คุณคิดว่ามันจะมีจุดสิ้นสุดไหม จุดที่เราคิดอะไรไม่ออกแล้ว การคิดค้นของเราถึงทางตัน เมื่อสมมติฐานที่ตั้งขึ้นไม่เป็นจริง การทดลองและการค้นคว้าไม่เกิดผล มันจะกลายเป็นจุดสิ้นสุดของเทคโนโลยีอย่างนั้นหรือ และถ้าการพัฒนาทางเทคโนโลยีมีขีดจำกัด เราใกล้ถึงขีดจำกัดนั้นหรือยัง
เมื่อ 50 ปีก่อน นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อว่า Nikolai Kardashev ก็คิดแบบเดียวกันนี้ในขณะที่เขาพยายามวัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นจุดกำนิดของ Kardashev Scale ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในการวัดความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ แม้ว่าพวกเราจะไม่รู้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะก้าวหน้าไปในทิศทางไหน หรือหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้แน่ชัดว่าทุกอย่างมันจำเป็นต้องใช้พลังงาน Kardashev Scale ก็เลยวัดเอาความเจริญของอารยธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ รวมถึงของโลกเราเองด้วยจากวิธีและแหล่งพลังงานที่ใช้
นิโคลายแบ่งความเจริญของอารยธรรมเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ Type I Civilization หรือ Planetary Civilization อารยธรรมแบบที่ 1 ใช้และกักเก็บพลังงานที่ถูกส่งมาจากดาวฤกษ์ข้างเคียงได้ ในกรณีของมนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเรา เราใช้พลังงานไปเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับพลังงานที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นมา และพลังงานเหล่านั้นก็ยังกักเก็บอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินใต้โลก หากเราจะสามารถเรียกอารยธรรมของเราเองว่าเจริญในแบบที่ 1 นี้ เราจะต้องสามารถรับและใช้พลังงานที่ถูกส่งมาจากดวงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่านี้ การพัฒนาโซลาเซลล์เป็นอีกหนึ่งผลงานและปัจจัยหลักที่อาจจะผลักดันให้เราเจริญได้ถึงจุดนั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเราสามารถทำได้ในไม่ช้า อย่างเร็วที่สุดก็ภายใน 4 ศตวรรษ ความเจริญของอารยธรรมขั้นที่ 2 คือ Stellar Civilization การดึงพลังงานจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขั้นที่ 3 คือการควบคุมแหล่งพลังงานในกาแล็กซีได้ทั้งหมด
อีกทฤษฎีที่วัดความเจริญโดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งเล็ก ๆ มากกว่าจะเป็นการวัดที่ใหญ่ขึ้นจากระดับดาวเคราะห์เป็นกาแล็กซี John Barrow ได้นำเสนอการวัดการพัฒนาเทคโนโลยีจากความสามารถในการศึกษาและควบคุมสิ่งเล็ก ๆ เรียกสั้น ๆ ว่า ยิ่งควบคุมสิ่งที่เล็กได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น หากอ้างอิงถึง Barrow Scale ปัจจุบันนี้เราสามารถศึกษาและควบคุมการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ และทำการศึกษาอนุภาคขนาดเล็กอย่างอะตอมของธาตุต่าง ๆ และกำลังมุ่งไปสู่สิ่งที่เล็กลงไปเรื่อย ๆ เช่น การพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของสสารมืด สสารและปฏิสสาร เป็นต้น และไม่ว่าจะมองในมุมที่เล็กลงหรือใหญ่ขึ้น มันก็ยังมีงานอีกมากให้เราต้องทำ งานวิจัยยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกหลายแขนง การผสมรวมของแต่ละสาขาวิชาสามารถก่อให้เกิดทฤษฎี แนวคิด และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ออกมาได้อีก
ทุกวันนี้เราไม่ได้มองสิ่งที่เรามี สิ่งที่เรารู้จัก สิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่ ว่าเป็นอีกก้าวของเทคโนโลยี เรามองมันเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่หากบรรพบุรุษของเราเมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้มาใช้ชีวิตในปัจจุบัน หรือหากเราเปรียบเทียบสิ่งที่เรามีกับอดีตกาล เราอาจจะพบว่าหลาย ๆ สิ่งอย่างที่เรามีนั้นเหมือนกับมายากล มันคือเวทมนต์ที่เสกและสร้างมันขึ้น มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำในสายตาของคนในอดีต มันน่าจะเป็นเพียงแค่ความฝัน และนั่นอาจจะทำให้เราฉุกคิดอีกครั้งว่า สิ่งที่เรากำลังฝันอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่คิดว่าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจจะเป็นจริงได้ในอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี้เอง เทคโนโลยีมันยังคงพัฒนาต่อไป ตราบเท่าที่เรายังต้องการ