ในระยะหลังนี้เริ่มมีหลายคนที่ต้องผันตัวมาดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนสนิทที่เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคภัยต่าง ๆ ช่างใกล้ตัวเราเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้พิการจากอุบัติเหตุ ผู้ที่ต้องพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือแม้แต่กลุ่มเด็กท่ีมีโรคประจําตัวมาตั้งแต่เกิด และที่สำคัญคือโรคโควิด-19 โรคระบาดที่ทำให้หลายคนต้องเรียนรู้ที่จะดูแลคนป่วยอย่างถูกวิธี โดยหลายคนพบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดูแลผู้ป่วย และปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก ‘การสื่อสาร’ ซึ่งการเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ที่ยากลำบากได้
การดูแลแบบฮิวแมนนิจูด (Humanitude) เป็นวิธีการดูแลพี่พัฒนาขึ้นในประเทศฝรั่งเศสโดยอีฟส์ ฌีเนสเตอ (Yves Gineste) และโรเซตต์ มาเรส- ก็อตติ (Rosette Marescotti) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส พวกเขาอาศัยประสบการณ์จากการทำงานในเนอร์สซิ่งโฮมมากกว่า 30 ปี ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมการรักษาด้วยวิธีเดีียวกันบางคนถึงราบรื่น แต่บางคนกลับไม่ราบรื่น ?
คนที่ไม่เคยป่วยและไม่เคยดูแลผู้ป่วยด้วยตัวเองจะไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยบางครั้งถึงได้ดื้อและเรียกร้องจะเอาโน้นนี่ตลอดเวลา คนที่ไม่เคยดูแลคนป่วยเลยจะรู้สึกเขินอายเมื่อต้องเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเป็นครั้งแรก การป้อนข้าว ป้อนน้ำ ดูแลคนป่วยอาจทำให้เรารำคาญใจไปเลยก็มี เพราะการที่เราได้เคยใช้ชีวิตร่วมกับเขาในตอนที่เขายังแข็งแรงอาจทำให้เราคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องดูแลขนาดนั้นก็ได้ ทำไมต้องไปพยุงหลังหรือทำไมต้องป้อนข้าวทั้งที่เขาก็ยังมีแรงจะกินเอง ความคิดที่สะเปะสะปะเหล่านี้เองทำให้บางครั้งการดูแลผู้ป่วยราบรื่นบ้าง ไม่ราบรื่นบ้าง ปรัชญาการดูแลแบบฮิวแมนนิจูดจึงถูกพัฒนาขึ้นจากพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนยังไม่เข้าใจเหล่านี้
คนเราเมื่อถูกบังคับก็จะรู้สึกไม่มีอิสระ แต่ถ้าปล่อยมากไปก็จะรู้สึกว่าถูกละเลยได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความเจ็บป่วย สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการเป็นอย่างแรกก็คือความอ่อนโยนจากผู้ดูแล จะทําอย่างไรเพื่อให้คนป่วย “มีตัวตน ที่เป็นอิสระ” แม้จะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการดําเนินชีวิตก็ตาม ไม่ใช่ดูแลอย่างดีที่สุดด้วยความรัก ความเข้าใจ เอาใจใส่ อบอุ่น และอ่อนโยนเท่านั้น แต่ต้องเป็นการดูแลด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย การดูแลในแบบฮิวแมนนิจูดจึงหมายถึงวิธีสร้างสัมพันธภาพท่ีดีกับอีกฝ่ายเพื่อให้อีกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างดีตลอดการดูแลรักษา และนี่คือวิธีการดูแลผู้ป่วยแบบฮิวแมนนิจูด
เวลาดูแลผู้ป่วยเรามักคิดว่าการดูแลที่ดีคือการทําให้หมดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่ความจริงแล้วนั่นอาจเป็นการช่วงชิงเอาความสามารถของเขาไปด้วยการทำสิ่งที่เขาเคยทำได้มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น การเช็ดตัว ส่วนใหญ่คนดูแลจะเช็ดตัวผู้ป่วยในขณะที่เขานอนอยู่บนเตียง แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถยืนได้นานกว่า 40 วินาที ควรให้เช็ดตัวโดยให้ผู้ป่วยจับราวกั้นเตียงไว้ เมื่อยืนจนเหนื่อยแล้วจึงนั่งลง การเช็ดตัวโดยให้ยืนและนั่งจะช่วยให้ผู้ป่วยคงความสามารถในการยืน การทรงตัวที่ดี ทั้งยังช่วยป้องกันการนอนติดเตียงได้หรือหากผู้ป่วยแปรงฟันเองได้ก็ให้เขาแปรงเอง
ถ้าเช็ดตัวผู้ป่วยขณะนอนต่อไปเรื่อย ๆ จะทําให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการยืนและการทรงตัวบวกกับกล้ามเนื้อบางส่วน เท่ากับว่าผู้ดูแลได้ช่วงชิงเอา “ความสามารถในการยืน” ของผู้ป่วยไป ดังนั้นสิ่งสําคัญคือ การสื่อสารให้ผู้ป่วยรู้ว่าเราจะช่วยเหลือเขาไม่ใช่ทำให้ทุกอย่าง ด้วยการถามให้เขาลุกขึ้นนั่ง เอนหลัง เดินเล่น เล่นเกมกระดานเท่าที่ทำได้ โดยที่ไม่ช่วงชิงเอาความสามารถที่เขามีอยู่และทำได้ไป
การทำให้คนป่วยรู้สึกว่าตัวเขาสำคัญนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้อาการของเขาดีขึ้น แต่ยังทำให้เขารู้สึกมีแรง มีกำลังที่จะต่อสู้กับอาการป่วย และให้ความร่วมมือที่ดีในการรักษา เพราะเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และอยากจะหายไว ๆ เพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตปกติกับผู้ดูแล การสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า “ฉันให้ความสําคัญกับคุณ” ตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดนั้นจะใช้หลัก 4 ประการในการดูแล ได้แก่ “การสบตา” “การพูด” “การสัมผัส” และ “การจัดท่าทางในแนวตั้งตรง” แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ตอนที่สบตา พูดด้วย และสัมผัสคนในครอบครัวที่ทําหน้าที่ดูแลส่วนใหญ่มักจะทําตามแบบที่ตัวเองอยากทําหรือทำแบบลวก ๆ
การมองที่ปากตอนช่วยป้อนอาหารให้ผู้ป่วยด้วยการพูดว่า “เดี๋ยวจะเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วนะ” ในตอนที่ผู้ดูแลต้องการจะเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ หรือการจับกุมที่ข้อมือแล้วยกแขนผู้ป่วยว่า “ตอนนี้จะอาบน้ำ” จัดท่าทางให้นั่งตัวตรง สบตามองในระดับสายตา การทำทุกอย่างตามหน้าที่เหล่านี้จะไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสำคัญเลยหากขาดการสบตา สัมผัสที่ห่วงใย และการพูดคุยไปด้วย เพราะหากเราดูแลท่ามกลางความเงียบทั้งคู่ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนและเป็นภาระได้
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการนั่งอยู่ข้าง ๆ คนป่วยถึงได้สำคัญ ตัวคนดูแลเองก็ถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่สำคัญ ปัจจุบันมีการค้นพบว่า “การสบตาและการสัมผัส” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาภายในร่างกาย โดยทำให้ร่างกายของผู่ป่วยหลังฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการบีบรัดตัวของมดลูกในขณะคลอดลูกและระหว่างที่หลั่งน้ำนม แต่ปัจจุบันพบว่าการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโตซินสามารถช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกันได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรักและความเชื่อใจ”
นักวิจัยได้ค้นพบความจริงเหล่านั้นจากการสูดยาออกซิโตซินทางจมูก และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่า แม้จะไม่ใช้ยาออกซิโตซินในผู้ป่วย คนเราก็สามารถหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินออกมาได้จากการสบตาและการสัมผัสกันและกันด้วยความรัก กล่าวคือ การสบตาหรือการสัมผัสจะทําให้ร่างกายของอีกฝ่ายหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซินออกมาเพราะรู้สึกได้ถึงความรักและความเชื่อใจ ดังนั้นทุกนาทีที่ผู้ดูแลอยู่ร่วมกับผู้ป่วยด้วยความรักและความห่วงใย ภายในร่างกายของผู้ป่วยนั้นก็กำลังรักษาตัวเองจากความกังวลไปพร้อม ๆ กัน
การพูดในระหว่างที่ดูแลผู้ป่วยมีไว้เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า “มีใครสักคนอยู่ข้างเรา และเขาคนนี้ให้ความสําคัญกับเรา” เทคนิคนี้จึงมีความสําคัญมาก แต่ต้องระวังเรื่องที่จะพูดให้ดีด้วยการไม่อธิบายด้วยคำพูดมากเกินไปเพื่อทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสน ควรพูดเรื่องสนุก ๆ หรือเรื่องที่ฟังแล้วสบายใจ เรียกรอยยิ้มโดยไม่จำเป็นต้องพูดจาตลก เช่น หากสังเกตเห็นผู้ป่วยถอนหายใจ เราอาจพูดว่า “ถอนหายใจซะยาวเลย” หรือเพิ่งตื่นก็อาจพูดว่า “ดีจังตื่นแล้ว” หรือพูดว่า “อุ่นดีไหมคะ” เวลาที่เช็ดตัว เทคนิคนี้เรียกว่า “ออโต้ฟีดแบค” (auto feedback) เป็นการสร้างประโยคง่าย ๆ ขณะดูแลผู้ป่วยเมื่อมีการเคลื่อนไหวให้ลองเปลี่ยนการเคลื่อนไหวออกมาเป็นคําพูดเหมือนกับเวลาที่เราดูการถ่ายทอดสดกีฬา
พยายามพูดด้วยน้ำเสียงปกติ สบาย ๆ เหมือนเล่านิทาน และเลือกใช้คำในเชิงบวก แต่ก็ต้องระวังอย่าช่วงชิงเอาความสามารถที่มีอยู่ของผู้ป่วยไป ควรให้เขาได้พูดบ้างถ้าเขามีอะไรจะพูด และที่สำคัญแม้อีกฝ่ายจะไม่ตอบกลับมาเป็นคําพูดแต่หากมีปฏิกิริยาบางอย่างให้ถือว่าเป็นการตอบกลับอยู่ดี เช่น การสูดหายใจลึก ๆ ปล่อยให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายผ่อนคลาย หรือการลืมตาเล็กน้อย นั่นก็ถือว่าเป็นการสร้างช่วงเวลาที่ดีนำไปสู่การให้ความร่วมมือในการดูแลได้
การดูแลผู้ป่วยแน่นอนว่าไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่ยังรวมถึงการเช็ดตัว เปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดปาก ล้างเท้า ล้างหน้า แปรงฟันให้ ซึ่งคนที่ไม่เคยทำเลยอาจรู้สึกไม่ชิน ทำผิด ๆ ถูก ๆ และบางคนอาจจะเขินอาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้น แม้จะรู้สึกเขินอายแต่ก็ต้องตัดสินใจลองทำดู โดยที่เราต้องไม่คิดว่านี่คือหน้าที่ที่ต้องทำแต่เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งอาจเป็นคนสำคัญคนหนึ่งของเราเอง ด้วยการคิดว่านี่คือโอกาสในการสื่อสารข้อความว่า “ฉันให้ความสําคัญกับคุณ” แล้วทําให้ช่วงเวลาตลอดการดูแลราบรื่นไปได้ด้วยดี
โดยให้เราลองนึกถึงทารกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งสําคัญ เพราะเมื่ออยู่ต่อหน้าทารก ไม่ว่าใครก็ต้องจ้องไปที่เด็กอย่างอ่อนโยนแล้วพูดว่า “น่ารักจัง” พร้อมทั้งอุ้มประคองทารกด้วยสองแขนอย่างระมัดระวังที่สุด วิธีการสื่อสารกับเด็กทารกก็จะอ่อนโยนและเต็มไปด้วยคำพูดเชิงบวก การดูแลผู้ป่วยก็เช่นกัน ลองจินตนาการถึงคนที่เรารักมากที่สุด สำคัญที่สุด เราสบตา พูด และสัมผัสคนสําคัญของเรายังไง นําเอาประสบการณ์นั้นมาใช้เป็น “เทคนิคในการดูแล” แล้วความเขินอายต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดลง
บทความที่เกี่ยวข้อง
• Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ
• เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening
• 8 วิธีคลายเครียดแบบเร่งด่วน ทำแล้วหายเครียดทันที !
• ความลำเอียง 6 แบบที่ทำให้เราตัดสินใจพลาด
• รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง
• ‘ความเครียดแฝง' อาการเครียดที่ไม่ควรมองข้าม
• ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (01)
• เด็กสมัยนี้ มันทำไม ? เคล็ดลับการคุยกับคนต่างวัยให้เข้าใจกันมากขึ้น
• จะทำยังไงดี เมื่อคนใกล้ชิดป่วยซึมเศร้าและมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
• 5 คำพูดทำร้ายจิตใจ & ลดทอนคุณค่าคนอื่น ที่ไม่ควรมีในบทสนทนา
• เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง
• ก้าวผ่านช่วงเวลายาก ๆ ด้วยข้อคิดดี ๆ ที่จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
• ฮีลตัวเองยังไงดีในวันที่เหนื่อยและท้อจนหมดพลัง
แหล่งข้อมูล
อีฟส์ ฌีเนสเตอ, โรเซตต์ มาเรสก็อตติและฮนดะ มิวะโกะ. ฮิวแมนนิจูด แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว. แปลโดย อนงค์ เงินหมื่น. กรุงเทพฯ : ศูนย์เรียนรู้ สุขภาวะ สําานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2563.