1. ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์วงนอก คืออยู่ถัดจากแถบดาวเคราะห์น้อยออกไป โดยเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ เช่นเดียวกับ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งอยู่ถัดออกไปจากดวงอาทิตย์
2. ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และยังมีมวลมากที่สุด โดยมวลของมันมีขนาด 1.899 x 1027 กิโลกรัม หรือประมาณ 318 เท่าของมวลโลก (มวลของโลกมีขนาด 5.97 × 1024 กิโลกรัม) สามารถบรรจุโลกของเราลงไปได้ถึง 1,300 ใบ และหากนำมวลของดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะรวมกัน ดาวพฤหัสบดีจะมีมวลมากกว่าถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว
3. นอกจากดาวพฤหัสบดีจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะแล้ว ยังมีดวงจันทร์บริวารมากเป็นอันดับสอง รองจากดาวเสาร์อีกด้วย (ปัจจุบันพบว่า ดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 82 ดวง) ซึ่งแต่เดิมนักวิทยาศาสตร์พบว่า ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารอยู่ 67 ดวง แต่ในปี 2017 พบเพิ่มอีก 12 ดวง ดังนั้น ดาวพฤหัสบดีจึงมีดวงจันทร์บริวารเป็น 79 ดวง โดยมีแกนิมีด (Ganymede) เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาดวงจันทร์บริวารทั้งหมดของดาวพฤหัสบดี และยังใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะอีกด้วย มันมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 5,262 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าดาวพุธเสียอีก ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ที่คุ้นชื่อกันดีอย่าง กาลิเลโอ กาลิเลอิ เมื่อปี ค.ศ. 1610
4. เนื่องจากดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ มันจึงแตกต่างจากดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร นั่นคือ มันไม่มีพื้นผิวดาวที่แท้จริงให้ยานอวกาศลงจอด เพราะชั้นนอกของดาวพฤหัสบดีนั้นประกอบไปด้วยก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก (คล้ายกับดวงอาทิตย์) แต่ความดันและความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าใกล้แกนกลางมากขึ้น ก็ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า บริเวณใจกลางของดาวพฤหัสบดีอาจจะเป็นโลหะแข็งหรืออาจจะร้อนและเป็นของเหลวหนืดที่มีอุณหภูมิสูงถึง 50,000 องศาเซลเซียสก็ได้ ซึ่งอาจมีแร่เหล็กและซิลิเกตเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนนักถึงโครงสร้างใจกลางของมัน
5. แม้ว่าบนดาวพฤหัสบดีจะไม่มีพื้นดาวที่แท้จริง แต่มันกลับมีมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ โดยมหาสมุทรนี้มีความหนาประมาณ 40,000 กิโลเมตร เกิดจากไฮโดรเจน แทนที่จะเป็นน้ำเหมือนกับโลกของเรา เนื่องมาจากมีองค์ประกอบเป็นก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อลึกเข้าไปในใจกลางดวงดาว ก๊าซเหล่านี้จะได้รับความดันและอุณหภูมิที่มากขึ้น เกิดการบีบอัดจนทำให้ก๊าซไฮโดรเจนกลายเป็นของเหลวนั่นเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า มหาสมุทรดังกล่าวอาจมีความลึกไปถึงกึ่งกลางดวงดาวเลยก็เป็นได้
6. ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีนั้นถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มเมฆและพายุหมุนที่มีความหนาประมาณ 50 กิโลเมตร โดยบริเวณกลุ่มเมฆจะมีอุณหภูมิ -145 องศาเซลเซียส แต่ยิ่งใกล้แกนกลางของดาวมากเท่าไร อุณหภูมิก็จะยิ่งร้อนขึ้นเท่านั้น
7. องค์ประกอบของชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีโดยรวมประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจน 89% และฮีเลียม 11% นอกจากนี้ยังมีแอมโมเนีย มีเทน ไอน้ำ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ฟอสฟีน โดยสามารถแบ่งชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีได้เป็นชั้นนอกสุด ประกอบด้วย ผลึกแข็งของแอมโมเนีย ส่วนชั้นกลางเป็นผลึกของแอมโมเนียไฮโดรซัลไฟด์ และต่ำลงไปเป็นเมฆ ไอน้ำ และน้ำแข็ง ทั้งนี้ผลึกแอมโมเนีย ซัลเฟอร์ และสารประกอบที่เกิดจากสารทั้งสองชนิด ทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีมีกลิ่นไม่พึงประสงค์นัก
8. สีของดาวพฤหัสบดีมีลักษณะเป็นแถบสีขาวสลับกับแถบสีน้ำตาล สีส้ม และสีแดง แถบนี้มี 2 ลักษณะคือแถบสว่าง เรียกว่า zone ซึ่งเป็นบริเวณที่ก๊าซในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีสูงขึ้น และแถบมืดเรียกว่า belts ซึ่งเป็นบริเวณที่ก๊าซในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดียุบลง สีที่แตกต่างกันมีสาเหตุมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิและองค์ประกอบบนแถบนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลึกแอมโมเนีย หยดน้ำ ไฮโดรเจน หรือธาตุอื่น ๆ
9. หากมองภาพถ่ายของดาวพฤหัสบดีจะเห็นจุดกลม ๆ สีแดงขนาดใหญ่ อยู่บนแถบสีที่พาดดวงดาวอยู่ นั่นคือพายุหมุนที่รุนแรงบนดาวพฤหัสบดี มันตั้งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรบนดาวขนาดใหญ่ดวงนี้ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 24,000 กิโลเมตร และสูงประมาณ 14,000 กิโลเมตร มีความเร็วประมาณ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จุดดังกล่าวนี้ถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1665 และได้รับการยืนยันว่าเป็นพายุหมุนที่รุนแรงจากการทำภารกิจของยาน Voyager 1 ในปี ค.ศ. 1979
10. ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางเฉลี่ย 778 ล้านกิโลเมตร หรือ 5.2 AU (หน่วยดาราศาสตร์) ซึ่งไกลมากเมื่อเทียบกับโลก (โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 1 AU) ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาเดินทางมาจากดาวดวงนี้นานถึง 43 นาที
11. ในยามค่ำคืน เราสามารถมองเห็นดวงดาวที่ส่องสว่างได้ และดาวพฤหัสบดีเป็นหนึ่งในสี่ดวงในระบบสุริยะที่สว่างที่สุดและมองเห็นได้จากโลก ที่สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีก็คือ ดวงอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวศุกร์
12. องค์ประกอบไฮโดรเจนและฮีเลียมของดาวพฤหัสบดี มีความคล้ายคลึงกับองค์ประกอบบนดวงอาทิตย์มาก แต่ดาวพฤหัสบดีก็ยังไม่สามารถกลายเป็นดาวฤกษ์ที่ส่องสว่างเจิดจ้าอย่างดวงอาทิตย์ได้ เพราะมันมีมวลไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันที่แกนกลางของดาว แต่หากมันมีมวลมากกว่าปัจจุบันสัก 70-80 เท่า ก็อาจเกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ขึ้นมาอีกดวงหนึ่งก็เป็นได้
13. แม้จะมีขนาดดาวที่ใหญ่กว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แต่ขนาดที่ใหญ่และมวลที่มาก รวมถึงลักษณะกลมแป้น ทำให้ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนที่ได้เร็ว มันใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ด้วยความเร็ว 12.6 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 45,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น 1 วันบนดาวพฤหัสบดีจึงสั้นกว่า 1 วันบนดาวเคราะห์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางที่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก ดาวพฤหัสบดีจึงใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ยาวนานถึง 12 ปี หรือ 4,333 วันของโลก
14. ด้วยความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดีที่เร็วกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ทำให้แกนกลางของดาวที่อาจประกอบไปด้วยไฮโดรเจนและโลหะเหลวเคลื่อนตัวไปด้วย และสร้างสนามแม่เหล็กที่ทรงพลังที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ซึ่งรุนแรงมากกว่าโลกประมาณ 14 เท่า สนามแม่เหล็กนี้เองมีส่วนทำให้เกิดรังสีอันตรายรอบ ๆ ดาวพฤหัสบดี และเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการสำรวจดาวยักษ์ใหญ่ดวงนี้
15. นอกจากดาวเสาร์แล้ว ดาวพฤหัสบดีเองก็มีวงแหวนเช่นกัน โดยถูกพบต่อจากดาวเสาร์ ยูเรนัส และเนปจูน ด้วยยานอวกาศ Voyager 1 ในปี ค.ศ. 1979 แต่วงแหวนของดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นวงแหวนบางและจางมาก ประกอบด้วยอนุภาคของฝุ่นขนาดเล็ก แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) วงแหวนด้านในหรือฮาโลเป็นส่วนที่สว่างที่สุดและเป็นบริเวณที่หนาที่สุดของวงแหวน 2) วงแหวนหลักเป็นส่วนที่บางที่สุดและค่อนข้างสว่าง และ 3) วงแหวนรอบนอกสุดประกอบด้วยฝุ่นอนุภาคละเอียด มีลักษณะคล้ายใยแมงมุมบาง ๆ
16. มียานอวกาศทั้งหมด 9 ลำที่เคยไปเยี่ยมเยือนดาวพฤหัสบดีมาแล้ว โดยยานอวกาศลำแรกเป็นยานอวกาศจากนาซ่าที่มีชื่อว่า Pioneer 10 ถูกส่งไปยังดาวพฤหัสบดีในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1973 และปีต่อมา Pioneer 11 ก็ถูกส่งตามไป ตามด้วย Voyager 1 and 2, Ulysses, Galileo, Cassini, และ New Horizons และเพื่อทำการศึกษาดาวพฤหัสบดีอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ล่าสุดนาซ่าได้ทำการส่งยานอวกาศลำที่ 9 ขึ้นไปในปี 2016 โดยใช้ชื่อว่า Juno ซึ่งเป็นยานอวกาศที่โคจรรอบดาวพฤหัสเพื่อทำการสำรวจ
17. โดยทั่วไปแล้วแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดระหว่างมวลจะมากหรือน้อยขึ้นกับมวลของวัตถุ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ดาวพฤหัสบดีที่มีมวลมากกว่าโลกจะมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าประมาณ 2.4 เท่า ซึ่งหมายความว่า หากชั่งน้ำหนักบนโลกได้ 100 กิโลกรัม เมื่อไปชั่งบนดาวพฤหัสบดี ก็จะมีน้ำหนักเท่ากับ 240 กิโลกรัม
18. แม้ว่าดาวพฤหัสบดีจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก มีมวลมากกว่าโลกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่โลกของเหนือกว่าดาวพฤหัสบดีก็คือความหนาแน่น เพราะโลกมีความหนาแน่น 5.51 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ขณะที่ดาวพฤหัสบดีมีความหนาแน่นเพียง 1.33 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ทั้งนี้เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นกลุ่มก๊าซจำนวนมากนั่นเอง
19. ด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบของดาวพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ รวมถึงอุณหภูมิ และความดันที่มีความรุนแรงและผันผวนเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะปรับตัวให้อยู่รอดได้ ที่แห่งนี้จึงไม่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์ซึ่งเป็นบริวารของดาวพฤหัสบดีอย่างยูโรปากลับเป็นสถานที่หนึ่งที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เนื่องจากมีหลักฐานของมหาสมุทรภายใต้เปลือกน้ำแข็งซ่อนอยู่
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 19 เรื่องจริงบนดาวอังคาร
- 19 เรื่องจริงบนดาวศุกร์
- 19 เรื่องจริงบนดวงอาทิตย์
- 19 เรื่องจริงบนดวงจันทร์
- 19 เรื่องมหัศจรรย์โลกของเรา
- วงแหวนดาวเสาร์ ความสวยงามในอวกาศ