Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ

Posted By Plook Magazine | 16 ส.ค. 64
6,783 Views

  Favorite

คำพูดในทำนองว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต” คงจะเป็นคำพูดสวยหรูที่ไม่ผิดสักทีเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้นเราก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า “เงินคือสิ่งสำคัญของชีวิต” โดยเฉพาะชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมที่คุณภาพชีวิตของมนุษย์ (ส่วนใหญ่) ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงสินค้าและบริการ เช่น อาหารการกิน ยารักษาโรค บริการทางการแพทย์ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ระบบขนส่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้การมีเงินเพื่อเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีพขั้นพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ แล้วการจะยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้ระบบเช่นนี้จึงจำเป็นต้องมีเงินที่มากพอ ซึ่งเอาเข้าจริงนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่คนถึงอยากรวย

 

 

cr: www.freepik.com

 

แน่นอนว่าช่องทางในการหาเงินในขั้นแรก ๆ คือการทำงาน ส่วนการที่จะให้เงินในกระเป๋านั้นงอกเงยมากขึ้นคือการเก็บสะสมและการลงทุน แม้ว่าการลงทุนจะไม่ได้จำกัดอายุของผู้ลงทุน แต่การเริ่มต้นเร็วก็จะทำให้เรามีเวลาในการสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น ดังนั้นการเริ่มลงทุนในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางการลงทุนที่ดี

 

แต่ก็มักจะเกิดคำถามประมาณว่า “เป็นวัยรุ่นทุนน้อยแล้วจะเอาเงินจากไหนมาลงทุน” แน่นอนว่าถ้าไม่มีเงินเหลือเก็บเลยเราก็คงจะลงทุนไม่ได้ แต่ปัญหาคือคำถามทำนองนี้มักจะพ่วงมากับทัศนคติที่ว่าการลงทุนต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งเอาเข้าจริง “การเริ่มลงทุน” นั้นใช้เงินไม่มาก การเปิดบัญชีลงทุนก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไร การลงทุนในหุ้นดี ๆ สักตัวก็ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำที่หลักร้อยหลักพันก็เริ่มต้นได้แล้ว ดังนั้นการจะเริ่มต้นลงทุนจึงไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กลับกันการที่จะมีเงินทุนมากขึ้นนั้นมาจากการเริ่มลงทุนและเก็บสะสมต่างหาก แล้วสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนเริ่มลงทุนจริง ๆ ก็คือความรู้ด้านการลงทุน โดยความรู้ประเภทแรกที่สำคัญมาก ๆ คือ “การรู้จักตัวเอง”

 

cr: www.freepik.com

 

เป้าหมายที่ชัดเจนคือตัวกำหนดแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา

การที่เราจะเลือกประเภทสินทรัพย์และสไตล์การลงทุนให้ตอบโจทย์ตัวเองได้มากที่สุดก็ต้องเริ่มจากการทำความรู้จักตัวเอง อย่างแรกเลยเราต้องถามตัวเองว่ามีเป้าหมายการลงทุนแบบไหน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้

 

• เป้าหมายระยะสั้น (0-2 ปี) เป็นเป้าหมายการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินระยะสั้น เช่น การออมเงินเพื่อการท่องเที่ยว จึงควรเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมที่นโยบายการลงทุนความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น

 

• เป้าหมายระยะกลาง (3-5 ปี) เช่น การออมเงินเพื่อจ่ายหนี้ต่าง ๆ อย่างค่าผ่อนบ้านและรถ ควรเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น การลงทุนในหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มั่นคงที่จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง และกองทุนรวมผสมหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

• เป้าหมายระยะยาว (6 ปีขึ้นไป) เช่น การออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ หรือใช้เป็นค่าการศึกษาของลูกหลาน ถ้ามีเป้าหมายแบบนี้ก็ควรเน้นสินทรัพย์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกับเราได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น หุ้นของบริษัทที่มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ กองทุนรวมผสมหรือกองทุนรวมตราสารทุน เป็นต้น ทั้งนี้จากสถิติในอดีตพบว่าการลงทุนหุ้นในระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนได้ ทำให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนมากขึ้นและลดความเสี่ยงในการขาดทุนลงได้อีกด้วย

 

cr: www.freepik.com

 

รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ?

อีกคำถามสำคัญที่จะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นคือ “เรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน” ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้
 

• รับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative) หมายความว่าเรายอมรับความผันผวนได้น้อยหรือไม่ได้เลย เวลาจะลงทุนอะไรก็มักให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยที่สุด

 รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Moderate) หมายความว่ารับความผันผวนได้ในระดับหนึ่งเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่ไม่มากจนเกินไป

 รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive) หมายความว่ารับความผันผวนได้เต็มที่เพื่อแลกกับผลตอบแทนระดับสูง เรียกว่าเป็นนักลงทุนที่เน้นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงตามมา หรือเรียกว่า High risk, High return

    

ทั้งนี้เพื่อให้เราประเมินตัวเองได้อย่างเป็นระบบและแม่นยำมากขึ้นจึงอยากชวนทุกคนมาทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กันดู   >>คลิก<<

 

cr: www.freepik.com

 

ทางเลือกมากมายสำหรับชีวิตการลงทุน

เมื่อเราพอรู้ว่าเป้าหมายของเรามีอะไรบ้างและรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ทีนี้มาดูกันว่าเราจะเหมาะกับสินทรัพย์ลงทุนประเภทใด

 

หุ้นสามัญ (Common Stock)

ผู้ถือหุ้นสามัญนั้นมีสถานะเปรียบเสมือนเป็นเจ้าของกิจการ โดยจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลจากกำไรของบริษัทจดทะเบียน และกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ จุดเด่นของสินทรัพย์ลงทุนประเภทนี้คือความหลากหลายทั้งในด้านของความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยสามารถแบ่งประเภทหุ้นออกเป็น 6 ประเภทตามแนวทางของนักลงทุนชื่อดังอย่าง “ปีเตอร์ ลินซ์” (Peter Lynch) ได้ดังนี้ 

 

1. หุ้นโตช้า (Slow Growers) เป็นหุ้นที่ธุรกิจค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว แต่ยังจ่ายปันผลดีสม่ำเสมอ 
 

2. หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) เป็นหุ้นที่มีธุรกิจเติบโตเรื่อย ๆ ไม่หวือหวา เป็นหุ้นที่มีความปลอดภัยอยู่รอดได้แม้จะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม 
 

3. หุ้นเติบโต (Fast Growers) เป็นหุ้นที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ มีศักยภาพในการเติบโต จึงมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาไม่นาน 
 

4. หุ้นวัฏจักร (Cyclical) เป็นบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่มีรายได้และกำไรขึ้นลงเป็นฤดูกาลตามภาวะเศรษฐกิจและราคาของสินค้าที่จำหน่าย 
 

5. หุ้นฟื้นตัว (Turnaround) เป็นบริษัทที่เคยมีผลประกอบการแย่หรือขาดทุน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
 

6. หุ้นสินทรัพย์มาก (Asset Play) เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ที่ยังไม่รับรู้มูลค่าเต็มที่ซ่อนอยู่ในงบดุล เช่น ที่ดิน เงินสด หรืออื่นๆ เป็นต้น ถ้าหากมีการรับรู้มูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวก็มีโอกาสที่มูลค่าหุ้นจะปรับสูงขึ้นตาม

 

 

กองทุนรวม (Mutual Fund)

การรวบรวมเงินของนักลงทุนจำนวนมากเพื่อนำไปลงทุนต่อตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้น ๆ กำหนดไว้ โดยจะมีผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารจัดการเงินของกองทุน จุดเด่นของสินทรัพย์ประเภทนี้คือมีเงินน้อยก็ลงทุนได้ มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น กองที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินทรัพย์อื่น ๆ นักลงทุนจึงสามารถเลือกกองทุนที่มีวัตถุประสงค์การลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง และระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเองได้

 

 

อนุพันธ์ (Derivatives)

สัญญาทางการเงินที่ให้สิทธิ์ในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ในอนาคต เช่น หุ้น ดัชนี พันธบัตร รวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะทำสัญญาตกลงกันวันนี้ว่าจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงกี่หน่วย ราคาเท่าใด ส่งมอบและชำระราคากันเมื่อไหร่ โดยจะทำการซื้อขายอนุพันธ์ผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ TFEX จุดเด่นคือใช้เงินลงทุนน้อย ด้วยเงื่อนไขการวางเงินประกันเพียง 10-15% ของมูลค่าสัญญา ทั้งนี้ อนุพันธ์มีอายุจำกัด เช่น 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เราจึงต้องคอยหมั่นตรวจสอบอายุสัญญาอยู่เสมอ

 

 

Derivative Warrants (DW)

เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่ง โดยผู้ออก DW จะให้สิทธิ์ในการซื้อ (Call DW) หรือสิทธิ์ในการขาย (Put DW) สินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ตามราคาใช้สิทธิ์ อัตราการใช้สิทธิ์ และเวลาที่กำหนดไว้ จุดเด่นของ DW คือมีอัตราทดที่สามารถทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนได้มากกว่าปกติ ขณะที่นักลงทุนสามารถเลือกระดับของอัตราทดตามความเสี่ยงที่รับได้ แถมยังใช้เงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง นักลงทุนจึงมีโอกาสในการได้กำไรสูง แต่ก็เช่นเคยที่ว่าผลตอบแทนที่สูงมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเป็นเงาตามตัว

 

 

Exchange Traded Fund (ETF)

กองทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง โดยจะมีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหรือราคาสินทรัพย์ที่กองทุนใช้อ้างอิง (Passive Fund) 
 

• ความแตกต่างหลัก ๆ ระหว่าง ETF กับหุ้น คือ การซื้อหุ้นจะเป็นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนเพียงบริษัทเดียว แต่ ETF จะเหมือนการกระจายซื้อทุกหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ ETF อ้างอิงตามน้ำหนักของดัชนี เช่น ETF ที่อ้างอิงดัชนี SET50 จะซื้อหุ้นทั้ง 50 ตัวในสัดส่วนเดียวกับที่อยู่ในดัชนี SET50 เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด ETF จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้วยต้นทุนที่ต่ำ 

 

• ข้อแตกต่างระหว่าง ETF และกองทุนรวมดัชนี คือ กองทุนรวมดัชนีจะซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เท่านั้น และต้องซื้อขายตามเวลาที่ บลจ. กำหนด และต้องรอลุ้นราคา NAV ตอนสิ้นวัน ขณะที่ ETF เป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (broker) เหมือนกับหุ้นที่สามารถซื้อขายได้แบบ real-time ตามเวลาทำการของตลาดหุ้น

 

 

ตราสารหนี้ (Bond)

คือตราสารทางการเงิน เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน โดยนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารมีสถานะเป็นลูกหนี้ ทั้งนี้นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่มีการจ่ายอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ การลงทุนในตราสารหนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เฉลี่ยที่ 2-5% ซึ่งนับว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 0.3-0.5% 

 

 

สลากออมสิน และสลาก ธ.ก.ส.

เป็นการออมที่คล้ายกับการฝากประจำ มีระยะฝากที่แน่นอน เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี โดยผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนซึ่งมีอัตราที่ไม่ได้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก แต่จุดเด่นคือผู้ฝากสามารถลุ้นรางวัลเลขท้ายทุกเดือนคล้ายกับสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งยังมีรางวัลใหญ่ให้ได้ลุ้นกันอีกด้วย ซึ่งถือเป็นช่องทางการเสีี่ยงดวงที่เงินต้นของเราไม่ได้หายไปไหน

 

 

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางในการซื้อขายซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตได้ สกุลเงินดิจิทัลจะทำงานอยู่บนระบบ Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่รองรับการชำระเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง โดยสกุลเงินดิจิทัลจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของธนาคารกลางหรือขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งนี้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทาน (Demand/Supply) ของกลุ่มเครือข่าย โดยการกระจายของสกุลเงินดิจิทัลจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลขึ้นอยู่กับความต้องการของคนอย่างแท้จริง สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมคือ Bitcoin (BTC), Bitcoin Cash (BCH), BTC Ethereum (ETH), Litecoin (LTC), Ripple (XRP), และ Stellar (XLM) เป็นต้น

 

cr: www.freepik.com

 

3 สไตล์การลงทุน

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับประเภทสินทรัพย์ลงทุน จุดเด่นและความเสี่ยงของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทไปแล้ว แต่ถ้าปราศจากสไตล์หรือแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน เวลาลงทุนจริง ๆ เราอาจจะไขว้เขวจับต้นชนปลายไม่ถูก และเผลอ ๆ อาจทำให้เราตัดสินใจพลาดและไม่ตรงตามเป้าหมายเดิมด้วย ดังนั้นเราจึงควรศึกษาดูว่าสไตล์การลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับเป้าหมายและตัวตนของเรา โดยสามารถแบ่งเป็น 3 สไตล์หลัก ๆ ได้ดังนี้

 

นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อว่าการซื้อหุ้นคือการซื้อกิจการหรือการเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการ และมองว่าไม่ช้าก็เร็วผลประกอบการของบริษัทจะสะท้อนผ่านราคาหุ้น ที่บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าราคาหุ้นจะสะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง นักลงทุนประเภทนี้จึงต้องมีความอดทน ไม่อ่อนไหวกับราคาที่ขึ้นลงในระยะสั้น ต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เช่น ลักษณะธุรกิจ ทิศทางธุรกิจ ฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ฯลฯ ที่สำคัญคือต้องไม่ยึดติดกับหุ้น ก็คือถ้าวิเคราะห์ดูแล้วว่าหุ้นถึงจุดที่ควรขายก็ต้องขายออกไป อย่าเก็บไว้เพราะความชอบอย่างไม่มีเหตุผล

 

นักลงทุนแนวโมเมนตัม (Momentum Investor: MI) เป็นนักลงทุนที่เน้นเทรนด์ขาขึ้นของตลาด มักจะลงทุนตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า (fund flow) ด้วยการสังเกตยอดซื้อสุทธิของต่างชาติ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยรวม แนวทางในการวิเคราะห์แบบ MI คร่าว ๆ คือมองภาพเศรษฐกิจโลกก่อน หากมีภาพรวมเป็นบวกก็จะมาดูภาพของประเทศที่จะลงทุน เช่น ประเทศไทย หากมีทิศทางดีบวกกับมีกระแสเงินนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าก็จะยิ่งน่าสนใจในเชิงการลงทุน จากนั้นก็จะมองหาอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของประเทศในช่วงเวลานั้น แล้วไปมองหาหุ้นที่โดดเด่นในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ ทั้งนี้สไตล์นักลงทุนแนว MI จะไม่ค่อยถือยาว และจะไม่ยอมติดหุ้น โดยจะมีจุดตัดขาดทุน (cut loss) ที่ชัดเจนเพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงเสมอ

 

นักลงทุนแนวเทคนิค (Technical) นักลงทุนแนวนี้มีความสนใจในพฤติกรรมของราคาหุ้นที่สะท้อนผ่านเฉพาะกราฟราคาหุ้น (chart) โดยจะใช้ข้อมูลราคาหุ้นในอดีต ปริมาณการซื้อขาย และเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคและอินดิเคเตอร์ (indicator) ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ทิศทางราคาหุ้น แม้จะดูหวือหวาแต่นักลงทุนแนว technical ที่ดีจะมีการกำหนดจุดเข้าซื้อและจุดขายออกอย่างมีวินัย และปฏิบัติตามสัญญาณทางเทคนิคที่ตนกำหนดไว้ กล่าวคือเมื่อมีสัญญาณให้ซื้อก็ซื้อ เวลามีสัญญาณให้ขายก็ต้องขาย มิฉะนั้นการตัดสินใจในแต่ละครั้งอาจกลายเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์ไปเสีย

 

ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าสไตล์การลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา เพราะอ่านดูแล้วแต่ละแนวทางก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป งั้นเรามาลองทำแบบทดสอบ >> ค้นหาสไตล์การลงทุนของคุณ << กันดูว่าเราเหมาะกับสไตล์การลงทุนแบบไหน

 

 

เริ่มลงทุนในวัยรุ่นถ้าอยากรวยตอนโต

เมื่อเราหาความรู้ด้านการลงทุนไปแล้ว (และต้องหมั่นศึกษาอยู่เรื่อย ๆ) ขั้นตอนต่อไปคือ “การเริ่มลงทุน” ถ้าสามารถเริ่มลงทุนในวัยรุ่นได้ยิ่งดีเพราะจะมีโอกาสในการสะสมทุนและประสบการณ์มากขึ้น โดยก้าวแรกของการเข้าสู่วงการการลงทุนคือการเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ ในกรณีของการลงทุนหุ้น ETF ตราสารหนี้ DW หรืออนุพันธ์ นักลงทุนจะต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ แต่ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวมขั้นแรกจะต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือตัวแทนขายของ บลจ. ก่อน หลังจากนั้นก็สามารถซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้เลย

 

ส่วนปราการด่านสุดท้ายของใครหลาย ๆ คนคือเรื่องของ “เงินทุนตั้งต้น” ถามว่าต้องมีเท่าไหร่ เอาเข้าจริงก็ขึ้นอยู่กับราคาและจำนวนที่เราต้องการลงทุน ยิ่งราคาสูงและจำนวนหุ้น/หน่วยลงทุนมากก็ต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่ถ้าเพิ่งเริ่มต้นเลย ขั้นต่ำของการลงทุนนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุกมากมายก็ได้ ในกรณีของหุ้นสมมติฐานหุ้นราคา 10 บาท แล้วต้องซื้อขั้นต่ำที่ 100 หุ้น (หรือ 1 board lot) บวกกับค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ต้องจ่ายให้โบรกเกอร์ก็จะอยู่ที่ราว ๆ 1 พันกว่าบาทเท่านั้นก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้แล้ว 

 

ในกรณีของการซื้อกองทุนรวมในปัจจุบันมีขั้นต่ำที่น้อยมาก บางกองไม่มีขั้นต่ำเลยด้วยซ้ำ ทำให้การเริ่มลงทุนในวัยรุ่นเป็นสิ่งที่หนุ่มสาวจำนวนมากสามารถทำได้ และด้วยการที่ระบบสังคม-เศรษฐกิจของเรายังเป็นเช่นนี้ คือเงินตรามีความสำคัญต่อการดำรงชีพและความสะดวกสบายในชีวิต การลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเป็นอยู่ของตัวเราในอนาคต แต่การเริ่มต้นเร็วไม่เท่ากับการการันตีความสำเร็จในการลงทุนเพราะ...การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด

ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?

รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้

รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !

เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก

รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !

รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้

รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท

The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !


 

แหล่งข้อมูล

วัยรุ่นอย่างเรา... ลงทุนอะไรได้บ้างนะ?

Checklist 6 เรื่องต้องรู้ สำหรับมือใหม่

แบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

หุ้น - SET Investnow

กองทุนรวม - SET Investnow

อนุพันธ์ - SET Investnow

DW - SET Investnow

ETF - SET Investnow     

ETF แตกต่างจากหุ้นและกองทุนรวมดัชนีอย่างไร 

ตราสารหนี้ - SET Investnow 

ลงทุนทางเลือกไหน... สบายใจวัยเกษียณ

คริปโทเคอร์เรนซี่ 101

ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล

ทำความรู้จัก Cryptocurrency ฉบับเข้าใจง่ายภายใน 5 นาที    

เลือกหุ้น กองทุนรวมยังไง ให้ถูกใจวัยรุ่น

เทคนิคลงทุน 3 แบบ 3 สไตล์ 

ค้นหาสไตล์การลงทุนของคุณ - แบบสอบถาม 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow