Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุณคือ Taker หรือว่า Giver ? วิธีเป็นผู้ให้ที่ไม่โดนใครเอาเปรียบและปังเสมอ

Posted By Plook Magazine | 27 ก.ย. 64
13,189 Views

  Favorite

สภาวะของสังคมทุกวันนี้สอนให้คนเป็นผู้รับ (Taker) มากกว่าผู้ให้ (Giver) ซึ่งแน่นอนว่าทำให้หลาย ๆ คนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว นึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง มือใครยาวสาวได้สาวเอา ขาดน้ำจิตน้ำใจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมพัฒนาไปได้ แต่ในขณะเดียวกันการเป็นผู้ให้แบบไม่มีขอบเขตก็อาจจะถูกคนอื่นเอาเปรียบได้เช่นกัน แล้วเราจะทำยังไงให้เป็นผู้ให้ที่ไม่โดนเอาเปรียบและยืนหนึ่งปัง ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งการเรียนและการทำงานในอนาคต  

 

 

 

ขนาดต้นไม้มันยังแบ่งปันสารอาหารกันเลย หากมันรับรู้ว่าต้นไม้ต้นข้าง ๆ หรือรอบ ๆ รัศมีใกล้ ๆ มันเริ่มขาดธาตุอาหาร ต้นไม้ต้นที่อุดมสมบูรณ์กักเก็บธาตุอาหารไว้มากหน่อยก็จะทำการส่งหรือสลับธาตุอาหารกันผ่านทางขยุ้มราในรากที่ต้นไม้ใช้ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างต้นไม้อีกต้น เมื่อต้นหนึ่งกำลังขาดธาตุอาหารอีกต้นรับรู้ได้ผ่านทางขยุ้มรา ต้นที่มีธาตุอาหารมากก็จะส่งธาตุอาหารของตัวเองไปให้อีกต้นที่ขาด ช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันเป็นการให้ที่ซื่อสัตย์และไม่ลังเล โดยที่ไม่ได้คิดว่า “ฉันจะต้องเก็บธาตุอาหารเอาไว้ใช้แค่คนเดียว” หรือว่า “ให้ไปก่อนเผื่อวันข้างหน้าเวลาที่ธาตุอาหารเราใกล้หมด ต้นไม้ต้นที่เราเคยให้ธาตุอาหารจะได้ตอบแทนเราบ้าง” เป็นต้น เพราะความคิดการให้แบบนี้มีแต่ในมนุษย์เราเท่านั้น   

 

คอนเซ็ปต์ของการให้ในมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนกว่าต้นไม้มาก บางคนอาจถูกสั่งสอนเรื่องการให้มาไม่เหมือนกัน บางคนถูกสอนมาเพื่อให้เป็นผู้ให้เท่านั้น แต่บางคนก็ถูกสอนมาให้เป็นทั้งผู้ให้เเละเป็นผู้รับ แต่ยังไงซะทุกคนต้องเป็นผู้ให้นะ เพราะผู้ให้มีอีกหนึ่งความหมายแปลว่าเป็น ’คนดี’ เธอเป็นคนชอบให้เท่ากับว่าเธอคือคนดีอะไรทำนองนั้น ต่างจากการเป็น ‘ผู้รับ’ ที่มีอีกความหมายว่าเป็นคนเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว แต่มันก็ตลกตรงที่ว่าการเป็นผู้ให้หรือคนที่มีนิสัยชอบให้คนอื่นเสมอนั้นมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิตหรือในหน้าที่การงาน และส่วนใหญ่มักโดนเอาเปรียบเสมอ เป็นเพราะอะไร ? 

 

ผู้ให้ Giver คือ คนที่คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง มักจะใช้ชีวิตแบบ ‘ฉันจะทำอะไรให้คุณได้บ้าง’

ผู้รับ Taker คือ คนที่คิดถึงตัวเองก่อน มักจะใช้ชีวิตแบบ ‘คุณทำอะไรให้ฉันได้บ้าง’ 

• ผู้แลกเปลี่ยน Matcher คือ คนที่เชื่อว่าทุกอย่างต้องยุติธรรม มักจะใช้ชีวิตแบบ ‘ใครให้มาก็ตอบแทน ใครทำไม่ดีมาก็โต้ตอบ’ 

 

มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะลังเลที่จะอยากเป็นผู้ให้ต่อไป เพราะถ้าเป็นผู้ให้เเล้วต้องลงเอยด้วยการโดนเอาเปรียบเนี่ย เราคงรับไม่ไหวอ่ะ เหมือนอย่างที่หลายคนถอดใจจากการเป็นผู้ให้เนื่องจากเจอสถานการณ์ที่ว่าเวลาที่เราให้คนอื่น เราให้เต็มที่ แต่เวลาเราเดือดร้อนและอยากให้เขาช่วยเราบ้าง เขากลับไม่เห็นจะช่วยเราเลย ทำให้หลายคนเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นผู้ให้ไปเป็นผู้รับแทน แต่ข้อเสียของการเป็นผู้ให้ไม่ได้มีแค่เสียประโยชน์ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่แสดงให้เราเห็นว่าการเป็นผู้ให้อย่างไม่มีขอบเขตเลยนั้นจะทำให้ชีวิตของผู้ให้หลายคนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรอีกด้วย

 

Cr. TED Talks

 

อดัม แกรนต์ (Adam Grant) อาจารย์ที่ศึกษาเรื่องจิตวิทยาองค์กร ผู้เขียนหนังสือ Give and Take ได้ทำการศึกษาว่า การเป็นผู้ให้ เป็นคนใจดี เป็นคนเห็นแก่ตัว หรือว่าเป็นแบบกลาง ๆ มีผลต่อความก้าวหน้าในการทำงานหรือไม่ ? โดยเขาได้ทำการสำรวจและทดลองกับคนกว่า 30,000 คนจากหลายอาชีพทั่วโลกและพบว่า คนที่ผลงานแย่ที่สุดในแต่ละกลุ่มคือ ผู้ให้ เช่น วิศวกรที่ทำงานเสร็จน้อยที่สุดคือคนที่ช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า พวกเขาไม่มีเวลาและพลังงานที่จะทำงานของตัวเองให้เสร็จและออกมาดี

 

ในคณะแพทย์คนที่มีผลการเรียนต่ำที่สุดเป็นของนักศึกษาแพทย์ที่เห็นด้วยมากที่สุดกับข้อความทำนองว่า ‘ฉันชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่น’ ก็คือคนที่มีน้ำใจเป็นผู้ให้นั่นเอง ส่วนในการขายของ การทำธุรกิจก็เช่นกัน รายได้ที่ต่ำที่สุดก็เป็นของเหล่าพนักงานขายที่ใจกว้าง ใจดี เพราะพวกเขาใส่ใจลูกค้ามากถึงขนาดที่ว่าจะไม่มีวันขายของห่วย ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งเคสนี้ดีต่อลูกค้าแต่ไม่ดีต่อตัวคนขายเพราะทำยอดได้ไม่เยอะ ส่งผลให้รายได้น้อยกว่าเพื่อนร่วมงาม เช่นกันกับนักเรียน นักศึกษาที่มีน้ำใจมาก ๆ ที่มักจะตอบตกลงไปช่วยเพื่อนทำงานเสมอเพราะใจดีจนปฏิเสธใครไม่เป็น ผลที่ตามมาคือนักเรียนหรือนักศึกษากลุ่มนี้มักจะทำงานตัวเองไม่เสร็จ หรือหากทำเสร็จก็จะออกมาไม่ดี เพราะมัวแต่ไปช่วยคนอื่น แล้วพวกเขาก็จะผิดหวังในตัวเองอีกครั้งว่า ทำไมเพื่อนได้คะแนนดีกว่าตัวเอง

 

สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ การเป็นผู้ให้นั้นเป็นของดีแน่นอน อย่างน้อยมันก็ทำให้จิตสำนึกของเราเป็นมนุษย์มากขึ้น เมื่อเห็นคนอื่นลำบาก การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ เป็นแรงกาย หรือเป็นกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเพื่อให้เขาพ้นจากความลำบากย่อมทำให้ผู้ให้และผู้รับมีความสุขทั้งคู่ แต่เราก็เห็นตัวอย่างมากมายแล้วว่า การเป็นผู้ให้แบบไม่ลืมหูลืมตานั้นสร้างความเดือดร้อนให้ตัวผู้ให้เองตั้งแต่ระดับจิ๋วไปจนถึงระดับใหญ่โต สิ่งสำคัญก็คือคนเราควรที่จะรักษาความสมดุลระหว่างความคิดที่ว่า "คุณทำอะไรให้ฉันได้บ้าง" และ "ฉันทำอะไรให้คุณได้บ้าง" เพื่อให้ฝ่าย Giver ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น ไม่โดนเอาเปรียบมากเกินไป ดังนี้

 

 

มาเป็น ‘ผู้ให้’ ที่ประสบความสำเร็จและไม่โดนเอาเปรียบ

 

 

 

ให้แค่ 5 นาที

ความช่วยเหลือ 5 นาที หากประเมินแล้วการช่วยเหลือครั้งนี้จะกินเวลาไม่เกิน 5 นาที เราก็ช่วยได้แน่นอน เราไม่จำเป็นต้องเป็นคานธีเพื่อเป็นผู้ให้ และการให้ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ไปทุกครั้ง อาจจะเป็นสิ่งง่าย ๆ เช่น การแนะนำให้คนสองคนรู้จักกันเพื่อได้ประโยชน์จากการรู้จักกัน หรืออาจจะเป็นการแบ่งปันความรู้ การคอมเมนต์ที่ดีเพื่อให้คนอื่นปรับปรุงตัวเอง เป็นต้น การให้ความช่วยเหลือ 5 นาทีนั้นสำคัญมาก ๆ ในเรื่องของการช่วยให้ผู้ให้กำหนดขอบเขตและปกป้องตัวเองจากการถูกเอาเปรียบ เราควรเต็มใจช่วยใครก็ตามที่ทำให้เราเสียเวลาไม่เกิน 5 นาทีในตอนที่เราก็มีสิ่งสำคัญที่ต้องทำรออยู่

 

 

 

คิดให้รอบคอบเวลาที่จะให้อะไรใคร

รวมถึงการใจดีให้ถูกคนด้วย เพราะถ้าเราไปให้คนที่เป็นผู้รับตลอดเวลา ตัวเราเองที่จะเหนื่อยมากและหมดแรงในการใช้ชีวิตได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนชอบมายืมตังค์ตลอดเลย ทั้งที่อันเก่าก็ยังไม่คืน การให้เพื่อนยืมตังค์ตลอดเวลาแบบนี้มันจะไม่จบสิ้น และก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว ดังนั้น ผู้ให้จะต้องคิดไปยาว ๆ ว่าการให้ในแต่ละครั้งจะส่งผลเสียหรือผลดีในระยะยาวกับอีกฝ่าย ถ้าให้เพื่อนยืมเงินแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราก็อาจจะไม่มีเงินใช้เวลาจำเป็น หรือถ้าให้เพื่อนยืมเงินไปตลอดเเบบนี้แล้วเพื่อนเอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่ได้ยืมไปเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น นั่นก็หมายความว่ามันเป็นการสนับสนุนให้เพื่อนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทางอ้อมซึ่งไม่ดีในระยะยาว ก็อย่าไปช่วย อย่าไปให้

 

 

 

ขอความช่วยเหลือบ้าง

ผู้ให้หลายคนมักจะรู้สึกกลัวเวลาเป็นผู้รับ เพราะชินกับการเป็นผู้ให้อยู่ตลอดเวลา ทำให้พวกเขามักจะทำอะไรด้วยตัวเองและไม่ค่อยขอความช่วยเหลือใคร ทำให้บางครั้งในการเรียนหรือการทำงานพวกเขามักจะทำงานออกมาได้กลาง ๆ ไม่โดดเด่น ไม่ได้แย่ แค่อยู่ระดับกลาง ๆ การรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนที่เก่งกว่า เชี่ยวชาญกว่า จะทำให้ผู้ให้ได้พัฒนาตัวเองในอีกมิติว่ามันโอเคนะที่บางครั้งจะเป็นผู้รับบ้าง การเป็นผู้รับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เพื่อบาลานซ์ระหว่างการเป็นผู้ให้และผู้รับ ต้องลองเป็นฝ่ายรับบ้าง ขอความช่วยเหลือบ้าง การเป็นฝ่ายให้มากเกินไปโดยไม่คิดถึงตัวเองมักจะทำให้เจอกับปัญหา Burnout หมดไฟได้ง่าย ๆ การสร้างคอนเนคชั่นที่มีพื้นฐานมาจากการช่วยเหลือกันและกันนั้นไม่ได้แย่ (เมื่อเปรียบเทียบกับการให้เพราะหวังผลประโยชน์) เราช่วยคุณ คุณช่วยเรา ก็กลายเป็นผู้แลกเปลี่ยน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

• เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening

 ความลำเอียง 6 แบบที่ทำให้เราตัดสินใจพลาด

 จับพิรุธคนโกหก ด้วยเทคนิคเจ๋ง ๆ จากนักจิตวิทยา

 หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน

 วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

 “อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ

 Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

 18 เคล็ดลับที่จะช่วยให้เราบาลานซ์ชีวิตให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน

 เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง


 

แหล่งข้อมูล

Are you a giver or a taker ? 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow