ความมั่นใจ ความเชื่อว่าตัวเองทำได้คือสิ่งที่ได้มาด้วยประสบการณ์และการฝึกฝนซ้ำ ๆ นายอภิภูมิ ชื่นชมภู, นายภาวิต ลิมปสุธรรม (เจ็ม), น.ส.ภิญฐ์สิตา เรียมอินทร์ (กุนซือ), นายปัณณ์ เภตรา และนายณพสัญญ์ จีระวัฒนะนนท์ (ออโต้) นักเรียนชั้น ม.5/3 จากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) คือหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่พิสูจน์ว่าทฤษฎีการฝึกฝนและประสบการณ์คือสิ่งที่เพิ่มความเชี่ยวชาญได้ เพราะในวาระที่โลกหยุดพักจากโรคระบาดโควิด-19 ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่พวกเขาทั้ง 5 กลับกำลังวุ่นอยู่กับการทำโปรเจกต์ Startup อย่างขันแข็งเพื่อเข้าแข่งในโครงการ Pitch@School ประจำปี 2021
พวกเขาได้นำปัญหาใกล้ตัวที่เจอมากับตัวเองซึ่งก็คือ การค้นหาตัวเองยังไม่เจอมาปลุกปั้นเป็นแผนธุรกิจที่ชื่อว่า “OpenMirai” และแน่นอนว่าการทำงานเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมบวกกับความเชื่อที่ว่าตัวเองมีของพร้อมลุย ทำให้พวกเขาทั้ง 5 คนสามารถคว้าชัยชนะมาครองได้อย่างไร้ข้อกังขา
ภิญฐ์สิตา: โปรเจกต์ Pitch@School ถูกนำเสนอที่โรงเรียนค่ะ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่แพร่หลายทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และองค์กรธุรกิจในต่างประเทศเพื่อเสนอแผนธุรกิจที่น่าสนใจต่อนักลงทุนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพวกเราได้ยินแล้วก็สนใจเพราะแต่ละคนก็มีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว บวกกับห้องของพวกเราทั้ง 5 คนก็คือห้อง 5/3 เน้นเรื่องเทคโนโลยี อินโนเวชั่นและ AI ด้วย และพวกเราก็รู้จักกันมาตั้งแต่มัธยมต้น สนิทกันอยู่แล้วมันเลยจับกลุ่มกันได้ง่ายค่ะ
ภิญฐ์สิตา: เมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ โปรเจกต์นี้เราได้ไอเดียเร็วมาก ประมาณหนึ่งอาทิตย์ก็ได้แล้วค่ะ เราค่อนข้างมั่นใจในหัวข้อนี้และอยากแก้ปัญหาด้านการศึกษามาก ๆ เพราะพวกเราก็เจอมาเองกับตัวเอง ทุกคนน่าจะเคยเจอปัญหาที่ว่าเราไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี เราไม่รู้ว่าเราชอบอะไร หรือว่ารู้แล้วว่าชอบอะไรก็จริงแต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหนเพื่อให้ไปถึงอาชีพที่อยากทำในอนาคต ทีมเราก็เลยจับปัญหานี้มาทำเป็นโปรเจกต์และตั้งชื่อว่า OpenMirai ค่ะ
อภิภูมิ: Mirai แปลว่าอนาคตในภาษาญี่ปุ่น พอเอามารวมกับคำว่า Open ที่แปลว่าเปิดในภาษาอังกฤษ มันจะแปลได้ว่า “เปิดทางสู่อนาคต” ซึ่งเป็นชื่อที่อธิบายโปรเจกต์เราได้ดีมาก ๆ พอเอาไปปรึกษาทุกคนในทีม ทุกคนก็เห็นด้วย
อภิภูมิ: ที่เราตั้งใจตั้งชื่อโปรเจกต์เป็นภาษาญี่ปุ่นความจริงมันมีความหมายในด้านคอนเซ็ปต์ด้วย เพราะญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นชาติเเห่งความใส่ใจในรายละเอียด เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป๊ะมาก ๆ และคำว่า Mirai ถ้าเขียนจากหลังไปหน้ามันจะได้เป็นคอนเซ็ปต์ของโปรเจกต์เราด้วย ซึ่งก็คือ I ย่อมาจาก Information, A ย่อมาจาก AI analytics, R ย่อมาจาก Routing, I ย่อมาจาก In deep to career และ M ย่อมาจาก Model มันเลยลงตัวที่ OpenMirai ครับ
ภิญฐ์สิตา: ตัว OpenMirai เป็นแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการศึกษา มีจุดเด่นอยู่ที่ Career Based Learning คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง เราจะมีการเลือกสายงานให้กับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อที่จะวิเคราะห์ว่าสายงานไหนที่เหมาะกับลูกค้า โดยตัว AI ก็จะจัดระบบและเลือกวิชาต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกค้าไปถึงสายงานที่อยากจะเป็นในอนาคตได้
ภาวิต: เราจะแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคนครับ อย่างผมจะได้รับหน้าที่ในการพรีเซนต์เพราะผมถนัดภาษาอังกฤษที่สุดในทีมและอาจจะมีสกิลด้านความเป็นผู้นำด้วยก็เลยได้เป็นโปรเจคไดเรกเตอร์ ส่วนอภิภูมิจะเก่งด้านเทคโนโลยีมาก ๆ เขาก็จะได้รับหน้าที่ในการเป็น Head Engineer เพราะเขามีความรู้และประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพมากที่สุด กุนซือจะเก่งด้านดีไซน์ มีความคิดสร้างสรรค์สูง ทำงานได้ outstanding มาก ๆ ก็จะรับหน้าที่เป็นครีเอทีฟ ปัณณ์จะเก่งเรื่องการหาข้อมูล เขารีเสริชเก่งมาก คิดวิเคราะห์เก่งจนเราได้แก่นแท้ของงานจริง ๆ ก็ให้เขาเป็น Research Department คนสุดท้ายออโต้จะเก่งเรื่องเขียนโปรแกรมมากที่สุด เขาก็จะทำหน้าที่เป็นคนเขียนโปรแกรมครับ
ภิญฐ์สิตา: จุดแข็งคือการเรียนรู้ของเราจะมุ่งเน้นไปที่สายอาชีพ ไม่ใช่การเรียนแค่เนื้อหาในหนังสือ แต่เป็นการเรียนทั้งเนื้อหาและเพิ่มประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนมั่นใจมากยิ่งขึ้น พอเรียนจบแล้วเราจะให้ทำ Project Based ไม่มีการสอบข้อเขียนหรือ ก ข ค ง ไม่ได้มีเกณฑ์ในการตัดสินผิดถูก แต่จะให้ผู้เรียนทำโปรเจกต์ขึ้นมาสักหนึ่งโปรเจกต์เพื่อดูว่าผู้เรียนแต่ละคนได้ใช้ความรู้ในสิ่งที่ตัวเองเรียนมากน้อยแค่ไหน ประยุกต์ใช้ได้ดีหรือเปล่า
อภิภูมิ: จุดแข็งในด้านธุรกิจคือ เรามี Strategic Partner หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือและพร้อมที่จะร่วมทำงานกับเราจริง ๆ มี Unfair Advantage หรือความสามารถที่ทำให้เราอยู่เหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน เรามี Customer Journey ที่ชัดเจนว่าลูกค้าเข้ามาแล้ว จบออกไปแล้วและจะกลับมาใช้บริการเราอีกได้อย่างไร และที่สำคัญเรามีทีมสตาร์ทอัพที่มีประสบการณ์ที่พร้อมจะมาทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาใช้จริง ๆ ให้กรรมการได้เห็น
อภิภูมิ: รายได้หลัก ๆ จะมาจากการ Subscription รายเดือนและรายคอร์ส เพราะเรารู้ว่าลูกค้าจะมี 2 แบบคือ ประเภทที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไรดี เขาก็จะเรียนไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีความลังเลอยู่ เราก็จะเสิร์ฟเนื้อหาให้เขาไปเรื่อย ๆ และแบบที่สองคือคนที่รู้ใจตัวเองอยู่แล้ว เขาก็จะจ่ายครั้งเดียวเลย แต่เราก็ไม่อยากให้มันแพงมากเกินไปเลยตั้งราคาไว้เบื้องต้นประมาณ 5-10 ดอลลาร์
อภิภูมิ: วัยมัธยมที่อยู่ในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อยากจะค้นหาตัวเองมากที่สุด คนที่ตอบยังไม่ได้ว่า “โตขึ้นจะเป็นอะไร” หรือคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแต่อาจจะมีความชอบอื่น ๆ แตกออกมาอีก ซึึ่ง OpenMirai ได้นำเอาแนวคิดของ MIT และ Stanford มาใช้ในการประมวลผลร่วมกับ AI ด้วย
อภิภูมิ: ปัญหาแรก ๆ ที่เจอและรู้สึกว่าหนักคือเว็บไซต์เพราะที่เราทำมามันไม่ตรงกับแบบที่ดีไซน์ เราก็หาวิธีออกแบบใหม่ ทำใหม่ให้ตรงกับแบบที่ดีไซน์ เพราะดีไซน์มันเปลี่ยนความรู้สึกคนได้ครับ การที่จะชนะคู่แข่งได้เราต้องใส่ใจถึงรายละเอียดพวกนี้ด้วย
ภาวิต: หลัก ๆ คงเป็นเรื่องการโดนเลื่อนหลายรอบเพราะตอนแรกเราจะต้องแข่งแบบ onsite คือนำเสนอตัวต่อตัวกับกรรมการ แต่เนื่องจากช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดหนักก็เลยต้องเลื่อนไปก่อน ซึ่งทางกรรมการก็ยังอยากให้ onsite อยู่แต่พอเลื่อนไปปรากฏว่าปีถัดมาสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น กรรมการก็เลยเปลี่ยนการแข่งขันมาเป็นแบบออนไลน์แทนครับ ส่วนการทำงานช่วงแรก ๆ เราจะนัดเจอกันเพื่อคุยไอเดียแล้วทำสไลด์เพื่อนำเสนอ แต่พอโควิด-19 ระบาดหนักก็เจอกันบ่อย ๆ ไม่ได้เลยต้องเปลี่ยนมาเป็นคุยทางออนไลน์แทน มีปัญหาเรื่องเทคนิคบ้างเล็กน้อยแต่ทีมเราก็ปรับตัวกันได้
ภาวิต: ไม่เลยครับ ต้องมองในแง่ดีไว้ว่าเราก็มีเวลาทำงานมากขึ้นนะ (หัวเราะ)
อภิภูมิ: ทีมเราไม่มีโมเมนต์ทะเลาะกันเลยครับ เพราะเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการทำสตาร์ทอัพ เลยไม่รู้ว่าเราจะไปทะเลาะกันเพื่ออะไร ผมพูดได้เลยว่าทุกคนในทีม 5 คนเรารวมกันเป็น 1 จริง ๆ
อภิภูมิ: ผมให้ 100 เลย (หัวเราะ)
อภิภูมิ: มีครับแต่ไม่เชิงว่าให้กำลังใจจ๋า เช่น ถ้าเราทำงานกันอยู่แล้วมันคิดไม่ออก ผมก็จะเป็นคนเปิดเลยว่า “เล่นเกมไหม กุนซือ เจ็ม ROV ไหม” ส่วนออโต้กับปัณณ์จะชอบเล่นเกม Valorant คลายเครียด เราจะทำงานกันแบบนี้จริง ๆ มีช่วงที่สนุก ตลก ยิงมุกกัน เพราะผมคิดว่าเครียดมากไปก็ไม่มีความสุขกับงาน เราต้องทำให้ทีมรู้สึกว่าการทำงานของเราเหมือนการเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่น แต่การเล่นของเรามันมีศัตรูล้อมรอบเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
ทีม OpenMirai นาทีที่ 1.27.40
ภาวิต: ตอนแรกผมชิลล์นะ ไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะผมคิดว่าซ้อมมาเยอะ แต่ตอนที่เดินเข้าไปในห้องเพื่อพรีเซนต์เท่านั้นแหละ ผมก็เริ่มประหม่า คิดถึงขั้นที่ว่าตัวเองจะตอบคำถามกรรมการได้ไหม จะพูดผิดหรือเปล่า หรือว่าจะพูดเร็วเกินไปจนหายใจไม่ออกแล้วค้างไปเลยไหม (หัวเราะ) แต่พอได้เริ่มพรีเซนต์ความตื่นเต้นมันก็เริ่มลดลง สติกลับเข้าร่าง บวกกับช่วงที่เรากลัวคือช่วงตอบคำถาม กรรมการเขาก็ถามคำถามที่ผมซ้อมเอาไว้แล้ว ผมก็ยิ้มออกเลยครับ
อภิภูมิ: ตื่นเต้นมาก ๆ ครับ
ภิญฐ์สิตา: ค่อนข้างชิลล์ค่ะ คนที่น่าจะตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นเจ็มกับอภิภูมิ เพราะว่าเจ็มจะเป็นคนพรีเซนต์ ส่วนอภิภูมิจะเป็นคนควบคุมสไลด์ คนในทีมคนอื่น ๆ ก็จะนั่งลุ้นช่วงตอบคำถาม ถ้ามีคำถามไหนที่เจ็มตอบไม่ได้หรือว่าชะงักไป เราก็จะช่วยเขา แต่สุดท้ายช่วงตอบคำถามก็ผ่านมาได้ด้วยดีมาก ๆ เจ็มตอบได้หมด จึงค่อนข้างสบายใจมาก ๆ
ณพสัญญ์: เรานั่งคุยกันเรื่อย ๆ แต่มันก็ชิลล์มากกว่าเหมือนที่กุนซือพูด ผมรู้สึกว่าเพื่อน ๆ ซ้อมมาเยอะมาก ๆ ผมเลยค่อนข้างมั่นใจว่าเพื่อนผมทำได้
ปัณณ์: ชิลล์ครับ แต่ว่าก่อนที่จะเข้าห้องไปพรีเซนต์ก็จะมีไล่คำถามยาว ๆ ให้เจ็มซ้อม ดูว่าเขาตอบยังไง โอเคไหม ถ้ามันยังไม่ได้ก็จะช่วยกันแก้ไขก่อน
ภาวิต: ซ้อมทุกวันครับ วันละ 3 รอบ ซ้อมอยู่ 2-3 อาทิตย์ จับเวลาเวลาพูดเพื่อให้มันพอดีกับเวลาที่เขากำหนดคือ 3 นาที ก่อนวันเเข่งจริงผมซ้อมตั้ง 10 รอบ แต่ถามว่าเหนื่อยไหมก็ไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ เพราะผมมีประสบการณ์ด้านการพรีเซนต์มาพอสมควร ส่วนรอบนี้มันเป็นการพรีเซนต์แบบ Pitching จับเวลา เพราะฉะนั้นมันก็มีจุดที่ให้ผมต้องเรียนรู้ใหม่เยอะเหมือนกัน
ภาวิต: ให้ทำให้ดีที่สุด ความรู้ที่เราได้รับมาตลอดการทำสตาร์ทอัพ ประสบการณ์ที่เราได้ฝึกฝนมา เราจะเอามาใช้ในวันนี้ให้หมด
อภิภูมิ: สู้ สู้ ทุกคนในทีมจะปลุกใจกันเอง เพราะแต่ละคนจะมีความกลัวเป็นของตัวเอง เหมือนมีปีศาจในตัวเอง ผมก็จะบอกทุกคนว่า ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ผมภูมิใจในตัวทุกคนนะ
อภิภูมิ: ผมคุยกับทีมว่าเราต้องติด 1 ใน 3 ไม่ก็ต้องที่หนึ่ง เพราะผมไปนั่งไล่ดูโปรไฟล์ของคู่แข่งแต่ละคน ว่าแต่ละทีมเขาเด่นอะไร ผมคิดว่าทีมเราสู้ได้ แต่ตอนแข่งก็มีหวั่น ๆ บ้างเพราะผมกลัวกรรมการไม่เข้าใจงานของทีมเรา แล้วยิ่งตอนคอมเมนต์ช่วงหลังพรีเซนต์จบ เราก็กลัวเพราะ commentator พูดเหมือนตำหนิโปรเจกต์เรา ผมก็แอบใจแป้วหน่อย ๆ
ภาวิต: ผมคิดว่าเรามีโอกาสสูงที่จะชนะครับ แต่พอได้ดูทีมอื่น ๆ เขาพรีเซนต์ ได้เห็นไอเดียเขาซึ่งก็ดีเหมือนกัน ผมก็เริ่มคิดว่าถ้าไม่ชนะก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ)
ภิญฐ์สิตา: ด้วยความที่เราทำงานกันหนักมาก เราค่อนข้างมั่นใจในตัวงานว่าเราตีถูกประเด็น มาถูกทาง ไม่มีช่องโหว่เลยคิดว่าอย่างน้อย ๆ ก็น่าจะติด 1 ใน 3 ได้ แต่ก็มีหวั่น ๆ นิดหน่อยเพราะเห็นทีมอื่นเขาก็ยกปัญหาที่คาดไม่ถึงมาทำเหมือนกันค่ะ
ณพสัญญ์: ค่อนข้างมั่นใจในงานตัวเองครับ เพราะเราทำงานกันหนัก ซ้อมกันมาดีมากก็เลยคิดว่าน่าจะติด 1 ใน 3 แน่นอน แต่มันก็เป็นธรรมดาที่จะอยากได้ที่หนึ่งมากกว่า แต่พอได้เห็นงานทีมอื่นที่มาในประเด็นเดียวกันกับเราอย่างของทีม 24 hours ก็แอบกลัวบ้าง แต่ตอนที่กลัวสุด ๆ ก็คือตอนที่ commentator เขาคอมเมนต์ในแง่ลบรัว ๆ ครับ
ปัณณ์: ผมมั่นใจเต็มที่ว่าทีมจะชนะ แต่ก็แอบมีหวั่น ๆ เหมือนทุกคนก็คือตอนคอมเมนต์ ถึงแม้เขาจะไม่ใช่กรรมการแต่เป็น commentator ก็ตาม กลัวว่ามันมีผลต่อการตัดสินครับ
อภิภูมิ: ทีมเราโดนติเยอะมาก เช่น สไลด์มันไม่เคลียร์ ไม่มีภาพประกอบของโปรดักซ์ ไทม์ไลน์ไม่ชัดเจน ไม่มีการยกตัวอย่าง ข้อมูลไม่ชัดเจน คือทุกอย่างมันไปในแง่ลบหมดเลย ทุกคนในทีมเลยกลัว แต่พอเป็นช่วงกรรมการคอมเมนต์เขากลับชมว่าทีมเราเพอร์เฟคแล้ว เขาไม่ติอะไรเลยด้วยซ้ำ เขาชื่นชมเจ็มผู้นำเสนอ ชื่นชมทีมเรา และพอประกาศว่าทีมเราชนะ ทีมเรายอมรับคำตินะครับ เราเปิดรับความคิดเห็นถ้ามันเป็นความจริงและมีเหตุมีผล ประสบการณ์ครั้งนี้มันทำให้ครั้งหน้าเราต้องศึกษาประวัติกรรมการและ commentator เพิ่มเติมด้วยครับ
ภาวิต: ต้องเป็นทีมน้ำท่อมครับ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่ามันแหวกแนวมาก ๆ มันเป็นการทำสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลังที่ทำจากใบกระท่อม ซึ่งตอนแรกใบกระท่อมมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่อยู่ดี ๆ ไม่กี่วันก่อนหน้าวันพรีเซนต์ ใบกระท่อมก็ถูกกฎหมาย มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกว้าวมาก ด้วยจังหวะเวลาที่มันเป๊ะถือเป็นการคาดเดาที่สุดยอดมาก ๆ
ปัณณ์: ขอเสริมครับว่าทีมน้ำท่อมเขาคิดโปรเจกต์นี้มาก่อนหน้านี้แล้ว 7 เดือน แต่มันก็เหนือความคาดหมายมาก ๆ เพราะ 4 วันก่อนเริ่มพรีเซนต์ กฎหมายก็เปลี่ยนกลายเป็นว่าใบกระท่อมถูกกฎหมายแล้ว ผมก็เลยไปนั่งส่องโปรไฟล์เจ้าของโปรเจกต์เลยว่าเขาคือใคร เป็นผู้มาก่อนกาลเหรอ (หัวเราะ)
ภิญฐ์สิตา: สำหรับทีมน้ำท่อมเขาน่าจะเป็นทีมเดียวที่ทำเรื่องอาหารและค่อนข้างมีความครีเอทีฟนะคะ มีไอเดียที่แปลกแหวกแนวมาก แถมยังเป็นอาหารที่น่าจะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลยเพราะเพิ่งประกาศว่าเป็นของถูกกฎหมายเมื่อไม่กี่วันก่อนแข่งจริง และถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่พรีเซนต์ค่อนข้างโอเคด้วยค่ะ ตัวสินค้าก็แปลกใหม่
อภิภูมิ: ผมคิดว่าทุกคนในทีมน่าจะชอบทีมน้ำท่อมหมด อย่างที่เจ็มและปัณณ์บอกว่าพวกเขาเป็นทีมที่มาก่อนกาล เพราะมันไม่น่าจะเป็นไปได้
ภิญฐ์สิตา: ตอนก่อนทำก็ยังสับสนอยู่ค่ะ ว่าจะไปวิศวะหรือไปสายไหนดี แต่การมาทำโปรเจกต์นี้ก็ทำให้เราชัดเจนกับตัวเองว่าเราชอบด้านเทคโนโลยีจริง ๆ
อภิภูมิ: สำหรับผมที่ทำงานด้านเทคโนโลยีมาก่อนอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาทำสตาร์ทอัพมันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผมจะมาทางเทคโนโลยีหรือ Data แต่ก็อยากเป็นครูด้วยครับ เพราะผมก็สอน Coding โดยที่ไม่เก็บเงินอยู่
ภาวิต: มันทำให้ผมชัดเจนในตัวเองว่าอยากเป็นวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาก และจากการได้ทำโปรเจกต์นี้ผมก็รู้สึกอยากไปเรียนบริหารเพิ่มเติมด้วย
ณพสัญญ์: จริง ๆ ผมสนใจด้านฮาร์ดแวร์มากกว่า แต่การมาทำโปรเจกต์นี้ทำให้ผมสนใจด้านซอฟต์แวร์มากขึ้นด้วย ทำให้ผมได้ไปลองเขียนเว็บไซต์ครับ
ปัณณ์: ส่วนผมอาจต่างจากเพื่อน ๆ ตรงที่พอได้มาทำงานนี้แล้วผมรู้ตัวเองมากขึ้นว่าผมไม่ได้สนใจด้านธุรกิจสตาร์ทอัพเท่าไหร่ครับ
อภิภูมิ: ผมได้ประสบการณ์ด้านการบริหารเพิ่มขึ้น หลักการดีไซน์ที่สำคัญมาก ๆ
ณพสัญญ์: ก่อนหน้านี้ผมไม่มีหัวด้านดีไซน์เลยครับ แต่การได้นั่งดูเพื่อนทำงานมันก็ได้เทคนิคการดีไซน์กลับมา แล้วก็ได้รู้ Mood&Tone ของการดีไซน์
ปัณณ์: ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของแนวคิดในการทำงานที่จะเก็บไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการทำงานอื่น ๆ เพราะผมได้คุยกับหลาย ๆ คนทั้งจากคำติชมต่าง ๆ แล้วก็ได้แนวคิดด้านการดีไซน์ดี ๆ จากเจ็มและกุนซือด้วย
ภิญฐ์สิตา: หลัก ๆ คือได้ประสบการณ์เรื่องของการดีไซน์เพิ่มมากขึ้นค่ะ และได้รู้ว่าความจริงแล้วเหนือฟ้าก็ยังมีฟ้าอยู่นะ บางสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันดีแล้ว โอเคแล้ว แต่ความจริงเราสามารถทำมันให้ดีได้มากกว่านี้อีก
ภาวิต: ผมได้เรียนรู้เยอะเลยครับ หลัก ๆ จะเป็นเรื่องการนำเสนอในรูปแบบสตาร์ทอัพ การโน้มน้าวให้คนมาลงทุนกับเราหรือ Pitching กระบวนการทำสตาร์ทอัพ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การหาปัญหา หาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อจะเอาไปนำเสนอ และจงเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ผิดแล้วไม่ควรเถียงแต่ควรฟังแล้วก็เอาไปพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วก็อย่าคิดไปเองให้มากนักครับ (หัวเราะ)
อภิภูมิ: ถ้าในโรงเรียนสาธิตพีไอเอ็ม ผมขอบคุณที่ปรึกษาหลัก 2 คน คนแรกคือครูอ้ำที่เก่งเรื่อง Design Thinking มาก ๆ และครูโป้ที่เป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์ให้เรา ขอบคุณสถาบัน PIM ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร และ ผศ.ดร.ดัชกรณ์ ตันเจริญ ที่ให้บุคลากรที่มีคุณภาพมาช่วยแนะนำเป็นที่ปรึกษาให้กับโปรเจกต์ของเรา ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าจะได้งานที่ดี ขอบคุณพาร์ทเนอร์ที่เชื่อใจกัน เดินมาด้วยกันจนถึงตอนนี้ และขอบคุณทุกคนในทีม ซึ่งก็ขอบคุณกันทุกวันอยู่แล้วครับ
ณพสัญญ์: ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือ โรงเรียนให้ทั้งทุน ให้ทั้งบุคลากรเก่ง ๆ เข้ามาช่วยแนะนำเราตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ มันเลยทำให้โปรเจกต์เราไปได้ไวมาก ไม่ติดขัดตรงไหน อย่างการให้สถานที่สะดวกสบายในการทำงานผมว่ามันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่สำคัญที่ทำให้เรามีกำลังใจทำงานมากขึ้นครับ พอรู้ว่าโรงเรียนเขาซัพพอร์ตเราเต็มที่ เราก็ต้องทำให้เต็มที่
ภาวิต: ผมว่าการให้บุคลากรที่มีประสบการณ์ในด้านสตาร์ทอัพมาให้ความรู้ อย่างเทคนิคการพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษที่ผมสามารถเอาไปใช้ได้ในเวทีหน้า มาช่วยเช็กในแต่ละขั้นตอนไปด้วยกันมันทำให้เราได้เรียนรู้ รู้สึกสนุกเหมือนได้ทำงานด้วยกัน ผมไม่ได้รู้สึกว่าทางโรงเรียนมากดดันให้เราต้องชนะ มันมีผลต่อกำลังใจมากว่าเราอยากทำให้ดีที่สุด
อภิภูมิ: เราอาจไม่ใช่เด็กที่เก่งที่สุดในโรงเรียนแต่ถ้าเราอยากทำอะไร ผมรู้สึกว่าผมเดินไปปรึกษากับทางโรงเรียนได้เลย โดยที่เรามั่นใจได้เลยว่าโรงเรียนจะหาคนเก่งที่มีประสบการณ์และงบประมาณทุกอย่างให้เรา อย่างทีมเราอยากทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ทางโรงเรียนก็หาวิทยากรที่มีประสบการณ์จากสถาบัน PIM มาเป็นที่ปรึกษาให้ โรงเรียนเหมือนเป็นปุ๋ยและน้ำให้เราได้เติบโต ไม่ใช่แค่ตัดแต่งกิ่งให้ดูดีแค่ภายนอกเท่านั้น โรงเรียนอยากให้ผลลัพธ์มันเกิดกับตัวพวกเรามากที่สุด ดังนั้นไม่ว่าการแข่งขันครั้งหน้าจะเป็นอะไร พวกเราก็มีความพร้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคตครับ
ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากความมั่นใจ และความเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ของทีม OpenMirai แล้ว ก็ยังมีผู้ที่คอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง โดยเป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์ให้กับทีม OpenMirai ซึ่งก็คือ อ.วาร์วี ชานวิทิตกุล (ครูอ้ำ) ครูสอนวิชา Creative Thinking และ ดร.สรัล ภาชื่น (ครูโป้) ครูสอนวิชาดนตรี
อ.วาร์วี: เริ่มต้นจากเราทั้งสองคน ครูอ้ำและครูโป้ได้ไปร่วมสอนกับครูวิทยาศาสตร์ในวิชาโครงงานของนักเรียน ม.3 เพราะทางโรงเรียนอยากให้ครูฝั่งศิลป์และครูฝั่งวิทย์มาโคกัน คือเหมือนเป็นวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดชิ้นงานขึ้นมา พอจบวิชานั้นไป ต่อมาก็มีโปรเจกต์ Pitch@School เข้ามา ทางโรงเรียนก็มองว่าน่าจะดีนะถ้าเอาครูสายศิลป์มาเป็นที่ปรึกษาให้เด็กวิทย์ เพื่อที่จะได้ส่วนผสมดี ๆ ในการทำโปรเจกต์
ดร.สรัล: ทางโครงการ Pitch@School จะจัดอบรมให้ความรู้กับทั้งครูและนักเรียน โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้มีมายเซ็ตแบบ Entrepreneur ของสตาร์ทอัพเลย แต่พอเข้ามาทำตรงนี้ก็เหมือนได้เปิดโลก ได้เรียนรู้ ได้คิดในมุมที่แตกต่างออกไป ผมก็เหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อมกับพวกเขา ต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อมาแนะนำนักเรียน ตัวเราก็ได้เติบโตไปด้วย และก็ได้มีความกล้ามากขึ้น ได้ลองร่างโปรเจกต์สตาร์ทอัพของตัวเองด้วยครับ
อ.วาร์วี: เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพเพิ่มเติม โดยทางโคงการ Pitch@School จะมีแพลตฟอร์มที่เป็นเว็บไซต์ให้เราเข้าไปเรียนรู้แต่ละบทเรียน ตั้งแต่เรื่องสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการ ว่าการเป็นผู้ประกอบการต่างจากการเป็นสตาร์ทอัพอย่างไร และมีแบบฝึกหัดให้เราได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีการให้ทำแบบทดสอบว่าเราเป็นคน type ไหนในวงการสตาร์ทอัพ และมี Guest Speakers จากที่ต่าง ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นสตาร์ทอัพตัวจริง คอยเข้ามาแนะนำให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ทำให้เราได้รับความรู้มากขึ้นและเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างสดใหม่ด้วย
อ.วาร์วี: ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสไลด์ว่าหน้าตาโอเคไหม และมีปรึกษาเรื่องโปรดักซ์ การทำมาร์เก็ตติ้งด้วย คือกลุ่มนี้เขามีแผนงานที่ค่อนข้างชัดเจนมากมาตั้งแต่แรก เขาอินกับประเด็นที่ทำมาก ช่วงแรก ๆ ที่มาปรึกษาก็อาจยังไม่มีแพลตฟอร์ม แต่ระหว่างที่ทำมันก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
ดร.สรัล: ของผมหลัก ๆ จะเป็นในส่วนของการนำเสนอครับ เพราะในส่วนคอนเทนต์ที่เป็นเทคโนโลยีคือผมรู้ไม่เท่านักเรียนอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของการพรีเซนต์ ผมสามารถแชร์ประสบการณ์ตรงนี้กับเขาได้ เนื่องจากมันเป็นภาษาอังกฤษด้วย แล้วมันก็มีเวลาที่จำกัดด้วย ผมก็ช่วยเขาเลือกจัดอันดับว่าอันไหนมันสำคัญกว่า อันไหนที่ควรจะเอาออก บางหน้าแน่นเกินไปไหม ผมจะให้คำปรึกษาในการพูดนำเสนอให้ออกมาตรงกับที่พวกเขาต้องการมากที่สุด และช่วยเสริมทักษะในการคิดแก้ไขปัญหา การตอบคำถาม การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าครับ
อ.วาร์วี: กลุ่มนี้เขาค่อนข้างมีความมั่นใจและค่อนข้างเจนสนามแข่ง ในมุมนึงก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าห่วง แต่สิ่งที่เรามองว่ามันท้าทายพวกเขามากก็คือการได้ออกไปเห็นโรงเรียนอื่น ๆ อีก 10 ทีมข้างนอก สิ่งนี้แหละที่จะช่วยให้พวกเขาได้เช็กตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เขาคิดกัน ความมั่นใจที่พวกเขามี เมื่อออกไปข้างนอกแล้วมันเป็นอย่างไร เราคาดหวังอยากให้พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมากกว่า
ดร.สรัล: จุดแข็งของทีมนี้คือความสามัคคี พวกเขา 5 คนสามารถดีลงานกันได้โดยไม่ขัดแย้งกันเลย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาร่วมงานกันมานานแล้ว และแต่ละคนก็มีฝีมือมีทักษะที่ต่างกันออกไป ถ้ามองในเรื่องความท้าทาย ผมจะเป็นห่วงในเรื่องที่ว่าหากพวกเขาแยกย้ายไปทำงานโดยที่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกัน ผมจะเห็นว่าความสามารถของพวกเขาจะไม่โดดเด่นออกมาขนาดนี้ บางทีมันจะไม่แสดงศักยภาพของแต่ละคนได้ shine ขนาดนี้ ผมเลยมองว่าเมื่อพวกเขารวมทีมกันครบ 5 คน เขาจะแข็งแกร่งมาก แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนที่อุดมการณ์เปลี่ยนไปแล้วออกจากทีมและมีคนใหม่เพิ่มเข้ามา มันจะยังเหมือนเดิมไหม ก็ถือเป็นความท้าทายที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา
อ.วาร์วี: จะมีวันหนึ่งเลยที่เรานัดเอา Mentor ที่มีประสบการณ์สตาร์ทอัพ และประสบการณ์ด้าน UX/UI Design และทีมของ PIM เข้ามาให้นักเรียนได้ลองซ้อม Pitching จริง ๆ ซึ่งก็ทำให้เขาได้ฝึกตอบคำถามจริง ๆ เพราะ Mentor จะยิงคำถามให้ตอบเดี๋ยวนั้นเลย
ดร.สรัล: หลัก ๆ ผมจะแนะนำเรื่องการพรีเซนต์ เพราะ OpenMirai เขามีคอนเทนต์ค่อนข้างเยอะ ผมเลยแนะนำให้เขาตัดส่วนที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อให้พรีเซนเทชั่นมันมีช่องว่างให้ได้หายใจมากขึ้น เพราะ 3 นาทีที่พรีเซนต์นั้น มันไม่ใช่ว่าใครพูดได้เยอะ พูดได้มากที่สุดแล้วจะชนะ ผมจึงแนะนำให้เอาข้อมูลบางส่วนที่ไม่สำคัญออก เหมือนแกล้งเปิดช่องให้กรรมการเห็นว่าทำไมกลุ่มนี้ไม่พูดถึง แต่จริง ๆ เราเตรียมคำตอบไว้หมดแล้ว ก็จะเป็นการดึงให้กรรมการถามในสิ่งที่เราอยากจะตอบ ซึ่งในส่วนของการตอบคำถามนั้น OpenMirai ก็ทำได้ดี และสามารถควบคุมเวลาพรีเซนต์ 3 นาทีได้ดีเหมือนกัน
ดร.สรัล: ผมคิดว่าในอนาคต ไม่ว่าเขาจะเป็น Entrepreneur หรือไม่ แต่เขาจะได้มายเซ็ตนั้นในการคิดแก้ไขปัญหา ซึ่งอันนี้ถือเป็นหัวใจหลักของโครงการนี้เลย รวมถึงการสื่อสารต่าง ๆ ที่ Pitch@School ใช้นั้นก็สามารถนำมาใช้ต่อได้ เพราะเขาสื่อสารว่าแนวคิดแบบสตาร์ทอัพมีความสำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพก็จริง แต่ก็สามารถเรียนรู้แนวคิดสตาร์ทอัพไว้ได้
ดร.สรัล: จากที่ผมเคยได้ไปทำงานที่ฟินแลนด์มา 2 ปี ในโรงเรียนเขาจะมีห้องอยู่ห้องหนึ่งเรียกว่าห้องสตาร์ทอัพ จะเป็นห้องที่เปิดประตูไว้ตลอดเวลาเพื่อให้นักเรียนที่พร้อมจะถืออะไรเข้าไปพูดคุยเสนอไอเดียกับครูในนั้น ซึ่งมันก็สอดคล้องกับที่นักเรียนเราได้รับรางวัลมา ในอนาคตก็อาจจะมีเปิดให้นักเรียนทุกคนได้ลองลงสนามสตาร์ทอัพ และกลุ่มที่โปรเจกต์มีความโดดเด่นที่สุดก็จะได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขัน ก็คืออยากจะทำให้สตาร์ทอัพเป็นรายวิชาหนึ่งไปเลย
อ.วาร์วี: เรามองว่าสตาร์ทอัพมันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่มันเป็นวิธีคิด การดีลกับคน การอยู่รอด การคิดสร้างสรรค์ และเครือข่าย มันมีหลายศาสตร์ที่รวมอยู่ในการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่งทั้งหมดนี้หากนักเรียนได้ลองทำจริงก็จะถือเป็นกำไรของพวกเขาเลย ในอนาคตจึงมองว่าหากมันเป็นรายวิชาได้ แล้วมีกลุ่มอื่น ๆ นักเรียนห้องอื่น ๆ มาลองทำ ลองเสนอไอเดีย เราก็น่าจะได้เห็นความหลากหลายจากตรงนี้มากขึ้น
เรื่อง: วัลญา นิ่มนวลศรี และนพนก
ภาพ: โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม)