Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก

Posted By Plook Magazine | 16 ส.ค. 64
6,494 Views

  Favorite

เทคนิคการเก็บเงินแบบคนจน อาจดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่นักเพราะ ‘คนจน’ มักจะถูกคัดออกเมื่อเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่เราพบว่าการเก็บเงินในแบบคนจนนั้นก็ยังน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คนมีเงินเยอะอาจไม่ต้องคิดมากว่าจะต้องเก็บเงินยังไงเพราะมีตัวเลือกให้เลือกเยอะแยะ เช่น ฝากประจำดอกเบี้ยสูง เอาไปลงทุนหุ้น คริปโตฯ กองทุนรวม หรือว่าจะปล่อยกู้ ฯลฯ แต่คนจนนี่ซิ เงินมีน้อยแล้วจะเก็บยังไงให้งอกเงย 

 

 

‘ถ้าเราเป็นคนไม่ค่อยมีสตางค์ การดูแลเงินที่เรามีก็สำคัญมากเป็นพิเศษ’

 

นั่นเป็นประโยคหนึ่งจากหนังสือการเงินคนจน (The Poor And Their Money) ที่เขียนโดย ‘สจวร์ต รัทเทอร์ฟอร์ด’ นักวิจัย ที่ปรึกษา และผู้ประกอบการด้านไมโครไฟแนนซ์ และ ‘สุขวินเดอร์ อาโรรา’ ทั้งคู่ทำงานวิจัย เดินทางศึกษาพฤติกรรมการใช้เงิน การตัดสินใจทางการเงิน วิธีเก็บเงินของคนจนทั่วประเทศที่มีรายได้ต่ำมาก ๆ เป็นเวลานานกว่า 30 กว่าปี และพบความจริงที่ว่า ทำไมคนจนไม่เอาเงินไปฝากธนาคาร ทำไมคนจนกินอาหารแปรรูปซะส่วนใหญ่ ทำไมไม่กินอาหารเฮลตี้ที่ดีต่อสุขภาพ ทำไมไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือทำไมคนจนถึงไม่นำเงินที่เก็บสะสมไว้ได้ 200-300 บาทต่อเดือนไปฝากธนาคาร

 

รวมถึงทำไมคนจนต้องซื้อหวยและส่วนใหญ่เป็นหวยใต้ดิน ต้องเล่นการพนันทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยงที่จะเสียเงินก้อน ? และเอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอ เป็นเพราะคนจนไม่มีความหวังว่าจะเก็บเงินได้ แต่มีความอยากที่จะได้เงิน ซึ่ง ‘ความอยาก’ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน ทุกคนอยากมีเงินเก็บกันทั้งนั้น ความอยากมีเงินสักแสน ทำให้ “หวย” เป็นทางเลือกของคนจน หรือทำไมคนจนเอาเงินไปซื้อทีวี แทนที่จะเก็บเงินไว้ให้ลูก ๆ ได้เรียน ก็เพราะชีวิตคนจนมันเต็มไปด้วยความเครียดในการดิ้นรนหาเงินทุกวันไม่ได้หยุดพัก ทำให้เขาต้องการการผ่อนคลายซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นเดียวกัน  ไม่ใช่ว่าคนจนไม่อยากออมเงิน แต่คนจนเสียเปรียบมาก ๆ เวลาที่จัดการเงินต่างหาก เพราะธนาคารและบริษัทประกันที่ให้บริการแก่ผู้ที่มีกำลังซื้อแทบไม่เคยให้บริการคนจน ดังนั้นจึงทำให้คนจนหมดหวังและพยายามหาวิธีการออมที่ต่างออกไป เราจะมาพูดถึงปัจจัยที่ทำให้คนจนไม่สามารถออมเงินได้และวิธีที่พวกเขาเก็บออมเงินกัน 

 

 

สภาพแวดล้อมที่ทำให้เก็บเงินยากและการไปฝากเงินในธนาคารเป็นเรื่องสิ้นเปลือง 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนจนเก็บออมยากมาก ๆ ที่เรานึกไม่ถึงกันก็คือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยคนมีรายได้น้อย พวกเขาออมเงินได้ยากมากเนื่องจากมีบ้านอยู่ในทำเลที่คนส่วนใหญ่ติดเหล้า ติดการพนัน ชอบลักขโมย บ้านก็ไม่มีรั้วรอบขอบชิด แถมหลายคนยังมีคนในครอบครัวที่ชอบขโมยเงินอีกต่างหาก แม้ว่าจะอยากเก็บเงินเพียงแค่วันละ 5 บาทก็ยากที่จะเก็บได้ บวกกับคนจนหลายคนหาเช้ากินค่ำ อยู่ในพื้นที่กันดารการเดินทางเข้ามาฝากเงินย่อมมีค่าใช้จ่ายและยังทำให้เขาเสียโอกาสที่จะหารายได้ของวันนั้นไป ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีเงินเพื่อซื้ออาหารหรือสิ่งที่จำเป็นในวันนั้น สำหรับคนจนการที่จะเดินทางเพื่อนำเงินไปฝากธนาคารมันจึงเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า 

 

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและการเดินทางยากนี้เองที่ทำให้คนจนเก็บออมไม่ได้ 

 

 

 

มีเงินน้อยมาก แต่คนจนก็ยังออมได้ 

คนจนในประเทศอินเดียนิยมใช้บริการที่เรียกว่า ‘นักรวบรวมเงินฝาก’ นอกระบบหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พวกเขายอมจ่ายเงินค่าบริการให้กับใครสักคนที่ไว้ใจได้ให้เก็บออมเงินของพวกเขาให้ปลอดภัยนั่นเอง ขอยกตัวอย่างการออมในสลัมทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิชัยวาทะ ประเทศอินเดีย คนที่นั่นนิยมจ้างนักรวบรวมเงินฝากนอกระบบมาเก็บเงินออมของพวกเขา เพราะปลอดภัยกว่าจะเก็บไว้กับตัวหรือในบ้านที่ไม่ปลอดภัย โดยผู้ทำหน้าที่เก็บเงินออมจะแจกบัตรให้ลูกค้าทุกคนโดยจะตีตารางเป็นช่องในแนวนอนและแนวตั้งตามความต้องการจะออมจะลูกค้า เช่น ลูกค้าอยากออมเงินวันละ 5 รูปี ติดต่อกันเป็นเวลา 220 วัน (แนวนอน 11 แถว แนวตั้ง 20 แถว) หากพวกเขาส่งเงินอย่างสม่ำเสมอวันละ 5 รูปี เมื่อครบ 220 วันพวกเขาก็จะได้เงิน 1,100 รูปี (แต่จะถูกคิดค่าบริการในการฝากออม 100 รูปี ดังนั้นผู้ฝากก็จะได้รับเงินก้อนกลับไป 1,000 รูปี) แถมคนเก็บเงินยังมาเก็บเงินถึงที่บ้าน ทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน และประหยัดค่าเดินทางอีกด้วย 

 

 

 

คนจนคือตัวอย่างของการตั้งเป้าหมายการออมระยะสั้นที่ดี

คนจนยังชีพด้วยรายได้จำนวนน้อยนิดและไม่สม่ำเสมอ พวกเขาหาเช้ากินค่ำทำให้การวางแผนระยะยาวเป็นเรื่องยากและจับต้องไม่ได้ กล่าวคือพวกเขาไม่พร้อมที่จะเก็บเงินสำหรับวัยเกษียณเพราะไม่ได้มีสภาพคล่องทางการเงินมากมาย หรือมีเงินเหลือเก็บมากพอ เมื่อการเก็บเงินให้ลูกได้เรียนหนังสือหรือไปโรงเรียนในแต่ละวัน บวกกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมันก็ยังยากเย็นแสนเข็ญ ไหนจะต้องใช้จ่ายในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญในอนาคต เช่น การแต่งงานที่ต้องใช้เงินมาก การตายของคนในครอบครัว ฯลฯ 

 

วิธีที่คนรายได้น้อยทำกันก็คือ พวกเขามักตั้งเป้าหมายระยะสั้นเสมอ และสร้างวิธีเก็บเงินที่เหมาะกับเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งนั่นก็คือ ‘วงแชร์’ วงแชร์จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์คือการออมเงินร่วมกันโดยมีขั้นตอนก็คือ ทุกคนจะวางเงินกองกลางของตัวเองเอาไว้ หลังจากนั้นก็แจกจ่ายแก่สมาชิกตามลำดับจนกว่าจะครบทุกคน วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ทำให้คนที่มีความต้องการใช้เงินในเวลานั้น ๆ สามารถมีเงินในการใช้จ่ายได้ ในขณะที่สมาชิกคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับเงินก็จะได้รับในงวดต่อไปแทนนั่นเอง 

 

นอกจากนี้คนจนในแถบหนึ่งที่มักจะมุงบ้านด้วยใบไม้ที่ไวไฟยังคิดวิธีออมเงินที่เรียกว่า ชมรมออมเงินสะสมทรัพย์เพื่อที่ว่าหากบ้านไหนเกิดไฟไหม้ขึ้นมาก็สามารถที่จะเอาเงินก้อนที่สะสมในชมรมไว้ไปใช้สร้างบ้านใหม่ได้ (คล้ายกับประกันภัยบ้าน ประกันอัคคีภัย เพียงแค่ว่าคนจนเขาเข้าไม่ถึงเท่านั้นเอง) 

 

 

 

คนจนคือนักเก็บเงินที่มีวินัยสูง 

วินัยคือสิ่งสำคัญในการเก็บออมเงิน และดูเหมือนว่าคนจนก็มีวินัยในการเก็บเงินที่ไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่น กล่าวคือคนจนเป็นคนที่เก็บเงินได้ตามเป้าหมายเก่งทั้งที่หลายคนอาจคิดว่าคนจนเก็บเงินไม่เก่ง แต่จริง ๆ แล้วคนจนเป็นกลุ่มที่มักมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จสูงเพราะพวกเขามักตั้งเป้าหมายเก็บออมในระยะสั้น และทุกเรื่องมักเป็นเรื่องจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น เก็บเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าไฟ จ่ายค่าเทอมลูก อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีระบบออมเงินให้เลือกมากนัก และมันยากมากที่จะเก็บออมเงินอย่างปลอดภัยหรือเก็บเงินตามลำพัง ลักษณะการออมของคนจนจึงไม่ได้เป็นไปทีละมาก ๆ แต่เป็นการออมทีละน้อย ๆ ไปจนถึงน้อยมาก ๆ และการออมทีละน้อยนั้นแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยทางการเงินที่สูง เพราะคนที่มีวินัยทางการออมเงินสูงมักดูได้จากความถี่ที่เขาออมเงินนั่นเอง 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด

ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?

รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้

รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !

รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !

เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ

  รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้

รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท

The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !

 

แหล่งข้อมูล
การเงินคนจน. รัทเทอร์ฟอร์ด, สจวร์ต. กรุงเทพฯ: ซอลท์ พับลิชชิ่ง, 2563. 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow