Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยผ่านหนังและสารคดี 14 เรื่อง

Posted By Plook Magazine | 08 ต.ค. 64
7,469 Views

  Favorite

ย่างเข้าเดือนตุลาคมกลิ่นอายของประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยไทย จะหวนคืนให้ประชาชนได้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่สร้างทั้งความปิติและบาดแผลที่ยังไม่ได้รับเยียวยา ผ่านกิจกรรมเสวนาหรือการรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาที่มักจัดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้ถึงความเป็นมาของประชาธิปไตยไทย เป็นการเปิดพื้นที่ให้สังคมได้พิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ของประชาธิปไตยไทยว่าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ก้าวหน้าขึ้นหรือถดถอยลง มีอุปสรรคหรือปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ ๆ อะไรบ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่สากลโลกเขายอมรับกัน

 

cr: http://www.fivestarproduction.co.th

 

แน่นอนว่าแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดอยู่แค่กิจกรรมหรือการสัมมนาเท่านั้น หนังสือ สื่อออนไลน์ และสื่อที่ย่อยเนื้อหาได้ง่ายอย่างหนังและสารคดีก็เป็นอีกแหล่งการค้นคว้าที่ดีไม่แพ้กัน 

 

ด้วยบรรยากาศแห่งยุคแสวงหาได้หวนคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง บวกกับเป็นช่วงเดือนตุลาคมที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นระบอบที่อนุญาตให้คนมากหน้าหลายตาได้เจรจาต่อรองกันอย่างสันติที่สุดระบอบหนึ่งของโลก เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันศึกษาประเด็นต่าง ๆ ผ่านหนังประชาธิปไตยและสารดคีน่าดู 14 เรื่องที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งประเด็นที่มีส่วนสนับสนุนและเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตย เช่น การถกเถียงถึงความหมายของประชาธิปไตย ความสำคัญของการโหวต การตรวจสอบผู้มีอำนาจ การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ การรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและสังคมที่ดีขึ้น และอีกมากมายที่จะช่วยจุดประกายแนวคิดการพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น สังคมที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม สังคมที่สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพอย่างถ้วนหน้า

 

 

cr: www.rottentomatoes.com

 

1. What Is Democracy? (2018)

เรามาเริ่มกันที่สารคดีเรื่อง What Is Democracy? ที่จะพาผู้ชมไปร่วมค้นหาความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ผ่านประวัติศาสตร์ทางความคิดตั้งแต่ยุคเอเธนส์ที่มีการทดลองระบบการปกครองด้วยตัวเอง ไล่มาจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซ วิกฤติผู้ลี้ภัยในยุโรป ปัญหาการเหยีดผิวและความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มประเทศตะวันตกส่วนใหญ่มีรูปแบบประชาธิปไตยที่บกพร่อง และเพื่อตอบโจทย์แห่งยุคสมัยนี้ ตัวสารคดีจะพาเราไปพบกับนักคิดและนักกิจกรรมทั่วโลกที่จะมาวิพากษ์ถึงปัญหาของระบอบในปัจจุบัน และหนทางที่อาจนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและรับใช้ประชาชนมากกว่าเดิม

 

 

cr: www.imdb.com

 

2. Selma (2014)

แม้ในทางกฎหมายรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1964 (Civil Rights Act of 1964) จะขจัดการแบ่งแยกสีผิวทางรัฐตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว แต่กลับพบว่าการเหยีดผิวยังคงเข้มข้นในบางพื้นที่และกลายมาเป็นอุปสรรคที่กีดกันไม่ให้คนผิวดำร่วมออกเสียงเลือกตั้งได้ หนังชีวประวัติเรื่อง Selma นี้จะฉายภาพการต่อสู้ของ Dr. Martin Luther King Jr. และคณะในรัฐแอละแบมาช่วงปี 1965 ผ่านแคมเปญที่ท้าทายและเต็มไปด้วยภยันตรายมากมายที่ขวางกั้นไม่ให้ตัวเขาและคณะบรรลุจุดมุ่งหมายได้ง่าย ๆ และเป้าหมายที่ว่าคือการได้มาซึ่งสิทธิพลเมือง (civil right) โดยเฉพาะสิทธิออกเสียง (voting right)

 

 

cr: www.imdb.com

 

3. All In: The Fight for Democracy (2020)

แม้ว่าการต่อสู้ของ Dr. Martin Luther King Jr. จะสัมฤทธิ์ผล แต่ใช่ว่าการต่อสู้ในประเด็นสิทธิออกเสียงของคนกลุ่มน้อยอย่างคนผิวดำชาวฮิสแปนิก หรือชาวเอเชียเชื้อสายอเมริกันจะจบลง หนังสารคดีน่าดูอีกเรื่องอย่าง All In: The Fight for Democracy จะพาเราไปสำรวจประเด็นที่มักจะถูกมองข้ามแต่ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ขัดขวางผู้มีสิทธิออกเสียง (voter suppression) ในสหรัฐอเมริกา เนื้อหาของสารคดีจะช่วยให้เราเห็นถึงปัญหาทางข้อกฎหมายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการออกเสียงของผู้คน ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในประเทศระบอบประชาธิปไตย 

 

แม้ว่าเนื้อหาของสารคดีจะอิงบริบทในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็สามารถใช้เป็นกล้องส่องปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการออกเสียง หรือกฎหมายการเลือกตั้งที่พิกลพิการในบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี

 

 

cr: www.imdb.com

 

4. All the President's Men (1976)

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยประชาชนสามารถเลือกตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจรัฐแทนตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวแทนของเราจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจควบคู่กันไป หนังเรื่อง All the President’s Men ที่อิงมาจากเค้าโครงเรื่องจริงจะช่วยให้เราเห็นถึงความสำคัญในการตรวจสอบผู้มีอำนาจได้อย่างชัดเจน ผ่านการสืบสวนคดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงพัวพันในคดีอื้อฉาวนี้เป็นจำนวนมาก

 

 

cr: www.imdb.com

 

5. 12 Angry Men (1957)

12 Angry Men คือหนังขึ้นหิ้งที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุด โดยบอกเล่าเรื่องราวของคณะลูกขุนที่มีพื้นเพและลักษณะนิสัยแตกต่างกัน 12 คน ที่จะต้องมาพิจารณาคดีเยาวชนอายุ 18 ปีที่ตกเป็นจำเลยเพราะถูกกล่าวหาว่าฆ่าบิดาของตัวเอง ถ้าคณะลูกขุนทั้ง 12 คนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยมีความผิด จำเลยจะต้องโทษประหารชีวิต หนึ่งในแง่มุมที่เราจะเห็นคือการที่คนแปลกหน้าทั้ง 12 คนต้องมาร่วมกันคิด ถกเถียง เพื่อบรรลุมติร่วมกัน 

 

ในช่วงต้นเรื่องนั้นคณะลูกขุน 11 คนลงความเห็นว่าจำเลยมีความผิด มีเพียงคนเดียวที่เห็นต่างโดยให้เหตุผลว่าคณะลูกขุนควรจะไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนกันดูอีกครั้งก่อน เพราะมติของคณะมีผลถึงความเป็นความตายของตัวจำเลย ในแง่นี้หนังได้แสดงให้เราเห็นถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญในหลักนิติธรรม (rule of law) ที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากประเทศใดที่อ้างว่ายึดหลักนิติธรรมและเป็นประชาธิปไตย แต่ดันมีกฎหมายที่สันนิษฐานก่อนว่าบุคคลมีความผิดก็นับว่าขัดหลักนิติธรรม ทั้งยังสะท้อนถึงระบบยุติธรรมที่อยุติธรรม และส่อให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยแค่หน้าฉากเท่านั้น

 

 

cr: www.imdb.com

 

6. Trumbo (2015)

Trumbo คือหนังที่เล่าเรื่องราวของ Dalton Trumbo นักเขียนบทภาพยนตร์ผู้มากความสามารถในวงการฮอลลีวูด แต่กลับเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีดำของฮอลลีวูด (Hollywood blacklist) จนกระทบหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่เขามีความคิดต่างทางการเมืองเพียงเท่านั้น การขึ้นบัญชีดำนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้กฎหมายไปปิดปากผู้เห็นต่าง (slap) ซึ่งกรณีนี้สามารถหาตัวอย่างจริงนอกจอได้อย่างเกลื่อนกลาด โดยเฉพาะในประเทศที่ประชาธิปไตยบกพร่องหรือเป็นเผด็จการ กระบวนการเช่นนี้นับว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพทางความคิด (freedom of thought) ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สามารถสร้างคุณูปการให้สังคมมีความเจริญทางปัญหาได้มากขึ้น มันจึงเป็นสิทธิที่ควรค่าแก่การปกป้องรักษาไม่ให้ผู้มีอำนาจตนใดมาพรากไปจากประชาชน

 

 

cr: www.imdb.com

 

7. The Death and Life of Marsha P. Johnson (2017)

The Death and Life of Marsha P. Johnson เป็นหนังสารคดีน่าดูอีกเรื่องที่เล่าถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ สีผิว และเชื้อชาติของ Marsha P. Johnson นักกิจกรรมในขบวนการเคลื่อนไหวปลดแอกเกย์ (gay liberation) และการสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตของเธอที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำที่ส่อเค้าถึงความไม่ชอบมาพากล หนังสารคดีเรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มักถูกขับให้อยู่ชายขอบของสังคมโดยมีเหตุมาจากเพศวิถี เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ตกเป็นชนกลุ่มน้อย (minority) นับเป็นอีกประเด็นท้าทายที่สังคมจะต้องร่วมกันแก้ไข ด้วยการมองคนให้เท่ากัน ไม่ลดค่าความเป็นมนุษย์ (dehumanization) เพียงแค่อีกคนหนึ่งแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่ความแตกต่างนั้นไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่น มิเช่นนัั้นแล้วสังคมจะขาดหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพ และทำให้หลักการประชาธิปไตยบิดเบี้ยวในที่สุด

 

 

cr: www.rottentomatoes.com

 

8. Do Not Resist (2016)

Do Not Resist คือหนังสารคดีที่ฉายภาพปฏิบัติการของตำรวจที่มีรูปแบบคล้ายทหารมากขึ้น (police militarization) ด้วยการติดอาวุธหนักให้กับกองกำลังตำรวจ การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุระหว่างปฏิบัติภารกิจ และที่น่าตกใจคือกระบวนการปลูกฝังแนวคิดการใช้ความรุนแรงให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทำนองว่าการปฏิบัติภารกิจของตำรวจคือการทำสงคราม การต่อกรกับความรุนแรงคือการใช้ความรุนแรงที่มากกว่า และการสร้างวาทกรรมว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่คือความรุนแรงอันชอบธรรม

 

เราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ได้จากสารคดีเรื่องนี้เข้ากับเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของตำรวจ (police brutality) ที่เกินกว่าเหตุ ผิดหลักสากล และเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เราเห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

cr: www.imdb.com

 

9. The Organizer (1963)

The Organizer คือหนังที่จะพาเราไปสัมผัสกับสภาพการทำงานอันย่ำแย่ในโรงงานสิ่งทอในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานถึง 14 ชั่วโมงทำให้คนงานต่างอิดโรยจนประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ซึ่งการกดขี่ขูดรีดภายในโรงงานนี้เองที่นำไปสู่การรวมตัวกันของคนงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น แต่แล้วการรวมตัวกันอย่างสันติก็ต้องมาเผชิญหน้ากับเหล่าเจ้าหน้าที่ จนนำไปสู่การกดขี่ขั้น 2 นั่นก็คือการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

แม้ว่าหนังจะเก่ามากแล้วแต่เราจะเห็นว่าประเด็นของหนังยังร่วมสมัย โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสันติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ตามหลักแล้วเจ้าหน้าที่ควรเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการรวมตัวกันของผู้คนที่มีเรื่องอัดอั้นตันใจและอยากเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หนังเรื่องนี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงประเด็นที่ยังต้องได้รับการสื่อสารและผลักดันเพื่อให้สังคมเข้าใกล้สู่ความเป็นประชาธิปไตยขึ้นอีกก้าว

 

 

cr: www.rottentomatoes.com

 

10. She's Beautiful When She's Angry (2014)

สารคดีเรื่อง She's Beautiful When She's Angry จะพาเราไปสัมผัสบรรยากาศการต่อสู้ของขบวนการเฟมินิสต์ (feminist) คลื่นลูกที่ 2 ในสหรัฐอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1966-1971 ที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องพบเจอตั้งแต่การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือที่ทำงาน  อนามัยการเจริญพันธุ์ (reproductive health) เพศสภาพ ฯลฯ หลากประเด็นที่สารคดีนำเสนอยังไปคาบเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเชื้อชาติและชนชั้น ที่ล้วนเป็นประเด็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมด้วยกันหมดทั้งสิ้น และด้วยการที่ความเท่าเทียมคือหนึ่งในหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นดั่งกรณีศึกษาเรื่องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง

 

 

cr: www.rottentomatoes.com

 

11. 1987: When the Day Comes (2017)

หนังเรื่องนี้อิงจากเค้าโครงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเกาหลีช่วงปี ค.ศ. 1987 ที่บอกเล่าเรื่องราวการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ภายใต้ขบวนการ June Democracy Movement ซึ่งมีชนวนมาจากการที่ผู้เรียกร้องเสียชีวิตระหว่างการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนับเป็นเหตุการณ์ที่ทอดสะพานไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จในเวลาต่อมา หนังเรื่องนี้จึงควรค่าแก่รับชมเพื่อเป็นทั้งกรณีศึกษาและแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

 

 

cr: http://www.fivestarproduction.co.th/

 

12. 14 ตุลา สงครามประชาชน (2001)

ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยไทยเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งนับเป็นโชคดีก็ว่าได้ที่หนังการเมืองไทยเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” สามารถออกฉายสู่สายตาประชาชน เราจึงมีสื่อประเภทภาพยนตร์ไว้เป็นกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น

 

ตัวหนังจะอิงเค้าโครงเรื่องจริงจากประวัติของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา และจิระนันท์ พิตรปรีชา คนรักที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยด้วยกัน เส้นทางการดำเนินเรื่องจะแบ่งออกเป็น 2 เนื้อเรื่องใหญ่ ๆ ที่ดำเนินควบคู่กันไป หนึ่งคือเหตุการณ์ 14 ตุลา กับช่วงที่เสกสรรค์และจิระนันท์เดินทางเข้าป่าเพื่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) 

 

 

cr: Facebook Paradoxocracy The Movie

 

13. ประชาธิป'ไทย (Paradoxocracy) (2013)

หนังสารคดีการเมืองไทยร่วมสมัยเรื่องนี้นับเป็นสารคดีอีกเรื่องที่ห้ามพลาด เพราะเนื้อหาที่สารคดีนำเสนออาจเป็นไปตามคำโปรยของตัวสารคดีนั่นก็คือ "สิ่งที่คนไทยควรรู้ที่สุด แต่กลับรู้น้อยที่สุด" เนื้อหาของสารคดีจะไล่มาตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2549

 

ตัวสารคดีจะใช้รูปแบบการสัมภาษณ์นักวิชาการและนักกิจกรรมมากหน้าหลายตาในการนำเสนอเนื้อหา ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่อาจตรงหรือแตกต่างจากความคิดเดิมของเรา นับเป็นสารคดีที่จะช่วยเปิดหูเปิดตาทางการเมืองให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี และสามารถกระตุกต่อมความสงสัยเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้นเพราะจะมีบางช่วงบางตอนของสารคดีที่ถูก “ดูดเสียง” ไป ราวกับว่าประเทศไทยมีสิ่งต้องห้ามมิให้พูดถึงในที่สาธารณะ นับเป็นการตอกย้ำถึงสภาวะสังคมที่เรายังไม่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้อย่างเสรีในทุก ๆ เรื่อง 

 

 

cr: www.nonviolent-conflict.org

 

14. A Force More Powerful (1999)

A Force More Powerful ถือเป็นหนังสารคดีน่าดูอีกเรื่องที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบสันติวิธี ตัวสารคดีจะพาไปดูกรณีตัวอย่างของขบวนการรูปแบบนี้ที่ประสบความสำเร็จในทั่วทุกมุมโลก เช่น ขบวนการเรียกร้องเอกราชในอินเดีย ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในชิลีที่นำไปสู่การโค่นระบอบเผด็จการทหารของ Augusto Pinochet และนำสังคมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ในที่สุด


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

แนะนำหนังสร้างจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ที่โลกไม่ลืม

แนะนำหนังเกี่ยวกับสิทธิสตรี ผู้หญิงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอะไรบ้าง

5 ประเด็นสังคมที่วัยรุ่นไม่ควร ignorance ในปี 2020

ความตลกร้ายของวัฒนธรรมการข่มขืนในนิยายรักวัยรุ่น

รวมภาพยนตร์แนว Bully ที่เปลี่ยนแรงแค้นให้เป็นพลังบวก

5 ปัญหาของเด็กไทยที่ซ่อนอยู่ในซีรีส์ “เด็กใหม่” Girl From Nowhere ซีซั่น 2

“เมดูซ่า” เหยื่อของอำนาจทางเพศที่ถูกมองข้าม

วิเคราะห์ชีวิตของ “มารี อ็องตัวเนตต์” ราชินีแห่งฝรั่งเศส แย่จริง หรือ แค่แพะ ?

แจกหนังน่าดู 10 เรื่อง จาก 10 คณะน่าเรียน ได้ทั้งความรู้ & ความสนุก

5 หนังสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน ให้ไปถึงฝันอะไรก็กั้นไม่ได้



 

แหล่งข้อมูล

- WHAT IS DEMOCRACY?

- What Is Democracy? review – searing analysis of who's really in control 

- Selma 

- WATCH All In: The Fight For Democracy - Watch Now

- All the President's Men

- 12 Angry Men

Trumbo

- “The Death and Life of Marsha P. Johnson” (2017) dir. David France - The price you pay is high 

- Do Not Resist: new film shows how US police have become an occupying army 

- The Organizer

- มาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับเสรีภาพในการชุมนุม

- 'She's Beautiful When She's Angry' chronicles 1960s feminism

- เข้าใจประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ผ่าน 5 ภาพยนตร์ ที่ อ.จักรกริช สังขมณี ชวนดู 

- 14 tula, songkram prachachon (2001) 

- ประชาธิป'ไทย - MatichonBook.com 

- A Force More Powerful (English) | ICNC

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow