Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความตลกร้ายของวัฒนธรรมการข่มขืนในนิยายรักวัยรุ่น

Posted By Plook Magazine | 16 ก.ค. 64
10,794 Views

  Favorite

ฉากข่มขืนในละครหลังข่าวที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องน่ารักชวนฝันสุดโรแมนติกที่ว่าแย่แล้ว ในขณะเดียวกันการเข้าถึงนิยายออนไลน์ที่แสนง่ายดายในแอปอ่านนิยายต่าง ๆ ก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนิยายที่เสิร์ฟคนอ่านแต่ฉากข่มขืน เนื้อหาที่เต็มไปด้วยการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นเรื่องการข่มขืนดูเป็นเรื่องโรแมนติก ปกติ ธรรมดา หรือพูดได้ว่างานเขียนชิ้นนั้นสนับสนุน Rape Culture + Romanticize Rape อยู่

 

 

ความจริงอีกด้านของเบื้องหลังความฟิน 

หนึ่งในความเพลิดเพลินวัยเด็กอย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้นการได้อ่านนิยายรักสนุก ๆ ในเวลาว่าง เมื่อย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว หลาย ๆ คนต้องเคยปั่นจักรยานไปร้านเช่าหนังสือนิยายด้วยเงินในกระเป๋าคนละ 40 บาท เพื่อไปเช่านิยายรักมาอ่านแก้เซ็ง แต่ปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงนิยายรักสนุก ๆ ได้ด้วยปลายนิ้วเขี่ย ทำให้ร้านเช่านิยายก็ค่อย ๆ ปิดกิจการไปไม่ค่อยเหลือให้เราเห็นอีกแล้ว ความเพลิดเพลินรูปแบบใหม่ของเราจึงขอแค่มีมือถือบนที่นอนนุ่ม ๆ เเละเรื่องราวสุดโรแมนติกในนิยาย

 

หนึ่งในเรื่องราวสุดโรแมนติกดังกล่าวก็คือ เรื่องราวของหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ถูกอีกฝ่ายจับตัวมาขังไว้แล้วขืนใจ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าอีกฝ่ายเป็นลูกหลานของศัตรูที่ทำให้ครอบครัวพระเอกต้องตาย เขาหรือเธอจึงสมควรที่จะโดนข่มขืนหรือถูกกักขังในบ้านของอีกฝ่าย แต่จนแล้วจนรอดตามสไตล์ ทั้งคู่ก็รักกันในตอนจบ นี่คือตัวอย่างนิยายที่สอดแทรกวัฒนธรรมการข่มขืนที่มีเนื้อหา NC18+ ที่มักจะได้เป็นนิยายยอดนิยมฮอตฮิตอยู่ตลอด เพราะคนอ่านเชื่อว่ามันโรแมนติกมาก ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้เลยว่านั่นเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่ทำให้คนเรา Romanticize การข่มขืน  

 

Cr. MARCH TO END RAPE CULTURE

 

การโรแมนติไซส์การข่มขืน (Romanticizing Rape) คืออะไร ? 

มันคือการทำให้เรื่อง ๆ หนึ่งกลายเป็นเรื่องชวนฝัน ดูดีโดยไม่ได้มองความจริงอีกด้าน เพราะมันเป็นการใช้การข่มขืนและความรุนแรงเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความรัก ซึ่งขัดแย้งกับทั้งวัฒนธรรม กฎหมาย ค่านิยม มันคือการมองว่าข่มขืนแล้วไงล่ะ ? สุดท้ายก็รักกันอยู่ดี ทำให้หลายคนคิดว่าการข่มขืนเป็นเรื่องปกติหรืออาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้อีกคนรักตัวเองได้ หากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ความคิดแบบนี้อาจนำไปสู่หายนะเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่ทำสำเร็จในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น การทำให้ความจนดูดีทั้งที่ความจริงใครจะอยากจน อยากปากกัดตีนถีบหาเงินตัวเป็นเกลียว ที่ดัง ๆ เลยก็คือเรื่องน้องนักเรียนหญิงนั่งเรียนออนไลน์ร้อน ๆ กลางทุ่งนา จนเรื่องนี้กลายเป็นการชื่นชมน้องนักเรียนหญิง (เคยถามเขาหรือเปล่าก็ไม่รู้ว่าเขาอยากเรียนกลางแดดไหม) แทนที่จะเป็นแว่นขยายช่วยกันซูมดูต้นตอของปัญหาเชิงโครงสร้างนั่นก็คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่แทบจะทิ่มตาอยู่แล้ว 

 

