เราทุกคนรู้แหละว่าทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ เพราะถ้ามันไม่สำคัญ เราคงไม่อุทิศ 1 ใน 365 วันให้เป็นวันวิทยาศาสตร์หรอก ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีที่ทั่วโลกจะมีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ แต่เราก็ยังมองไม่เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และตื่นเต้นกับมันเท่ากับวันลอยกระทงหรือวันวาเลนไทน์ !
คนเขียนเองก็เคยไม่ชอบวิทยาศาสตร์เวลาเรียนในห้องค่ะ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะท่องตารางธาตุอย่างเอาเป็นเอาตายไปทำไม ในเมื่อท่องไปก็ไม่รู้จะเอาไปใช้ยังไง ก็เหมือนกับน้อง ๆ หลายคนที่อาจเคยรู้สึกทำนองเดียวกัน ไม่รู้ว่าจะเรียนวิทย์ฯ ไปทำไม แต่สิ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์ดูน่าสนใจขึ้นมาก ๆ กลับเป็นโคนัน โดราเอมอน การ์ตูนครอบครัวตึ๋งหนืด หรือหนังสืออ่านนอกเวลาเกี่ยวกับเห็ดรา หรือแม้แต่ทฤษฎีที่เราอ่านเจอนอกห้องเรียนโดยบังเอิญที่ทำให้เรารู้สึกว่า โลกช่างน่าค้นหา ธรรมชาติช่างลึกลับ โลกใต้น้ำทะเลช่างวิเศษ ฉันอยากจะเป็นกาลิเลโอเวอร์ชั่น 2021 !
ทำไมโลกวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนมันช่างมีสเน่ห์ สนุกกว่าต่างกับในห้องเรียนลิบลับ นั่นอาจเป็นเพราะเด็กนักเรียนไทยส่วนใหญ่มักมีความคิดที่ว่า วิทยาศาสตร์ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน เช่นจะเรียนไปทำไม ? เราหาความเชื่อมโยงไม่เจอจากการสอนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว เลยทำให้เรามองวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ห่างไกล เป็นเรื่องของคนเนิร์ด มีไอคิวสูง ทั้งที่เเท้จริงเเล้วไม่ใช่เลย ‘วิทยาศาสตร์’ เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์ ตั้งแต่การรู้จักสังเกต การรู้จักตั้งคำถาม การลองผิดลองถูก จนนำไปสู่การพัฒนาสิ่งของเจ๋ง ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่ประดิษฐ์แขนกลไปจนถึงการแก้ปัญหาเรื่องออมเงินก็ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น
แต่จะโทษเด็กที่คิดแบบนั้นก็ไม่ถูก ในเมื่อบางสิ่งที่อยู่ในระบบการเรียนหรือวิธีการสอนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคิดแบบนั้น การถูกทำให้รู้แค่ในตำรา ไกด์โดยตำราด้วยวิธีการเรียนที่ไม่ได้ตื่นเต้นอาจทำให้ต่อมความอยากรู้อยากเห็นปิดตาย อย่างดีก็แค่ไม่ชอบวิทย์ อย่างร้ายก็อาจเกลียดวิทยาศาสตร์ไปเลยตลอดชีวิต แต่ก่อนที่จะหันหลังให้กับวิทยาศาสตร์จนกู่ไม่กลับ เรามีเรื่องเล่าสักสองเรื่องให้อ่านเเล้วค่อยถามตัวเองอีกครั้งว่า วิทยาศาสตร์มันน่าเบื่อขนาดนั้นเลยเหรอ
เรื่องแรก
ปลายปี 2006 ทหารหญิงอเมริกันอายุ 26 ปี ‘คลอเดีย มิตเชลล์’ ประสบอุบัติเหตุขณะขับมอเตอร์ไซค์ ทำให้แขนซ้ายเธอขาดทั้งท่อนตั้งแต่ช่วงหัวไหล่ลงมา แม้จะโชคดีมาก ๆ ที่เธอไม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุแต่ชีวิตเธอก็ไม่เหมือนเดิม เธอไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตมืดมนไม่เห็นหนทางในการใช้ชีวิตให้มีความสุข จากทหารหญิงที่ใช้ชีวิตผาดโผนเต็มที่และแข็งแรงมาก ๆ ตอนนี้เธอกลับใช้ชีวิตเป็นคนพิการ แขนซ้ายใช้งานไม่ได้ เธอบอกว่าเธอนั่งร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรในวันหนึ่งที่กำลังใช้มือข้างที่ใช้งานได้ปอกกล้วย ขณะที่กำลังค่อย ๆ ปอกกล้วยน้ำตาเธอก็ไหลออกมาเพราะความสมเพชตัวเองอย่างที่สุด
หลายเดือนผ่านไปเธอใช้ชีวิตอยู่กับความเศร้า ดร.ท็อดด์ คุยเก้น นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟื้นฟูสภาพคนพิการ นครชิคาโก ได้โทรหาคลอเดียในบ่ายวันหนึ่งว่าเขามีเเขนเทียมที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ล่าสุด ซึ่งแขนเทียมนี้เป็นแขนเทียมชนิดที่ไม่เหมือนแขนเทียมที่คนพิการทั่วไปใช้กัน มันเป็นแขนเทียมแบบพิเศษที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ตอบสนองกระแสประสาทของคนที่ใส่โดยตรง ทำให้แขนเทียมสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วยจิตของเธอ เพราะแขนเทียมพิเศษนี้เมื่อเชื่อมต่อกับกระแสประสาทเดิมที่คลอเดียเคยส่งสัญญาณไปบังคับกล้ามเนื้อที่ขาดไป แขนก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้จากคำสั่งที่เชื่อมต่อกัน หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเธออยากงอศอกก็แค่นึกในหัวแล้วศอกก็จะงอเข้าหากันอย่างที่เธอนึก เหมือนเวลาคนปกติขยับแขนขา นอกจากนี้ยังสามารถกำมือและแบมือเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนปกติด้วย !
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในปี 2006 (แต่ความจริงแล้วโครงการนี้คิดค้นกันมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ยังไม่เคยทดลองในคนมาก่อนค่ะ เคยทำกับเจ้าแมวแล้วก็ลิงเท่านั้น) ก่อนที่จะมีการ์ตูนแขนกลคนแปรธาตุ (2003) หรือหนังจักรวาล Marvel ภาคต่าง ๆ ที่มักจะมีฮีโร่ที่ใส่แขนกลต่อสู้กันเสียอีก คลอเดียถูกจารึกไว้ในฐานะ มนุษย์จักรกลหรือไซบอร์กหญิงคนแรกของโลกที่สามารถใช้แขนกลได้เหมือนปกติ เธอไม่ต้องนั่งน้ำตาไหลเวลาปอกกล้วยอีกเลยนับตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ (อายุตอนนี้ีน่าจะประมาณ 40 กว่า ๆ)
เรื่องที่สอง
มาต่อกันที่เรื่องเด็ดในวงการวิทยาศาสตร์ที่เป็นตำนานอีกหนึ่งเรื่อง ในปี 2001 ‘แมตต์ เนเกิล’ หนุ่มอายุ 25 ปี เขาออกไปเที่ยวงานดอกไม้ไฟฉลองวันชาติเหมือนทุกปีกับเพื่อน ๆ แต่ปีนี้ต่างออกไปเพราะระหว่างทางที่จะกลับบ้านเพื่อนในกลุ่มของเขาดันไปทะเลาะกับวัยรุ่นกลุ่มอื่น แมตต์ที่เป็นหนุ่มร่างกายกำยำใช้ได้ก็กะว่าจะเข้าไปช่วยเพื่อนเคลียร์ แต่ปรากฏว่ายังไม่ทันได้ลงจากรถดีเลยเขาก็วูบไป โชคดีที่แมตต์ตื่นขึ้นมาอีกทีที่โรงพยาบาล เขายังมีชีวิตอยู่ แต่โชคร้ายที่เขาต้องมารู้ว่าตัวเองถูกมีดยาว 8 นิ้วเสียบเข้าที่ต้นคอ คมมีดเฉือนผ่านไขสันหลังขาดคาที่ทำให้เขาต้องเป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับตัวไม่ได้ตั้งแต่คอลงไป จำเป็นต้องนั่งรถเข็นและหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต แมตต์พูดไม่ออกเพราะหัวใจสลาย มีแต่แม่เท่านั้นที่ร้องไห้อยู่ข้าง ๆ
แต่บังเอิญในช่วงนั้นมีบริษัทพัฒนาเทคโนโลยี Brain Computer Interface (BCI) คือเทคโนโลยีที่สามารถแปลงคลื่นสมองเป็นคำสั่งให้เครื่องมือต่าง ๆ ทำงานได้เพียงแค่คิดเท่านั้น ไม่ต้องเดินไปทำเองให้เมื่อยเลย แต่ในเคสของเเมตต์นั้นพิเศษกว่าเพราะเขาต้องผ่าตัดสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์เป็นคนแรกของโลกเพราะไม่เคยทดลองในคนเลย แต่ทดลองในลิงได้ผลดีมานานแล้ว แทนที่แมตต์จะกลัวเขากลับรู้สึกมีความหวังขึ้นมาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เขาบอกกับแม่ว่าอยากทดลองเเละพร้อมที่จะแลกทุกอย่างเพราะเขาไม่มีอะไรต้องเสียเเล้ว โครงการนี้ใช้เวลาทำงาน เตรียมพร้อมเรื่องต่าง ๆ อยู่ทั้งหมด 3 ปี จนในที่สุด ดร.จอห์น โดโนฮิว และทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ก็ได้ทำการผ่าสมองของแมตต์เข้ากับคอมพิวเตอร์ในปี 2004
เรื่องหลังจากนี้ก็เหมือนกับหนังไซไฟดี ๆ นี่เอง ! แมตต์ถูกวางยาสลบและทีมนักวิจัยก็เริ่มใช้สว่านไฟฟ้าความเร็งสูงเจาะเปิดกะโหลกของเขา จนเจอเนื้อสีชมพูระเรื่อที่กำลังเต้นตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจรของแมตต์ที่กำลังหลับใหลได้ที่ เฟ้นหาตำแหน่งสมองส่วนที่แมตต์เคยใช้ในการบังคับแขนแล้วติดไมโครชิพที่มีขนาดเล็กกว่า Pentium CPU ที่ข้างล่างมีเข็มอิเล็กโทรด 100 เล่ม เพื่อให้เข็มพวกนี้ทำหน้าที่คอยเป็นตัวรับสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทรอบ ๆ ด้วยความระมัดระวังอย่างสูงบนผิวสมองส่วนนั้น แล้วต่อออกมาตามสายแผงไฟเส้นเล็ก ๆ ซึ่งทำด้วยทองคำแท้ เสร็จแล้วก็ปิดกะโหลกของแมตต์ด้วยน็อตไทเทเนียม เหลือไว้เพียงรูเล็ก ๆ ตรงกระหม่อมเพื่อเชื่อมต่อกับระบบด้านนอกอีกที เรื่องทั้งหมดก็มีแค่นี้ ส่วนที่เหลือคือเรื่องมหัศจรรย์ล้วน ๆ
แมตต์ตื่นขึ้นหลังการผ่าตัดใน 3 อาทิตย์ถัดมาและเริ่มทำการทดสอบ เขาที่นั่งอยู่บนรถเข็น ตรงหน้าคือจอคอมพิวเตอร์ เขาต้องฝึกใช้สมองของตัวเองแทนเมาส์ เขาต้องเพ่งสมาธิให้ลูกศรบนจอขยับเหมือนกับว่าตัวเองกำลังใช้มือขยับเมาส์อยู่ให้ได้และปรากฏว่ามันขยับ ! แม้ว่าตอนแรกลูกศรจะขยับเหมือนเด็กสามขวบเพิ่งหัดใช้เมาส์ครั้งแรก ขยับบ้าง หยุดบ้าง แต่เมื่อผ่านไป 3 วัน แมตต์ก็สั่งให้เมาส์บนจอขยับได้อย่างมืออาชีพ เมื่อเขานึกไปซ้าย มันก็ไปซ้าย เมื่อเขานึกอยากคลิกกดเข้าไป มันก็กดเข้าไป ทุกวันนี้แมตต์สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ทุกอย่างทั้งเช็กอีเมล พิมพ์งาน เล่นเกมโดยอาศัยเพียงแค่ความคิดของเขาเองบนรถเข็นอย่างมีความสุขมากขึ้น
เอาล่ะ เราเรียนวิทยาศาสตร์กันไปทำไม มันอาจยากสักหน่อยที่จะตอบแต่อย่างน้อยก็อย่าหยุดหาคำตอบก็แล้วกัน อย่าให้การเรียนในห้องมาทำให้วิทยาศาสตร์น่าเบื่อ เพราะอย่างที่เรารู้วิทยาศาสตร์สามารถทำให้ความหวัง ความฝัน และจินตนาการของมวลมนุษยชาติที่ไม่น่าจะเป็นไปได้โคตร ๆ กลายเป็นจริงขึ้นมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้ให้ทัน ! ก่อนที่โรงเรียนจะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเราไปหมด
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองที่จะช่วยให้เราฉลาดขึ้น !
16 อาชีพน่าสนใจ และเป็นที่ต้องการในโลกอนาคต
รู้จักสไตล์การเรียนของตัวเองผ่าน ‘VARK Model’
‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
ความฉลาด 9 แบบที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา เราฉลาดแบบไหนกัน
แจกหนังน่าดู 10 เรื่อง จาก 10 คณะน่าเรียน ได้ทั้งความรู้ & ความสนุก
แนะนำวิชาน่าเรียนที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่มีเรียนบนโลกออนไลน์ฟรี !
เบื่อจัง ชีวิตจะเป็นอะไรได้อีก ถ้าหากไม่ได้เป็น ‘คนเรียนเก่ง’
เรียนสายไหนดีถ้าในอนาคตอยาก #ย้ายประเทศ
แหล่งข้อมูล
- การสอนผิดๆ ทำให้นักเรียนไทยเกลียดวิทยาศาสตร์ : ห้องเรียนที่ต้องเริ่มทดลอง กับ ‘ดร.โก้’
- ทำไมเด็กไทยส่วนใหญ่ถึงไม่ชอบ "วิทยาศาสตร์"
- แทนไท ประเสริฐกุล. โลกจิต. กรุงเทพฯ: อะบุ๊ก, 2556.