การให้ทรัพย์ก็คือการหยิบยื่นเงินแก่คนที่กำลังเดือดร้อน เพื่อช่วยให้เขาพ้นจากความเดือดร้อนนั้น หรือเพื่อช่วยให้เขาตั้งตัวได้หรือพึ่งตัวเองได้ แต่ถ้าช่วยแล้วทำให้เขาเกียจคร้าน ติดเป็นนิสัย ก็จัดว่าไม่เป็นประโยชน์กลับว่าเป็นโทษ หลายครั้งที่เพื่อนมาขอยืมเงินแล้วเราก็ให้ไป แต่ก็พบว่ายังไม่ถึงเดือนเพื่อนก็มายืมเราอีก ทั้งที่อันเก่าก็ยังไม่คืนเลย เราที่ก็ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้นอาจรู้สึกว่าครั้งนี้เราคงให้ไม่ได้ แต่เพราะกลัวว่าเพื่อนจะต้องใช้จริง ๆ จำเป็นจริง ๆ หรือถ้าไม่ให้ก็กลัวว่าเพื่อนจะโกรธและเลิกคบ เราก็อาจจะให้เพื่อนยืมอีก วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผลปรากฏว่าเพื่อนไม่เคยคืนเงินที่ยืมไปเลย สุดท้ายเวลาเราเดือดร้อน เรากลับไม่มีเงินใช้จ่ายเสียเอง
เปลี่ยนเป็น: ให้เป็นสิ่งของแทน เช่น ผ้าอนามัย ของกิน เป็นต้น แทนการให้เงิน เพื่อนจะได้เซฟเงินที่จะต้องซื้อของพวกนั้นไว้ใช้จ่ายอย่างอื่นที่เขาจำเป็นที่จะต้องใช้
บางคนก็ไม่มีเงินมากมายที่จะให้เพื่อนยืมแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ? ทางออกก็คือ เราสามารถที่จะอาสาช่วยเพื่อนด้วยการให้เพื่อนใช้แรงแทน เช่น เวลาเพื่อนมาขอยืมตังค์ เราไม่มีจริง ๆ ก็อาจบอกตรง ๆ ว่าเราไม่มีจริง ๆ ถ้ามีอะไรให้ช่วยทำก็ยินดีนะ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ของเพื่อนเป็นยังไง เพื่อนอาจต้องใช้เงินในการขนของเข้าหอ ใช้เงินทำโปรเจกต์ หรือทะเลาะกับที่บ้านเลยโดนตัดค่าขนม เป็นต้น
เปลี่ยนเป็น: ลองดูว่าเราสามารถที่จะใช้แรงช่วยเพื่อนตรงไหนได้บ้าง เช่น เราอาจให้เพื่อนติดรถไปโรงเรียนด้วยในกรณีที่เพื่อนไม่มีตังค์เดินทาง หรือช่วยเพื่อนขนของจะได้ไม่ต้องจ้างคนอื่น ช่วยซ่อมของ ช่วยทำความสะอาด ช่วยทำงานโปรเจกต์ เพื่อนจะได้ไม่ต้องไปจ้างคนอื่น เป็นต้น
นอกจากเรื่องการให้เงินแล้ว การให้โอกาสคนอื่นก็ถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ การที่เรามีโอกาสที่ดีและเราก็เสียสละให้แก่คนที่ด้อยโอกาสกว่า หรือแบ่งปันให้คนอื่นได้มาสัมผัสโอกาสที่เขาน่าจะไม่มีโอกาสได้ทำง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงความรู้ ความสะดวกสบายบางอย่าง การให้โอกาสคนได้แก้ตัว แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด
เปลี่ยนเป็น: ในช่วงที่เรียนออนไลน์แบบนี้ บ้านเราอาจจะมีอินเทอร์เน็ตบ้านที่ความเร็วสูงแต่เพื่อน ๆ คนอื่นอาจไม่มี เราอาจให้เพื่อนมาเรียนด้วยที่บ้านในกรณีที่บ้านอยู่ไม่ไกลกันมาก หรือแบ่งบันหนังสือเรียนที่มีประโยชน์กับเพื่อนคนอื่นที่เขาอาจไม่มีกำลังซื้อ ให้ยืมคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำการบ้าน ไอแพดเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นต้น
การให้อภัยจะเป็นการให้อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนการให้ทรัพย์ ให้ยืมเงิน มันคือการที่เราไม่ถือโทษโกรธเคืองใครในกรณีที่เขาไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เช่น เรานัดเพื่อนไปติวหนังสือแต่ว่าเพื่อนมีธุระกะทันหันจนต้องยกเลิกนัด เราก็อภัยได้เพราะเพื่อนไม่ได้ตั้งใจที่จะเบี้ยว ผิดกับอีกกรณีที่เพื่อนเอาเรื่องส่วนตัวของเราไปพูดต่อโดยที่เราไม่ได้อนุญาต เราต้องพิจารณาที่เจตนา เพราะถ้าหากเราให้อภัยทุกคนไปหมดนั่นอาจจะทำให้เขาคิดว่า เขาจะทำไม่ดีกับเรายังไงก็ได้ ซึ่งมันไม่ดีกับเราแน่
เปลี่ยนเป็น: อย่าให้อภัยใครโดยที่ปัญหานั้นยังไม่ถูกแก้ เช่น เพื่อนเอาเรื่องส่วนตัวของเราไปนินทากับคนอื่น เมื่อเรารู้แทนที่จะเงียบไปเลย เราอาจไปบอกเพื่อนตรง ๆ ว่าเราไม่ชอบที่เพื่อนทำแบบนี้ เอาเรื่องของเราไปนินทา ถ้าอยากเป็นเพื่อนกันต่อไปจะต้องไม่ทำแบบนี้อีก ไม่อย่างนั้นเราก็คงจะให้อภัยไม่ได้
บางคนแม้ไม่มีทรัพย์ให้เพื่อนยืม แต่มีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีทักษะใดทักษะหนึ่งที่เชี่ยวชาญ เราก็สามารถที่จะแบ่งปันหรือแชร์สิ่งนั้นกับเพื่อนได้ ซึ่งความรู้และทักษะเหล่านี้ก็จะช่วยให้เพื่อนเอาตัวรอดได้ ถือว่าเป็นการให้ที่มีประโยชน์ ไม่ลำบากตัวเอง เพราะเป็นการให้ความรู้ เช่น ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ ความรู้ในเรื่องกฎหมาย ความรู้ในเรื่องการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ หรือความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
เปลี่ยนเป็น: เพื่อนมาบ่นว่าได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษน้อย แล้วอยากไปติวเพิ่มแต่ที่บ้านไม่มีเงินให้ไปเรียน ในกรณีนี้เราที่เก่งอังกฤษก็อาจอาสาช่วยเพื่อนติวในเทอมนี้เพื่อที่เขาจะได้มีความรู้เพิ่มโดยที่ไม่ต้องเสียเงินไปเรียน หรือเพื่อนเห็นว่าเราเก่งโปรแกรมตัดต่อแล้วมาใช้ให้เราทำพอร์ตให้ เราอาจรู้สึกว่ามันมากไปเพราะเราก็ต้องทำของเรา เราอาจพูดว่าเราจะสอนให้นะ แต่เราจะไม่ทำให้ แบบนี้จะดีกว่า
บางคนแม้ไม่มีทรัพย์ และไม่มีความรู้มากมาย แต่มีความรู้ในเรื่องหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตจากประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน เราก็สามารถช่วยแบ่งปันประสบการณ์นั้น ๆ กับเพื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตตอนไปเรียนที่ต่างประเทศ การต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ปัญหาที่บ้าน ปัญหาหัวใจ เป็นต้น
เปลี่ยนเป็น: เพื่อนบางคนอาจไม่เก่งเรียนแต่ใช้ชีวิตจี๊ดจ๊าดจัดจ้านในแบบที่ต่างกับเราโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เรารู้และผ่านมาก่อน มีประสบการณ์มาก่อนนั้นสามารถเป็นคำแนะนำที่มีค่าให้เพื่อนคนอื่นได้ เช่น เพื่อนอาจมาถามเรื่องการมีแฟน ปรึกษาปัญหาที่บ้าน เป็นการให้ข้อคิดหรือคำแนะนำเพื่อให้คนอื่นสามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
• เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนประจำ จะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน
• กฎเหล็ก 25 ข้อของการเป็นเพื่อนที่ดี
• เพื่อนที่ดี 4 ประเภทที่คบแล้วชีวิตจะดีขึ้นคูณสอง
• รู้สึก ’โดดเดี่ยว’ ทั้งที่มีเพื่อนเยอะ แต่ไม่รู้ว่าสนิทกับใคร
• The Anatomy of Friendship สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เพื่อน’
• เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า จะคุยกับเพื่อนยังไงดี ?
• เพื่อนบอกว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง อยากเป็นคนที่พูดรู้เรื่องกว่านี้ต้องทำยังไง
• โดนเพื่อนอันฟอล อันเฟรนด์ บล็อกเฟส ? ทริคเล่นโซเชียลให้สบายใจ ไม่ดราม่า
• สิ่งที่เพื่อนคิดเกี่ยวกับคุณ แต่เขาดันไม่กล้าพูด
• เพื่อนชอบล้อเรื่องรูปร่าง หน้าตา ปมด้อย จนเสียเซลฟ์
• Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ
แหล่งข้อมูล