Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับบอกลานิสัยขี้เกียจ พร้อมเทนิสัยผัดวันประกันพรุ่งทิ้งไปด้วย !

Posted By Plook Magazine | 30 ก.ค. 64
6,676 Views

  Favorite

เคยไหมที่พูดกับตัวเองว่า “ค่อยทำวันพรุ่งนี้ละกัน” หรือ “ขอพักก่อนวันนึงแล้วเดี๋ยวค่อยทำ” ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะมีคำว่า “เดี๋ยว” และมักชอบคิดว่ายังมีเวลาเหลืออีกตั้งนานกว่าจะถึงกำหนดส่ง จนทำให้มีการบ้าน มีรายงาน และมีสิ่งที่ต้องทำอื่น ๆ สะสมไว้เหมือนดินพอกหางหมู ถ้าคุณมีนิสัยแบบที่ว่ามา ขอบอกว่าคุณอาจเข้าข่ายเป็นคนชอบผัดวันประกันพรุ่งแล้วค่ะ 

 

คนเราทุกคนต่างก็มีแนวโน้มกระทำการผัดวันประกันพรุ่งแตกต่างกันออกไป อยากให้คุณลองสำรวจดูว่าเวลามีภารกิจที่ตัวเองไม่อยากทำเลย คุณใช้วิธีไหนเพื่อถ่วงเวลาหรือเลื่อนภารกิจนั้นออกไปก่อน และคุณทำมันบ่อยแค่ไหน หากพบว่าตัวเองผัดวันประกันพรุ่งบ่อยมาก มันอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ และนี่คือตัวอย่างของการผัดวันประกันพรุ่ง

 

• รู้ตัวว่ามีเวลาไม่พอทำงานหรือภารกิจให้เสร็จก่อนถึงเดดไลน์

• รู้สึกว่าตัวเองเตรียมตัวไม่พร้อมกับการสอบหรือการทำรายงาน

• ได้ผลงานหรือคะแนนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น  

• ชอบบอกตัวเองบ่อย ๆ ว่าเดี๋ยวค่อยมาจัดการเรื่องนี้ทีหลังก็ได้ 

• ชอบรอให้มีแรงบันดาลใจมากกว่านี้ หรือรอให้มีแรงกระตุ้นมากกว่านี้ถึงจะทำ

• ชอบหาข้ออ้างทำสิ่งอื่นแทนที่จะทำสิ่งที่ต้องทำ 

• เมื่อใกล้จะถึงเดดไลน์ก็จะอาศัยแรงกดดันเพื่อทำให้เสร็จ

 

 

4 สาเหตุที่ทำให้เราผัดวันประกันพรุ่ง 

 

• กลัวว่าทำแล้วจะไม่ราบรื่น - เวลาที่เราคิดจะลงมือทำอะไรสักอย่าง สมองมักจะนึกถึงส่วนที่ยากที่สุดของสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ มันเลยส่งผลให้เรามีความอยากทำน้อยลงนั่นเอง

 

• กลัวว่าทำแล้วจะออกมาไม่ดี - เพราะความไม่แน่ใจที่เกิดขึึ้นกระตุ้นให้เราสร้างความกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ทำออกมาไม่เจ๋ง  มันจึงส่งผลให้เราไม่อยากเริ่มทำและเลื่อนออกไปก่อน 

 

• คิดเข้าข้างตัวเอง - การได้หยุดพักบ้างถือเป็นสิ่งที่ดี แต่การคอยเอาแต่บอกตัวเองว่าเราสมควรได้พัก หรือกล่อมตัวเองให้เชื่อว่าถ้าทำวันอื่นจะดีกว่านี้ มันคือการหาเหตุผลมาสนับสนุนการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งความคิดแบบนี้แหละที่ทำให้เราผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย

 

• การเสริมแรงทางลบ - เวลาที่เราเลื่อนภารกิจที่ไม่อยากทำออกไปจะรู้สึกโล่งใจขึ้นมา ทำให้สมองตีความว่าความรู้สึกโล่งใจนั้นคือรางวัล เราจึงมีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมที่นำไปสู่รางวัลนี้ซ้ำ ๆ มันจึงยิ่งไปเสริมแรงให้อยากผัดวันประกันพรุ่งต่อไปอีก นักจิตวิทยาเรียกกระบวนการนี้ว่า การเสริมแรงทางลบ (negative reinforcement) เพราะมาจากการไม่ทำบางอย่างที่เรามองว่าควรหลีกเลี่ยง ตรงข้ามกับการเสริมแรงทางบวกที่เกิดขึ้นเมื่อได้ทำบางอย่างที่ชอบแล้วไปเสริมแรงให้ยิ่งอยากทำพฤติกรรมนั้น 

 

 

8 เคล็ดลับเลิกเป็นคนขี้เกียจ & เอาชนะนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

 

สังเกตความคิดเข้าข้างตัวเอง

การรู้เท่าทันความคิดตัวเองมีข้อดีมากมาย เพราะมันจะช่วยให้เราระวังสิ่งที่เราบอกตัวเองเพื่อให้เหตุผลว่าเราควรผัดวันประกันพรุ่ง เช่น ขอพักดูซีรีส์เพิ่มพลังแป๊บนึงแต่สุดท้ายก็หยุดดูไม่ได้ เป็นต้น ถ้าเรารู้ทันความคิดแบบนี้ เราก็จะสามารถควบคุมการกระทำของเราได้ดีขึ้น 


 

เตือนตัวเองถึงสาเหตุที่ไม่อยากผัดวันประกันพรุ่ง

การเลื่อนสิ่งที่ต้องทำออกไปเรื่อย ๆ นอกจากจะทำให้เราติดเป็นนิสัยแล้ว มันยังส่งผลให้งานเสร็จช้า หรือทำออกมาได้ไม่ดี และยังส่งผลให้เราเกิดความกลัวและรู้สึกผิดลึก ๆ ในใจด้วย การทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันก็เหมือนระเบิดเวลาที่ไม่ดีต่อตัวเรา เพราะฉะนั้นลองเตือนตัวเองให้นึกถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ทำมัน การทำแบบนี้จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เราลงมือทำมากขึ้น

 

 

ตัดสินใจลงมือทำเลย

เรามักขอเลื่อนการทำบางอย่างออกไปก่อนเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงดี เช่น เราไม่ยอมทำการบ้านเพราะไม่เข้าใจโจทย์ แต่จริง ๆ แล้วการทำความเข้าใจโจทย์ที่ยาก มันก็คือการทำการบ้านหรือเปล่า ถ้าเราทำความเข้าใจและตัดสินใจลงมือทำเลย สุดท้ายเราจะหาวิธีทำได้เอง


 

ใช้การเตือนเข้าช่วย

การตั้งเตือนไว้ในปฏิทินมือถือจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราลงมือทำและยากที่จะมองข้ามมันไปได้ นอกจากนี้การเขียนข้อความเตือนตัวเอง เขียนเป้าหมายไว้บนโพสต์อิทก็ช่วยกระตุ้นได้ดี ถ้าหากเรายังไม่สามารถทำได้ในตอนนั้น ก็อย่าลืมตั้งแจ้งเตือนซ้ำอีกครั้งด้วยละ

 

 

สร้างพื้นที่ปลอดสิ่งไขว้เขว

การผัดวันประกันพรุ่งจะทำได้ยากขึ้นหากไม่มีสิ่งที่สร้างความไขว้เขวอยู่ใกล้เรา ลองเก็บโทรศัพท์มือถือให้พ้นสายตา หรือกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิอื่น ๆ เพราะมันจะทำให้เราคอยหันไปหาสิ่งเหล่านั้นเมื่อรู้สึกกังวลเวลาต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ


 

ย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก ๆ 

ถ้าภารกิจที่เรากำลังจะทำมันยิ่งใหญ่จนรู้สึกว่ายากมาก ๆ แนะนำให้ลองย่อยแต่ละขั้นตอนให้เล็กลง เพราะมันจะช่วยให้เรารู้สึกว่าจัดการได้ง่ายขึ้น แต่อย่าลืมกำหนดเดดไลน์ให้ดีด้วยเพื่อควบคุมให้เราทำงานทั้งหมดให้เสร็จทันตามกำหนด


 

สังเกตและรับรู้ว่าวิธีไหนใช้ได้ผลดีกับเรา

การรู้ว่าอะไรที่ช่วยส่งเสริมให้เราทำงานได้ดีขึ้นอาจช่วยลดโอกาสในการผัดวันประกันพรุ่ง ลองดูว่าวิธีไหนที่เราทำแล้วมันเวิร์คและได้ผลดีกับเราจริง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่คนอื่นหรือกูรูแนะนำก็ได้ มันอาจเป็นวิธีที่เราค้นพบด้วยตัวเองนี่แหละ 


 

ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำเสร็จ

การให้รางวัลตัวเองคือการเสริมแรงทางบวกเพื่อเอาชนะการเสริมแรงทางลบที่เกิดจากการผัดวัันประกันพรุ่ง การสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองทำงานได้ก็อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ เช่น ให้เวลาตัวเองทำสิ่งที่อยากทำ 15 นาที หลังจากอ่านหนังสือครบ 30 นาที เป็นต้น แต่ควรระวังไว้ว่าอย่าให้รางวัลมารั้งไว้จนกลับไปทำงานที่ค้างไว้ต่อไม่ได้ 



 

บทความที่เกี่ยวข้อง

6 นิสัยยอดแย่ที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

เทคนิคการแบ่งเวลาแบบ ‘มะเขือเทศ’ ที่จะช่วยให้การโฟกัสเป็นเรื่องง่ายขึ้น

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบลงมือทำจาก Stanford

ทำไมถึงอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งไม่มีสมาธิ ?

เรียนออนไลน์แล้วไม่มีสมาธิเลย มาฝึกเพิ่มสมาธิแบบง่าย ๆ

วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง

เทคนิคพัฒนาสมอง “ช่วยเพิ่ม IQ” เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้

รวมเทคนิคสร้างแรงกระตุ้น ช่วยบริหารสมองซีกซ้ายและซีกขวา

ฝึก ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ เคล็ดไม่ลับอัปผลการเรียนให้ดีขึ้น

10 ไอเดียจัดโต๊ะอ่านหนังสือ จัดยังไงให้นั่งอ่านหนังสือได้นาน

ตั้งใจเรียน ไม่เคยเท แต่ทำไมเกรดตก นี่เราพลาดอะไรไป ?

 

 

แหล่งข้อมูล

Seth J. Gillihan, PhD. (2018). Cognitive Behavioral Therapy Made Simple. Callisto Media, Inc.

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow