ถือว่าเป็นอาชีพในฝันอันดับต้น ๆ ของเหล่าเกมเมอร์ผู้ชื่นชอบการเล่นเกมหลายคน ลักษณะของงาน Streamer คือ การถ่ายทอดสดการเล่นเกม (live streaming) แบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Youtube Facebook หรือ Twitch เป็นต้น ซึ่งสามารถเล่นได้ทั้งเกมออนไลน์และออฟไลน์ โดยในขณะที่ถ่ายทอดสดการเล่นเกมอยู่นั้น ก็จะมีการพูดเรื่องราวต่าง ๆ อาจจะเกี่ยวกับเกมหรือไม่เกี่ยวกับเกมก็ได้ เป็นการพูดเอนเตอร์เทนคนดู เพื่อให้ผู้รับชมเกิดความสนุกสนานไม่รู้สึกเบื่อ เนื้อหาที่พูดในการนำเสนออาจจะเป็นการสอนวิธีเล่นเกม เทคนิคการเล่น หรือเคล็ดลับการเล่นให้ชนะ ฯลฯ เปรียบเสมือนพิธีกรจัดรายการถ่ายทอดสด โดยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-100,000 บาทต่อเดือน
งานของ Streamer จะเป็นลักษณะของการถ่ายทอดสดเป็นหลัก ไม่ผ่านการตัดต่อ จึงต้องใช้ทักษะหลายด้านในเวลาเดียวกัน ควรหมั่นฝึกฝนทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ โดยมีทักษะสำคัญ ดังนี้
• ทักษะการสื่อสารให้น่าสนใจ ทักษะการพูดถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพนี้ เพราะการถ่ายทอดสดแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องเล่นเกมที่มีการประสานงานระหว่างสมอง สายตา นิ้วมือแล้ว ยังต้องมีการพูดคุยสื่อสารกับผู้ชมไปด้วย ดังนั้นการพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ จึงต้องพูดให้เข้าใจง่าย ชัดเจน มีความลื่นไหลและสนุกสนาน โดยต้องคำนึงถึงเรื่องที่จะสื่อสารออกไปและสามารถพูดโต้ตอบกับผู้ชมให้น่าสนใจและอยากติดตามต่อไปได้
• มีความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ เป็นทักษะหลักที่สำคัญในการต่อยอดฐานผู้ชมเป็นอย่างมาก คนที่จะเป็น Streamer ต้องถามตัวเองก่อนว่าจะสามารถสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้ชมได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่ใช่แค่การพูดที่ดึงดูดใจผู้ชมเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมอีกด้วย
• รู้เรื่องคอมพิวเตอร์และวิธีการใช้โปรแกรมในการถ่ายทอดสด หาก Streamer เข้าใจการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมพื้นฐานที่ใช้ในการถ่ายทอดสดแล้ว จะช่วยให้การทำงานนั้นสะดวกและง่ายมากขึ้น เพราะ Streamer จะถ่ายทอดสดการเล่นเกมด้วยตัวเอง หากเราสามารถถ่ายทำได้ด้วยตัวเองก็จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น และมีเนื้อหาเป็นไปตามที่เราวางเอาไว้
ในต่างประเทศอาจเรียกว่า “Game Commentator” เป็นอาชีพด้านการผลิตสื่อในรูปแบบของวิดีโอและเผยแพร่ลงในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ โดยการบันทึกภาพขณะที่ตัวเองกำลังเล่นเกม พร้อมทั้งมีการพุดคุยนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเกมที่กำลังเล่นอยู่ หรือที่เรียกว่า “การแคสเกม” นั่นเอง
สำหรับเนื้อหาหลัก ๆ ที่ใช้ในการผลิตวิดีโอ ได้แก่ การรีวิวแนะนำหรือวิจารณ์เกมที่กำลังเป็นที่นิยม การสอนเทคนิคในการเล่นเกม การสอนภาษาอังกฤษหรือพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ผ่านการใช้เกมเป็นสื่อกลาง เพื่อจุดประสงค์ในการให้ความบันเทิงและความสนุกสนานแก่ผู้รับชม จำนวนผู้ติดตามรับชม (subscribers) จะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับสไตล์และความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตวิดีโอให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจำนวน subscribers นั้นเป็นปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับรายได้อีกด้วย โดยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 40,000-500,000 บาทต่อเดือน ตัวกำหนดรายได้ของ Game Caster มีปัจจัยหลักที่สำคัญคือ จำนวน subscribers และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ประกอบกับคุณภาพของงานวิดีโอที่นำเสนอ
Game Caster เป็นอาชีพที่อยู่หน้ากล้องและนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเล่นเกม จึงต้องมีสกิลการพูดที่น่าสนใจและชวนให้ติดตาม โดยต้องอาศัยความมีเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเองและมีบุคลิกภาพที่โดดเด่นเฉพาะตัว
• ทักษะในการพูดและสื่อสารให้เข้าใจ การใช้คำพูดและน้ำเสียงประกอบกับความสามารถในการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ ถือเป็นองค์ประกอบหลักของการประกอบอาชีพนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การพูดให้ผู้ชมรู้สึกสนุกเพลิดเพลินชวนติดตาม มีการแสดงสีหน้า อารมณ์ที่ชัดเจน ใช้น้ำเสียงและการพูดโดยการเปล่งเสียงออกมาให้ชัดเจน เต็มเสียง ฉะฉาน ฟังแล้วเข้าใจง่าย ไม่ควรพูดงึมงำอยู่ในลำคอ และควรเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้รับชม
• การตัดต่อวิดีโอให้มีความน่าสนใจ เป็นทักษะที่จำเป็นมาก ๆ เพราะต้องนำมาใช้ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ ผู้ประกอบอาชีพนี้ควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตัดต่อวิดีโออยู่บ้าง ปัจจุบันมีโปรแกรมตัดต่อวิดีโอให้เลือกใช้มากมาย เราสามารถเลือกโปรแกรมที่ถนัดในการตัดต่อวิดีโอได้เลย และควรพยายามเรียนรู้การใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อทำให้วิดีโอดูมีเนื้อหาที่น่าสนใจ มีสีสันและมีลูกเล่นมากยิ่งขึ้น เช่น การใส่ภาพประกอบ เอฟเฟกต์ต่าง ๆ การใส่ข้อความ หรือการเพิ่มเสียงดนตรี เป็นต้น
• มีความคิดสร้างสรรค์ ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มแคสเกมหรือตัดต่อวิดีโอ เราควรจะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อคิดวางแผนรูปแบบการนำเสนอวิดีโอว่าต้องการสื่อสารอะไรไปในทิศทางไหนบ้าง ผู้รับชมจะได้รับรู้อะไรจากวิดีโอของเราบ้าง โดยการจินตนาการว่าจะตัดต่อแบบไหน ใส่เอฟเฟกต์อะไร เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับวิดีโอ หากเรามีการวางแผนล่วงหน้าก็จะทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและได้ผลงานที่ออกมาตรงตามความต้องการของเรา ถ้าเราผลิตวิดีโอออกมาดีก็จะช่วยให้มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นได้
หน้าที่หลักของอาชีพนี้คือ เป็นนักกีฬาแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตและฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีมือการเล่น โดยการแข่งขันจะเป็นตัวกำหนดผลงานและความสำเร็จของอาชีพนี้ การแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตคือ การแข่งขันกีฬาแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีกฎกติกาสากลเช่นเดียวกับกีฬาทั่ว ๆ ไป และจะมีการเซ็นสัญญาจ้างกับนักกีฬาด้วย ส่วนข้อแตกต่างระหว่างกีฬาอีสปอร์ตและกีฬาอื่น ๆ คือ ลักษณะการแข่งขันที่มีองค์ประกอบดังนี้ มีเกมออนไลน์เป็นเหมือนสนามแข่งขัน อุปกรณ์ในการแข่งขันคือเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ หูฟัง คีย์บอร์ด และระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูง โดยระหว่างการแข่งขันนักกีฬาภายในทีมและคู่แข่งอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันก็ได้ แต่สามารถแข่งขันร่วมกันได้แบบออนไลน์ โดยรายได้เฉลี่ยนอยู่ที่ 15,000 บาทไปจนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้รายได้ของนักกีฬาแต่ละคนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ
ก่อนอื่นทุกคนต้อมทำความเข้าใจก่อนว่า E-sport Player มีความแตกต่างอย่างมากกับผู้ที่เล่นเกมออนไลน์จนเก่ง เพราะ E-sport Player ไม่ใช่แค่เล่นเกมออนไลน์ให้เก่งเท่านั้น แต่ยังต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักจนมีทักษะต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จให้ไปสู้เป้าหมายที่คาดหวังไว้ ซึ่งต่างจากการเล่นเกมออนไลน์โดยทั่วไปอย่างมาก ดังนั้น E-sport Player จะต้องมีทักษะที่สำคัญ ดังนี้
• มีความสามารถในการแข่งขันเกมออนไลน์ E-sport Player จะต้องมีความสามารถในการแข่งขันเกมออนไลน์ในระดับสูง โดยต้องตั้งใจฝึกซ้อมเกมออนไลน์ประเภทที่ตัวเองถนัดอย่างหนัก และควรเลือกตำแหน่งผู้เล่นในเกมที่เหมาะสมกับสไตล์การเล่นของตัวเองมากที่สุด
• มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ เป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างการแข่งขันจะต้องใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์แนวทางการเล่นเกมของคู่แข่งให้ได้ เพื่อสามารถตอบโต้และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันในระหว่างการแข่งได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องมีการทำงานกันเป็นทีม ซึ่งการวิเคราะห์ลักษณะการเล่นของผู้เล่นในทีมเดียวกันได้ จะทำให้เล่นเข้าขากันมากขึ้น เพราะตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละเกมจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการพูดคุยปรึกษากันในทีมอยู่ตลอดเวลา เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้เกมและเอาชนะคู่แข่งให้ได้
• มีไหวพริบ การมีไหวพริบที่ดีก็เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่ควรมีควบคู่ไปกับการคิดวิเคราะห์ ความรวดเร็วในการรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และสามารถแก้ปัญหา หรือแก้เกมให้กลับมานำได้เป็นเรื่องที่ดีและได้เปรียบมาก นอกจากนี้ตลอดเวลาที่แข่งขันยังต้องมีวิจารณญาณในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะการแข่งขันแต่ละเกมใช้เวลาค่อนข้างสั้น แต่การเดินเกมระหว่างคู่ต่อสู้นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าตัดสินใจช้าไปแค่เสี้ยววินาทีก็อาจจะทำให้ทีมเราเสียเปรียบหรือแพ้ได้เลย
ผู้บรรยายหรือพากย์การแข่งขันเกมอีสปอร์ต โดยที่ไม่ได้เป็นผู้ที่กำลังแข่งขันในเกมนั้น ซึ่งหน้าที่หลักก็เหมือนกับนักพากย์กีฬาประเภทอื่น ๆ เช่น การพากย์ฟุตบอลหรือมวย โดยทำหน้าที่บรรยายการแข่งขัน วิเคราะห์ วิจารณ์เทคนิคการเล่นของแต่ละทีม รวมไปถึงบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการแข่งขัน เพื่อให้ผู้รับชมได้อรรถรสในการรับชมมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างให้เกิดอารมณ์ร่วม ความสนุกสนาน และทำให้ผู้ชมมีความเข้าใจเหตุการณ์และสถานการณ์ในระหว่างรับชมมากยิ่งขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยนอยู่ที่ 50,000-150,000 บาทต่อเดือน
Shout Caster ที่มีความเป็นมืออาชีพจะต้องสามารถบรรยายได้ลึกซึ้งถึงกลยุทธ์ในการแข่งขันและสร้างความสนุกตื่นเต้นให้กับผู้รับชมได้ ซึ่งมีคุณสมบัติและทักษะ ดังนี้
• ทักษะการสื่อสารที่เป็นเลิศ ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านภาษาและน้ำเสียงในการสื่อสารกับผู้ชม ต้องเลือกใช้คำพูดนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ อย่างชัดเจน ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมที่กำลังชมการแข่งขันด้วย
• แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เนื่องจาก Shout Caster ต้องพากย์เกมการแข่งขันถ่ายทอดสด ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้ Shout Caster ต้องทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นให้ได้
• มีความเข้าใจเกี่ยวกับเกม ข้อนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่ Shout Caster ควรจะมี ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับนักกีฬา ประวัติความเป็นมาของทีมหรือสังกัด สไตล์การแข่งขัน รวมไปถึงเทคนิคต่าง ๆ และสามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของนักกีฬาแต่ละคนได้ด้วย
ทำหน้าที่ออกแบบและวาดภาพองค์ประกอบต่าง ๆ ในเกมให้เห็นเป็นภาพที่สวยงามสมจริงหรือตามจินตนาการ เช่น ฉากหลัง วิวทิวทัศน์ วัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ อาวุธ บ้านเรือน สัตว์ รวมไปถึงตัวละครและเครื่องแต่งกาย ให้ปรากฏเป็นภาพตามเรื่องราวในเกม ตามที่เกมดีไซน์เนอร์ (Game Designer) กำหนดไว้ โดยเกมอาร์ตติสมี 2 ประเภท ได้แก่
• Game Artist 2D ทำหน้าที่ออกแบบภาพร่างตัวละคร ฉาก และบรรยากาศในเกมออกมา เพื่อให้ทีมอื่น ๆ เข้าใจคอนเซปต์ตรงกันว่าตัวละคร หรือองค์ประกอบอื่น ๆ เป็นแบบไหน มีลักษณะอย่างไร โดยมีรายได้เฉลี่ย 15,000-25,000 บาทต่อเดือน
• Game Artist 3D จะรับงานต่อจากฝั่ง 2D แล้วนำภาพร่างนั้นมาปั้นเป็นโมเดลสามมิติ (3D) ขึ้นมา เพื่อให้เห็นองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน เพราะในปัจจุบันเกมส่วนใหญ่จะมีรูปร่างหน้าตาเป็น 3D โดยมีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน
ทั้งนี้ Game Artist 2D และ 3D มีรายได้เฉลี่ยที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทการทำงาน หากเป็นพนักงานประจำจะได้รับเงินเดือนคงที่ในแต่ละเดือน แต่หากรับงานอิสระ (freelance) จะมีรายได้จากการออกแบบงานเป็นชิ้นหรือเป็นโปรเจกต์
อาชีพ Game Artist ทั้งประเภท 2D และ 3D ล้วนต้องใช้ความสามารถทางศิลปะและฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมาก เพราะฉะนั้นทักษะที่สำคัญสำหรับอาชีพนี้ ได้แก่
• ความรู้ด้านศิลปะ ต้องมีความรู้ความเข้าใจทฤษฎีศิลปะเป็นอย่างดี ได้แก่ ลายเส้น รูปร่าง รูปทรง สี แสงเงา และพื้นผิว ซึ่งล้วนมีความสำคัญในการวาดและสร้างสรรค์ออกแบบผลงานออกมา
• ความรู้รอบตัว อาชีพนี้จริง ๆ แล้วต้องอาศัยคลังความรู้และประสบการณ์ที่เคยพบเห็นมา เพื่อนำมาปรับใช้เป็นไอเดียในการออกแบบให้สมจริงได้ การพบเห็นสิ่งต่าง ๆ และมีความรู้ที่หลากหลายจะทำให้นำไปต่อยอดการออกแบบได้มากขึ้น
• ความคิดสร้างสรรค์ เกมอาร์ตติสจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์มาก เนื่องจากการออกแบบเป็นเรื่องที่ต้องนำเสนอทั้งความเป็นจริง รวมไปถึงความเหนือจริงและโลกแห่งจินตนาการ
เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตเกมออกสู่ตลาด มีหน้าที่สร้างและพัฒนาระบบเกมในส่วนของการเขียนโปรแกรมและการเขียนโค้ด (coding) ต่าง ๆ เช่น การอัปเดตเวอร์ชั่นเกมให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แก้ไขระบบโปรแกรมภายในเกมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยมีรายได้เฉลี่ยเริ่มต้นที่ 25,000-100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้รายได้จะเพิ่มขึ้นตามทักษะ ประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา
Game Developer ต้องอาศัยทักษะที่จำเป็นคือ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นหลัก เช่น การเขียนโปรแกรม การเขียนโค้ด และต้องเข้าใจภาษาทางด้านการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาเขียนโปรแกรมให้เกมสามารถเล่นได้ตามหลักการที่กำหนดไว้ โดยควรมีทักษะที่จำเป็น ได้แก่
• เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ พื้นฐานสำคัญของการเป็น Game Developer คือ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างเชี่ยวชาญจนสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในระบบได้
• มีทักษะด้านการเขียนโปรแกรม ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของการทำวัตถุภายในเกม และรู้จักการใช้ระบบที่สามารถทำให้วัตถุเคลื่นไหวได้ อีกทั้งยังต้องใช้ภาษาเฉพาะทางในการเขียนโปรแกรม ส่วนใหญ่ภาษาที่ใช้ในด้านเกม ได้แก่ ภาษาซีชาร์ป (C#) เป็นภาษาโปรแกรมเชิงสร้างคำสั่ง หรือภาษาซีพลัสพลัส (C++) เป็นต้น
• ทำงานเป็นทีมได้ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เพราะในการพัฒนาเกมแต่ละเกมต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทีมต่าง ๆ ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้าน
• มีความสามารถในการสื่อสาร ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ เพราะจะต้องประสานงานและพูดคุยกับทีมต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจในงานที่ตรงกัน
เป็นอาชีพที่เปรียบเสมือนผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนต้นคิดรูปแบบเกมทั้งหมดว่าเกมที่ต้องการพัฒนาขึ้นมานั้น มีวิธีการเล่น กฎกติกา ความยากง่าย ระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นเป็นอย่างไร รวมถึงลักษณะหน้าตาของเกม อาจกล่าวได้ว่าเบื้องหลังความสนุกของเกมแต่ละเกมขึ้นอยู่กับ Game Designer เลยก็ว่าได้ โดยมีรายได้เฉลี่ยเริ่มต้นที่ 15,000-100,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมในไทยเป็นสิ่งใหม่และกำลังเติบโต ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญยังไม่มาก จึงเป็นที่ต้องการและมีรายได้ค่อนข้างสูง สำหรับความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับทักษะฝีมือ ประสบการณ์ และเงื่อนไขของบริษัท
• มีทักษะด้านคณิตศาสตร์ Game Designer ต้องใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์เพื่อนำมาคำนวณทั้งในเรื่องของความน่าจะเป็น เช่น เกมแนวต่อสู้ พลังโจมตีแบบนี้ ค่าพลังของอีกฝ่ายจะลดเหลืออยู่ที่เท่าไหร่ หรือเกมไพ่ ไพ่ 1 สำรับ จะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงต้องอาศัยความรู้เรื่องสมการอีกด้วย
• มีทักษะภาษาต่างประเทศ ถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนที่ผลิตเกมขายในตลาดต่างประเทศ เพราะต้องสื่อสารเรื่องราวในเกมให้ออกมาเข้าใจได้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางและใช้สื่อสารกันทั่วโลก หรือภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน ก็เป็นกลุ่มของประเทศที่มีคนเล่นเกมเป็นจำนวนมาก
• มีความรู้รอบตัว ต้องใช้ความรู้แลประสบการณ์มากเป็นพิเศษ และต้องมีความรู้ที่หลากหลาย รวมไปถึงความรู้ทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือระดับพื้นฐานด้วย
Game Master หรือ GM เป็นอาชีพที่ทำงานอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการเกม มีหน้าที่ในการบริหารจัดการให้ผู้เล่นเกมได้รับความสะดวกและความสนุกจากการเล่นเกมอย่างเต็มที่ โดยขอบเขตบทบาทหน้าที่ของ GM ได้แก่ เป็นผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกม เป็นสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ให้บริการและผู้เล่นเข้าด้วยกัน เป็นผู้เล่นและผู้สร้างสังคมในเกม รายได้เฉลี่ยนเริ่มต้นอยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไป และจะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
เนื่องจาก GM นั้นมีความหลากหลายในสายงาน จึงต้องอาศัยทักษะที่หลากหลายด้าน ได้แก่
• มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตัวเองสนใจ การทำงานของ GM ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ ความถนัด และความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร เช่น หากต้องเป็น GM ด้านการตลาด จะต้องมีความรู้และทักษะด้านการตลาด หรือการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ เป็นต้น
• มีทักษะในการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม แม้จะแบ่งแยกการทำงานตามสายงาน แต่ก็ต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมจึงสำคัญ โดยต้องสามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด
• มีทักษะทางด้านภาษา ทักษะด้านภาษาต่างประเทศทั้งการพูด อ่าน และเขียน มีความสำคัญมากเพราะต้องประสานงานกับต้นสังกัดผู้ผลิตและพัฒนาเกมที่อยู่ต่างประเทศอยู่เสมอ รวมถึงภาษาไทยก็เช่นกัน เพราะความยากคือจะอธิบายยังไงให้ผู้เล่นไม่เกิดความสับสน โดยใช้ภาษาที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่ายที่สุด
นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีอาชีพอีกมากมายหลายอาชีพในวงการเกมที่น่าสนใจแต่เราไม่ได้หยิบขึ้นมานำเสนอ ซึ่งอาจจะตรงกับสายที่เราถนัดก็ได้ ทุกคนสามารถหาดูเพิ่มเติมได้ วงการเกมจัดว่าเป็นวงการที่เข้ามาในไทยทีหลัง แต่เติบโตไว และผู้คนให้ความสนใจกันมาก Plook Friends เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน วงการเกมในไทยต้องก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้อีกแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง
16 อาชีพน่าสนใจ และเป็นที่ต้องการในโลกอนาคต
รวมเทคนิคและข้อควรรู้ในการทำ Portfolio ให้ปัง โดนใจกรรมการ !
12 Soft Skills สำคัญที่ควรมีติดตัวก่อนเรียนจบ
ความฉลาด 9 แบบที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เราฉลาดแบบไหนกัน
Gap Year ช่วงเวลาที่ทุกคนควรเข้าถึงได้
รวมประเทศน่าไปเรียนต่อ มีทุนแจกฟรี !
รวมอาชีพสุดเจ๋งที่งานสนุก รายได้ดี แถมได้เที่ยวรอบโลก
เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน
6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่
รวมทริคการเรียน เรียนยังไงให้อนาคตมีงานทำในยุค New Normal
เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ
แหล่งข้อมูล