การปรับตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองยุคศตวรรษที่ 21 นั้น หลายคนอาจสบายชิล ๆ แต่เชื่อเถอะว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้สึกง่ายด้วยเลย ยิ่งการปรับความคิดจากความแตกต่างจากที่เคยได้รับการเลี้ยงดูแบบโบราณมานั้นยิ่งยากมากยิ่งขึ้น แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อไหร่เราปรับความคิดปรับพฤติกรรมของเราได้ เด็ก ๆ ก็จะเปลี่ยนให้การดูแลพวกเขา กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย
ครั้งนี้เรามีข้อห้ามและข้อควรทำสำหรับผู้ปกครอง Yes หรือ No พร้อมแล้ว! มาเลื่อนอ่านกันต่อเลยค่ะ
สองวิธีนี้ต่างกันคนละขอบจักรวาลทั้งตึงทั้งหย่อนเกินไป ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสุด ๆ ส่วนใหญ่หลายครอบครัวอาจไม่มีเวลาให้เด็ก หรือมีเพียงน้อยนิด อาจเพราะด้วยการทำงานหรือเศรษฐกิจ ขาดการสื่อสาร ชาดการสัมผัสทางกาย หรือแม้แต่การยินดีกับความสำเร็จ บางทียินดีตอนคุยอวดลูกกับเพื่อน ๆ ไม่ได้ชื่นชมยินดีต่อหน้าพวกเขา ขณะเดียวกันบางครอบครัวก็รักลูกมากตามใจสุด ๆ จนเด็กไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง หรือกลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลที่เหมือนจะร้องขอให้พ่อแม่เสกอะไรก็ได้ตามความต้องการที่ไม่เคยสิ้นสุด ควรเลือกสายกลางไม่ละเลยเด็กให้เวลากับเขาและไม่ตามใจจนสุดลิ่มทิ่มประตู ก่อนที่จะกลายเป็นปมปัญหาในใจสร้างนิสัยแย่ ๆ กับพวกเขาตอนโต
ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าพ่อแม่จะปฏิบัติต่อกันไม่ว่าการพูดส่อเสียด ด่าว่า ทุบตบตี หรือปฏิบัติด้วยความรุนแรงทั้งทางกายและทางจิตใจกับเด็กโดยตรงนั้น ถือเป็นข้อห้ามอย่างรุนแรง เพราะเป็นการสร้างปมปัญหาชีวิต เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเติบโตไปอย่างผิดทิศทาง พวกเขาจะเกลียดบ้าน และมองหาคนอื่นเป็นที่พักพิงจิตใจ ทั้งยังทำให้พวกเขาเห็นความรุนแรงในบ้านเป็นเรื่องปกติ บ่มเพาะความคิดรุนแรงในตัวพวกเขา การเลี้ยงเด็กนั้นไม่ใช่ไม่ให้ดุว่าหรือตี ไม้เรียวยังคงมีประโยชน์และได้ผลหากคนถือใช้เป็น ควรมีการพูดคุยให้เข้าใจรวมถึงบทลงโทษที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ใช้อารมณ์เป็นหลัก หรือเผลอใช้ลูกเป็นที่ระบายความหงุดหงิดอารมณ์เสียของตัวเอง
พ่อแม่ผู้ปกครองที่ขยันบ่นเก่งได้ทุกเรื่อง ช่างว่าช่างติ ช่างประชด ทั้งชอบรื้อฟื้นเรื่องที่ลูกเคยทำผิดพลาดมายกเสริมการบ่นระบายอารมณ์ของตัว ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น หรือแม้แต่กับพี่น้องของเขาเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง พวกเขาจะสูญเสียตัวตน ขาดความมั่นใจ ไม่มีความพยายาม และไม่เกิดการพัฒนา
ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลส่วนตัวหรือสถานการณ์ใดที่คุณอยากเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ อยากเห็นลูกของคุณเป็นคนดีที่สุด ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นทุกสิ่งที่คุณตั้งความหวังฝากชีวิตไว้กับลูก คุณรู้มั้ยว่านั่นเป็นภาระอันหนักอึ้งของพวกเขา สิ่งที่คุณทำแค่เพียงให้คำแนะนำปรึกษา คอยอยู่เคียงข้างเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ไม่ควรคาดหวังหรือตั้งความหวังของคุณไว้ในความคิดของพวกเขาไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง สิ่งที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติอย่างที่เด็ก ๆ เขาต้องการ แน่นอน!! พวกเขาต้องตามหาความฝัน สร้างความหวังและลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเขาเอง
เด็ก ๆ คือลูกหลานไม่ใช่ตุ๊กตา รสนิยมความชอบการแต่งตัว ไม่ว่าเลือกของเล่นของใช้ เรื่องเรียนต่อเรื่องอาชีพในอนาคต พ่อแม่ผู้ปกครองที่เขียนแผนวางโครงการชีวิตลูกด้วยตัวของคุณเองนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นการหวังดีห่วงใยให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด หากทั้งหมดไม่เคยถามความต้องการหรือหารือกับเจ้าของชีวิต ถือว่าผิด!! พวกเขามีสิทธิ์จะเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดรักชอบ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คุณคิดว่าลูกจะรักและชอบ อย่าลืมว่าพวกเขาต้องการความมั่นใจความภูมิใจในตัวตน กล้าคิดกล้าแสดงออก อย่าปิดกั้นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา อีกอย่างการบังคับเป็นสิ่งที่พวกเขาเกลียดไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ไม่ควรสร้างเพาะความเครียดความกดดันสะสมให้เด็ก ๆ ซึ่งคุณอาจไม่รู้ว่าเขาเก็บกดไว้รอวันระเบิดออกมาเมื่อไหร่และแบบใด
พ่อแม่ชอบคิดว่าลูกก็คือลูกเป็นเด็กเล็ก ๆ ร่ำไป เวลาพวกเขาบอกอะไรคุณก็ไม่ได้สนใจ แต่กลับเชื่อและรับฟังเรื่องต่าง ๆ จากคนอื่นที่ไกลตัวมากกว่า บางรายพ่อแม่ผู้ปกครองก็รักหวงห่วงลูกเกาะติดแจเข้าไปวุ่นวายทุกเรื่องในชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ยิ่งเรื่องเพื่อน เรื่องคนพิเศษของพวกเขาคุณก็อยากเข้าไปรับรู้มีส่วนด้วย บางครั้งคุณก็หวาดระแวงไม่เชื่อใจลูก จนกลายเป็นนักสำรวจ เป็นโรงงานซักฟอกทุกเรื่องของลูกที่อยู่นอกสายตาการรับรู้ของคุณ เตือนไว้เลยนะ เด็ก Gen Z อย่างพวกเขาเกลียดสิ่งเหล่านี้เป็นที่สุด ห้ามทำเด็ดขาด หรือหากทำแบบนี้รีบแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน เพียงแค่รับฟังและช่วยแนะนำให้คำปรึกษาก็เพียงพอ ก่อนที่พวกเขาเลือกจะออกห่างหนีให้ไกลจากคุณและจากบ้าน
หลายครอบครัวอาจถนัดการคุยล้อกันเล่นแบบครอบครัว ตลกอารมณ์ดีมีความสุข หรือใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบขู่ให้กลัวไว้ก่อนเวลาลูกทำสิ่งใด ๆ หรือรับปากสัญญาโน่นนี่นั่นให้ลูกทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็ผ่านเลยไปไม่ทำตามสัญญา หรือแม้แต่การปกปิดเรื่องบางเรื่องที่คิดไปเองว่าพวกเขายังไม่ควรมารับรู้ ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมันจะสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งรอบตัว พวกเขาจะมอเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของชีวิตจนติดเป็นนิสัยทำสิ่งเหล่านี้กับสังคมภายนอก สร้างนิสัยบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจะล้อเล่นปกปิดหรือโกหกแสดงออกบอกลูกให้ชัดเจนให้การสื่อสารนั้นเข้าใจตรงกัน
ตรงนี้คงไม่ต้องลงรายละเอียดลึก เพราะหัวข้อบอกไว้ชัดเจน ช่างเป็นครอบครัวในฝันในอุดมคติเสียเหลือเกิน แต่มันก็ไม่ได้ยากที่จะเกิดขึ้นจริง ถึงแม้ว่าบ้านนั้นจะไม่สมบูรณ์หรือขาดแคลนหลายสิ่ง เพื่อลูกของคุณแล้ว เรามั่นใจว่าคุณทำบ้านให้เป็นแบบนี้ได้อย่างแน่นอน คุณสามารถสร้างพื้นฐานที่มั่นคงด้วยความรักความอบอุ่นความเข้าใจเป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานของคุณเรียนรู้และเติบโตไปในทิศทางที่ดีที่สุดของพวกเขา หลายสิ่งอาจต้องใช้เวลากับการปรับตัวพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง มันไม่มีอะไรยากเมื่อตัดสินใจลงมือทำ
การรับฟังพูดคุยการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ที่ดีของคนในบ้าน การเป็นผู้ให้คำแนะนำพร้อมเป็นที่ปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง แน่นอนสิ่งง่าย ๆ เพียงแค่นี้ คือ ใช่แล้วสำหรับที่เด็กวัยมัธยมต้นอย่างพวกเขาต้องการ ทุกครั้งที่เขาสับสนรู้สึกมีปัญหา บ้านคือที่ปลอดภัยและคุณคือต้นแบบ คนที่เขาอยากให้รับรู้ทุกเรื่องราวทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขานั่นเอง พร้อมทำใจไว้ว่า กับลูกคุณต้องเป็นให้มากกว่าร้านสะดวกซื้อและต้องเป็นชั่วชีวิต
การสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่บ้านนั้นไม่ยากเลย การสร้างพื้นฐานนิสัยรักการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ แข็งแรง ให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้สมาชิกในบ้านแม้จะต่างวัย แต่ไม่ตกยุค ถือเป็นการสร้างวัคซีนคุ้มกันในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องและมีคุณค่า เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สุดท้ายลูกจะ YES or NO เติบโตเป็นไปในทิศทางใด นั่นขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเป็นผู้สร้างรากฐานสำคัญสำหรับการสนับสนุนพัฒนาการในตัวพวกเขา ณ เวลานี้และต่อไปในอนาคต
คุณคือคนที่จะเลือกคำตอบเองว่า YES or NO!!
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://new.camri.go.th, https://pantip.com/forum/family