ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ กำลังเรียนออนไลน์แล้วตัวคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเองก็ทำงานอยู่ที่บ้าน ต้องถือว่าเป็นโอกาสอันนี้ที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งที่เรียนไปพร้อม ๆ กัน พร้อมกับสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ที่บ้านโดยไม่ยากเลย หากพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยค่ะ
พูดคุยตกลงเรื่องการจัดสรรเวลาบริหารกันให้ลงตัว คุณพ่อว่างตอนไหน คุณแม่ว่างตอนไหน คนที่อยากเป็นครูหรือเป็นนักเรียนว่างตรงกันมั้ย ทั้งหมดต่างร่วมกันออกความเห็นแล้วเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุด หากเป็นไปได้ควรมีเวลาเรียนทุกวัน เวลามากน้อยตามความเหมาะสม แต่ก็เลือกวันหยุดพักผ่อนทำอย่างอื่นด้วยเช่นกัน เขียนเป็นตารางเรียนปะไว้ใกล้ ๆ ในที่ที่ทุกคนเห็นได้บ่อย ๆ พยายามอย่าละเลย ผู้ปกครองควรเป็นต้นแบบให้เด็ก ๆ มีวินัยการเข้าเรียนอย่าให้ขาด แต่หากมีความจำเป็นต้องเลื่อนการเรียนออกไปก็ต้องแจ้งให้ทุกคนทราบแล้วค่อยนัดเวลาเรียนชดเชยในภายหลัง
นอกจากเราจะได้อัปเดตความรู้ให้ทันกับเด็ก ๆ แล้ว เรายังจะได้เป็นครู เป็นที่ปรึกษาเป็นผู้แนะนำข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ที่บ้าน เด็ก ๆ จะได้ไม่งงไม่มาแย้งว่าที่โรงเรียนสอนอย่างหนึ่งที่บ้านสอนอย่างหนึ่ง ให้หลักสูตรการเรียนการทำกิจกรรมที่บ้านไปในทิศทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามเราอาจจัดสรรวิชาเรียนให้ต่างกันได้ โดยเราดูที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ความรู้ ทักษะที่เด็ก ๆ ของเราถนัดชอบหรือยังอ่อน เราก็สามารถเพิ่มความรู้ สร้างทักษะให้พวกเขามีจุดแข็งฝึกหัดการวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
ลองนึกภาพดูว่าจะสนุกแค่ไหน เมื่อทุกคนในบ้านมาร่วมกันออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอน การประเมินการวัดผล ในศูนย์การเรียนรู้ที่บ้าน เด็ก ๆ จะชอบมากที่ได้เลือกเรียนวิชาที่อยากเรียน แล้วยังได้ออกแบบกำหนดเนื้อหาด้วยตัวเอง พยายามมุ่งเน้นในตัวเด็กเป็นหลัก เนื้อหาควรเป็นเรื่องของทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง ทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมในบ้าน ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้เราอาจรวมชั่วโมงเล่นเกมเข้ามาอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ เลือกเกมที่สร้างสรรค์ เกมปริศนาต่าง ๆ ทั้งในระบบเทคโนโลยี บอร์ดเกม เพื่อฝึกทักษะการแก้ไขปัญหา เรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ และอยู่เหนือระบบเทคโนโลยี
การมีเครือข่ายถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของสังคมยุคนี้ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ไปกับศตวรรษนี้ คุณอาจยังไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้านมาก่อน เริ่มต้นจากจุดนี้เลย ชักชวนคนรู้จัก ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านข้าง ๆ มาเรียนรู้ มาทำกิจกรรมร่วมกัน อาจไม่ต้องเรียนทุกวัน แต่เลือกจากวันหยุด หากิจกรรมให้คนนอกครอบครัวที่มีชำนาญความรู้ ความถนัดงานอาชีพในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือคนอื่นที่ประสบความสำเร็จในการทำงานมาพูดคุยถึงการขั้นตอนการทำงานของเขาให้เราฟัง จัดล้อมวง หรือแยกเป็นสัมมนา เข้าแคมป์กลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เพิ่มทักษะการทำงานเป็นหมู่คณะร่วมกับผู้อื่น โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสาร สมัยนี้แชท ประชุมออนไลน์ใช้ได้ไม่ยากเลย
การให้จุดเล็ก ๆ ในครอบครัวแข็งแรง ต้องช่วยส่งเสริมพัฒนาตนเองให้แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ “วงจรแห่งการเรียนรู้” หัวใจสำคัญของการการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ทุกคนเป็นครูและผู้เรียน สังคมแห่งการเรียนรู้เกิดได้ตลอดชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่เด็ก ๆ ตัวเราเองก็เช่นกัน ตัวผู้ปกครองเองก็ได้พัฒนาเติบโต ประสบการณ์ที่หลากหลายและใช้ความรู้และทักษะความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และขยายออกไปสู่สังคม
เมื่อมาถึงบรรทัดเราจะชัดเจนว่าการสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่บ้านนั้นไม่ยากเลย ยิ่งเป้าหมายของเราคือการสร้างพื้นฐานนิสัยรักการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ แข็งแรง ให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอเสียแต่เนิ่น ๆ แน่นอน นอกจากตัวเราจะไม่ตกยุคก้าวไปกับศตวรรษนี้แล้ว เรายังได้ภูมิใจที่เห็นเด็ก ๆ ของเรา เติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง ถึงพร้อมด้วยวัคซีนคุ้มกันในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องและมีคุณค่า เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://pantip.com/forum/family, https://new.camri.go.th