Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Critical Reading & Critical Thinking แพ็คคู่แห่งความเจริญทางปัญญา

Posted By Plook Magazine | 01 ต.ค. 64
9,975 Views

  Favorite

เมื่อพูดถึง critical reading มาก ๆ เราคงจะนึกถึงอีก critical หนึ่งที่สังคมกำลังพูดกันอย่างติดปาก นั่นก็คือ “การคิดเชิงวิเคราะห์” หรือ “critical thinking” และเมื่อ 2 critical นี้โคจรมาพบกันเราจะนิยามมันว่าอย่างไร แตกต่างกันไหม เป็นคอนเซ็ปต์ที่แยกจากกันหรือเกี่ยวพันกัน เราลองมาร่วมหาคำตอบกันดู

 

 

โดยพื้นฐานแล้ว critical thinking คือกระบวนการคิดวิเคราะห์และประเมินข้อมูลที่ได้รับด้วยการใช้ตรรกะและหลักของเหตุผล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาหรือประเด็นที่เรากำลังครุ่นคิดอยู่ 

 

จากคำนิยามนี้เราจะเห็นถึงเส้นอันบางเฉียบที่ยังทำให้ critical reading และ critical thinking เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีความเฉพาะตัวของมันเอง แต่เส้นที่บางเฉียบนี้เองที่ทำให้ทั้งคู่มีความคล้าย และเปิดช่องทางให้ 2 แนวคิดนี้ไปมาหาสู่และเกื้อกูลกันได้อย่างลงตัว เป็น 2 แนวคิดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น หลังจากที่ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่อ่านเสร็จ ในจังหวะที่เราจะประเมินหรือวิเคราะห์สมมติฐาน ทฤษฎี และกรอบความคิดของผู้เขียน เราอาจใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์และประเมินข้อมูลด้วยตรรกะและหลักของเหตุผล ซึ่งก็คือวิถีแห่ง critical thinking มาจอยระหว่างที่เรากำลังอ่านอะไรอย่าง critical reading อยู่

 

เมื่อเป็นแบบนี้ก็เรียกได้ว่า critical reading และ critical thinking 
เป็นแนวคิดแพ็คคู่ที่จำเป็นต่อการประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง

cr: www.freepik.com

 

Critical Reading ภาคปฏิบัติ

การทำความเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของ critical reading ก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ยากนัก การนำไปใช้จริงก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจยากง่ายตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน เราจึงอยากจะแนะนำวิธีในการนำแนวคิด critical reading ไปทดลองใช้จริงในชีวิตประจำวันกันดู

 

Step 1 ก่อนลงมืออ่าน  ในกรณีที่เนื้อหาที่กำลังจะอ่านมีบทนำ หัวเรื่องย่อย หรือคำโปรย ให้เราอ่านเนื้อหาในส่วนนี้ก่อนเพื่อที่จะได้ไอเดียว่าข้อเขียนนั้น ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร จะบรรยายหรือถกเถียงในประเด็นไหน

 

Step 2 ระหว่างที่อ่าน  ให้ลองพยายามสนทนากับเนื้อหาที่เราอ่าน เทคนิคคือการขีดเส้นใต้หรือทำเครื่องหมายต่าง ๆ กับเนื้อหา แล้วจดบันทึกความคิดเห็น คำถาม หรือสรุปเนื้อหาในคำพูดของเราลงบนสมุดจดแยกหรือที่ว่างตรงขอบกระดาษ (กรณีที่เป็นสื่อสิงพิมพ์) วิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถงัดตัวหนังสือขึ้นมาแล้วชำเลืองเห็นสมมติฐาน กรอบความคิด และทฤษฎีที่นักเขียนใช้ได้ในระดับหนึ่ง

 

Step 3 หลังอ่านจบ  เมื่ออ่านจบแล้ว ให้ลองกลับมาอ่านสิ่งที่เราขีดเส้นใต้และจดบันทึกไว้อีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้เราสรุปเนื้อหาได้กระชับยิ่งขึ้น และอาจทำให้เห็นเบื้องหลังของตัวอักษรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

Step 4 โต้ตอบกับเนื้อหา  พอเราอ่านและทำความเข้าใจในเนื้อหาเสร็จ และเห็นกรอบแนวคิดของผู้เขียนชัดเจนแล้ว ทีนี้ให้เราลองประเมิน วิเคราะห์ โต้ตอบ ท้าทาย วิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของเนื้อหา ข้อเสนอ ข้อถกเถียง และกรอบแนวคิดของผู้เขียนดู ขั้นตอนนี้อาจเป็นการเปิดประตูไปสู่แนวคิด มุมมอง ข้อถกเถียงใหม่ ๆ ที่เราได้จากเนื้อหาเพิ่มเติม นับเป็นการต่อยอดทางความคิดอีกก้าวที่น่าทดลองทำกันดู

 

cr: www.freepik.com

 

เราสามารถนำตัวอย่างข้างต้นนี้ไปดัดแปลงหรือเสริมแต่งให้เข้ากับแนวทางของตัวเองได้ ถ้ารู้สึกว่าสเต็ปดังกล่าวยังติดขัดตรงส่วนไหน แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการไปมากมายเพียงใด 2 ปัจจัยที่สำคัญของ critical reading จะยังคงเดิม นั่นก็คือการวิเคราะห์และการวินิจฉัย ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหรือเครื่องมือสำคัญสำหรับการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยสามารถขยายความได้ตามนี้

 

การวิเคราะห์ในการอ่าน - เครื่องมือชิ้นนี้จะช่วยให้เราสามารถแกะแงะข้อเขียน จนทำให้มองเห็นว่าอะไรเป็นตัวกำกับเนื้อหานั้น ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นสมมติฐาน ทฤษฎี กรอบความคิด ลักษณะถ้อยคำ หรือกระทั่งอคติที่ผู้เขียนใส่มันลงไปในข้อเขียน

 

การวินิจฉัยเนื้อหา - เครื่องมืิอชิ้นที่ 2 นี้จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถสรุป ประเมิน และตีความเนื้อหาที่เราอ่านได้ และเมื่อใช้คู่กับเครื่องมือชิ้นแรกจะทำให้เราวินิจฉัยเนื้อหาได้อย่างมีหลักการมากขึ้น เพราะมันจะเป็นการวินิจฉัยตรงที่เนื้อหา สมมติฐาน กรอบความคิด ฯลฯ ของผู้เขียน ไม่ใช่การวิพากษ์อย่างเลื่อนลอย

 

 

เราจะได้อะไรจาก Critical Reading ?

เมื่อลองมาประมวลผลดูว่า critical reading มันให้อะไรกับเรา ก็จะพบว่ากระบวนการทำความเข้าใจในข้อเขียนจะทำให้เรา “สรุปเนื้อหา” ตามความหมายเดิมที่ผู้เขียนอยากจะสื่อในภาษาของเราเองได้ พอเราได้ประเมินหรือวิเคราะห์ตัวเนื้อหาและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กำกับทิศทางและความหมายของเนื้อหาก็จะทำให้เราสามารถ “อธิบาย” หรือบอกที่มาที่ไปหรือแรงปรารถนาของผู้เขียนได้ ความสามารถในการสรุปเนื้อหาและอธิบายองค์ประกอบของเนื้อหานี้เองที่จะช่วยให้เราสามารถ “ตีความ” เนื้อหาได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นการจับผิดผู้เขียนแต่อย่างใด แต่ถ้าจะ “ถกเถียง” หรือ “โต้แย้ง” กับผู้เขียนจริง ๆ ก็สามารถทำได้ด้วยหลักของเหตุและผล ไม่ใช่ใช้อคติส่วนตัวไปบิดเบือนเนื้อหาให้ตรงตามจริตของตัวเอง 

 

เอาเข้าจริงเราจะพบว่าสกิลด้าน critical reading เป็นสกิลที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารทะลักสู่สายตาของเราอย่างล้นหลาม จนแทบจะจับต้นชนปลายกันไม่หวาดไม่ไหว เพราะสกิลนี้จะทำให้เราสามารถจับต้นมาประจบกับปลายได้อย่างแนบสนิท และช่วยให้เราตกผลึกในการอ่านได้มากขึ้น

 

cr: www.freepik.com

 

ดังนั้นมันจึงเป็นสกิลที่เลอค่าหาที่สุดไม่ได้สำหรับทุกผู้ทุกวัยในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่มีเป้าหมายในการศึกษาเพื่อหาความรู้และ “ต่อยอดความรู้” ที่ได้มา ไม่ใช่แค่เรียน ๆ อ่าน ๆ และท่องจำตามบทเรียนที่ถูกผลิตซ้ำต่อ ๆ กันมา เพราะเอาเข้าจริงเราจะรู้ได้ยังไงว่าองค์ความรู้ที่สืบสานกันมาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหากไม่มีองค์ความรู้ใหม่มาเปรียบเทียบ ดังนั้นการเสนอองค์ความรู้ใหม่ผ่าน critical reading จึงเป็นการช่วยปูทางไปสู่สังคมที่อุดมด้วยปัญญา 

 

ขณะที่คนวัยทำงานก็สามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้าน critical reading กับการงานของตัวเองได้เช่นกัน โดยเฉพาะงานที่ต้องคลุกคลีกับกองข้อมูล และใช้ข้อมูลนั้นในการทำรายงานหรือตัดสินใจทางธุรกิจ เพราะมันจะช่วยให้อ่านข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างทะลุปรุโปร่งและนำไปใช้กับหน้าที่การงานของตัวเองได้อย่างถูกทางและลงตัว

 

ส่วนสามัญชนทั่วไปที่เสพข่าวสารเป็นกิจวัตรก็จะได้ประโยชน์จากสกิลด้าน critical reading ไม่ต่างจากกลุ่มอื่น เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชีิวิตได้อย่างมีเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การถกเถียงประเด็นข่าวกับเพื่อน ๆ การเลือกตั้ง หรือการเลือกที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนบุคคลสาธารณะคนใดจากหลักของตรรกะ ไม่ใช่หลักของอคติที่ตนคิดว่าสูงส่ง แต่เลื่อนลอยและกลวงเปล่า


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

• Critical Reading คืออะไร ช่วยให้รู้ทันเนื้อหาที่อ่านได้มากน้อยแค่ไหน

หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน

4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ

10 จุดรู้ทัน Fake News เพราะวัยรุ่นยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ

ทฤษฏีหมวก 6 ใบ หลักการคิดที่ช่วยเรื่องการจำและการแก้ปัญหา

บันได 4 ขั้นสู่การเรียนรู้ Soft Skills ใหม่ ๆ

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

ความโง่ 4 แบบที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองไม่สำเร็จ


 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

- What Is Critical Reading?

- Critical Reading, at its Core, Plain and Simple

- Critical Reading v. Critical Thinking

- What is Critical Reading? | Collegewide Writing Center

- Critical Thinking in Everyday Life

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow