Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลากหลายมิติแห่ง Self Doubt ข้อดีข้อเสียและต้นตอสำคัญที่อาจถูกมองข้าม

Posted By Plook Magazine | 30 ก.ค. 64
9,141 Views

  Favorite

ในช่วงชีวิตของเราทุกคนต้องมีบ้างแหละที่เวลาคิดจะทำไรอะไรสักอย่างแต่ต้องหยุดความคิดหรือกิจกรรมนั้น ๆ ลงเพราะความไม่มั่นใจในตัวเอง แล้วก็เพราะความไม่มั่นใจเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละที่อาจช่วยให้เราฉุกคิดบางอย่างได้รอบคอบมากขึ้น แต่ถ้ามันมากเกินไปจนกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นความคิดและการกระทำของเราไปซะทุกเรื่อง อาการไม่มั่นใจในตัวเองที่เรื้อรังแบบนี้อาจฝังรากลึกลงไปในลักษณะนิสัยและทัศนคติของเราจนกลายเป็นคนที่ “Self Doubt” ได้

 

นี่ไม่ได้หมายความว่าใครที่เคยไม่มั่นใจในตัวเองในบางครั้งบางคราวจะถูกนับว่าเป็นคนที่ self doubt ไปในทันที เพราะ self doubt หมายถึงความไม่มั่นใจในตัวเองเกือบทุกเรื่อง (หรือทุกเรื่อง) อยู่ตลอดเวลา ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น self doubt  รึเปล่า ก็ลองมาเช็กกันดูว่าตัวเองเข้าข่ายสัญญาณต่าง ๆ ดังต่อไปนี้หรือไม่

 

สัญญาณที่บ่งชี้ถึงอาการ Self Doubt

• ชอบวิจารณ์หรือก่นด่าตัวเองอยู่เป็นประจำ

• ลดทอนหรือมองข้ามข้อดีของตัวเอง

• ด่วนตัดสินว่าตัวเองมีคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ที่ด้อยกว่าคนอื่น

• ใช้คำในแง่ลบเมื่อพูดถึงตัวเอง เช่น ฉันโง่ ฉันไม่เก่ง ฉันน่าเกลียด ฯลฯ

• เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดอะไรก็มักจะโทษตัวเองไว้ก่อน ทั้งที่จริงแล้วความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการกระทำของคนอื่น หรือจากปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ 

• เมื่อประสบความสำเร็จอะไรในบางอย่างก็ชอบยกความดีความชอบให้กับคนอื่น หนักกว่านั้นคือยกเครดิตให้กับ “โชค” ทำนองว่าที่ทำได้สำเร็จเพราะโชคช่วยหรือฟลุคล้วน ๆ

• มักจะไม่เชื่อในคำชมของคนอื่น

 

cr: www.freepik.com

 

ข้อเสียของ Self Doubt

จากสัญญาณบ่งชี้ข้างต้นก็พอจะคาดเดาได้ว่าถ้าชีวิตของเราวนเวียนอยู่กับความรู้สึกนึกคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา (แม้ในบางครั้งจะไม่ได้ตั้งใจหรือเกิดจากปัจจัยภายนอกก็ตาม) มันย่อมจะส่งผลเสียต่อตัวเราอย่างแน่นอน แล้วผลเสียจากอาการ self doubt สามารถออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง

 

มีความคิดแง่ลบกับตัวเอง - การก่นด่าตัวเองเป็นประจำสามารถปูทางไปสู่ความทุกข์ ความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ ความอับอาย หรือความรู้สึกผิดได้

 

บั่นทอนความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่น - บางคนที่เป็น self doubt อาจเลือกที่จะเก็บตัวไม่กล้าสุงสิงกับใครเพราะไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไปเลย ในอีกกรณีหนึ่งคือยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ แต่มักจะมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการคิดแง่ลบกับตัวเอง และมันอาจไปกระทบกับความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่นได้ รวมถึงกรณีที่คนอื่นปฏิบัติกับเราไม่ดี แต่ด้วยการที่เราไม่มั่นใจในตัวเองก็อาจทำให้ต้องยอมคนอื่นไปเสียทุกเรื่อง เพราะมองว่าตัวเองด้อยกว่าบ้างแหละ ชอบโทษตัวเองบ้างแหละ ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปก็อาจทำให้เราจมอยู่กับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษหรือ “toxic relationship” ได้

 

ไม่กล้าที่จะลงมือทำสิ่งใด - ความกังขาในความสามารถหรือคุณค่าของตัวเองคือปราการสำคัญที่ทำให้เราไม่กล้าที่จะคิดหรือลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ และเลือกที่จะเลี่ยงความท้าทายต่าง ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิต ซึ่งอาจทำให้เราพลาดโอกาสดี ๆ ไปได้

 

หมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) - เวลาจะลงมือทำอะไรสักอย่างหากเราเล็งเห็นแต่ข้อบกพร่องของตัวเองก็อาจทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับการปิดช่องโหว่/ข้อบกพร่องนั้น ๆ จนเสียสุขภาพกายและใจ และเกิดอาการหมดไฟ (burnout)​ ในที่สุด

 

วิตกต่อคำวิจารณ์ - คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมาก ๆ อาจเลือกที่จะไม่สุงสิงกับใครและไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การเล่นกีฬา งานสังสรรค์ ฯลฯ เพราะกลัวว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกกล่าวถึงในแง่ลบ หรือถ้าเลือกที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ก็อาจมีความกังวลหรือประหม่าตลอดเวลาเมื่ออยู่ภายในงาน ซึ่งอาการ self doubt เช่นนี้อาจเป็นส่วนหนุนเสริมบุคลิกแบบ introverts

 

ไม่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง - เมื่อสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ผู้ที่ค่อนข้างจะ self doubt อาจรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ได้ไม่ดีนักเพราะปักธงไปแล้วว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ


มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง - เมื่อมีความรู้สึกในแง่ลบกับตัวเองมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงที่บุคคลนั้น ๆ จะหาทางออกที่อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย เช่น มีพฤติกรรมคลายเครียดด้วยการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ใช้สารเสพติด ทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือกระทั่งคิดฆ่าตัวตาย

 

cr: www.freepik.com

 

Self Doubt...เจ้ามาจากแห่งหนใด

เมื่อดูจากผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของอาการ self doubt ข้างต้น ไม่ว่าใครถ้าเลือกได้ก็คงอยากจะอยู่ห่างจากเจ้า self doubt นี้แน่ ๆ แต่ก่อนที่เราจะเรียนรู้วิธีการขจัดความไม่มั่นใจในตัวเอง เราลองมาดูกันก่อนว่า self doubt นั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดได้บ้าง 

 

ประสบการณ์อันเลวร้ายและความผิดพลาดในอดีต 

2 สิ่งนี้สามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตัวเองได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เรื่องราวในอดีตไม่ได้มีสถานะเป็นแค่เครื่องเตือนใจ แต่ได้กลายมาเป็นเรื่องราวที่คอยหลอกหลอนและฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

 

วัยเด็กที่ระทมทุกข์ 

ชีวิตในวัยเด็กที่ประสบพบเจอแต่แรงกดดันและความตึงเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในครอบครัว การถูกล่วงละเมิด การแข่งขันในวัยเด็ก และปัญหาอีกมากมายอาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งอาจลากยาวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้หากไม่ได้รับการแก้ไข

 

ความเครียดที่เรื้อรังในชีวิต 

บางคนที่เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีเป็นครั้งคราวก็อาจสามารถรับมือกับมันได้ แต่ถ้าชีวิตมีแต่ความเครียดถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาเรื่องการเรียนและสถานะทางการเงิน เป็นต้น ก็เสี่ยงมากที่ปัญหาเหล่านี้จะบั่นทอนสภาพจิตใจจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปในที่สุด 

 

การเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา 

การเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด โดยเฉพาะในโลกแห่งการแข่งขันภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่การเปรียบเทียบกับคนอื่นมากเกินไปโดยพยายามหาแต่จุดเด่นของคนอื่นและเล็งเห็นแต่จุดด้อยของตัวเองก็จะกลายเป็นแรงกดดันและนำไปสู่หนทางแห่งการด้อยค่าตัวเอง

 

ความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต 

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเกิดอาการไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนเลยไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติกับมันอย่างไร แต่ถ้าเราเลือกที่จะเลี่ยงมันมาก ๆ เพราะไม่มั่นใจว่าจะพิชิตความท้าทายนั้นได้ นานวันเข้าความไม่มั่นใจเหล่านี้จะกลายเป็นลักษณะนิสัยหลักของตัวเรา

 

ปัญหาสุขภาพ 

การที่ประสบปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง โรคที่ร้ายแรง โรคทางจิต หรือการพิการทางร่างกายสามารถนำไปสู่อาการ self doubt ได้ทั้งสิ้น เพราะปัญหาสุขภาพเหล่านี้มักทำให้เราคิดว่ากำลังขาดหรือมีข้อบกพร่องจนไม่สามารถทำอะไร ๆ ได้เหมือนคนที่มีสุขภาพดี

 

cr: www.freepik.com

 

แนวทางในการเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง

แม้ในบางครั้งอาการ self doubt จะเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้เป็นความผิดของเราตั้งแต่แรก เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บีบคั้นให้เราล้มเหลวจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง (แม้จะพยายามเป็นอย่างดีจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ตาม) แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องทำอะไรกับเจ้า self doubt นี้ เพราะไม่ว่ามันจะมีต้นตอมาจากไหนแต่ถ้ามันกลายเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของเราแล้ว อย่างน้อยเราก็ควรหาวิธีจัดการกับมันในเบื้องต้น โดยอาจจะเริ่มต้นด้วยวิธีกระตุ้นความมั่นใจในตัวเองง่าย ๆ ดังนี้

 

โต้ตอบกับคำพูดแง่ลบของตัวเอง 

ทุกครั้งที่เราเริ่มใช้คำพูดแง่ลบว่ากล่าวซ้ำเติมตัวเอง ลองหยุดและตัั้งข้อสงสัยดูว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ถ้าไม่เชื่อใจตัวเองว่าจะตอบคำถามนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาก็อาจลองถามคนที่เราไว้ใจได้และดูว่าเรามีคุณสมบัติในแง่ลบอย่างที่คิดรึเปล่า ในกรณีที่เป็นเช่นนั้นจริงก็อาจใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวิเคราะห์ตัวเองเพื่อการพัฒนาในอนาคต

 

เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น 

คนเราทุกคนมีความแตกต่างกัน คุณค่าของแต่ละคนจึงอาจมีรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน มันจะดีกว่าที่เราจะเริ่มยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วถ้าอยากจะพัฒนาในจุดต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ แต่ควรจะย้ำเตือนกับตัวเองเสมอว่าอย่าให้มันกลายเป็นแรงกดดันมากเกินไปหรือกระทั่งมาด้อยค่าเรา

 

ตระหนักถึงดีของตัวเอง 

การยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเองอาจเกิดขึ้นจากตัวเราเอง หรืออาจมาจากภายนอก เช่น เวลาที่มีคนชมและเล็งเห็นแง่ดีในด้านต่าง ๆ ของตัวเรา เราก็ควรน้อมรับคำชมเหล่านั้นบ้าง พยายามอย่ามองว่าความสำเร็จใด ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากโชคลาภ เพราะมันจะทำให้เราหลงลืมหรือละเลยคุณค่าของตัวเองไปจนหมด

 

จดจำแต่ไม่จมปลัก

การที่เราหวนคืนสู่วันวานเป็นครั้งคราวเพื่อสำรวจความผิดพลาดเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในชีวิตปัจจุบันหรือในอนาคต ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ชีวิตที่ค่อนข้างสร้างสรรค์ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปเพื่อเปิดแผลเก่าอย่างเดียว เราจะพบเจอแต่ความเจ็บปวดและผิดหวัง

 

ทำกิจกรรมที่เราชอบ 

สำหรับใครที่ตารางชีวิตพอจะเอื้อให้ได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบอยู่บ้างก็ควรจะคว้าโอกาสนั้นไว้ เพราะมันจะช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น

 

เปิดใจให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ 

แม้คนที่เผชิญกับอาการ self doubt จะอายที่มีความรู้สึกเช่นนี้ แต่เอาเข้าจริง self doubt ในตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด ดังนั้นการที่เรายอมรับและเปิดใจให้คนอื่นหรือผู้เชี่ยวชาญสักคนเข้ามาช่วยเป็นเพื่อนรับฟัง หรือเป็นที่ปรึกษาก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด ในทางกลับกันมันเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ เพราะคงจะดีไม่น้อยที่จะมีใครสักคนคอยรับฟังและทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในยุคสมัยที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่การแข่งขันเต็มไปหมด

 

cr: www.freepik.com

 

ความสงสัยใคร่รู้ เหรียญอีกด้านของความไม่มั่นใจ

ความประหม่าหรือความไม่มั่นใจในปริมาณที่พอเหมาะอาจช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เพราะเราสามารถใช้มันเป็นฐานในการสร้างลักษณะนิสัยขี้สงสัยและใคร่รู้ (Curiosity) ซึ่งถือเป็น soft skills ประเภทหนึ่งที่ควรมีติดตัวไว้ในทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเราลองไปดูกันว่าความไม่มั่นใจในระดับที่พอเหมาะสามารถช่วยเราในแง่ใดได้บ้าง

 

• ช่วยให้เราเล็งเห็นข้อบกพร่องได้ทันท่วงที - self doubt ที่ล้นเกินอาจทำให้เราจมอยู่กับข้อบกพร่องต่าง ๆ แต่ถ้าใช้มันอย่างพอเหมาะพอควร มันจะช่วยให้เราเล็งเห็นถึงข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ทันท่วงที เช่น ช่วยให้เล็งเห็นข้อผิดพลาดในการทำโปรเจกต์และสามารถแก้ไขได้ทันก่อนที่จะส่งมอบงาน

 

• ช่วยให้เรารู้ขีดความสามารถของตัวเอง - การถามคำถามกับตัวเองสามารถช่วยให้เราตระหนักถึงศักยภาพในปัจจุบันของตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเวลาไหนที่ควรแก่การจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

 

• ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ขาดหายไป - การสำรวจข้อบกพร่องอย่างรอบคอบในการค้นคว้าหาอะไรสักอย่างสามารถทำให้เรารู้ว่ายังขาดอะไรไป ซึ่งจะช่วยลดความสับสนในการตามหาสิ่งที่ขาดหายไปอย่างสะเปะสะปะลงได้

 

 ช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น - ความประหม่าที่พอเหมาะจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะกระตุ้นความมั่นใจในตัวเองตามแนวทางข้างต้น รับรู้ถึงข้อดีของความประหม่าในระดับที่พอเหมาะ และจัดการกับสาเหตุของ self doubt ของเราเองแล้ว แต่ถ้าอาการ self doubt มันยังกลับมาอีกเรื่อย ๆ เราอาจต้องเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าเจ้า self doubt มันมาจากไหนกันแน่ ทำไมยังกลับมารังควานเราอยู่เรื่อย ๆ มันก่อตัวมาจากภายใต้จิตใจของเราเอง หรือมาจากที่อื่นที่พ้นจากตัวเราไป

 

 

สาเหตุของ Self Doubt ที่ (เหมือนจะ) เกินเอื้อมมือของเรา 

อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่าในบางครั้งสาเหตุที่ทำให้เราไม่มั่นใจในตัวเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งก็คือปัจจัยทางด้านสังคม แต่บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถมองเห็นถึงความเชื่อมต่อระหว่าง self doubt กับปัจจัยทางสังคม เพราะขาดเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือหรือเลนส์ที่จะทำให้เรามองเห็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ self doubt ได้ชัดเจนและครอบคลุมมิติต่าง ๆ ได้มากขึ้นคือการมองผ่านเลนส์ “BioPsychoSocial”

 

BioPsychoSocial model คือ รูปแบบการวิเคราะห์ปัจจัยด้านชีวภาพ (biological) จิตวิทยา (psychological) และปัจจัยทางสังคม (social factor) โดยพยายามฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง 3 ปัจจัยดังกล่าวและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพทางกายและจิตใจของคนเรา

 

ปัจจัยด้าน biological สามารถกระทบสภาวะทางจิตใจของคนเราผ่านตัวแปรสำคัญ ๆ เช่น ฮอร์โมน (hormone) ภูมิคุ้มกัน (immune) และระบบการทำงานของสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ส่วนปัจจัยด้าน psychological ที่มีอิทธิพลต่อสภาวะทางจิตใจของคนเรานั้นรวมถึงปัจจัยด้านลักษณะนิสัย กระบวนการทางความคิด ทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)

 

ส่วนประเด็นที่เราจะมาขยายความต่ออีกสักหน่อยคือ social factor หรือปัจจัยทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมามักจะถูกเน้นย้ำในระดับสถาบันทางครอบครัวเป็นหลัก เช่น ประเด็นบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก การโดนกลั่นแกล้ง (bullying) การถูกล่วงละเมิด ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วคำว่า social factor นั้นครอบคลุมถึงสังคมในวงกว้างทัั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถาบันครอบครัวเท่านั้น

 

นั่นหมายความว่ามันกินความหมายไปถึงระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจด้วย ซึ่งในที่นี้จะขอขยายความไปยังปัจจัยด้านระบบเศรษฐกิจกันอีกสักหน่อย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ใกล้ตัวและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของเราทุกคนและส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจและอาการ self doubt ของเราไม่มากก็น้อย (หรืออาจจะมากที่สุด)

 

กล่าวคือระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า (หรือถอยหลัง) ด้วยการแข่งขันที่ทุกคนในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมภายใต้ระบบนี้ (แม้บางคนจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมแต่ก็มักจะได้รับผลกระทบจากมันเหมือนกันไม่มากก็น้อย) มันได้สร้างรูปแบบความสัมพันธ์เชิงการแข่งขันระหว่างคนในสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือระบบเศรษบกิจแบบทุนนิยมได้ก่อให้เกิดการแข่งขันกันในระดับองค์กรและระดับปัจเจก

 

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบของการแข่งขันนี้ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในสังคม แล้วทัศนคติหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นภายใต้สภาวะแห่งการแข่งขันคือการระบุตัวตนว่าเป็น “ผู้ชนะหรือผู้แพ้” หรืออะไรในทำนองนี้ ซึ่งนับเป็นเชื้อมูลชั้นดีที่จะนำไปสู่อาการ self doubt

 

cr: www.freepik.com

 

Internalized Capitalism การแปลงตัวตนให้กลายเป็นเครื่องจักร

อีกสภาวะภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้คือ “internalized capitalism” ที่ขอแปลว่าการแปลงตัวตนให้กลายเป็นเครื่องจักรหรือทุน ซึ่งเป็นอีกสภาวะสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการ self doubt

 

ผู้คนภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคดิจิทัลกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องรีดประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด (maximize productivity) ผู้คนจึงมีแนวโน้มที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานให้ออกมาดีในจำนวนมาก ๆ ภายในเวลาที่จำกัดเพื่อเอาชนะคู่แข่งในด้านคุณภาพและปริมาณ

 

หนึ่งในคุณค่าที่ระบบสังคม-เศรษฐกิจแบบนี้ยกย่องจึงหนีไม่พ้นเรื่อง productivity แล้วเมื่อคนเราใช้ระดับ productivity เป็นบรรทัดฐานในการประเมินคุณค่าตัวเอง (self worth) ก็เท่ากับว่าทุกคนในสังคมสามารถกลายมาเป็น “คู่แข่ง” ในด้าน productivity กับเราได้หมด ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งจากองค์กรอื่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท ญาติพี่น้อง เพื่อนข้างบ้าน หรือแม้กระทั่งคู่รัก กล่าวคือเราอาจเผลอตัวหยิบยกคนอื่นในสังคม (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) มาเปรียบเทียบกับตัวเองได้ทั้งนั้น แรงกดดันจากการเปรียบเทียบและความท้าทายในการเพิ่ม productivity นี้นอกจากที่มันจะทำให้เรา bunrout ได้แล้ว มันยังสามารถนำไปสู่อาการ self doubt ได้อีกด้วย แล้วถ้าชีวิตต้องวนเวียนอยู่กับวิถีเช่นนี้ จากเพียงแค่ self doubt มันอาจกลายไปเป็นอาการซึมเศร้า (depression) ได้ในที่สุด

 

 

ต้นต้อ Self Doubt ที่หลากหลาย ต้องใช้แนวทางในการแก้ไขที่แตกต่างกันไป

โดยสรุปแล้วเราสามารถบรรเทาอาการ self doubt ด้วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ในบางครั้งเราต้องเปิดใจรับความช่วยเหลือของคนรอบข้างที่มาในรูปแบบของความเห็นใจ (sympathy) ความร่วมรู้สึก (empathy) หรือความเมตตากรุณา (compassion) หรือเสาะหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้วย ถึงจะกลับมามั่นใจในตัวเองได้

 

อย่างไรก็ตาม หากเรารับผิดชอบตัวเองก็แล้ว เปิดใจรับหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็แล้ว แต่ไอ้เจ้า self doubt มันยังกลับมาหลอกหลอนเราอยู่เรื่อย ๆ ก็อาจจะต้องใช้เลนส์ BioPsychoSocial ส่องไปดูต้นตอว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ แล้วถ้าพบว่ามันมาจากปัจจัยด้าน social factor (ที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่เกินเอื้อม) เราอาจจะต้องใช้ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว/ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม” หรือ “solidarity” ในการรักษาอาการทางสังคมกันต่อไป

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง

เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง

โดนเปรียบเทียบหน้าตากับพี่น้องเป็นประจำ ทำยังไงดี ?

บันได 4 ขั้นสู่การเรียนรู้ Soft Skills ใหม่ ๆ

เคล็ดลับพัฒนาตัวเองของ 'Late Bloomer' คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

เมื่อ ‘งานอดิเรก’ ช่วยให้เรียนได้ดีขึ้นกว่าที่คิด !

ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'

วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

ไม่ Productive สักวันก็ไม่เป็นไร ใช้ชีวิตยากไปเดี๋ยวเครียด !

เพิ่มความเฟียซ เรียกคืนความมั่นใจด้วย 3 วิธีนี้

ทำยังไงดี เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่สวยตาม 'Beauty Standard'

 

 

แหล่งข้อมูล

How Self-Doubt Keeps You Stuck (And How to Overcome It)

Self esteem 

The Upside of Self-Doubt

Current Understandings of Major Depression – Biopsychosocial Model 

INTERNALIZED CAPITALISM 

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow