นี่คือภัยทางการเงินที่น่ากลัวและอาจทำเราสูญเสียเงินหลายบาทในบัญชีได้ หลายคนน่าจะเคยเห็นข่าวผ่านตากันมาบ้างแล้ว กับเคสที่โดนหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ SMS หลอกลวงต่าง ๆ เราจึงควรรู้ให้ทันกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อทางการเงิน
โชคดีได้รับเงินฟรี ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล เงินคืนภาษี เงินคืนประกันชีวิต ฯลฯ หลายคนเห็นคำว่าได้รับเงินฟรีก็อาจจะดีใจและหลงเชื่อทันที แต่ก่อนที่จะได้เงินฟรีีนั้นเราจะต้องเสียภาษี หรือเสียเงินก้อนจำนวนหนึ่งก่อน เพื่อแลกกับเงินรางวัลที่จะได้รับทีหลัง (ทีหลังที่ไม่เคยได้จริง)
คุณมีหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อ หรือเป็นผู้ค้ำประกันให้คนรู้จัก มักจะส่งเป็น SMS มาทางมือถือ หรือส่งข้อความมาทางอีเมล และมักจะใช้ชื่อสถาบันการเงินอ้างอิง เมื่อเราเห็นข้อความนี้ก็อาจตกใจและเผลอกด link ที่แนบมาโดยทันที หากเจอแบบนี้แนะนำว่าให้ตรวจสอบเบอร์หรือชื่ออีเมลให้ดีก่อน หากมีการอ้างชื่อสถาบันการเงิน เราก็ควรโทรติดต่อสถาบันการเงินนั้นโดยตรงเพื่อสอบถามจะดีที่สุด สิ่งสำคัญคือห้ามกด link ที่แนบมา หรือให้ข้อมูลส่วนตัวตามที่มิจฉาชีพขอเด็ดขาด
บัญชีเงินฝากถูกอายัด ข้อมูลส่วนตัวหาย โดยจะชอบอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน แล้วแจ้งกับเราว่าบัญชีถูกอายัด หรือข้อมูลส่วนตัวของเราหายไป และขอให้เรารีบยืนยันข้อมูลส่วนตัวใหม่ทันที ถ้าเจอแบบนี้ควรโทรติดต่อธนาคารโดยตรงเองจะดีที่สุด เพราะหากเราให้ข้อมูลส่วนตัวไป มิจฉาชีพจะนำข้อมูลนั้นไปถอนเงินหรือทำธุรกรรมในนามของเรา เช่น ขอรหัส ATM หรือขอรหัส OTP ที่ส่งไปทางมือถือ เป็นต้น
โอนเงินผิด บางครั้งมิจฉาชีพก็มาในรูปแบบของคนโอนเงินผิด โดยจะอ้างว่าได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีเรา และขอให้เราโอนเงินคืนให้หน่อย หากเราเชื่อและโอนเงินคืนก็อาจจะกลายเป็นหนี้ธนาคารแทน เพราะเงินที่เราโอนคืนนั้นอาจเป็นเงินที่มิจฉาชีพขอสินเชื่อในนามของเรา รวมถึงอาจจะเป็นเงินผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันหรือยาเสพติด ดังนั้นถ้ามีคนโทรมาบอกว่าโอนเงินผิด สิ่งที่ควรจะทำคือให้เขาไปแจ้งความและติดต่อธนาคารโดยตรง เพื่อให้ธนาคารติดต่อเราอีกทีเพื่อขอนำเงินที่โอนผิดออกจากบัญชี
• ตั้งสติและอย่าวู่วาม หากมีข้อความ ข้อมูลที่ไม่คุ้นเคย หรือข้อความแปลก ๆ เราควรตั้งสติให้ดีและไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว อย่างเลขหลังบัตรประชาชน รหัสผ่าน รหัสกดเงินเด็ดขาด เพราะสถาบันการเงินจะทราบรายละเอียดพวกนี้อยู่แล้ว และมักจะไม่ถามรายละเอียดพวกนี้ซ้ำ โดยเฉพาะชื่อนามสกุลและรหัสผ่านต่าง ๆ ของเรา
• ตรวจสอบให้ดีก่อนเสมอ หากมีข้อความหรือเบอร์แปลกโทรมาเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว หรือแจ้งว่าบัญชีเราจะถูกอายัด สิ่งที่ควรทำคือวางสาย และโทรติดต่อเบอร์ของสถาบันการเงินโดยตรง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงให้ชัวร์จะดีกว่า แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อเบอร์แปลกที่ยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเด็ดขาด
หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นข้อความทำนองนี้ เช่น “เงินด่วนทันใจ โอนไวภายใน 5 นาที” หรือ “เงินด่วน ดอกถูก โอนทันที ไม่ต้องใช้เอกสาร” ข้อความพวกนี้คือการชักชวนให้เราเป็นหนี้นอกระบบ หนี้นอกระบบคือการเป็นหนี้กับผู้ให้กู้ที่ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้กู้เงินตามกฎหมาย
• ดอกเบี้ยสุดโหด การกู้เงินนอกระบบมักจะคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 15)
• คิดดอกแบบคงที่ตลอดปี การคิดดอกเบี้ยคงที่จะทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าการคิดแบบลดต้นลดดอก คือถึงเราจะทยอยจ่ายหนี้ทุกเดือน แต่ดอกเบี้ยก็จะยังคิดจากเงินต้นที่กู้ทั้งก้อน
• บีบให้ทำสัญญาเงินกู้เกินจริง หลายคนที่ตัดสินใจกู้เงินนอกระบบเพราะเข้าตาจนจริง ๆ ซึ่งผู้ให้กู้รู้ถึงข้อนี้ จึงมักใส่ตัวเลขในสัญญาเงินกู้ไม่ตรงตามจริง เช่น กู้ 20,000 บาท แต่ในสัญญาเขียนว่า 30,000 บาท และถ้าเราไม่ยอมก็จะไม่ให้กู้
• ทวงหนี้โหด การทวงหนี้ของการกู้เงินนอกระบบจะไม่เหมือนการทวงหนี้ทั่วไป เช่น โทรขู่ ประจานให้อับอาย ยึึดทรัพย์สิน ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย
อีกหนึ่งภัยทางการเงินที่หลายคนอาจรู้ไม่ทัน เพราะการแชร์ลูกโซ่มักจะมาในรูปแบบของธุรกิจขายตรง หรือข้อความเชิญชวนให้หารายได้เสริม โดยจะมีคีย์หลักว่ารายได้ดีมาก ๆ แต่มักจะไม่บอกว่าทำอะไร หากเราสนใจและติดต่อไปก็จะชวนให้ไปฟังสัมมนาและเสียค่าสมาชิกเพื่อจะได้เข้าร่วมทีม พอเราจ่ายค่าสมาชิกที่มีราคาแพงไปแล้ว ทางเดียวที่จะได้เงินคืนกลับมาก็คือหาเหยื่อรายต่อไปเพื่อมากินค่าหัวคิวทดแทนเงินที่เสียไป ซึ่งมันก็คือวังวนของแชร์ลูกโซ่นั่นเอง
รูปแบบของบ้านออมเงินก็คือ การนำเงินไปฝากแล้วจะได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก ในช่วงเดือนแรก ๆ เราจะได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่มากและเร็ว ทำให้เราหลงเชื่อและไปชักชวนคนอื่นให้มาร่วมลงทุนด้วย แต่ถ้าหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มไม่ได้ ก็จะเริ่มไม่มีการจ่ายผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ และสุดท้ายอาจนำไปสู่การปิดบ้านหนี โดยที่ไม่คืนเงินทั้งหมดให้เราด้วย ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเงินผลตอบแทนมักจะมาจากเงินลงทุนของสมาชิกใหม่นั่นเอง ซึ่งก็เป็นรูปแบบเดียวกับแชร์ลูกโซ่
• เน้นหาสมาชิกใหม่เป็นหลัก
• เติบโตได้ด้วยเครือข่ายของสมาชิกเป็นหลัก
• มักเสนอผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง
• ผลตอบแทนหลักอยู่ที่จำนวนเงินลงทุนของสมาชิก
ควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ เพราะรูปแบบการหลอกลวงนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
ควรพิจารณาให้ดีก่อนหลงเชื่อ เช่น ข้อความแจกเงิน ข้อความบอกว่าเราติดการชำระเงิน หรือข้อความแปลก ๆ ฯลฯ ก่อนจะตกใจและรีบทำตามที่ข้อความบอก หรือกด link ที่แนบมาให้ เราควรหยุดคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะได้ไม่เสียรู้มิจฉาชีพและสูญเสียเงิน
อ่านรายละเอียดให้ดีก่อนเสมอ ทุกครั้งที่ต้องทำธุรกรรมออนไลน์ อย่างการโอนเงิน การขอรหัสผ่านใหม่ หรือการขอรหัส OTP เราควรจะอ่านรายละเอียดต่าง ๆ และตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะกดโอนเงินหรือทำธุรกรรมออนไลน์ทุกครั้งเสมอ โดยเฉพาะการตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ เช็ก URL ว่าเป็นเว็บไซต์จริงหรือเปล่า และไม่ควรหลงเชื่อ link ที่แนบมากับอีเมลปลอม หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือด้วย
ส่วนใครที่โดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินไปแล้ว สิ่งที่ควรรีบทำทันทีเลยก็คือการเปลี่ยนรหัสผ่าน โดยไม่ควรใช้รหัสที่คาดเดาง่ายอย่างวันเดือนปีเกิดของเรา หากทำบัตรเครดิตหาย โทรศัพท์มือถือหาย หรือพบยอดเงินแปลกปลอมที่เราไม่ได้ใช้ในบัญชี ก็ควรจะรีบโทรแจ้งธนาคารโดยทันที และควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน พร้อมนำหลักฐานต่าง ๆ ไปด้วย นอกจากนี้การพบเห็นเว็บไซต์ธนาคารปลอม หรือข้อความเชิญชวนแปลก ๆ ที่อ้างตัวว่าเป็นสถาบันการเงิน เราก็ควรแจ้งฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารนั้นเพื่อให้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ดังกล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?
รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !
รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้
เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด
เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ
เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก
รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้
รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท
The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !
แหล่งข้อมูล
Booklet รู้รอบเรื่องการเงิน รู้รอบระวังภัย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย