Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการสังเกต เรียนรู้พฤติกรรมประจำวันของลูก

Posted By Plook TCAS | 27 ส.ค. 64
4,569 Views

  Favorite

ช่วงนี้เด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน เรียนออนไลน์  ทำงานที่บ้าน ถือเป็นโอกาสดีเป็นมุมได้เปรียบหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเฝ้าสังเกตเรียนรู้สิ่งที่เด็ก ๆ ทำในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้เรามีเทคนิคที่ไม่ยากสำหรับการแอบสังเกตแบบเนียน ๆ เพื่อให้การเลี้ยงดูเด็ก ๆ ของคุณง่ายยิ่งขึ้น

 

ให้เขาบันทึกด้วยตัวเอง

อธิบายให้เขาเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทางอารมณ์ของพวกเขาจากการเป็นเด็กตัวน้อยเข้าสู่วัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญมากในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย สิ่งที่เขาทำในแต่ละวันนั้นเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง เพราะหากร่างกายมีสิ่งผิดปกติจะได้พบเร็วขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการสังเกต การวิเคราะห์หาตัวตนของตัวเอง เพื่อจะได้ดูว่าสิ่งใดที่เขาชอบ เขาถนัด  เพิ่มทักษะตัวไหนที่พวกเขายังขาดอยู่  เรื่องของความฝัน การเรียนต่อ อาชีพในอนา  คต เพื่อนำมาช่วยกันวิเคราะห์ เรียนรู้หาข้อมูลเติบโตและพัฒนาไปด้วยกัน แล้วคุณค่อยมาสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ที่เขาบันทึกไปวิเคราะห์แยกเป็นหมวดหมู่ ร่างกาย ความคิด อารมณ์ พฤติกรรมการแสดงออก แล้วค่อยติดตามเฉพาะเป็นเรื่อง ๆ ไป   

 

เป็นไอดอลในหัวใจลูก

เด็กช่วงก่อนวัยรุ่นของยุคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเสพไอดอล  พวกเขาจะซึบซับพฤติกรรมจากผู้อื่นมาเลียนแบบ เพื่อสร้างเสริมตัวตนของพวกเขา  คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องปรับตัวเป็นไอดอลให้เขาภูมิใจ ให้พวกเขายอมรับให้ได้  เมื่อเขายอมรับแล้วจะโยกซ้ายโยกขวาแนะนำพวกเขาในเรื่องใด ๆ พวกเขาก็พร้อมจะทำตาม  ยิ่งเวลาที่เด็กเหงามีความสุขหรือความทุกข์พวกเขาจะวิ่งเข้ามาหาคุณเป็นคนแรก คอยเป็นเพื่อนคุยและรับฟังความคิดความรู้สึกเหตุการณ์ต่าง ๆ จากพวกเขา แล้วคุณนำสิ่งที่พวกเขาเล่าด้วยตัวเองกลับมาวิเคราะห์เพื่อการแก้ไขหรือพัฒนาต่อไปจะได้ง่ายมากขึ้น ไม่เหนื่อยมากด้วย 

 

วันของครอบครัว

อีกหนึ่งเทคนิค ลองนัดแนะหาวันของครอบครัวให้ทุกคนในบ้านอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำกิจกรรมในบ้าน นอกบ้านร่วมกันสัปดาห์ละครั้ง อย่างเช่นในวันหยุด มาร่วมกันทำอาหาร จัดบ้าน ทำสวน ไปเที่ยว กินอาหารนอกบ้าน สร้างสรรค์ร่วมกันคิดประดิษฐ์ของใช้ในบ้าน ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่มเกมด้วยกัน ฯลฯ นอกจากจะส่งเสริมความรัก ความอบอุ่น เติมความสุขความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัวแล้ว ยังได้อัปเดตชีวิตของทุก ๆ คนในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมา  คุณจะได้ใช้โอกาสเหล่านี้สังเกตความคิดพฤติกรรมของลูกได้ง่ายยิ่งขึ้น  และแน่นอนเวลาของครอบครัวตรงนี้ช่วยไม่ให้ลูกใช้เวลาส่วนตัวอยู่ตามลำพังมากเกินไป

 

ทีมเดียวกัน

การเลี้ยงดูลูกแบบเพื่อน เป็นทีมเดียวกันในหลาย ๆ เรื่อง มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา ช่วยให้การสังเกตพฤติกรรมอารมณ์ของเด็กได้ง่ายมากขึ้น พวกเขาจะรู้สึกอุ่นใจสบายใจและไว้วางใจเลือกเข้ามาพูดคุยปรึกษากับคุณทันทีในแทบทุกเรื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ  ใช้โอกาสการเป็นหัวหน้าทีมที่คอยยืนเคียงข้างเขาตลอดเวลา ช่วยทำให้ติดตามเรื่องราวของลูกทีมได้อย่างไม่ยาก สังเกตเก็บบันทึกและวิเคราะห์ แต่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจว่า เพียงแค่รับฟังให้คำแนะนำ แต่ไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ต่อว่าสิ่งที่เขากระทำ แม้จะเป็นเรื่องผิดพลาดหรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ของเขาคุณก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวตรง ๆ 
  

รู้จักกับเพื่อนสนิทของลูกและครอบครัวของพวกเขา

เมื่อลูกมีเพื่อนสนิทไม่ว่าจะที่โรงเรียน ข้างบ้าน ในซอย ในหมู่บ้านหรือคอนโดที่อยู่ หรือแม้แต่เพื่อนในโลกออนไลน์ อย่าลืมให้ลูกพูดคุยบอกเล่าถึงกลุ่มเพื่อน ๆ  อาจให้พวกเขาจัดปาร์ตี้กลุ่มเล็ก ๆ หรือแวะมากินอาหารกินขนมที่บ้าน  หรือคุยแชทกันทางออนไลน์  หาโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก ให้รู้สึกว่าเป็นเพื่อนของคุณด้วยเช่นกัน แล้วสังเกตดูพฤติกรรมการปฏิบัติของพวกเขา  อาจชวนพ่อแม่ครอบครัวของพวกเขามาด้วยกัน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองต่างจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาว่าเด็ก ๆ ทำอะไรลงไปบ้าง โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายโดยตรงให้พวกเขารู้สึกอึดอัดใจ

 

หากิจกรรมสนุก ๆ ทำประโยชน์บนโลกออนไลน์

เด็ก Gen Z พวกเขาชอบการติดต่อผ่านสื่อ ชอบการใช้ชีวิตเสมือนจริง  มีความสนุกกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ชอบสิงอยู่ในโลกออนไลน์ ดังนั้นใช้สื่อดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ แนะนำให้เขาทำคอนเทนต์เรื่องราวของวัยรุ่น เขียนบทความโพสต์เรื่องที่พวกเขาติดตามสนใจ เป้าหมายในอนาคต หรือเปิดห้องสนทนาบนแพลตฟอร์มที่ลูกเล่นสร้างสรรค์กลุ่มจัดกิจกรรมให้เด็กเข้ามาเล่นเกมเสริมทักษะหรือพูดคุยชีวิตประจำวัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อถกปัญหากันอย่างสร้างสรรค์ หรือช่วยกันหาหัวข้อประเด็นที่บ้าน โรงเรียน สังคม ที่เป็นประโยชน์เหมาะกับวัยพวกเขามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดคุณแค่อยู่เป็นเพื่อน คอยรับฟัง ช่วยเป็นกรรมการจับเวลา เก็บบันทึก ให้ความคิดเห็นบ้างในมุมมองของผู้ใหญ่ เป็นอีกวิธีหนึ่งให้คุณเป็นสายลับสังเกตความเป็นไปของลูกได้อย่างเนียน ๆ ทั้งยังเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ของพวกเขาอีกด้วย

        

          สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดีว่า อย่าเป็นคนช่างขยัน เฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมอารมณ์ของลูกมากจนเกินไป หรือเผลอบ่นดุต่อว่ากับสิ่งที่เขาทำลงไปแล้ว หรือแม้แต่การนำสิ่งที่ได้สังเกตมาไปมโนคิดต่อเอาเองในทางลบ  การพูดคุยบอกความจริงกับพวกเขาตรง ๆ ว่าคุณกำลังทำอะไรแล้วนำแต่ละเรื่องค่อยมาวิเคราะห์เรียนรู้ติดตามแก้ไขพัฒนาไปพร้อมกัน บางทีมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดแล้ว

 

อังสนา  ทรัพย์สิน

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.ukhttps://www.amarinbabyandkids.com, https://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow