฮม’ หรือนางแบบผิวดำ ‘ไนยาคิม แกทเวค’ เดินเฉิดฉายบนรันเวย์ระดับโลก
สิ่งนี้บอกอะไรกับเรา ? มันบอกได้ว่าหากเราอยากวิ่งตาม Beauty Standard เราอาจจะต้องวิ่งไปตลอดชีวิต เพราะมันไม่มีทางจบลงแบบเดิมไปตลอดกาล ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะเปลี่ยนมาตรฐานของความสวยตามไปด้วย และเราไม่มีทางบอกให้คนอื่นเลิกบูลลี่เราได้ คนขี้บูลลี่ยังไงก็ต้องเป็นคนขี้บูลลี่อยู่วันยังค่ำ (ไม่แน่ว่าคนที่ชอบบูลลี่คนอื่นเรื่องหน้าตา เขาก็อาจเคยถูกบูลลี่มาก่อนเหมือนกัน) การเปลี่ยนคนอื่นนั้นยากกว่าการเปลี่ยนที่ตัวเราเอง หากเราเจ็บช้ำกับความไม่สวยของตัวเองมากจนทนไม่ไหวแล้ว ให้เราตั้งสติแล้วตอบคำถามข้างล่างนี้ก่อนจะเก็บตังค์ไปซื้อคอร์สทุบหน้าที่เกาหลี
คุยกับตัวเองเยอะ ๆ ก่อน
คุยกับตัวเองให้บ่อยขึ้น ให้เรามองไปที่กระจกแล้วดูที่ตัวเอง มีจุดไหนที่เราไม่พอใจในตัวเองแล้วอยากแก้ไขบ้าง มองตัวเองแล้วมีความสุขไหม ถ้าไม่เพราะอะไร ? เพราะตัวเราไม่ชอบเองหรือเพราะคนอื่นเขาไม่ชอบ เราเลยรู้สึกว่าต้องแก้ไข ถ้าคนอื่นไม่ชอบอะไรในตัวเราทั้งที่เราโอเคกับมันนั่นไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของคนอื่น แต่ถ้าสังคมบอกว่าหน้าเรียวคือสวย เราผู้ที่มีหน้ากลม มีแก้มอาจรู้สึกว่าใช่ หน้าเรียวมันสวย แม้เราจะได้รับอิทธิพลจาก Beauty Standard ก็จริง แต่มันไม่เป็นไรเลยถ้าเรามีความสุขและการตัดสินใจนั้นมาจากตัวเราเองก็ไปทำซะเพื่อต่อยอดให้มั่นใจมากขึ้น
อย่าเปลี่ยนตัวเองจากความเกลียด
เป้าหมายของการเปลี่ยนตัวเองสำคัญมาก หากคน ๆ หนึ่งอยากเปลี่ยนตัวเองเพราะเกลียดสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เราอาจจะต้องเปลี่ยนตัวเองไปตลอดชีวิต เพราะเราจะไม่มีทางเลิกเกลียดตัวเองได้แม้ว่าเราจะเปลี่ยนอะไรไปมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการเปลี่ยนตัวเองจากความ insecure มันก็เหมือนเราเอาร่างของตัวเองไปใส่ในร่างของคนอื่นที่เราคิดว่าสวย แต่ความคิดมันก็ยังเป็นของเรา เราก็ยังจะเกลียดตัวเองอยู่วันยังค่ำ เราต้องสร้างความ secure ในตัวเองให้ได้ก่อน แล้วเราจะรู้ว่าควรจะปรับตรงไหนให้ตัวเองพอใจได้
ไปอยู่ให้ถูกจุด
อย่าไปอยู่กับกลุ่มคนที่ไม่ได้ให้ค่าในสิ่งที่เรามี คนเราไม่สามารถที่จะ Belong ได้ทุกสังคม สังคมที่เราอยู่สำคัญกับความมั่นใจในตัวเราให้สูงหรือต่ำลงได้ กลุ่มเพื่อนที่ให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยกำลังใจดี ๆ ย่อมมีพลังกว่ากลุ่มเพื่อนที่ติให้เราเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราต้องเลือกสังคมที่เขาอ่อนโยนกับเรา เพราะหากเราปรับเปลี่ยนตัวเราให้รักตัวเองได้แล้ว แต่เรากลับไปอยู่ในสังคมที่เขาไม่เห็นว่าเราดีพอ ยังไงเราก็จะต้องเจ็บช้ำไปตลอดอยู่ดี เช่น กลุ่มเพื่อนที่คลั่งผอมย่อมไม่เข้าใจหากเราพอใจกับรูปร่างมีเนื้อมีหนัง เราคงอยู่ไม่ได้ในสังคมที่ทุกคนชอบคนผิวขาวในขณะที่เราผิวคล้ำ เราต้องออกไปหาสังคมที่เขาเข้าใจว่าการมีผิวคล้ำมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรขนาดนั้น เป็นต้น
ความสวยที่มีมิติ
ความสวยถ้าเราไปโฟกัสที่มันมาก ๆ จนยกให้มันเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง (First Priority) มันจะทำให้เราหยุดหาโอกาสในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองในด้านอื่น ความท้าทายก็คือเราจะทำยังไงให้ตัวเองดูดีทั้งภายนอกและภายในที่ไม่กลวง ดังนั้นมองความสวยแตกออกไปให้หลากหลายมิติ อย่างที่เรารู้กันว่าสมัยนี้คนเราเริ่มที่จะให้ค่าความสวยและความสามารถที่มีข้างในด้วย เมื่อเราอยากสวยก็อย่าลืมพัฒนาตัวเองในด้านอื่นให้มันโดดเด่น (Outstanding) ด้วย แต่ก็อย่าให้คำว่าสวยแล้วต้องมีสมอง หรือสวยแล้วต้องเก่ง ต้องเจ๋งมากดทับตัวเราให้มันหนักอีกที หากเราทำสิ่งที่มีคุณค่า ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ และเชี่ยวชาญในสิ่งที่เราเรียนมาได้ ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหนนั่นก็เพียงพอแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ทำยังไงดี เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยตาม 'Beauty Standard'
• จะทำยังไงกับ 'Beauty Privilege' ในโรงเรียน เมื่อคนหน้าตาดีทำอะไรก็ดีไปหมด
• คำแนะนำที่จะทำให้ 'รักตัวเอง' มากขึ้น ด้วยแนวคิด Body Positive
• รวมทริคดูแลตัวเองให้ดูดี เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้เต็มสิบ
• วิธีแก้เกมเมื่อ 'โดนบูลลี่' ที่โรงเรียน
• หยุดแกล้งกันมันไม่เท่ อะไรคือเหตุผลของคนที่ชอบแกล้งคนอื่น
• ไอดอลเกาหลีที่โดนบูลลี่เรื่องรูปร่าง จนต้องลดน้ำหนัก
• เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง
• 9 วิธีเพิ่มความเข้มแข็งให้ตัวเอง ไม่หวั่นไหวแม้เจอเรื่องยาก ๆ
แหล่งข้อมูล
- ความสวยที่แท้จริงของผู้หญิงที่โคตรสวย ปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์
- ปัญหา "มาตรฐานความงาม" ของสังคม และ "การเลือกปฏิบัติ" ต่อคนหน้าตาดีและคนหน้าตาไม่ดี
- ทุกความสวยมีที่มา ทุกความงามมีที่ไป THE BODY PROJECT: Beauty, Brutality, and the Reasons Behind