ปัญหาการข่มขืนในนิยายรักก็เช่นเดียวกัน ความจริงอีกด้านหนึ่งของมันคือ การสนับสนุนว่าการข่มขืนมันนำไปสู่ความรัก ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่อยู่ในรูปแบบของนิยาย แต่นิยายก็ถือเป็นสื่อประเภทหนึ่งไม่ได้ต่างไปจากหนังหรือละคร ซึ่งมันดันตลกตรงที่ว่าสังคมไทยเรามีข่าวข่มขืนไม่เว้นแต่ละวันแ ละเหยื่อนับวันยิ่งอายุน้อยลงเรื่อย ๆ แต่สังคมเรากลับทำเป็นมองไม่เห็น ซ้ำร้ายยังมั่นหน้าผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการข่มขืนออกมาอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในรูปแบบของละครหรือแม้แต่นิยาย 

 

 

การข่มขืนในนิยายรักยังถือเป็น Soft Power อีกด้วย คือหมายถึงการขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร หรือกฎหมายเพื่อบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามแต่มันเป็นการค่อย ๆ ตะล่อมให้เราทำตามเหมือนที่เราอยากกินหมูย่างเกาหลีกับกิมจิเมื่อดูซีรีส์เกาหลี หรือกดสั่งกุ้งแม่น้ำเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน หลังดูละครบุพเพสันนิวาสเพราะมันอินมาก

 

แม้เราอาจพูดได้เต็มปากว่า ไม่นะ ฉันไม่ได้สนับสนุนแนวคิดแบบนั้น  หรือฉันรู้ดีว่ามันผิด แต่การที่เรากดเข้าไปอ่านนิยายที่มีเนื้อหาข่มขืนแล้วรักกัน มันก็คือกาสนับสนุนให้เกิดการผลิตพล็อตแบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ หรือเปล่า ? เพราะคนเขียนเขาก็อาจเห็นว่าเรตติ้งมันดีจึงแต่งเรื่องราวของการข่มขืนแล้วรักกันออกมาเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น ยิ่งเรามองเรื่องข่มขืนไปในด้านบวกมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งถูกผลักออกไปให้ไกลจากการเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การมี awareness หรือการตระหนักรู้ถึงปัญหาอาจเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

 

เรื่องที่น่าดีใจกว่านั้นก็คือ ปัจจุบันนี้มีน้อง ๆ หลายคนที่มีความสามารถในการเขียนนิยายและเข้าใจความจริงอีกด้านของการผลิตนิยายรักที่ใส่วัฒนธรรมการข่มขืนเข้ามาในนิยายที่อาจชี้นำคนอ่านได้ ทั้งใส่คำเตือน ติด TW ทั้งทำให้ฉากข่มขืนในนิยายของตัวเองอ้างอิงบริบทของยุคสมัย เพราะในวันที่เทคโนโลยีค่อย ๆ เติบโต มีแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ที่หลากหลาย วงการนิยายเองก็มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับกระแสสังคมที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นในเรื่องวัฒนกรรมการข่มขืน (Rape Culture) การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) นักเขียนเองก็ต้องปรับตัวตามด้วยการพัฒนางานเขียนของตัวเองผ่านบทเรียนที่ได้รับจากกระแสสังคม และในส่วนของคนอ่านเองก็ต้องมีความรู้เท่าทันสื่อเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจผิด ๆ       

 

 

5 คำถามชวนคิดช่วยรู้ทันสื่อ

หนึ่งในเทคนิคที่จะช่วยให้เราพิจารณาเนื้อหาที่ได้รับมาจากสื่อได้รอบด้านขึ้น ช่วยให้เราเสพสื่อโดยไม่ตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจผิด ๆ ด้วยการเริ่มตั้งคำถามดังต่อไปนี้

 

1. สื่อนี้ใครทำ

บางครั้งการสืบทราบว่าเจ้าของสื่อนี้คือใคร เราจะสามารถรับรู้ได้เลยว่าสื่อนี้ต้องการอะไรจากเรา เพราะคนบางกลุ่มอาจสร้างเนื้อหาบางอย่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี โดยอาจมาแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม สังเกตได้จากคำว่า “สนับสนุน โดย...” หรือคำว่า “ขอขอบคุณ...” เป็นต้น

 

2. สื่อนี้ถูกนำสนอด้วยวิธีใด

สื่อแต่ละแบบมีวิธีการสร้างเนื้อหาในแบบของตัวเอง ถึงจะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันหรือสารตัวเดียวกันแต่เมื่ออยู่ในสื่อต่างประเภทกัน ความหมายที่ออกมาย่อมแตกต่างกันไม่มากก็น้อย หรือถึงจะเป็นสื่อประเภทเดียวกันก็มีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งด้วยกลวิธีบางอย่าง เช่น มุมกล้อง สี เสียง หรือการตัดต่อ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็น อ่าน ได้ยินอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของภาพใหญ่ได้ อย่าลืมเช็กให้ชัวร์ก่อนจะเชื่อหรือทำตาม 

 

3. สื่อนี้คนรับรู้แบบไหนได้บ้าง เพราะอะไร

แต่ละคนมีการรับรู้ที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนตัว เชื้อชาติ เพศ วัฒนธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนเข้าใจและตีความจากสื่อต่างกัน ซึ่งเนื้อหาจากสื่อมักจะแฝงค่านิยมบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นขายของ หรือต้องการชี้นำ โน้มน้าวให้เชื่อ ทำตาม หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเรา เราต้องระวังให้มาก ๆ และคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนที่สุดก่อนที่จะเชื่อ โดยเราอาจจะศึกษาก่อน หรือนำไปพูดคุยกับคนสนิทเพื่อฟังความคิดเห็นของเขาก่อนตัดสินใจเชื่อ  

 

4. สื่อนี้นำเสนออะไร มีอะไรไม่ถูกนำเสนอบ้าง 

การไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ ชอบคิด และหมั่นตั้งคำถามอยู่เสมอ จะช่วยให้เรารู้จักคัดกรอง พร้อมตรวจสอบข้อมูล ข่าวสาร เนื้อหาได้ถี่ถ้วนมากขึ้นด้วยการสร้างการเรียนรู้ที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง ศึกษาให้หลายมิติ หากเรารู้จักแยกแยะข้อมูลว่าข้อมูลไหนเป็นจริง ข้อมูลไหนจริงแค่บางส่วน เราจะมองเห็นความน่าเชื่อถือหรือความเป็นประโยชน์ของสื่อนั้น ๆ และไม่นำไปบอกต่ออย่างผิด ๆ แต่สามารถนำไปต่อยอดความคิด พัฒนาไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้นได้

 

5. สื่อนี้หวังผลอะไร

ไม่ใช่แค่รู้ว่าสื่อนี้หวังจะเพิ่มยอดขายหรือโฆษณาแฝงมาเพื่อขายของ แต่เราต้องจับให้ได้รู้ให้ทัน Soft Power ที่มากับสื่อนั้นอีกด้วยว่า อีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้ถูกนำเสนอมันคืออะไร อย่างเช่นคนที่ทำยูทูบที่มีคอนเทนต์ปลอมตัวไปเป็นคนขอทานข้างถนนเขาต้องการอะไร หรือคนที่เอาของที่คนอื่นกลัวไปแกล้งเขา เขาทำไปทำไม จนสามารถที่จะโต้ตอบต่อเนื้อหาจากสื่อได้อย่างถูกต้องและไม่ลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิด ๆ   

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 ประเด็นสังคมที่วัยรุ่นไม่ควร ignorance ในปี 2020

Victim Blaming เตือนให้อยู่ในกรอบ หรือลดทอนความเป็นมนุษย์

‘Child Grooming’ ผู้ใหญ่ล่อลวงเด็ก พฤติกรรมที่ต้องรู้ให้ทัน

รู้จัก ‘Toxic Masculinity’ ผลพวงของชายเป็นใหญ่

ในเมื่อมุกลามกคุกคามทางเพศยังมีคนเล่นอยู่ เราจะรับมือกับมุกลามกยังไงได้บ้าง

16 พฤติกรรมคุกคามทางเพศ ที่อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ

วิชาการเอาตัวรอด เมื่อถูกคุกคามทางเพศ

ภัยคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ

โดนจับโดนล้วง โดนล่วงละเมิดทางเพศ จะเอาตัวรอดยังไงนะ

ดามใจคนข้างกายด้วย Empathy แล้วใช้ Solidarity รักษาแผลสังคม (01)

10 จุดรู้ทัน Fake News เพราะวัยรุ่นยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ

5 พฤติกรรมรักล้างสมอง ‘Gaslighting’

แนะนำหนังเกี่ยวกับสิทธิสตรี ผู้หญิงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอะไรบ้าง


 

แหล่งข้อมูล

เมื่อชีวิตของคนจนเป็นได้แค่เรื่องเล่า : ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกมองเป็นความโรแมนติก 

MAY BE ทำความรู้จักชีวิตเด็กหญิงวัยสิบสี่ที่เขียนนิยายเล่นๆ และเติบโตมาเป็นนักเขียนนิยายรักอย่างจริงจัง

SOFT POWER คืออะไร? พลังซอฟต์ ที่ไม่ซอฟต์เสมอไป พลังที่กระตุกจิต กระชากใจคนทั่วโลก 

SOOK Magazine No.36 by SOOK Publishing 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow