Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความรู้จักกับ ‘วาฬสีน้ำเงิน’ สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกที่เสี่ยงสูญพันธุ์

Posted By Plook Magazine | 01 ต.ค. 64
45,808 Views

  Favorite

มนุษย์อาจเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากเราเอาความสามารถของสมองมาเป็นเกณฑ์ เพราะคนเราจะทำอะไรก็ได้ คิดวิเคราะห์ได้ เป็นนักประดิษฐ์ก็ได้ แต่ถ้าเราเอาเรื่องน้ำหนักตัวและรูปร่างมาใช้เป็นเกณฑ์แน่นอนว่ามนุษย์จำเป็นต้องหลีกทางให้กับสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตัวจริงเสียงจริงอย่าง ‘วาฬสีน้ำเงิน’ ที่ใหญ่มานานกว่า 25 ล้านปีแล้ว 

 

 

วาฬสีน้ำเงิน หนักประมาณช้าง 33 ตัวรวมกัน
มันจึงเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อโตเต็มวัย

Cr. us.whales.org

 

วาฬสีน้ำเงินหรือ The Antarctic blue whale มีชื่อวิทยาศาสตร์คิ้วท์ ๆ ว่า Balaenoptera musculus โดย Balaenoptera (บาลาเอนา) มาจากภาษาละติน แปลว่าวาฬ และ Pteron มาจากภาษากรีกโบราณแปลว่า ครีบ วาฬสีน้ำเงินไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักมากถึง 200 ตันหรือประมาณช้าง 33 ตัวรวมกัน สามารถมีความยาวเต็มที่ที่ 30 เมตร ขนาดหัวใจของวาฬสีน้ำเงินมีขนาดเท่ารถยนต์คันเล็กหนึ่งคัน แค่เฉพาะลิ้นของมันก็มีน้ำหนักเทียบเท่ากับช้างหนึ่งตัว โดยวาฬสีน้ำเงินสามารถมีอายุขัยได้ยาวนานประมาณ 70-90 ปีเลยทีเดียว 

 

ส่วนลักษณะภายนอกลำตัวของวาฬสีน้ำเงินจะมีความเพรียวยาว สวยงาม สะดุดตา บวกกับส่วนหัวกว้างคล้ายตัวยูของวาฬสีน้ำเงินทำให้เป็นที่จดจำได้ง่าย ด้านหลังจะมีสีน้ำเงินเทา ส่วนท้องของมันจะมีสีจางกว่าเล็กน้อย หัวมีสีน้ำเงิน ด้านหลังและด้านข้างมีลายสีน้ำเงินหรือเทาอ่อนเป็นดวง ๆ มีร่องใต้คางที่ใช้หดขยายช่องปากอัตโนมัติเมื่อต้องกินอาหารจำนวน 60-88 ร่องที่ยาวไปจนถึงสะดือ ในขณะที่วาฬบรูด้ามีร่องใต้คางเพียงแค่ 40-70 ร่องเท่านั้น ทำให้มันกินตัวเคยและสัตว์น้ำเล็ก ๆ ทีละเป็นพัน ๆ กิโลได้สบาย !

 

Cr. worldwildlife.org

 

ด้านอาหารการกินระหว่างช่วงฤดูกินอาหาร (the main feeding season) วาฬสีน้ำเงินสามารถกินตัวเคย สัตว์น้ำตัวจิ๋วได้มากถึง 3,600 กิโลกรัมต่อวัน และยังถือว่าเป็นสัตว์ที่ส่งเสียงในลักษณะคลื่นเสียงได้ดังและไกลที่สุดในโลกอีกด้วย อาจพูดได้ว่าดังราว ๆ 188 เดซิเบล ในขณะที่เสียงพูดคุยปกติทั่วไปจะอยู่ราว ๆ 60 เดซิเบล ถือว่าดังมากจนเป็นอันตรายต่อแก้วหูมนุษย์ทำให้หูหนวกได้ แม้แต่เครื่องบินเจ็ทที่ว่าดังมาก ๆ ก็ยังแพ้ให้กับเสียงของเจ้าวาฬสีน้ำเงิน เนื่องจากเครื่องบินเจ็ทมีเสียงดังราว ๆ 140 เดซิเบลเท่านั้น แต่ที่วาฬสีน้ำเงินต้องมีเสียงที่ดังขนาดนั้นก็เพื่อที่จะใช้คลื่นเสียงในการสื่อสารใต้น้ำ ช่วยในการหาคู่ นำทางใต้น้ำ หาอาหาร หลีกเลี่ยงนักล่า หรือเมื่อมันอยากข่มขู่ตัวอื่น ๆ ว่าอย่าเข้ามาแหยมกับมัน โดยสามารถที่จะได้ยินไกลถึง 100 กว่าไมล์เลยทีเดียว

 

เราจะพบเห็นวาฬสีน้ำเงินได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้, แอตแลนติก, มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอนตาร์กติกา บางกลุ่มอยู่ประจำถิ่น แต่บางกลุ่มก็ใช้ชีวิตด้วยการอพยพไปเรื่อย ๆ เพื่อหาอาหารและการผสมพันธุ์ ในประเทศไทยเคยพบวาฬสีน้ำเงินบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เมื่อปี 2553 และพบเกยตื้นเพียงครั้งเดียวที่บริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อปี 2556 และพบครั้งล่าสุดที่เกาะสิมิลัน ในปี 2560 ถือเป็นการพบในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3

 

Cr. us.whales.org

 

พฤติกรรมที่น่าสนใจของวาฬสีน้ำเงิน

 

การพุ่งตัวขึ้นเหนือน้ำ โดยการว่ายน้ำไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วแล้วโค้งตัวให้พ้นผิวน้ำ บิดลำตัวและทิ้งตัวลงอย่างสวยงามราวกับไร้น้ำหนัก โดยเอาส่วนหัวหรือด้านลำตัวลงก่อน 

 

การกินอาหารแบบ Lunge Feeding เป็นการกินที่พุ่งส่วนหัวขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วทิ้งขากรรไกรล่างลงที่ผิวน้ำและฮุบเหยื่อ 1 ครั้งหรือหลาย ๆ ครั้งแล้วจกตัวลงให้น้ำไหลผ่านซี่กรองและกลืนอาหารลงท้อง จากนั้นจะขึ้นมาหายใจแล้วกินต่อจนอิ่ม

 

การตีหาง ใช้เมื่อต้องการหาอาหาร ส่งสัญญาณหรือสื่อสาร โดยการแพนหางตีน้ำจากด้านล่างหรือด้านข้าง ตีน้ำ 1 ครั้งหรือหลายครั้ง และสามารถพบพฤติกรรมการใช้หางตีน้ำเกิดขึ้นร่วมกับการพุ่งตัวเหนือน้ำ

 

การกินอาหารแบบตะแคง Side Feeding เป็นการกินอาหารอีกรูปแบบหนึ่งโดยการอ้าปากตะแคงไปกับผิวน้ำ มักพบในน้ำตื้นประมาณ 4-5 เมตรและกินเหยื่อที่ว่ายน้ำเร็ว 


การดักจับเหยื่อโดยใช้ฟองอากาศ หรือที่เรียกว่า Bubble-net feeding เป็นวิธีการที่วาฬสีน้ำเงินช่วยกันพ่นฟองอากาศเป็นวงกลมล้อมรอบฝูงปลาหรือเหยื่อที่เป็นเป้าหมายเอาไว้ ฟองอากาศดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายตาข่ายที่ดักฝูกปลาเอาไว้ให้อยู่กันในวง เพื่อให้วาฬสามารถกินปลาได้ทีละหลาย ๆ ตัวพร้อมกันในคราวเดียว

 

Cr. us.whales.org

 

แต่เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา วาฬสีน้ำเงินถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์ ส่วนสาเหตุของการล่าวาฬก็คือ ความต้องการน้ำมันของวาฬ และการล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 จึงเริ่มมีการปกป้องวาฬสีน้ำเงินอย่างจริงจัง และในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติ (International Whaling Commission) หรือ IWC ได้สั่งห้ามการล่าวาฬในเชิงพาณิชย์ทำให้ความต้องการน้ำมันวาฬลดลง แต่อย่างไรก็ตามนักสำรวจคาดว่าในปัจจุบันยังคงมีวาฬสีน้ำเงินในซีกโลกใต้เหลืออยู่ประมาณ 2,300 ตัว อีกทั้งมีหลักฐานที่คาดว่าจำนวนวาฬสีน้ำเงินยังเพิ่มขึ้นอย่างทรงตัว คือประมาณปีละ 7% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง (วาฬสีน้ำเงินขนาดเล็กมีจำนวนมากกว่าวาฬสีน้ำเงินปกติ) เพราะเมื่อก่อนเราเคยมีวาฬสีน้ำเงินอยู่เกือบ 300,000 ตัว แต่ตอนนี้เหลือแค่หลักพันเท่านั้น และอย่าลืมว่าวาฬสีน้ำเงินเพศเมียจะให้กำเนิดลูกเพียงสองหรือสามปีต่อหนึ่งครั้ง ดังนั้นลูกวาฬสีน้ำเงินแต่ละตัวจึงมีคุณค่ามาก

 

 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวาฬสีน้ำเงินสูญพันธุ์ ?

 

Cr. us.whales.org

 

วาฬคือสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่อาหารทางทะเลมาก เพราะมันคือนักล่าตัวท็อปในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร หากพวกมันสูญพันธุ์ไปพวกเราจะต้องเจอกับปัญหาที่ใหญ่หลวงตามมา เพราะวาฬรีไซเคิลสารอาหารที่บำรุงพื้นผิวท้องทะเลซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนพืชก็เป็นอาหารของตัวเคย กลายเป็นวัฏจักรที่เลี้ยงดูตัวเองที่สมบูรณ์แบบได้ (self-sustaining cycle) 

 

ภัยคุกคามที่น่ากลัวต่อวาฬสีน้ำเงินมาจาก ‘มลภาวะและเครื่องมือประมง’ มีวาฬที่เสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติกจำนวนมากจนขึ้นมาเกยตื้นตาย ซึ่งการที่วาฬขึ้นมาเกยตื้นตายนั้นถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติของมัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าการขึ้นมาเกยตื้นตายของวาฬนั้นสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศทางทะเลได้ด้วย เนื่องจากถ้ามันตายอย่างธรรมชาติด้วยการจมลงใต้น้ำ สัตว์กินซากในทะเลก็จะได้มีอาหารกินไปอีกนาน แต่ถ้ามันขึ้นมาเกยตื้นตายวาฬอาจย่อยสลายด้วยการระเบิดตัวเองเมื่อเจอกับความร้อนภายนอก ก๊าซที่อัดอยู่ด้านในตัววาฬก็จะทำให้เกิดการระเบิดเป็นวงกว้าง ปัญหามันไม่ใช่แค่ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่ว แต่นั่นหมายความว่าระบบนิเวศใต้ท้องทะเลกำลังค่อย ๆ เสียสมดุลไป เพราะวาฬนั้นสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลมากทั้งในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม

 

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่หลาย ๆ คนได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลมากขึ้น ช่วยกันลดการใช้ขยะและแยกให้ถูกถังก่อนทิ้ง ไม่ปล่อยให้ขยะพลาสติกไปสร้างมลพิษในน้ำให้วาฬป่วยตายและเกยตื้น การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของวาฬให้มากกว่าแค่ว่ามันเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่มันสำคัญมากต่อระบบนิเวศทางทะเลก็ถือเป็นการเริ่มต้นอนุรักษ์วาฬที่ดีได้ อย่างที่เราได้ฟื้นฟูวาฬหลังค่อมให้กลับมามีจำนวนเกือบเท่าเดิมได้แล้ว หากนักล่าตัวท็อปของเรามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งวาฬ โลมา ปลาทูน่า และปลาฉลามต่างก็สำคัญมากต่อประสิทธิภาพของมหาสมุทรทั้งสิ้น และมหาสมุทรที่มีประสิทธิภาพก็สำคัญมากต่อสุขภาพของโลกเราและตัวเราด้วยเช่นกัน     

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?

‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก

วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

โอโซนโลกสำคัญยังไง ? แล้วเราจะช่วยกันปกป้อง ‘โอโซน’ ได้ยังไงบ้าง

เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?

HOW TO STOP FAST FASHION: ช้อปปิ้งยังไงโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น

วัยรุ่นสไตล์อีโค

 

 

แหล่งข้อมูล

- Meet the biggest animal in the world 

- TOP 10 FACTS ABOUT WHALES 

- วาฬสีน้ำเงิน 

- กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก 

- วาฬสีน้ำเงิน  

- วาฬในไทย 

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow