สไตรีน หรือ สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) เป็นโมโนเมอร์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในระบบอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมันเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งจะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย มีสูตรโมเลกุลคือ C8H8 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 โดยทั่วไปแล้วสไตรีนโมโนเมอร์เป็นของเหลวใสไม่มีสีแต่มีกลิ่นหอมหวาน ระเหยได้ง่าย ละลายในของเหลวบางชนิด เช่น เมทานอล เอทานอล อะซีโตน แต่ไม่ละลายในน้ำได้อย่างง่าย ๆ มีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ -31 องศาเซลเซียส และจุดเดือดอยู่ที่ 145 องศาเซลเซียส แต่ติดไฟได้ที่อุณหภูมิ (Flash point) 31 องศาเซลเซียส
สไตรีนโมโนเมอร์ถูกสังเคราะห์มาจากเบนซินซึ่งกลั่นมาจากปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ เริ่มจากปฏิกิริยาอัลคิเลชัน (Alkylation) ของเบนซินกับเอทิลีน เพื่อสร้างเอทิลเบนซีน ตามด้วยดีไฮโดรจีเนชัน (dehydrogenation) ของเอทิลเบนซีนเป็นสไตรีนโมโนเมอร์ จากสไตรีนโมโนเมอร์จะถูกนำไปผลิตเป็นโพลีสไตรีน (Polystyrene) ซึ่งเป็นสายโซ่สไตรีนที่ยาวกว่าเดิม เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ ภาชนะใส่อาหาร สีเคลือบ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน คอมพิวเตอร์ กาว ไฟเบอร์กลาส ฉนวน พรม
โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีสไตรีนเป็นส่วนประกอบไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง แต่ในกรณีที่เกิดการเผาไหม้สไตรีนโมโนเมอร์ จะเกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายอย่างไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxides, NOx), คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide, CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide, CO2) ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา เยื่อบุต่าง ๆ และหากสูดดมหรือหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนบนได้ หากได้รับสารพิษติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ซึมเศร้า และอาจส่งผลถึงการทำงานของไตได้อีกด้วย
ในส่วนของสไตรีนออกไซด์ (styrene-7,8-oxide) เป็นสารก่อมะเร็งซึ่งมีการทดสอบในระยะยาวแสดงให้เห็นว่า สไตรีนทำให้เกิดมะเร็งปอดในหนูหลายสายพันธุ์และมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุของเนื้องอกในทางเดินอาหารส่วนต้นรวมถึงตับ และในการศึกษาเชิงระบาดวิทยาก็พบผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสไตรีนมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สมบัติของพอลิเมอร์