“Shopaholic” เป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ใช้เรียกบุคคลที่มีการใช้จ่ายเงินในการซื้อของหรือช้อปปิ้งจนเกินตัว ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา คนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมชอบช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ และจะรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ซื้อของ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็น รู้สึกอ่อนไหวง่ายกับเรื่องช้อปปิ้ง หมกมุ่นอยู่แต่กับการช้อปปิ้ง เมื่อเห็นของลดราคาก็จะรีบตะครุบไว้ทันที ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งปัญหาจากการเป็นหนี้สิน หรือปัญหาครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะเสี่ยงต่อพฤติกรรมนี้ได้มากกว่าผู้ชาย แต่ก็ใช่ว่าผู้ชายจะเป็นโรคนี้ไม่ได้ เพราะสินค้าต่าง ๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว
หากดูภายนอกเพียงผิวเผิน จะเห็นว่าผู้ที่เป็น Shopaholic จะดูเหมือนเป็นบุคคลที่มีกำลังซื้อมาก บางคนชอบสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูเป็นคนมีฐานะดี แต่ในชีวิตจริงนั้นกลับมีหนี้สินมากมาย หากไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดอาจจะไม่ทราบถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะผู้ที่เป็น Shopaholic มักจะปกปิดพฤติกรรมและปัญหาเรื่องการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี เราสามารถสังเกตอาการของ Shopaholic ได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. เสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก ต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
2. ไปช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด #ของมันต้องมี
3. ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใหม่โดยที่ยังไม่ได้ชำระหนี้บัตรเก่า
4. ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังจากที่ได้ช้อปปิ้ง
5. ซื้อของที่ไม่จำเป็น ซื้อของซ้ำ ๆ หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
6. โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ
7. รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ช้อปปิ้ง แต่ก็ยังทำต่อไป
8. ไม่สามารถจัดการกับการเงินของตัวเอง หรือชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้
9. ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตัวเองได้
สาเหตุของโรค Shopaholic เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งอาจจะมาจากตัวของบุคคลเอง หรืออาจจะมาจากสิ่งเร้าภายนอกก็ได้ โดยสาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้
• ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวลจนเกิดภาวะเครียด จึงต้องระบายอารมณ์ออกมาด้วยการช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด
• ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง
ผู้ป่วยอาจต้องการสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อให้เกิดการยอมรับในการเข้าสังคม เช่น การแต่งตัวตามแฟชั่นเพื่อให้ตนเองดูดี ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงเพื่อให้เหนือกว่าคนอื่น เป็นต้น
• สื่อโฆษณา
การเห็นสินค้าที่น่าสนใจบ่อย ๆ ทางอินเทอร์เน็ต หรือเห็นรีวิวต่าง ๆ จนทำให้เกิดความอยากได้จนคิดว่าของมันต้องมี และต้องตัดสินใจซื้อให้ได้ในที่สุด
• ความสะดวกในการซื้อ
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์มากมายเกิดขึ้น ทำให้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการซื้อขาย เพียงแค่กดซื้อไม่กี่นาที แล้วก็รอสินค้ามาจัดส่งถึงหน้าประตูบ้านได้เลย ความสะดวกสบายนี้อาจทำให้เกิดการเสพติดช้อปปิ้งออนไลน์ได้เช่นกัน
การรักษาโรค Shopaholic สามารถปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ ส่วนใหญ่จิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) โดยจะให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว หรือการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกังวลต่อการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น หรือบางรายอาจเกิดจากปัญหาทางจิตอื่น ๆ ซึ่งการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
1. คำนึงถึงความจำเป็น ก่อนจะซื้ออะไรเราควรคำนึงถึงว่าซื้อแล้วเราจะได้ใช้หรือไม่ และต้องมั่นใจว่าไม่ได้ซื้อซ้ำ ไม่ควรซื้อของตามความอยากได้ของตนเองเท่านั้น
2. การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป สามารถช่วยวางแผนการใช้จ่ายเงิน และยังเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ตนเองอีกด้วย
3. จัดการกับอารมณ์ของตนเอง โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับการรับรู้ และจัดการอารมณ์เพื่อให้รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเอง
พฤติกรรม Shopaholic หรือการเสพติดการช้อปปิ้ง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น
• ช้อปสนุกแต่ทุกข์เมื่อจ่าย พฤติกรรมเสพติดการช้อปปิ้งที่เกินตัวอาจทำให้มีการหยิบยืม หรือกู้เงินเพื่อจ่ายค่าสิ่งของที่เรานั้นซื้อไป อาจส่งผลทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
• ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เพราะอาจต้องโกหกว่าของที่ซื้อมานั้นมีคนให้มา หรือซื้อในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อคนใกล้ชิดรู้ความจริงอาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อใจจากคนรอบข้างได้
• สุขภาพจิตเสื่อม หากมีหนี้สินมากมายจนไม่สามารถจัดการกับหนี้สินที่ค้างอยู่ได้ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า เมื่อหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ก็อาจนำไปสู่การก่อเหตุอาชญากรรมได้ ซึ่งนำไปสู่การถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย
ลองสำรวจพฤติกรรมการซื้อของของตัวเองกันว่าเราเข้าข่ายเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic หรือไม่ หากเรารู้จักการบาลานซ์ความต้องการของตนเองให้สอดคล้องกับความจำเป็น โรคนี้ก็จะทำอะไรเราไม่ได้ เราทุกคนสามารถซื้อของได้แต่ต้องไม่รบกวนเงินระยะยาว และไม่เป็นหนี้สินจนทำให้ตัวเองต้องทุกข์ใจ เพื่อสุขภาพชีวิตและสุขภาพจิตของตัวเราที่ดีในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง
• รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
• The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !
• รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
• Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ
• เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
• เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก
• รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !
• เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
• รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้
• รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
• ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
แหล่งข้อมูล
- โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล