โอโซน (Ozone) คือ กลุ่มก๊าซขนาดใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของออกซิเจน 3 อะตอม โดยโมเลกุลออกซิเจนจะแตกตัวจากการกระตุ้นของรังสี UVC และจับตัวกับอะตอมออกซิเจนอิสระ จนกลายเป็นก๊าซโอโซนที่มีประโยชน์มหาศาลต่อโลกใบนี้ หน้าที่หลักของโอโซนคือช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ประมาณ 97-99% ของรังสีทั้งหมดที่แผ่มายังโลก ทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงอันตรายที่มากับรังสีอัลตราไวโอเลตที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคกระจกตาอักเสบ โรคต้อเนื้อ ผิวแห้งและเหี่ยวย่นก่อนวัย รองลงมาคือช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็วและดีมาก ๆ ช่วยยับยั้งและทำลายการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และช่วยในการฟอกสีและบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาดและใสขึ้น
แต่ก่อนหน้าที่มนุษย์จะให้ความสำคัญกับโอโซนโลกจริงจังขนาดนี้ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2525 นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบรูโหว่ขนาดยักษ์ของชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ (Antarctic Ozone Hole) ซึ่งเกิดจากกระแสลมพัดคลอรีนจากสาร ‘CFC’ หรือคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC : Chlorofluorocarbon) เข้ามาสะสมในก้อนเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์ และทำปฏิกิริยากับโอโซน ทำให้เกิดรูโหว่ขนาดยักษ์ บวกกับเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ใช้สารเคมี CFC เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและอุตสาหกรรมผลิตโฟม ทำให้สารเคมี CFC ระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและไปทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน จนก๊าซโอโซนถูกทำลายและลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสารเคมี CFC เป็นสารที่สลายตัวเองได้ยากจึงทำให้ตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานาน เมื่อก๊าซโอโซนถูกทำลายลงไปมากจึงทำให้รังสียูวีอัลตราไวโอเลตทะลุผ่านเข้ามาสู่พื้นโลกมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งสัตว์และมนุษย์เกิดเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง อีกทั้งยังทำลายพืชในไร่และต้นพืชเล็ก ๆ ในทะเลซึ่งเป็นอาหารของปลา
ดังนั้นนานาประเทศจึงได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซนขึ้นในปี พ.ศ. 2528 เรียกว่า “อนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน” และจัดให้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2530 สำหรับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 แต่ข่าวร้ายก็คือแม้จะมีสนธิสัญญาเพื่อลดการใช้สาร CFC แล้วแต่สาร CFC ก็ยังจำเป็นต่ออุตสาหกรรมบางชนิด เช่น โรงงานผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โฟม ยางรถยนต์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในยาพ่นสูดรักษาอาการหอบหืดอีกด้วย จึงทำให้ยังมีการใช้ CFC กันอยู่ต่อไป ก๊าซโอโซนก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โอโซนโลกถูกทำลายไปอย่างมหาศาลและมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น ล่าสุดในเดือนกันยายน 2020 องค์การนาซาที่เก็บข้อมูลโอโซนโลกอย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลจากดาวเทียมออรา (Aura satellite) พบว่าโอโซนโลกบริเวณขั้วโลกใต้ (South Pole) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ในรอบ 40 ปี และมีปริมาณโอโซนน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 14 ในรอบ 33 ปี ตลอดการบันทึกผลด้วยดาวเทียมออรา โดยรูโหว่นี้มีความยาวมากถึง 24.8 ล้านกิโลเมตรหรือ 9.6 ล้านไมล์ หรือใหญ่ประมาณสามเท่าของขนาดทวีปอเมริกา (ทั้งที่ในปี 2019 รูโหว่ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ถือว่าเล็กที่สุดนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกค้นพบในปี 1980 ประมาณ 16 ล้านกิโลเมตร) ซึ่ง Paul Newman ผู้เชี่ยวชาญด้านโอโซน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ภาคพื้นดินประจำ NASA Goddard Space Flight Center ได้กล่าวทิ้งท้ายในการสำรวจโอโซนโลกแถบขั้วโลกใต้ประจำปีเอาไว้ว่า ตั้งแต่โลกของเราเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 คลอลีนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์และระดับของโปรมี (Bromine) ที่ทำลายโอโซนโลกได้ลดลงถึงร้อยละ 16 แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าโอโซนโลกและรูโหว่บริเวณขั้วโลกใต้กลับมามีขนาดใหญ่มากขึ้นในเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ถามว่านี่เป็นข่าวร้ายไหม ? ก็ร้ายจริง และอีกมุมหนึ่งก็เป็นสัญญาณเตือนที่มีประสิทธิภาพมากที่จะทำให้เรารู้ว่าการลดการปลดปล่อย CFC นั้นช่วยไม่ให้บ้านของเราทุกคนพังไปมากกว่านี้ โดยตัวเราเองก็มีส่วนที่จะช่วยให้โอโซนโลกไม่ถูกทำลายได้ ดังนี้
• เลือกซื้อและใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs
• หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้าน
• ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ปล่อยสาร CFC ที่จะออกมาทำลายชั้นโอโซนได้ ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนตู้เย็นที่ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่เปิดตู้เย็นบ่อย เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก
• เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟมทั้งหลาย ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย
• เดินทางด้วยยานพาหนะสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถประจำทางให้มากขึ้น การเดินหรือใช้จักรยานที่เป็นระบบมากขึ้น ขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
• ‘รักเธอเท่าทะเลเลย’ เหตุผลที่ว่าทำไม 'รักเท่าทะเล' มันถึงไม่ได้โรแมนติกนัก
• เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?
• วิชา 'ความหลากหลายทางชีวภาพ' ที่โรงเรียนไม่ได้สอน
• เมื่อโลกมันร้อนขึ้นทุกวัน เราจะช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงบ้าง ?
• HOW TO STOP FAST FASHION: ช้อปปิ้งยังไงโดยที่ไม่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น
• The Fact : Travel Like a Local
แหล่งข้อมูล
- Large, Deep Antarctic Ozone Hole in 2020
- 2019 Ozone Hole is the Smallest on Record
- World of Change: Antarctic Ozone Hole