Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมแต่ละเดือนมีวันไม่เท่ากัน

Posted By Plook Creator | 13 ส.ค. 64
11,500 Views

  Favorite

แต่ละวันมี 24 ชั่วโมง แต่ละชั่วโมงมี 60 นาที และแต่ละนาทีประกอบด้วย 60 วินาที หากเรื่องเวลาในแต่ละวันมันชวนหัวแล้ว จำนวนเดือนและวันของแต่ละเดือนกลับน่าฉงนกว่า เพราะอย่างน้อยแต่ละวันก็มีจำนวนชั่วโมง นาที และวินาทีเท่ากัน แต่จำนวนวันในแต่ละเดือนกลับต่างกัน แต่หากในหนึ่งปีประกอบด้วย 365 วันบ้าง และ 366 วันบ้าง ทำไมไม่หารออกมาเป็น 30 วันเท่า ๆ กัน หรือ 60 วันไปเลยและให้มีจำนวนเดือนต่างออกไปจากที่ปัจจุบันเป็นอยู่

คำตอบของการเรียงวันในแต่ละเดือน จำนวนเดือนในแต่ละปีต้องย้อนกลับไปนานเลย

 

ภาพ : Shutterstock

 

เริ่มแรกเดิมทีเรามี Thai Lunar Calendar หรือปฏิทินจันทรคติ ปฏิทินที่ใช้ดวงจันทร์เป็นสัญญาณบอกวันหรือเดือนต่าง ๆ ซึ่งนั่นมาพร้อมกับข้างขึ้น ข้างแรม การเปลี่ยนของหน้าตาดวงจันทร์จากคืนมืดเป็นคืนเสี้ยว แสงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน จนวันจันทร์เต็มดวง ก่อนที่จะค่อย ๆ มืดทีละนิดอีกครั้งจนมืดมิดทั้งหมด และบรรพบุรุษของเราก็จับเอาสัญญาณทางธรรมชาติที่สามารถสังเกตได้ง่ายเหล่านี้มาเป็นการนับวัน เดือน ปี และในหนึ่งรอบของการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ ประกอบไปด้วยข้างขึ้น 15 ค่ำ หรือ 15 วัน และข้างแรมอีก 15 วัน จึงทำให้หนึ่งรอบของจันทรคติกินเวลา 30 วัน ปฏิทินจันทรคติจึงเป็นการอ้างอิงจากข้างขึ้นข้างแรม

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราใช้อยู่กับปฏิทินจันทรคติก็ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางดาราศาสตร์เสียทีเดียว แม้ว่าเราจะกำหนดว่า คืนเดือนมืดหรือคืนเดือนดับของรอบเดือนนั้นคือ แรม 15 ค่ำ แต่ความเป็นจริงแล้วมันอาจจะเป็น แรม 14 หรือ แรม 15 หรือขึ้น 1 ค่ำก็ได้ มันมีความคลาดเคลื่อนอยู่เล็กน้อยเสมอ ในทางดาราศาสตร์จะพิจารณาคืนเดือนดับหรือ New Moon หรือการนับรอบเดือนทางจันทรคติใหม่ จากวันที่ดวงจันทร์ขึ้นและตกพร้อมกับดวงอาทิตย์ กล่าวคือดวงจันทร์ทำมุม 0 องศากับดวงอาทิตย์พอดีเท่านั้น คืนพระจันทร์เต็มดวงหรือ Full Moon ก็เช่นกัน ทางดาราศาสตร์นั้นจะต้องเป็นวันที่ดวงจันทร์ทำมุมกับดวงอาทิตย์ 180 องศาพอดี ดวงจันทร์จะมีความสว่างเต็มดวงและเป็นทรงกลม

ภาพ : Shutterstock

 

จากความคลาดเคลื่อนที่เกิดได้เป็นประจำนี้เอง ที่ทำให้การนับวันแบบจันทรคติไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและสากล ปฏิทินที่เราใช้ในปัจจุบันเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากสมัยโรมัน มันถูกใช้และปรับปรุงมาหลายครั้งจนถึงสิ่งที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มันเริ่มต้นด้วย 10 เดือน ซึ่งสันนิษฐานว่าอ้างอิงจากเลขฐาน 10 จากการคำนวณเลขในสมัยนั้น และแรกเริ่มนั้นเดือนแรกของปีคือเดือนมีนาคม เพราะชาวโรมันให้ความเคารพต่อเทพมาร์ส (Mars) ซึ่งเป็นเทพแห่งสงครามเป็นอย่างมาก จากนั้นแต่ละเดือนจะมี 30 และ 31 วันสลับกันไปรวมได้ 10 เดือน แต่พวกเขาก็สังเกตว่า 304 วันต่อปีนี้มีความคลาดเคลื่อน ฤดูกาลในแต่ละปีที่หมุนผ่านนั้นไม่ตรงเดือน จึงมีการขยับเดือนให้ตรงอยู่เป็นระยะ จากนั้นจึงมีการเพิ่มเดือนเข้าไปอีก 2 เดือน ได้แก่ เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ทำให้หนึ่งปีประกอบไปด้วย 355 วัน


แม้ว่าจะเพิ่มเข้าไปแล้วใช้ไปนานวันก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ดี

 

จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือ สมัยกษัตริย์จูเลียส​ซีซาร์ ซึ่งมีการปรับปรุงปฏิทินเสียใหม่ ปรับจำนวนวันในแต่ละเดือนให้มีการสลับกัน รวมถึงเป็นจุดที่ริเริ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน แต่ถ้าปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินก็ให้เพิ่มวันสำหรับเดือนกุมภาพันธ์เป็น 30 วัน ปรับชื่อเดือนมกราคมให้อ้างอิงชื่อเทพ Janus และเป็นเดือนแรกของปีเพื่อให้เกียรติ แม้จะมีความคล้ายคลึงกับปฏิทินที่เราใช้อยู่แต่ก็ยังไม่เหมือนนัก ในยุคนี้เดือนมกราคมยังมีวันเพียง 30 วัน พอยุคสมัยผลัดเปลี่ยนมายังกษัตริย์ออกัสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) นอกจากจะเปลี่ยนชื่อเดือน 6 เดิมให้กลายเป็น August แล้ว ยังลดทอนวันจากเดือนกุมภาพันธ์มาใส่เดือนสิงหาคมของตัวเองให้เท่ากับเดือนมกราคมของจูเลียสอีกด้วย ในช่วงนี้ปฏิทินถูกเรียกตามชื่อกษัตริย์จูเลียสซีซาร์​ ว่า Julian calendar

 

ต่อมาระบบปฏิทินถูกชำระอีกครั้งโดย พระสันตปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงกลายเป็น ปฏิทินจูเลียน-เกรกอเรียน แบบที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน

ภาพ : Shutterstock

 

แม้ว่าเราจะอยู่ในประเทศที่ดูว่าทุกฤดูที่เราเคยเรียนมาทางทฤษฎีนั้นจะไม่สามารถใช้ได้จริง มันร้อนได้ทุกวัน ฝนอาจจะตกได้ทุกเดือน จนสงสัยว่า หรือเราควรจะปรับการนับเดือนนับปีใหม่ ให้สะท้อนรอบการเปลี่ยนฤดูที่แท้จริงของปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราเผชิญอยู่นี่เป็นผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่มีต้นเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ วงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และการหมุนของโลกยังเป็นไปอย่างไม่ผิดเพี้ยน ในตอนนี้แม้ว่าบางเดือนจะ 30 บ้างจะ 31 กุมภาพันธ์จะมี 28 บ้าง 29 วันบ้าง แต่มันก็เป็นโครงสร้างการนับวัน เดือน ปี ที่เรียกได้ว่าสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของปีได้ชัดเจนที่สุด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow