บางคนอยากเป็นคนรวยมาก เพราะคนรวยหมายถึงมีตังค์ใช้ล้นไม้ล้นมือ แต่ปัจจุบันนี้เราจะได้ยินคำว่า มั่งคั่ง (Wealthy) กันมากขึ้น ซึ่งมันต่างกับคำว่า ร่ำรวย (Richness) หรือคนรวย ที่มีความหมายว่าเป็นคนที่มีทรัพย์สินมาก หรือต่อให้หักหนี้สินแล้วก็ยังมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เป็นของเขามากอยู่ดี
ส่วนคนที่มั่งคั่งนั้นมีความหมายว่า พวกเขามีมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เป็นคนที่มีทั้งทรัพย์สิน สุขภาพ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือกับครอบครัว มีคุณค่า มีเวลาและความสุข หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนมั่งคั่งคือคนที่มีทั้งทรัพย์สินมากพอที่จะใช้ได้อย่างไม่ขัดสน มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เป็นคนที่มีมูลค่าในตัวเองสูง เพราะได้ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับผู้อื่นและมีเวลาเหลือมากพอที่จะไปทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำอย่างอิสระ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นภาพรวมของชีวิตที่มีความสมดุล ต่างจากคนรวยที่อาจมีเงินมาก แต่ไม่มีเวลาใช้ชีวิตเลยเพราะต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพหรือดูแลคนรัก
บางคนพยายามหาเหตุผลสักข้อที่สำคัญมากพอให้ตัวเองเชื่อมั่นและนำไปสู่การเก็บเงินได้สำเร็จ แต่กว่าจะหาเหตุผลนั้นได้มันก็อาจจะกินเวลาเราไปหลายปี ระหว่างที่เราพยายามหาเหตุผลในการเก็บออม เราก็อาจใช้เงินไปเรื่อย ๆ เงินหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นก็ได้สูญไประหว่างทาง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money บอกไว้สั้น ๆ ว่า แรงเฉื่อยทางการเงินนั้นมีพลังมาก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เฉื่อยไปเรื่อย ๆ การไม่ทำอะไรเลยก็จะกลายเป็นตัวเลือกอัตโนมัติของเราและมันอาจทำให้เราเก็บเงินไม่สำเร็จสักที อย่าไปหาเหตุผลมากมายในการเก็บเงินเพราะนั่นก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในเชิงพฤติกรรมที่อาจทำให้เราเก็บเงินไม่ได้ การเก็บเงินเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำทันที ตอนนี้และเดี๋ยวนี้ และเก็บให้ได้มากขึ้นในวันพรุ่งนี้ ดีกว่ามานั่งหาเหตุผลว่าทำไมต้องเก็บเงิน
บางคนเก็บเงินไม่ได้เพราะติดกับดัก Money Status หมายถึง กลุ่มคนที่ผูกคุณค่าตัวเองไว้กับตัวเงินหรือสิ่งของ คนกลุ่มนี้มักจะใช้เงินซื้อสิ่งของไม่ใช่เพราะว่ามันจำเป็น แต่ซื้อเพราะอยากให้ตัวเองดูมีฐานะร่ำรวยกว่าคนอื่น (Money Status) ซื้อเพื่อประกาศสถานะทางสังคมที่ดีกว่า หรูกว่า โดยมักซื้อของที่สังคมให้นิยามว่าแพงหรือว่าหรู ทำให้ใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่ตัวเองหาได้ เช่น คนที่ซื้อประกันไอโฟนมักจะมีมากกว่าคนที่ซื้อประกันชีวิตให้ตัวเอง นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมองว่าแทนที่คนเราจะห่วงชีวิตของตัวเอง แต่กลับห่วงว่าไอโฟนจะหายมากกว่าซะอีก วิธีแก้ก็คืออย่าใส่ใจกับวัตถุมากเกินไป ความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่อาจวัดได้ด้วยวัตถุหรูหรา ฝึกถามตัวเองว่าอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงระหว่าง บ้านหรู รถหรู ไลฟ์สไตล์หรูหรา หรือครอบครัวที่อบอุ่น มีสุขภาพที่ดี การได้ทำงานที่รักและมีคุณค่า
สิ่งเล็ก ๆ ที่จะสอนให้เรามั่งคั่งร่ำรวยคือ การพยายามใช้เงินสดบ้าง เพราะการใช้จ่ายด้วยเงินสดจะช่วยให้เราใช้จ่ายน้อยลงกว่าสังคมไร้เงินสด เพราะสังคมไร้เงินสดอาจทำให้เราไม่รู้สึกอะไรเวลาใช้จ่าย เราเรียกอาการนี้ว่า ‘Pain of paying’ ความเจ็บปวดจากการจ่ายเงิน ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Journal of Experimental Psychology พบว่า รูปแบบในการจ่ายเงินมีผลต่อ Pain of paying เพราะยิ่งผู้จ่ายเห็นกระแสเงินไหลออกชัดเจนเท่าไหร่ ผู้จ่ายก็จะรู้สึกไม่ดีกับการใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้จ่ายไม่ได้เห็นกระแสเงินสดไหลออกชัดเจน การใช้จ่ายจะให้ความรู้สึก Pain of paying น้อยลง หรือบางครั้งก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับกำลังเล่นเกมอยู่ ทำให้ซื้อมากขึ้นโดยไม่รู้สึกผิดใด ๆ
เป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันนี่ดีนะ แต่ถ้าเอาไปใช้ในเรื่องของการเงินอาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ Shlomo Benartzi นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมบอกเอาไว้ว่า วัยรุ่นยุคหลังมานี้มีอุปสรรคเชิงพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ขัดขวางให้การเก็บเงินเป็นเรื่องยากนั่นก็คือ อคติชอบปัจจุบัน (Present bias) มันคือการที่เราควบคุมตัวเองไม่ได้และตัดสินใจชั่ววูบเมื่อเห็นสิ่งล่อใจตรงหน้า เช่น เราคิดถึงเรื่องการออม เรารู้ดีว่าเราควรจะออมเงิน เรารู้ดีว่าเราจะออมเดือนหน้า แต่มีของลดราคา 50% ที่เราอยากได้วันนี้ เลยขอใช้เงินสักหน่อยดีกว่า ซื้อเป็นของขวัญให้ตัวเองละกัน เจ้าอคติชอบปัจจุบันนี้อาจทำให้เราคิดถึงการออม แต่จะลงท้ายด้วยการใช้เงินแทน ทั้ง ๆ ที่ของมันก็ลด 50% เป็นประจำอยู่แล้วแต่เราก็มักจะคิดเข้าข้างตัวเอง
บางคนมีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการออมเงินนั่นก็คือ พวกเขาคิดว่าการออมเงินเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะต้องลดรายจ่ายลงไป พฤติกรรมนี้เรียกว่า ‘ความเกลียดการสูญเสีย’ อาการคือจะเกลียดมากเวลาที่ต้องเสียอะไร ต่อให้มันจะไม่มีความเสี่ยงก็เถอะ บางคนทำใจไม่ได้เลยที่จะโอนเงินจำนวนหนึ่งไปเข้าบัญชีเงินฝากที่ถอนไม่ได้เพื่อที่จะเก็บออม เพราะมันรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็นเงินออกจากบัญชีทั้งที่มันแทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยที่เงินของเราจะหายไป ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะยังไม่โอนเงินจำนวนนั้นไปเก็บในบัญชีเงินฝากที่ถอนไม่ได้ และพบว่าอีกสองอาทิตย์ถัดมาเงินก้อนนั้นได้หายไปแล้วเพราะเอาไปซื้อของช้อปปิ้งออนไลน์ ! เราอาจรู้สึกผิดทีหลังแต่บางคนก็อาจไม่รู้สึกผิดใด ๆ เลย เราถึงได้ย้ำนักหนาว่าการออมเงินต้องทำทันทีและต้องทำ ณ ตอนนั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
• เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
• ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
• รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้
• รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
• รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !
• เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
• เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก
• รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
• รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
แหล่งข้อมูล
Morgan Housel. The Psychology of Money : Timeless Lessons on Wealth, Greed, and Happiness. United Kingdom: Harriman House Publishing, 2010.