ในภาษาอีสานมักจะมีฉายาหนึ่งที่ฮิตกันมาก ๆ ที่ผู้ใหญ่มักจะพูดกับเด็กไม่ว่าจะโตแล้วก็ตาม นั่นคือคำว่า ‘บักหำน้อย’ และ ‘อีหล่า’ ‘อีหวึ่ง’ ซึ่งถ้าใครที่ไม่เข้าใจในภาษาอีสานอาจสับสนนิดหน่อยว่าคน ๆ นั้นมีอะไรเกี่ยวกับอวัยวะเพศหรือเปล่า เพราะ หำ แปลว่า จู๋ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่นะคะ คำว่า บักหำน้อย หรือว่า อีหล่า อีหวึ่ง แปลว่าน่ารักซน ๆ ดื้อแต่ว่าน่ารักน่าเอ็นดู ส่วนในภาคกลางบางคนก็อาจได้ฉายาตอนเด็ก ๆ จากลุง ป้า น้า อาว่า ‘ลิงน้อย’ ‘หมูน้อย’ หรือว่า ‘ตูดหมึก’ ซึ่งก็อาจจะแปลได้ว่าน่ารักน่าชัง ซุกซนไม่อยู่นิ่ง ส่วนในภาษาใต้ก็มักจะนิยมเรียกคนอื่นกันว่า ‘นุ้ย’ คำว่านุ้ย ในภาษาใต้ใช้เรียกเด็กสาว ผู้หญิง เรียกแทนตัวเอง หรือใช้เป็นชื่อเล่นของหญิงสาวน่ารัก ๆ ส่วนผู้ชายกับเด็กผู้ชายมักจะใช้คำว่า ‘บ่าว’
เราทุกคนอาจคุ้นชินกับฉายากันมาตั้งแต่เด็ก นั่นเป็นเพราะครอบครัว คนที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็กจะเป็นคนแรกที่เริ่มใช้ฉายากับเรา และส่วนใหญ่คนที่ชอบตั้งฉายาให้เพื่อนหรือแฟนก็มักจะเคยถูกพ่อหรือแม่ตั้งฉายาที่น่ารักให้ตั้งแต่เด็กนั่นเอง
เราจะเห็นได้ว่า ‘ฉายา’ สามารถบอกเราได้หลายอย่างทั้งการได้รับการเลี้ยงดูตอนเด็ก และความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไอเดียของการเรียกใครสักคนว่า ‘ไอต้าวความรัก’ หรือ ‘ที่รัก’ ยังบอกเราได้ถึงความซีเรียส ใกล้ชิดสนิทสนมของความสัมพันธ์นั้น ๆ อีกด้วย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนหรือว่าคนรักของคุณเขาเรียกคุณด้วยฉายาที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ‘Dean Falk’ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาบอกว่า นั่นคือการแสดงความรักอย่างหนึ่งแบบที่พ่อแม่เรียกชื่อลูกด้วยฉายาที่น่ารัก เป็นสัญญาณของความรักโรแมนติกที่กำลังไปได้สวย ไม่ว่าฉายานั้นจะได้มาจากมุกตลกในทีวีก็ตาม เมื่อคนสองคนตกลงที่จะทำความรู้จักกันพวกเขาจะสะสมคลังศัพท์ทีละเล็กทีละน้อยจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาด้วยกัน และใช้ฉายานั้น ๆ บ่อยขึ้นตามความรู้สึกดีที่มีให้กัน
ซึ่งก้ไปตรงกับงานวิจัยในปี 1993 ที่ได้ทำการศึกษาคู่รัก 154 คู่ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างฉายากับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของตัวเอง ผลปรากฏว่า คู่รักที่มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์สูงมักจะมีฉายาเรียกกันและกันมากกว่าคู่รักที่ระหองระแหง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายกันตลอดเวลา และสรุปได้ว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นคู่รักหรือเพื่อนสนิท 80% มีคำเรียกชื่อเล่น หรือ pet name มากกว่า 1 ชื่อ
แต่การเรียกด้วยฉายาก็มีข้อจำกัด ควรเป็นไปอย่างเคารพซึ่งกันและกัน โดยต้องตระหนักทุกครั้งก่อนที่จะตั้งฉายาให้คนอื่นว่าเราจะต้องเลือกฉายาที่จะทำให้อีกฝ่ายได้ยินแล้วรู้สึกถึงความรัก ไม่ใช่ได้ยินแล้วโมโหหรือว่าทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี (insecure) และที่สำคัญควรทำข้อตกลงกันอย่างชัดเจนก่อนที่จะเรียกกันและกันด้วยฉายาในที่สาธารณะ เพราะบางคนไม่ชอบให้เรียกฉายาในที่สาธารณะเนื่องจากต้องการความเป็นส่วนตัว
ทั้งนี้ยังต้องเข้าใจบริบทและความหมายของภาษาที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมอีกด้วย เช่น คนอังกฤษมักจะเรียกคู่รักหรือคู่เพื่อนสนิทด้วยฉายาที่เกี่ยวกับอาหารหรือสัตว์เลี้ยงอย่าง ‘my sugar boo’ ที่แปลว่า สุดที่รัก คนฝรั่งเศสมักจะเรียกกันว่า ‘mon petit chou’ แปลได้ว่าแม่กะหล่ำปลีน้อยของฉัน คนสเปนจะเรียกแฟนว่า ‘media naranja’ แปลว่าส้มอีกซีกหนึ่ง เทียบเท่ากับอีกครึ่งหนึ่งของฉัน หรือแปลว่าคู่ชีวิต ส่วนคนไทยส่วนใหญ่มักจะเรียกแฟนว่า ‘อ้วน’ ทั้งนี้ความหมายบวกกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญของที่มาของฉายาที่พิเศษและแตกต่างกันไป เพราะคนสเปนคงไม่เข้าใจเท่าไหร่นักว่าทำไมคนไทยเรียกแฟนว่าอ้วนกัน ส่วนคนไทยก็อาจจะไม่เก็ทว่าทำไมคนสเปนเรียกแฟนว่าส้มครึ่งซีก เป็นต้น
เรียกจากจุดเด่นในร่างกาย
ไอ้แก้มอ้วน ไอ้อ้วน ไอ้เตี้ย ไอ้ต้าว
เหม่ง หยิกน้อย แว่น แห้ง ตัวเล็ก ตัวใหญ่
ในภาษาอังกฤษคำเหล่านี้จะเรียกว่า Cute Aggressive Words แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า คำที่ใช้เรียกเมื่อหมั่นเขี้ยว โดยส่วนใหญ่จะเป็นจุดเด่นในร่างกายที่โดดเด่น สะดุดตา แตกต่าง เป็นที่จดจำ ซึ่งควรระวังเพราะเป็นคำเรียกที่อาจไปล้อปมด้อยอยู่ด้วยเหมือนกัน ต้องระมัดระวังว่าอีกคนจะรู้สึกยังไงให้มาก ๆ บางคนอาจไม่ชอบให้เพื่อนเรียกเตี้ย แต่แฟนเรียกได้ หรือว่าเรียกว่าอ้วน แต่บางคนก็อาจโอเค มันแล้วแต่คนจริง ๆ
เรียกด้วยชื่อสัตว์เลี้ยง
หมู หมี หมา แมว ลิง ไก่
หมวดสัตว์เลี้ยงก็เป็นหมวดยอดนิยมที่ใช้ในการเรียกเพื่อนหรือว่าแฟน โดยเฉพาะพี่หมีที่อาจหมายความว่าคนนั้นหุ่นใหญ่ น่ากอด น่าซุกเหมือนหมีขนหนา ๆ รวมถึงน้องแมวที่อาจหมายความได้ว่าคุณขี้อ้อนเหมือนแมวเหมียว ในกรณีที่เรียกว่าลิงอาจแปลว่าคุณซน ดื้อ อยู่ไม่นิ่งเหมือนลิงค่ะ
เรียกด้วยคำสรรพนามเรียกญาติ
พี่ ลุง ตา โอปป้า แด๊ดดี้ ยาย ป้า
เขาอาจจะชอบตัวตนที่หลากหลายที่คนอื่นอาจไม่รู้ของคุณ คาแรคเตอร์บางอย่างที่แค่คุณเท่านั้นที่รู้ บางคนอายุน้อยแต่ว่าดูโตกว่าอายุก็อาจถูกเพื่อนหรือว่าแฟนตั้งฉายาว่า ลุง หรือว่า ยาย เพราะดูมีวุฒิภาวะสูง ใจเย็น ความคิดโตกว่าอายุ หรือคำว่า ป้า ที่อาจจะแปลได้ว่าคุณขี้บ่นนิด ๆ เรื่องมากหน่อย ๆ หรือ แด๊ดดี้ที่อาจแปลได้ว่า คุณอบอุ่นเหมือนคุณพ่อ
การเรียก Pet Name ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การจีบที่สำคัญอีกด้วย ในกรณีที่ทั้งคู่อาจยังไม่ได้ตกลงเป็นแฟนกัน และรู้เขารู้เราว่าแต่ละคนต่างก็มีคนคุยหลายคน การประกาศให้โลกรู้ถึง Pet Name จึงถือเป็นทริคที่ดีที่จะกำจัดคู่แข่งที่เหลือ แต่ต้องเป็นชื่อที่ตกลงกับเขาก่อน และรู้กันแค่สองคนเท่านั้นนะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
คนนี้คือคนที่ใช่หรือเปล่า วิธีพิสูจน์คู่แท้แบบวิทยาศาสตร์
แอบชอบเพื่อน ไปต่อหรือพอแค่นี้ดี
จิตวิทยาของการใส่ ‘เสื้อคู่’ ที่จะทำให้ทุกคนอยากใส่คู่กับใครสักคน
เมื่อสิ่งแวดล้อมดี เราจะไม่โสด... เป็นเพราะอะไร ?
ถอดทริคเด็ดจาก 'ทฤษฎีจีบเธอ' จีบยังไงให้ได้เข้าไปนั่งในใจคนที่ชอบ
ทำไมสาวเปิ่น ๆ โก๊ะ ๆ ถึงได้ใจพระเอกซีรีส์เกาหลี
ตำนาน ‘ด้ายแดง’ ที่ว่าคนเราเจอรักแท้แล้วแต่แค่ไม่รู้ตัว
สบตาเธอแล้วโลกหยุดหมุน รักแรกพบมีจริงหรือแค่คิดไปเอง
‘เขาชอบเราจริงไหม’ หรือแค่หาคนคุยแก้เบื่อ
How To ทักแชทคนที่ชอบยังไงไม่ให้ดูเด๋อ
HOW TO เอาคืนคนที่ชอบถามว่า ‘เมื่อไหร่จะมีแฟนสักที’
‘พ่อแม่ไม่ชอบแฟน’ จะทำยังไงดี เมื่อรักแท้ต้องมาแพ้พ่อแม่ไม่ปลื้ม
แหล่งข้อมูล
- Pet Names Between Couples Are a Very Good Sign
- There are scientific reasons why we give our partners pet names — and they can say a lot about your relationship