หลายคนไม่สนใจที่จะเริ่มลงทุนเพราะไม่ค่อยมีเงินเย็น แต่สมัยนี้โอกาสที่จะเก็บเงินแสนตั้งแต่อายุยังน้อยนั้นมีมากกว่าเมื่อก่อน เพราะหลายกองทุนเปิดโอกาสให้เราสามารถลงทุนได้ด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 1 บาทเท่านั้น ทำให้ความคิดที่ว่าการลงทุนเป็นเรื่องของคนรวย เราเงินน้อยลงทุนไม่ได้หรอกนั้นไม่เป็นความจริงเลย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ให้แนวคิดที่ดีเกี่ยวกับการลงทุน การวางแผนการเงินสำหรับวัยรุ่นไว้ว่า “รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายดอกผล” ในส่วนของการรู้หาก็คือการรู้จักหาเงิน หารายได้เข้ามา รู้เก็บคือรู้จักเก็บออมเงินเอาไว้ส่วนหนึ่ง รู้ใช้คือการรู้จักใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลไม่ใช้เงินเกินตัว และการรู้ขยายดอกผลก็คือการรู้จักใช้เงินทำงาน การลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย
บทความนี้เราจะมาพูดถึงข้อสุดท้ายก็คือ "การรู้ขยายดอกผล" ที่น้อง ๆ หลายคนอาจคิดว่า หนูเข้าไม่ถึงหรอกเพราะว่าไม่มีเงินลงทุนขนาดนั้น แต่ความจริงแล้วการลงทุนที่ฮิตมาเป็นอันดับต้น ๆ อย่างการลงทุนใน "กองทุนรวม" มีหลายกองทุนเลยที่สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
กองทุนรวม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับมือใหม่หัดลงทุน เพราะกองทุนรวมคือการระดมเงินลงทุนจำนวนน้อย ๆ จากคนจำนวนมาก ๆ มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนนั้น ๆ เช่น
กองทุนหุ้น เป็นการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น
กองทุนตราสารหนี้ เป็นการนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้
กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นการนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
กองทุนทอง เป็นการนำเงินไปลงทุนในทองคำ เงิน แร่
กองทุนเวียดนาม เป็นการนำเงินไปลงทุนในกิจการของประเทศเวียดนาม ฯลฯ
ปัจจุบันกองทุนรวมมีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นกองทุนเปิด คือกองทุนที่บริษัทจัดการเปิดขายและรับซื้อคืนตามระยะเวลาที่กำหนดตลอดอายุการลงทุน (คือจะขายเมื่อไหร่ก็ได้) และกองทุนปิด คือกองทุนที่บริษัทจัดการไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบอายุของการลงทุน (คือจะขายได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนด เช่น ขายได้เมื่อครบ 3 ปีขึ้นไป) เว้นแต่จะซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์หากเป็นกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ข้อเสียของการลงทุนในกองทุนรวมคือ ไม่เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น (ต้องลงทุนนาน ๆ มากกว่า 3 ปีขึ้นไปถึงจะเห็นกำไร) ส่วนข้อดีของกองทุนรวมก็คือ เรามีมืออาชีพดูแลกองทุนให้ ไม่ต้องคอยเช็กบ่อยเหมือนซื้อหุ้น กระจายความเสี่ยงได้ มีกองทุนให้เลือกหลายประเภทจากหลาย ๆ ประเทศ มีสภาพคล่อง ซื้อ-ขายได้หลากหลาย และที่สำคัญก็คือใช้เงินลงทุนไม่มาก อย่างที่เราบอกไว้ว่า 1 บาทก็เริ่มลงทุนได้แล้ว
กองทุน ONE-UGG-RA
ลงทุน : หุ้นบริษัทที่มีนวัตกรรมและการเติบโตสูง
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน LHTOPPICK
ลงทุน : พลังงาน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน UCI
ลงทุน : เทคโนโลยีและนวัตกรรมในตลาดหลักทรัยพ์ของประเทศจีน (A-Shares)
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน WE-GOLD
ลงทุน : ในการสำรวจ พัฒนา และการผลิตทองทำและเงิน
ความเสี่ยง : ระดับ 7
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน WE-CYBER
ลงทุน : ในกองทุนหลัก ARK (เทคโนโลยีแห่งอนาคต)
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน UVO
ลงทุน : หุ้นในประเทศเวียดนาม
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
กองทุน SCBSET50
ลงทุน : สาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศไทย
ความเสี่ยง : ระดับ 6
ลงทุนขั้นต่ำ : 1 บาท
ทั้งนี้เราก็ต้องรู้ว่ามูลค่าของการลงทุน 1 บาท กับการลงทุน 1 หมื่นบาทนั้นต่างกัน แม้ความเสี่ยงเท่ากัน การลงทุนมากกว่าก็อาจจะมีความเสี่ยงขาดทุนมากกว่า และถ้าได้กำไรก็จะได้มากกว่าด้วย เราจึงควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อฝึกวินัย หรือในอนาคตอาจใช้วิธีปัดเศษหลักสิบของเงินในบัญชีไปใส่ในกองทุนก็ได้ หรือจะลงทุน 1 บาทเข้ากองทุนทุกอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีของหลายคนที่มีเงินทุนไม่หนา หรืองบน้อยแต่อยากลองลงทุน ซึ่งคนเขียนเองก็ใช้วิธีนี้เพื่อให้ตัวเองกระตือรือร้นเรียนรู้หลักการลงทุนไปก่อน ในอนาคตเมื่อรู้มากขึ้นและบริหารความเสี่ยงเป็นค่อยว่ากันเพราะ #งบน้อยก็ลงทุนได้ อิอิ
บทความที่เกี่ยวข้อง
• เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
• ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
• รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้
• รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
• รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !
• เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
• เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก
• รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
• The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !
แหล่งข้อมูล
ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. คู่มือเงินทองต้องวางแผนตอนวัยรุ่นอย่างเราเรื่องเงินเอาอยู่. กรุงเทพฯ: เจเอสที พับลิชชิ่ง