ถ้าอยากทบทวนบทเรียน แล้วอยากจะจำให้ได้แบบระยะยาว เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในความจำระยะยาวนั้นจะแบ่งออกเป็น “ความจำแบบพื้นฐาน” และ “ความจำแบบรูปภาพ”
• ความจำแบบพื้นฐาน คือ ความจำที่เกิดจากการประมวลข้อมูล หรือความจำแบบทวนซ้ำ เช่น คำศัพท์ต่าง ๆ ที่เราใช้ซ้ำทุกวันจนจำได้ขึ้นใจ เป็นต้น
• ความจำแบบรูปภาพ คือ ความจำแบบเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ เช่น เราจำได้ว่าเคยไปเที่ยวทะเลตอนเด็กกับครอบครัว แม้เวลาจะผ่านมานานหลายปีแล้ว แต่เราก็ยังจำบรรยากาศตอนนั้นได้อยู่เสมอ เป็นต้น
แล้วถ้าจะอ่านหนังสือเตรียมสอบ ควรใช้การจำแบบไหนดีล่ะ ?
• การจำแบบพื้นฐานเหมาะกับการจำวิชาที่ต้องท่องจำ เช่น คำศัพท์ สำนวนต่าง ๆ ประวัติบุคคลสำคัญ เป็นต้น โดยจะต้องหมั่นทบทวนบ่อย ๆ เพื่อให้ความจำแบบพื้นฐานเปลี่ยนเป็นความจำระยะยาว
• การจำแบบรูปภาพเหมาะกับการจำคำศัพท์ยาก ๆ การท่องจำปีต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ เพราะมีหลักการใช้คือเมื่อเราจินตนาการรูปภาพขึ้นมาแล้วความจำอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับรูปภาพนั้นก็จะถูกกระตุ้นขึ้นมาด้วย
Good to konw: หลายคนอาจคิดว่าความจำแบบรูปภาพนั้นดีกว่า เพราะมันจะฝังหัวเราแบบไม่ลืม คำตอบคือไม่ถูกเสมอไป เพราะความจำแบบรูปภาพนั้นไม่เหมาะกับจำแบบ 1 ต่อ 1 แต่เหมาะกับการจำแบบจำนวนมาก ๆ หรือจำแบบเป็นกลุ่มก้อน หากอยากจะท่องจำแบบ 1 ต่อ 1 ควรใช้ความจำแบบพื้นฐานจะเหมาะสมกว่า
วิธีท่องจำแบบแซนด์วิชคือ การท่องจำในช่วงเวลา “ก่อนนอน 90 นาที” และ “หลังตื่นนอนทันที 90 นาที” นี่คือช่วงเวลาทองของการจำ เพราะตอนที่เรานอนหลับ ข้อมูลหรือบทเรียนที่เราท่องจำก่อนนอนจะถูกทบทวนซ้ำไปซ้ำมาในหัว และหลังจากตื่นนอนร่างกายจะหลั่งเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นเวลาเหมาะสมที่จะทบทวนบทเรียนนั้นอีกครั้ง ถือเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราจำได้ไม่ลืม และเหมาะกับการท่องจำเพื่อเตรียมสอบมาก ๆ
Tips: หลังตื่นนอนตอนเช้าไม่ควรพยายามท่องจำสิ่งใหม่ ๆ แต่ควรทบทวนสิ่งที่เราท่องจำเมื่อวาน
ก่อนนอน 90 นาที และ หลังตื่นนอน 90 นาที
เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการท่องจำมากที่สุด
การนอนหลับที่ดีช่วยบันทึกความจำได้
การนอนหลับถือเป็นคีย์หลักในการพัฒนาความจำที่ดีมาก เพราะขณะที่เรานอนหลับสมองจะซึมซับเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เราจดจำซ้ำ ๆ ไปมาจะถูกบันทึกเป็นความจำในที่สุด ซึ่งก็คือการพัฒนาจากความทรงจำระยะสั้นไปเป็นความจำระยะยาวนั่นเอง
จุดประสานเส้นประสาทในสมองมีชื่อเรียกว่า ‘ไซแนปส์’ (Synapse) ขณะที่เราหลับไซแนปส์จะจับตัวรวมกัน ทำให้เกิดการเรียบเรียงบันทึกความจำ ถ้าไม่อยากลืมสิ่งที่ท่องจำก่อนสอบไปในชั่วข้ามคืน สิ่งที่ควรทำคือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงก่อนสอบเราจึงไม่ควรอดนอนหรือนอนน้อยเกินไปเพราะจะทำให้รู้สึกไม่สดชื่น แถมยังส่งผลต่อการจดจำอีกด้วย
เพิ่มพลังความจำด้วยกล้วยและช็อกโกแลต
สารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนิน (Serotonin) มีหน้าที่ช่วยเปลี่ยนความจำระยะสั้นให้พัฒนาไปเป็นความจำระยะยาวได้ โดยจะหลั่งออกมาหลังจากที่เราตื่นนอนตอนเช้า ช่วงเวลานี้จึงเหมาะมากที่จะทบทวนบทเรียน และควรกินกล้วยเป็นอาหารเช้า เพราะในกล้วยมีสารทริปโตเฟน (Tryptophan) และวิตามินบี 6 ที่ช่วยสร้างเซโรโทนินให้เพิ่มมากขึ้น
ส่วนในตอนกลางวันหรือช่วงบ่าย ควรกินช็อกโกแลตไปพร้อม ๆ กับการท่องจำ เพราะในช็อกโกแลตมีสารทีโอโบรมีน (Theobromine) ที่ช่วยเพิ่มความจำและสมาธิ แถมน้ำตาลในช็อกโกแลตยังช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและช่วยคลายความเหนื่อยล้าของสมองได้ด้วย ใครที่ทบทวนบทเรียนช่วงบ่ายแล้วไม่ค่อยมีสมาธิแนะนำให้ลองใช้วิธีนี้ดู
หลายคนน่าจะคิดไม่ตกว่า เช้า กลางวัน เย็น จะอ่านอะไร อ่านวิชาไหนก่อนดี เราขอสรุปให้สั้น ๆ เลยว่า แบ่ง 1 วันออกเป็น 3 ช่วงตามนี้
• ช่วงเช้า เป็นช่วงที่สมองมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเหมาะกับการอ่านวิชาที่ต้องใช้หัวคิด เช่น คณิต วิทย์ ฝึกทำข้อสอบเก่า แก้โจทย์ต่าง ๆ เป็นต้น
• ช่วงบ่าย สมองจะเริ่มรู้สึกล้า อาจรู้สึกง่วงนอนหรือไม่ค่อยมีสมาธิได้ จึงเหมาะกับการอ่านวิชาที่ไม่ต้องใช้หัวคิดมาก เช่น ภาษาอังกฤษ การท่องจำคำศัพท์ เป็นต้น
• ช่วงเย็นถึงดึก สมองจะเริ่มเหนื่อยล้ามากขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง จึงเหมาะกับการอ่านวิชาที่อ่านได้โดยไม่ต้องใช้หัวคิดเลย มักเป็นวิชาท่องจำ เช่น ประวัติศาสตร์ สังคม เป็นต้น
Tips: ช่วง 1 เดือนก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย แนะนำให้ทำสมุดทบทวนที่อ่านทบทวนแค่เล่มนี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะมันจะช่วยให้เราอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ง่าย และนำไปสู่การจดจำที่ไม่ลืมนั่นเอง
ขอสรุปปิดท้ายว่า วิธีการจดจำแบบแซนด์วิชคือการใช้เวลาท่องจำก่อนนอน 90 นาที และหลังตื่นนอน 90 นาที โดยหลังตื่นนอนจะต้องทบทวนบทเรียนเดียวกับที่ท่องจำไปก่อนนอน นี่ถือเป็นสุดยอดเคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนาให้เราจำได้แม่นยำยาวนาน ลองใช้วิธีนี้ในการเตรียมตัวสอบหรือทบทวนบทเรียนในช่วงใกล้สอบกันดูนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• เทคนิคจด Short Note ให้อ่านง่ายจำแม่น
• 4 วิธีเพิ่มนิสัยรักการอ่าน ช่วยให้อ่านหนังสือได้เยอะขึ้น
• รวมเทคนิคการจำ ที่จะช่วยให้กลายเป็นคนจำแม่น อ่านอะไรก็ไม่ลืม
• 9 อาหารช่วยเพิ่มความจำ ที่อยากแนะนำให้กินช่วงอ่านหนังสือสอบ
• เทคนิคการจำแบบไม่ต้องจำ โดยจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น
• รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองที่จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น !
• ทฤษฏีหมวก 6 ใบ หลักการคิดที่ช่วยเรื่องการจำและการแก้ปัญหา
• HOW TO พักผ่อนสมองให้ความจำดีด้วยวิธี Mindfulness
• 10 เกมมือถือน่าเล่น ช่วยบริหารสมอง ฝึกความจำให้ดีขึ้น
• 6 นิสัยยอดแย่ที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง
• ทำไมถึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งไม่มีสมาธิ ?
• รวมเคล็ดลับลดความกดดันไม่ให้เสียสมาธิเวลาสอบ
• เคล็ดลับการจดบันทึกแบบ 'บูโจ' ที่จะทำให้เรากลับมาสนุกกับการจดอีกครั้ง
แหล่งข้อมูล
Takashi Ishii. (2559).เปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นคนหัวดีด้วย วิธีการจำ ภายใน 1 นาที. แปลจาก HONTO NI ATAMA GA YOKUNARU IPPUNKAN KIOKUHOU. แปลโดยภาณิน เพียรโรจน์. กรุงเทพฯ: บิงโก