Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคล็ดลับการทำงานกลุ่มให้ราบรื่น เป็นทีมเวิร์คที่ดี

Posted By Plook Magazine | 16 ก.ค. 64
9,414 Views

  Favorite

‘งานกลุ่ม’ คือสิ่งที่เราจะต้องเจอตั้งแต่ตอนเรียนไปจนถึงตอนทำงาน เพราะฉะนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีการทำงานกลุ่มไว้ ใครที่มีสกิลการทำงานเป็นทีมที่ดีก็จะสามารถอยู่รอดได้ในหลายสถานการณ์ มาดูเคล็ดลับการทำงานกลุ่มให้ราบรื่นไม่มีสะดุด และที่สำคัญคือสามารถเป็นทีมเวิร์คที่ดีได้แบบไม่ต้องหัวร้อน ปวดประสาทเพราะทะเลาะกับเพื่อนกัน 

 

 

cr: www.freepik.com

 

มีเป้าหมายร่วมกัน

อยากให้นึกถึงเวลาแข่งกีฬาสีที่ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายร่วมกันคืออยากชนะการแข่งขัน ทำให้ทุกคนเป็นทีมเดียวกันได้ ดังนั้นเวลาได้ทำงานกลุ่ม สิ่งแรก ๆ ที่ควรจะทำคือการวางเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพที่ชัดเจน เช่น คุยกันตอนประชุมว่าเป้าหมายของการทำงานกลุ่มคือการทำโปรเจกต์เจ๋ง ๆ เพื่อเอาไว้เป็นพอร์ตโฟลิโอ เป็นต้น 

 

อย่าใช้กฎเกณฑ์ของตัวเอง

บางครั้งการทำงานกลุ่มก็ทำให้เราได้พบเจอคนใหม่ ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีนิสัยและมีความถนัดที่แตกต่างกัน เราจึงไม่ควรตัดสินความรู้ของคนอื่นด้วยทัศนคติของตัวเอง และไม่ควรนำกฎเกณฑ์ของตัวเองไปใช้กับคนอื่นด้วย ถ้าอยากจะทำงานกลุ่มให้ราบรื่นไม่มีสะดุด ขอแนะนำว่าให้ตั้งเป้าหมายของทีมร่วมกัน และมอบหมายงานตามความถนัดของแต่ละคน การทำแบบนี้จะช่วยให้แต่ละคนทำงานด้วยความรู้สึกดีมากกว่าการตั้งกฎเกณฑ์มากมาย

 

ทำความเข้าใจว่าคนเราต้องได้รับการกระตุ้น

นี่คือเคล็ดลับการทำงานกลุ่มที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ หากเราเข้าใจก่อนว่าคนเราทุกคนต่างก็มีนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเป็นคนเฉื่อย ๆ แต่บางคนก็มีนิสัยกระตือรือร้นและช่างถาม เพราะฉะนั้นการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานของสมาชิกในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

ลองสังเกตบุคลิกและนิสัยของแต่ละคนว่าเราต้องสร้างแรงจูงใจเขายังไง เช่น คนที่มีบุคลิกแบบ Introverts เขาจะชอบทำงานคนเดียวมากกว่า เมื่อต้องทำงานกลุ่มเขาอาจรู้สึกอึดอัดและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไร ถ้าเราสังเกตจุดนี้ได้ เราก็ไม่ควรไปเร่งเร้าขอความเห็นเขา หรือบังคับให้เขาเป็นคนพูดพรีเซนต์หน้าห้องเพราะเขาจะไม่อยากทำแน่นอน เป็นต้น 

 

ถ้าอยากได้ความร่วมมืออย่าเอาแต่สั่ง

สิ่งที่ไม่ควรทำเวลาทำงานกลุ่มก็คือการออกคำสั่ง เพราะคนที่ถูกสั่งจะรู้สึกไม่ดีและอาจรู้สึกต่อต้านเราทันที ซึ่งส่งผลให้การทำงานกลุ่มอาจจะไม่ราบรื่นตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มด้วยซ้ำ จำไว้ว่าเวลาอยากขอให้ใครช่วยทำอะไร เราไม่ควรพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกออกคำสั่ง เราควรพูดในเชิงให้เขารู้สึกถูกกระตุ้น การทำแบบนี้จะได้ผลดีกว่า ทริคสำคัญอีกข้อคือก่อนจะพูดเราควรเรียบเรียงข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนด้วย

 

cr: www.freepik.com

 

รู้จักชื่นชมและขอบคุณ

การชมเชยและขอบคุณกันเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าชมแบบไม่จริงใจหรือเยินยอเกินจริง เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีได้ ทริคดี ๆ คือเวลาเราจะชมเพื่อนที่ทำงานดี เราควรชมพร้อมกับบอกเหตุผลด้วย เช่น ขอบคุณนะที่ช่วยสรุปเนื้อหาให้มันเข้าใจได้งายขึ้น เป็นต้น การชมคนในกลุ่มจะช่วยทำให้เขาได้รู้ถึงความสามารถของตัวเองว่าสิ่งไหนที่เขาทำได้ดี และมันอาจส่งผลให้เกิดการทำซ้ำในอนาคตด้วย ถ้าการทำงานกลุ่มมันไม่ค่อยราบรื่นหรือติดขัดตรงไหน เราก็สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การทำงานที่ดีขึ้นได้ แต่มันควรเป็นความเห็นที่มีประโยชน์ ไม่ใช่คำบ่นหรือคำด่าที่ฟังแล้วรู้สึกแย่

 

สวมวิญญาณเป็นกิ้งก่า

สำหรับคนที่อยากทำงานกลุ่มให้ราบรื่นและเป็นทีมเวิร์คที่ดี เราขอแนะนำให้คุณสวมบทเป็นกิ้งก่า คือคอยเปลี่ยนบุคลิกของตัวเองให้สอดคล้องกับคนอื่นเหมือนเวลากิ้งก่าเปลี่ยนสี เช่น เวลาอยู่กับคนที่มีความเป็นผู้นำ เราก็ขอความช่วยเหลือหรือความเห็นจากเขา หรือเวลาต้องคุยงานกับที่ชอบพึ่งพาคนอื่น เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นอย่างมุ่งมั่น เป็นต้น การทำแบบนี้ไม่ใช่การเสแสร้งหรือใส่หน้ากากเข้าหาเพื่อน ๆ แต่มันคือการดึงเอาบุคลิกที่เข้ากับคนอื่นออกมาใช้งาน ซึ่งมันจะช่วยให้คนที่ทำงานร่วมกับเรารู้สึกดีและช่วยให้การสื่อสารราบรื่นขึ้นด้วย การเปลี่ยนบุคลิกถือเป็นทักษะการทำงานที่สำคัญที่เราควรฝึกไว้

 

นัดประชุมเพื่ออัพเดตงาน

อย่ามองข้ามการประชุมเด็ดขาด เพราะการประชุมมีข้อดีมากมาย เช่น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้อัพเดตงานว่าไปถึงไหนแล้ว หรือมีปัญหาติดขัดตรงไหนบ้าง นอกจากจะได้อัพเดตงานแล้ว การประชุมยังจะช่วยให้คนในกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งความคิดเห็นของเพื่อนคนหนึ่งอาจทำให้สมาชิกในทีมเกิดปิ๊งไอเดียดี ๆ ขึ้นมาได้ 

 

ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

อย่าให้ต้องมีใครไม่พอใจและเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมลำเอียงให้แต่คนนี้ หรือทำไมถึงมีแต่เราที่งานเยอะอยู่คนเดียว เพราะมันจะทำให้ความสัมพันธ์ในทีมแตกแยก การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจึงสำคัญมาก ตั้งแต่การแบ่งงานให้เท่ากัน แบ่งงานให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน และควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนในกลุ่มอย่างไม่มีอคติด้วย

 

สำหรับใครที่ลองทำตามวิธีที่บอกไปข้างต้นแล้ว ก็ยังเจอเพื่อนไม่ช่วยงานหรือไม่ทำอะไรเลย เราก็อยากให้ลองปรึกษาเรื่องนี้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ในกลุ่มว่าจะแก้ปัญหายังไงดีก่อน ถ้าท้ายที่สุดแล้ววิธีนั้นมันไม่เวิร์กก็อาจจะไปปรึกษาครูหรืออาจารย์ผู้สอนไปเลยว่าจะทำยังไงดี เราไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยผ่านเรื่องที่เพื่อนไม่ช่วยงานเพราะมันจะเป็นปัญหาทั้งต่อตัวเขาเองและคนอื่นด้วย

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

หลักการคิดแก้ปัญหา 3 แบบ รู้ไว้คิดอะไรก็ไม่มีตัน

เคล็ดลับที่จะทำให้เราเก่งขึ้น 1% ทุกวัน

6 นิสัยยอดแย่ที่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบลงมือทำจาก Stanford

6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้

‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน

เคล็ดลับการตัดสินใจให้ไม่พลาดโอกาสที่ดีที่สุด ไร้อาการ 'FOBO'

อย่าหาทำ ! การก็อปวางเป็นวิธีทำรายงานที่ไม่ถูกต้อง

คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่

Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่

4 คำถามถ้าอยากคิดวิเคราะห์เก่ง เพราะ 'Critical Thinking' นั้นสำคัญ

ตั้งใจเรียน ไม่เคยเท แต่ทำไมเกรดตก นี่เราพลาดอะไรไป ?

 

 

แหล่งข้อมูล

- Eitaro Kono. (2015).เปลี่ยนวิธีทำงานแค่ 1% คุณก็แซงหน้าคน 99% ได้แล้ว. แปลจาก ZUKAI 99% NO HITO GA SHITEINAI TATTA 1% NO SHIGOTO NO KOTSU. แปลโดยโยซุเกะ. กรุงเทพฯ: WeLern Co., Ltd.

- Homma Masato. (2563). Coaching เทคนิคกระตุ้นทีมจนสำเร็จ. แปลจาก Zukai Kettei Ban Coaching no “Kihon” ga Minitsuku Hon. แปลโดยวิธารณี จงสถิตย์วัฒนา. กรุงเทพฯ: บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow