ก่อนจะไปดูเทคนิคการจัดทำเอกสารสมัครงานต่าง ๆ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเอกสารแต่ละชนิดคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร เพราะแต่ละบริษัทมีการเรียกขอดูเอกสารแตกต่างกัน ผู้ที่ต้องการสมัครงานควรอ่านรายละเอียดการเปิดรับสมัครทุกครั้งว่าองค์กรนั้น ๆ ระบุให้แจ้งข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อจะได้จัดส่งให้บริษัทพิจารณาอย่างครบถ้วนถูกต้อง นับเป็นการสร้างความประทับใจแรกที่สำคัญเช่นกัน
CV หรือ Curriculum Vitae คือเอกสารแนะนำตัวที่มีความยาวประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ A4 เป็นการเขียนแนะนำประวัติเชิงลึก มีวุฒิการศึกษา ประวัติการทำงาน รางวัล เอกสารที่ตีพิมพ์ และทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิจารณาทำความเข้าใจเราได้มากขึ้นว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการหรือไม่
1. ควรใช้ภาษาอังกฤษในการเขียน CV
2. ตรวจสอบรูปประโยค ไวยกรณ์ การใช้คำ และการสะกดคำให้ถี่ถ้วน
3. มักมีรูปแบบการเขียนตายตัว คือ แบบวิชาการ เพราะ CV มักใช้ในสายงานด้านวิชาการ การติดต่อระหว่างประเทศ การขอทุน สายงานแพทย์ การทำวิจัย การขอทุนต่าง ๆ เป็นต้น
4. ควรเลือกใช้ Template สุภาพเรียบร้อย ไม่มีสีสันหรือลูกเล่นมากเกินไป
5. ประสบการณ์การทำงาน ควรเรียงจากที่ล่าสุดลงไป
6. ในส่วนของประสบการณ์การทำงาน ควรระบุชื่อองค์กร ระยะเวลา และรายละเอียดของงานที่รับผิดชอบลงไปด้วย
7. ควรเขียนชื่อ นามสกุล ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพื่อสร้างจุดเด่น
เรซูเม่ หรือ Resume คือประวัติการศึกษาและการทำงานโดยสังเขป ควรเขียนอย่างกระชับ ปรับแต่งและคัดเลือกให้เข้ากับตำแหน่งงานที่สมัคร เพื่อแสดงความโดดเด่นของตัวเอง เช่น หากต้องการสมัครงานด้านการศึกษา ควรคัดประสบการณ์และผลงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามาใส่มากกว่าด้านอื่น เป็นต้น มักใช้ในการสมัครงานทั่วไป โดย Resume ที่ดีควรมีความยาว 1 หน้ากระดาษ A4 พอดี
1. ตรวจสอบรูปประโยค การใช้คำ และการสะกดคำให้ถี่ถ้วน
2. เลือกใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริษัทและตำแหน่งที่สมัครไป
3. หากเป็นสายงานด้านการสร้างสรรค์ ควรเลือก Template ที่อ่านง่าย สบายตา มีลูกเล่นเพื่อโชว์ไอเดียของตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ ควรเลือก Template ที่ดูเป็นทางการ สุภาพ แต่ไม่จริงจังเกินไป
4. ในช่องระบุทักษะความชำนาญ ควรใช้รูปแบบที่เข้าใจง่าย แนะนำให้ระบุเป็น Basic / Good / Intermediat / Proficiency ไปเลยดีที่สุด การระบุเป็นจำนวนดาว หรือแผนภูมิวงกลม อาจทำให้คนอ่านสับสนและเกิดความไม่ชัดเจนได้ และควรเลือกเฉพาะทักษะที่จำเป็นหรือเข้ากับตำแหน่งงานที่สมัครมากที่สุด
5. เลือกขนาดและ Font ที่อ่านง่าย และตัวไม่เล็กจนเกินไป
6. ในส่วนของประสบการณ์การทำงาน ระบุแค่ชื่อตำแหน่ง ชื่อองค์กร และระยะเวลา ก็เพียงพอ โดยเขียนให้ตำแหน่งขึ้นก่อน และเน้นตัวใหญ่หรือเน้นสีเพื่อเน้นจุดสำคัญ
Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน ใช้สำหรับเก็บสะสมผลงานที่ผ่านมา เพื่อนำไปประกอบการสมัครงาน สมัครขอทุน ขอทำงานวิจัย หรือการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ฯลฯ ยิ่งผลงานของเราเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ต้องการสมัครมากแค่ไหน ผู้พิจารณาก็ยิ่งเห็นว่าเรามีความทุ่มเท ใส่ใจ และมีความสามารถที่จะทำงานในตำแหน่งนั้นมากยิ่งขึ้น
1. ควรเข้าถึงการดูผลงานได้ง่าย ไม่ควรเป็นไฟล์ที่ต้องเปิดดูซับซ้อน หรือดาวน์โหลดเป็นเวลานาน ควรจัดทำรวบรวมไว้เป็นไฟล์เดียว หรือหากเป็นไฟล์วิดีโอ
2. ควรคัดเลือกเฉพาะผลงานที่โดดเด่น และเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สนใจใส่ในแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้พิจารณามากขึ้น
3. หากเป็นการสมัครงานด้านออนไลน์ หรือการตัดต่อ แนะนำให้สร้างเป็นหน้าเว็บเพจ และแนบไฟล์ภาพรวมไปถึงวิดีโอลงในเพจนั้น เพื่อให้ผู้พิจารณาเข้าถึงผลงานของเราได้ง่ายและรวดเร็ว
4. การเลือกใช้ Template สำหรับจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน ควรเป็น Template ที่ดูง่าย สบายตา สีสันไม่ฉูดฉาด มีลูกเล่นบ้างเพื่อไม่ให้ดูน่าเบื่อเกินไป แต่ก็ไม่แย่งความสนใจไปจากผลงานที่ต้องการนำเสนอ
5. ตรวจสอบคำผิด ตัวสะกด และไวยกรณ์ทุกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่ช่วยยกระดับให้การสมัครงานน่าสนใจและโดดเด่นขึ้น ดังนี้
1. ใส่ keyword คำที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน เพื่อให้ HR พิจารณาของเราง่ายขึ้น และให้เห็นว่าเรามีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ต้องการ
2. ตรวจสอบตัวสะกดและการพิมพ์ของตนเองอย่างละเอียดทุกครั้ง (ทั้งคำภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ) ไม่ควรมีคำที่สะกดผิดเลยแม้แต่คำเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความละเอียด ความใส่ใจ และความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
3. ควรใช้ระดับภาษาทางการเสมอ และควรกระชับเนื้อหา ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ เพราะ HR ต้องพิจารณา Resume หลายฉบับ หากใช้ระดับภาษาไม่เหมาะสม หรือใช้คำยืดเยื้อเกินไปอาจโดนปัดตกได้ง่ายขึ้น
4. ตรวจสอบไฟล์ที่แนบไปทุกครั้งว่าครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ขาดตกไฟล์ไหนไป และแต่ละไฟล์จะต้องเปิดได้ ไม่มี error
5. ใน CV และ Resume จะแทรกรูปตัวเราลงไปหรือไม่ก็ได้ แต่แนะนำว่าควรใส่ เพื่อให้ผู้พิจารณาทำความรู้จักเราได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรเลือกรูปถ่ายให้เหมาะสม หากเป็นองค์กรใหญ่ควรใช้รูปสมัครงานแบบเป็นทางการ แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ใบหน้าตรง ไม่มีผมปิดรุงรังบริเวณใบหน้า อมยิ้มได้เล็กน้อย แต่หากเป็นองค์กรบันเทิงหรือสายสร้างสรรค์ อาจเป็นภาพกึ่งทางการที่ยังดูสุภาพอยู่ มีบุคลิกภาพดี เห็นใบหน้าชัดเจน ยิ้มได้ และพื้นหลังไม่จำเป็นต้องเป็นฉากถ่ายรูป อาจถ่ายขณะนั่งทำงาน หรือในร้านกาแฟ เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวเองที่เข้ากับตำแหน่งงานที่สมัครได้ ข้อสำคัญ ไม่ควรเป็นรูปเซลฟี่ และไม่ควรครอปจากภาพหมู่ ควรเป็นรูปเดี่ยวที่บุคคลที่ 3 ถ่ายให้
6. หากเป็นการส่ง e-mail ไปสมัครงาน ควรใช้รูปแบบการเขียนแบบเป็นทางการ แนะนำตัวเบื้องต้นอย่างสุภาพ แจ้งว่ามาสมัครตำแหน่งอะไร อาจมีการเขียนแจ้งว่าทำไมถึงสนใจมาสมัครงานกับบริษัทนี้ เพื่อให้บริษัทเห็นว่าผู้สมัครทำการบ้านและทำความรู้จักองค์กรมาในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังควรระบุสิ่งที่แนบมากับ e-mail ฉบับนั้นด้วย
7. ไม่ควรโยนเอกสารสมัครงานทุกชิ้นลง Google Drive แล้วแนบลิงค์ส่งไปสมัครงาน เพราะผู้พิจารณาเปิดไฟล์เหล่านั้นลำบาก เมื่อเห็นว่ายุ่งยากการสมัครงานของเราอาจถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็ว ควรแนบเป็นไฟล์ หรือทำขึ้นเว็บแล้วส่งลิงก์ให้กดดู เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลการสมัครงานของเรามากที่สุด
8. ในการส่ง e-mail สมัครงาน ควรเกริ่นนำเรียนให้ถูกต้อง ต้องทำการบ้านว่าบริษัทที่จะไปสมัครคือบริษัทอะไร สะกดชื่อให้ถูก ระบุให้ตรง เช่น "เรียน ฝ่ายบุคคล บริษัท .... " หรือ "To whom it may concern,"
9. ตั้งชื่อไฟล์ด้วยชื่อจริงทุกครั้ง เช่น Name-resume.pdf เพื่อให้ HR ค้นหาง่าย และแสดงถึงความจริงจัง จริงใจ และความเป็นมืออาชีพในการสมัครงาน
10. ควรสมัคร e-mail ใหม่สำหรับการสมัครงาน หรือใช้ในการทำงาน เพราะดูเป็นทางการ สุภาพ และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แนะนำให้ใช้ชื่อและนามสกุลภาษาอังกฤษตั้งชื่อ e-mail จะดีที่สุด