เราคงเคยได้ยินกันมาแล้วว่าดิจิทัลเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถก่อภัยเสี่ยงต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของคนจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะวิถีแห่ง productivity ดังกล่าวที่มัดมือให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เน้นสร้างกำไรให้มากที่สุด (profit maximization) เพื่อสะสมทุนให้กิจการเติบใหญ่ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้แล้วด้วยต้นทุนในระยะยาวที่ถูกกว่า เช่น งานรูทีน (routine job) และงานประมวลผลต่าง ๆ
แต่อีกด้านหนึ่ง digital disruption และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลิตสร้างอาชีพเกิดใหม่ในอนาคตเช่นกัน ขณะเดียวกันอาชีพที่เน้นทักษะด้านมนุษย์ (human skills) หรือ soft skills รวมไปถึงอาชีพที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ก็มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน และเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new normal) หลังวิกฤตสิ้นสุดลง ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีอาชีพที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของพฤติกรรมใหม่ ๆ อย่างแน่นอน
เราลองมาดูกันว่าจะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หรืออาชีพดัั้งเดิมที่อาจมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต อะไรกันบ้าง
1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (software developer)
ปัจจุบันไม่ว่าจะธุรกิจประเภทใดต่างก็พึ่งพาเทคโนโลยีด้วยกันหมดทั้งสิ้น งานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์จึงเป็นที่ต้องการในตลาด และด้วยแนวโน้มการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ๆ โอกาสของอาชีพนี้จึงค่อนข้างสดใสและเป็นที่ต้องการมาก
2. รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (cybersecurity)
ด้วยการที่กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ยุคปัจจุบันต้องทำผ่านระบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมการเงิน การซื้อขายสินค้า การติดต่อสื่อสาร และเก็บบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ฯลฯ การป้องกันการโจรกรรมข้อมูลดิจิตอลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งทั้งในระดับปัจเจกและองค์กร
3. วิศวกรหุ่นยนต์ (robotics engineer)
วิศวกรส่วนใหญ่จะยังเป็นอาชีพที่ไม่ตกเทรนด์ แต่วิศวกรหุ่นยนต์เป็นสาขาหนึ่งที่มีทิศทางสดใสมาก ๆ ในอนาคต เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนตั้งแต่ระบบคลังสินค้า โลจิสติกส์ เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) หรือภาคการผลิต (manufacturing) ฯลฯ ต่างก็มีแนวโน้มที่จะประยุกต์ใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติด้วยกันทั้งสิ้น
4. ผู้จัดการโครงการ (project manager)
เป็นหนึ่งในอาชีพที่นอกจากจะต้องใช้ทักษะด้าน hard skills แล้ว ยังต้องพึ่งพาทักษะด้าน soft skills อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะต้องรู้รายละเอียดของโครงการอย่างถ่องแท้แล้ว ยังต้องสื่อสาร ประสานงาน สร้างบรรยากาศแห่งทีมเวิร์ค และบริหารปัจจัยต่าง ๆ ภายในทีมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการตามที่กำหนดเอาไว้ และถ้าหากการทำงานจากบ้าน (WFH) กลายมาเป็น new normal ความสามารถในการเป็นผู้จัดการโครงการที่ดีจะมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในสภาวะที่ทุกคนต่างทำงานกันจากทางไกล
5. นักการตลาด (marketer)
แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ได้เอื้อให้ตลาดการค้ามีผู้เล่นมากหน้าหลายตามากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันที่สูงขึ้น และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สามารถชี้ขาดถึงผลการแข่งขันคือความสามารถในการทำการตลาด ทำให้อาชีพนักการตลาดยังมีความสำคัญและไม่เอ้าท์
6. ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-commerce (e-commerce specialist)
แม้อาจนับรวมเป็นสาขาย่อยของการตลาด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-commerce ก็มีความโดดเด่นจนสามารถแยกออกมาเป็นการเฉพาะได้ เพราะระบบการค้าออนไลน์มีความสำคัญต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาย่อยนี้มีความสำคัญอย่างมากในกระแสการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาด e-commerce เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งสารไปยังผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เวลาจัดแคมเปญการตลาดผ่านระบบ e-commerce ถ้าผู้ประกอบการไม่ชำนาญในการใช้ระบบ สารที่อยากจะส่งไปยังผู้บริโภคก็อาจไปไม่ถึงหรือมีประสิทธิภาพไม่มากพอจนทำให้ไม่สามารถปิดการขายได้ เป็นต้น
7. นักพัฒนาแอปพลิเคชัน (mobile application developer)
ช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือแอปพลิเคชันบนมือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่อื่น ๆ ด้วยความนิยมนี้เองที่ทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันเนื้อหอมเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อมาเจอกันได้ง่ายขึ้น
8. ผู้ผลิตคอนเทนต์ (content creator)
นอกจากการบริหารจัดการและการตลาดแล้ว เรื่องราวของผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ก็เป็นอีกปัจจัยที่สามารถมัดใจลูกค้าได้อยู่หมัด และให้ผลตรงข้ามหากเล่าเรื่องได้ไม่ดีพอ โดยตัวผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีทักษะรอบด้านไม่ว่าจะเป็นการเขียน ถ่ายภาพ/วิดีโอ ตัดต่อ และมีความชำชาญในการเล่าเรื่องบนแพลตฟอร์มที่หลากหลายโดยเฉพาะออนไลน์ จะโดดเด่นจากผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีความถนัดเพียงเฉพาะทาง
9. ผู้สร้างสรรค์งานด้าน VFX (VFX/CGI)
ทักษะในการผลิตงานด้าน Visual Effects (VFX) เป็นที่ต้องการมากขึ้นในแวดวงการสื่อสาร โดยเฉพาะในวงการโฆษณา ละคร และภาพยนตร์ โดยมีแรงหนุนมาจากการแข่งขันด้านการตลาดที่ต้องพึ่งพาการโฆษณาที่ดึงดูดผู้ชมมากขึ้น และความนิยมชมภาพยนตร์ที่มี VFX อลังการมากขึ้นของผู้ชม
10. ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (creative director)
หนึ่งในปัจจัยชี้ขาดว่าโครงการใด (ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์โฆษณาหรือแคมเปญการตลาด) จะปังหรือไม่ปังคือความคิดสร้างสรรค์ โดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ที่ดีไม่ใช่แค่ต้องมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะในการคัดกรองความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ จากลูกทีม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโปรเจกต์ของทีมได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังต้องบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพงานด้าน creative ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย อาชีพนี้จึงมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจหรือโครงการที่ต้องเน้นงานด้าน creative
11. นักวิจัยประสบการณ์ลูกค้า (user experience (UX) researcher)
การที่จะมีกิจกรรมการตลาด แอปพลิเคชัน คอนเทนต์ และประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโปรเจกต์ แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามใจหรือเกินความคาดหมายของลูกค้าได้ก็ต้องพึ่งพาข้อมูลด้านลูกค้าทั้งในเชิงคุณภาพ (qualitative) และปริมาณ (quantitative) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนักวิจัยด้านประสบการณ์ลูกค้าที่มีความสามารถในการค้นคว้าข้อมูล ประมวลผลข้อมูลดิบ และสามารถสื่อสารผลการศึกษาที่ได้มาอย่างเป็นระบบและเข้าใจง่ายจะเข้ามาเติมเต็มจิ๊กซอว์แห่งความสำเร็จนี้ได้
12. นักวิเคราะห์ (analyst)
แม้จะคาบเกี่ยวกับนักวิจัยแต่บางครั้งผู้ที่สามารถวิเคราะห์ ตีความ และนำผลการวิจัยไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่คนเดียวกับนักวิจัยแต่เป็นนักวิเคราะห์ ขณะเดียวกัน แม้ว่าหุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์ขั้นสูงจะสามารถประมวลผลข้อมูลดิบบางด้านได้เก่งกว่ามนุษย์แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลด้านการคำนวณตัวเลข แต่ทักษะในการตีความ วิเคราะห์สถานการณ์เป็นรายกรณี (scenario analysis) และการสื่อสารผลวิเคราะห์ยังเป็นงานที่มนุษย์ทำได้ดี และมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารล้นเกินจนบางครั้งแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก ซึ่งอาชีพนักวิเคราะห์สามารถเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้
13. ที่ปรึกษาทางธุรกิจ (business consultants)
การแข่งขันที่สูงขึ้น ข้อมูลที่ล้นเกิน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคมากมายในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การตัดสินใจของผู้ประกอบการทั้งมือใหม่และรุ่นเก๋าอาจผิดพลาดได้ การมีที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีข้อมูลแน่นและมองเกมขาดก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงและช่วยให้กิจการพิชิตเป้าหมายได้
14. ตัวแทนการขาย (sale representative)
แม้จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำยุค มีการวางแผน กำหนดกลยุทธ์ บริหารจัดการระดับเทพ แต่หลาย ๆ ธุรกิจยังต้องพึ่งพาตัวแทนการขายที่เพียบพร้อมไปด้วย soft skills ด้านการสื่อสาร เจรจา ดึงดูดลูกค้าเหมือนเดิม เพราะ AI ยังไม่สามารถทำหน้าที่สานสายสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีเท่ามนุษย์
15. นักบริบาล (care worker)
การที่สังคมในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรโดยรวมมากขึ้น งานด้านการดูแลบุคคล (care work) จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น และด้วยการที่ลูกหลานถูกรุมเร้าและบีบคั้นจากหน้าที่การงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจไม่มีเวลามาดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวด้วยตนเอง ทำให้ความต้องการในการใช้บริการจาก care worker สูงขึ้นหากแนวโน้มโดยรวมยังดำเนินต่อไป
16. ที่ปรึกษาสุขภาพจิต (mental health conselor)
เพราะการแข่งขันที่สูงยิ่งขึ้น อาหารการกินที่ไม่ถูกสุขอนามัย และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่พร้อมเข้ามารุมเร้าชีวิตผู้คนในยุคดิจิทัลที่มีอัตราเร่งของชีวิตสูงปรี๊ดเช่นนี้ ทำให้ผู้คนมีอาการป่วยทางจิตมากยิ่งขึ้น และด้วยความรู้และการเปิดรับโรคทางจิตมากขึ้น ทำให้อาชีพที่ปรึกษาสุขภาพจิตจึงเป็นอีกอาชีพที่น่าจับตามองมาก ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง
5 New Jobs in the Future อาชีพเกิดใหม่ในอนาคต
Pop Culture jobs อาชีพป๊อปป๊อปบนโลกออนไลน์
Health Professional อาชีพในโรงพยาบาลที่น่าสนใจไม่แพ้หมอ
6 ทักษะต้องมี เพราะ AI ทำไม่ได้
รวมอาชีพสุดเจ๋งที่งานสนุก รายได้ดี แถมได้เที่ยวรอบโลก
แนะนำ 10 อาชีพอิสระที่น่าสนใจ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
7 อาชีพเจ๋ง ๆ ในซีรีส์เกาหลี ที่ดูแล้วอยากทำขึ้นมาเลย
‘AQ’ ทักษะจำเป็นในวันที่โลกหมุนเร็วจนตามไม่ทัน
6 วิธีพัฒนาทักษะสมอง EF ในวัยรุ่นให้เก่งและดี เอาตัวรอดได้
วิธีปรับ Mindset ปลุก Passion ปลดล็อคความสามารถเจ๋ง ๆ ในตัวเอง
ค้นหาตัวเองให้เจอเพื่ออาชีพในฝันด้วยหลักอิคิไกสไตล์ญี่ปุ่น
แหล่งข้อมูล
- The future of work after COVID-19
- The Future of Jobs in the Era of AI
- Strongest Jobs after Covid Virus | Good News
- 5 Jobs for People with People Skills
- The 30 best high-paying jobs of the future
- The 13 Best Jobs for the Future