เมื่อมีการใช้ไฟเกินขนาดแล้วฟิวส์จะหลอมละลาย จากสมบัติในข้อนี้เมื่อฟิวส์ถูกต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน ในกรณีที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินขนาดหรือไฟฟ้าลัดวงจร วงจรจะขาดเมื่อฟิวส์ที่ต่อไว้เกิดการหลอมละลาย จึงช่วยรักษาอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานได้
โดยทั่วไปฟิวส์ประกอบด้วยโลหะผสม ดังนี้ บิสมัท (Bismuth: Bi) 50% ตะกั่ว (Lead: Pb) 25% และดีบุก (Tin: Sn) 25% สมบัติที่ดีของฟิวส์คือ มีจุดหลอมเหลวต่ำ เมื่อเทียบกับตัวกลางทางไฟฟ้าชนิดอื่น อย่างเช่น ทองแดง หรือ ลวดสายไฟ ทำให้สามารถหลอมละลายและตัดวงจรในขณะที่ความร้อนในวงจรสูงเกินไปได้
ปัจจุบันฟิวส์ถูกพัฒนาขึ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นชนิดก้ามปู ชนิดลวด ชนิดกระบอก ชนิดกระเบื้อง และชนิดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีหลักการเหมือนกันคือ ใช้ตัดกระแสวงจรไฟฟ้าเมื่อมีการใช้ไฟเกินขนาดหรือเกิดความร้อนในวงจรมากกว่าปกติ
1. ฟิวส์ชนิดก้ามปู เป็นการขึ้นรูปโลหะฟิวส์เป็นรูปแผ่นแบนยาว และมีขั้วเป็นรูปก้ามปู สำหรับต่อเข้าวงจรไฟฟ้าที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณค่อนข้างมาก จึงมีความทนทานและหลอมละลายช้า
2. ฟิวส์ชนิดเส้นลวด เป็นการขึ้นรูปโลหะผสม เป็นเส้นลวดกลม ยาว สำหรับต่อเข้าวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน ทนความร้อนได้ปานกลาง มักต่อเข้ากับตู้ควบคุมไฟฟ้าภายในบ้านเป็นหลัก
3. ฟิวส์ชนิดกระเบื้อง พัฒนาขึ้นมาจากฟิวส์ชนิดเส้นลวด ทำจากเซรามิกและมีโลหะฟิวส์อยู่ภายใน ทำให้เมื่อฟิวส์ละลายแล้วโลหะที่ละลายจะถูกเก็บไว้ในขวดเซรามิกนั้นและไม่เกิดประกายไฟ
4. ฟิวส์ชนิดกระบอก หรือฟิวส์หลอดแก้ว พัฒนามาจากฟิวส์ชนิดกระเบื้อง เป็นฟิวส์ขนาดเล็กเมื่อฟิวส์ขาดแล้วจะสังเกตได้ชัดเจนจากการส่องผ่านหลอดแก้ว จะเห็นได้ว่าโลหะภายในขาดแล้ว ซึ่งฟิวส์ชนิดนี้มีขนาดเล็ก และมักใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นชิ้น ๆ แยกออกจากแหล่งจ่ายไฟฟ้ารวมในบ้าน เช่น ปลั๊กไฟ เครื่องทำน้ำอุ่น
5. ฟิวส์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาขึ้นมาโดยนำข้อเสียของฟิวส์ชนิดต่าง ๆ มาปรับปรุงแก้ไข นั่นคือ เมื่อฟิวส์ชนิดอื่น ๆ ทำงานคือ การตัดไฟ การจะกลับมาใช้ไฟฟ้าใหม่ได้ จะต้องดำเนินการเปลี่ยนฟิวส์ จึงจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องให้ผู้มีความรู้มาดำเนินการ หรือมีฟิวส์สำรองในการเปลี่ยน ดังนั้น วิศวกรจึงได้พัฒนากลไกโดยใช้ความรู้ด้านฟิสิกส์ให้ฟิวส์ชนิดอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงกลไกที่สามารถตรวจจับความร้อนที่มากขึ้น แล้วมีกลไกในการตัดไฟฟ้าโดยให้สะพานไฟถูกดีดออก วงจรจึงขาด ทำให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถผ่านไปได้ เมื่อจะกลับมาใช้งานใหม่จึงเพียงแค่โยกสวิตช์ให้กลไกทำงานเชื่อมต่อเข้าเป็นวงจรอีกครั้งและสามารถใช้ไฟฟ้าต่อไปได้