สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งพุทธกาล พระเทวทัตจัดแจงให้ควาญปล่อยช้างดุร้ายชื่อนาฬาคิรี เข้าไปยังหนทางที่จะเสด็จออกบิณฑบาต หมายให้ช้างนั้นประทุษร้ายต่อพระชนม์ของพระพุทธองค์ ภิกษุต่างกราบทูลอาราธนาให้ทรงหลีกหลบ ส่วนคนทั้งหลายก็พากันวิ่งหนีด้วยความหวาดกลัว
สมัยนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดำรงพระองค์มั่นคงด้วยพระกิริยาอันงามสง่า ทรงแผ่พระเมตตาจิตด้วยพระหฤทัยอ่อนโยน เต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาอย่างไม่มีประมาณ
ช้างดุร้ายพลันได้สัมผัสพระเมตตาจิต ก็คลายพยศ ลดงวงลงแล้วค่อย ๆ ย่างเข้าไป พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบกระพองช้าง พลางตรัสประทานพระบรมพุทโธวาท ช้างนาฬาคิรีน้อมกายลงเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทแล้วพ่นลงบนกระหม่อม ย่อตัวถอยกลับคืนสู่ที่ของตน
ด้วยพุทธชัยมงคลเห็นอัศจรรย์ปานนี้ มหาชนจึงแซ่ซ้องสดุดีสรรเสริญพระพุทธคุณ ว่า
"คนพวกหนึ่งย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้าง ใช้แส้บ้าง
ส่วนสมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวงพระคุณใหญ่ ทรงทรมานช้างได้ โดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้ศัสตรา”
ความอันกล่าวถึงเนื่องในพระพุทธประวัตินี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งพระพุทธจริยาที่เปี่ยมด้วยเมตตาคุณ และพระพุทธจริยานี้เอง ย่อมแสดงให้เห็นอำนาจแห่งเมตตาว่ามีคุณปานใด
ความว่า “มารดาและบิดา ย่อมถนอมบุตรน้อย อันบังเกิดในตนเป็นนิตย์ฉันใด พระราชาจงทรงรักษาประชาราษฏร์โดยชอบ ในกาลทั้งปวงฉันนั้น