Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรียนรู้อารมณ์ต่าง ๆ ของลูก

Posted By Plook TCAS | 28 มิ.ย. 64
4,196 Views

  Favorite

          พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยมัธยมต้นนั้น ไม่ต่างจากพัฒนาทางร่างกายที่ฮอร์โมนของพวกเขา

          กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เขาอาจเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้ดี แต่ความขัดแย้งทางอารมณ์มีอยู่ตลอดเวลา  บางครั้งเราอาจเห็นพวกเขาทำตัวราวกับเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งทำตัวเป็นเด็ก อย่างสับสน  ตอนนี้หน้าที่ของพวกคุณต้องวิ่งตามอารมณ์พวกเขาให้ทัน  

          ครั้งนี้เรามีคู่มือช่วยให้คุณ สังเกต เรียนรู้ ไล่ตามประเด็นอารมณ์พวกเขาได้ง่ายขึ้น และแน่นอนอย่างสนุกสนาน เพลิดเพลินด้วย

 

เริ่มต้นที่สมุดบันทึก

เหมือนย้อนกลับไปในวันแรกที่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลก หลายครอบครัวคงมีสมุดบันทึกพัฒนาการแต่ละช่วงวัย หรือต้องมีสมุดจดสุขภาพ เช่นกัน คราวนี้คุณต้องหาสมุดบันทึกน่ารัก ๆ แล้วมาสังเกต จดความเปลี่ยนแปลง หรือใครมีเวลาสะดวกก็บันทึกเป็นวิดีโอ เป็นไฟล์ แน่นอนเด็ก ๆ ย่อมไม่รู้ว่าคุณกำลังตามเฝ้าสังเกตด้วยความรัก ความห่วงใย  แล้วคุณจะเรียนรู้ว่าลูกของคุณเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดมากสุด การบันทึกอารมณ์ พฤติกรรม นอกจากเป็นหลักฐานเตือนความจำ เวลาคุณจะแย้งเหตุผล หรือตำหนิพวกเขาแล้ว ยังใช้เป็นสัญญาณเตือนกรณีที่ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ ความรู้สึก ผิดปกติมากเกิน หรือเกินกำลังรับมือของคุณ

 

เข้าให้ถึงพื้นฐานอารมณ์ที่กำลังพัฒนาของพวกเขา
อารมณ์รัก

เด็ก Gen Z มักมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี จะระมัดระวังตัวเองอย่างมากที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจ ทั้งคนในบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน และเพื่อน ๆ ในโลกออนไลน์  พวกเขาต้องการความรัก ความอบอุ่นเป็นอย่างมาก  ต่อเนื่องไปถึงอารมณ์ทางเพศ แนะนำให้พวกเขาเรียนรู้ เข้าใจ เรื่องของความรัก เพศตรงข้าม ตามความเหมาะสมกับวัยของเขา

 

อารมณ์ทางเพศ

ด้วยพัฒนาการฮอร์โมนของร่างกายของวัยพวกเขา ส่งผลให้เขามีอารมณ์สนใจในร่างกาย ในภาพลักษณ์ของตัวเอง สนใจความสวยงามเป็นพิเศษในเพศตรงข้าม เด็กบางคนอาจมีความต้องการทางเพศสูง คุณพ่อคุณแม่ต้องแนะนำความรู้เรื่องการดูแลร่างกายที่กำลังเติบโต ความแตกต่างของเด็กหญิงเด็กชาย  เรื่องสุขอนามัย ความสัมพันธ์ทางเพศ  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  การมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง รวมทั้งการตั้งครรภ์   โดยทั้งหมดเพื่อให้เขาเข้าใจ ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของร่างกาย  ใช้ชีวิตไปในทิศทางที่ถูกต้อง  ไม่ไปเรียนรู้เอาเอง หรือทดลองด้วยตัวเอง  

 

อารมณ์โกรธ เกลียด

เด็กวัยนี้สามารถควบคุมและระงับความโกรธได้ดีขึ้น ไม่โกรธง่าย แต่นั่นหมายความว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามความเชื่อ และมีเหตุผลของตัวเองมากพอ  อย่าทำให้พวกเขาเสียความรู้สึก เสียความศรัทธา มันอาจไม่ใช่ความเกลียด โกรธ แต่เป็นความไม่พอใจที่ทำให้เขาต้องตั้งคำถาม และตามหาคำตอบให้ได้ หรือกลายเป็นความสับสนทางอารมณ์  ทางที่ดีที่สุด คุณต้องสังเกต บันทึกการเปลี่ยนแปลงอารมณ์เหล่านี้อย่างละเอียด  และคอยระมัดระวังไม่ให้เขามีมากเกินไป จนไปใกล้ขีดของการใช้ความรุนแรง

 

อารมณ์เพ้อฝันจินตนาการ

พวกเขาหลายคนอาจเป็นเด็กช่างฝัน มีจินตนาการมากขึ้น สนุกสนานกับการอยู่ในโลกออนไลน์ คุณอาจตามบันทึกพฤติกรรมของเขา โดยเป็นเพื่อนร่วมเล่นเกมต่าง ๆ  ตอบคำถามสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ หรืออยากรู้อยากเห็น เหมือนเมื่อครั้งที่คุณเล่านิทานให้เขาฟังตอนเด็ก คอยแนะนำพวกเขาให้แยกโลกความจริง กับโลกจินตนาการ ให้เขาหัดบันทึกความคิดฝัน นำจินตนาการมาสร้างสรรค์ ประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งของตัวพวกเขาเอง และคนอื่น ๆ  

 

อารมณ์กลัว

สิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุดคือ กลัวการไม่มีเพื่อน  กลัวไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ๆ ชอบการยกย่องชื่นชม ไม่ชอบการเปรียบเทียบ ความกลัวของพวกเขาจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย แต่ความกลัวของพวกเขา อาจเปลี่ยนเป็นความเครียด ความกังวล ความหงุดหงิด ความอับอาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของพวกเขาเอง และอาจส่งผลไปยังเรื่องอื่น ๆ ต่อได้ง่าย

 

ความเป็นตัวของตัวเอง ความต้องการเป็นอิสระ

พวกเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แม้จะยังไม่ค่อยสมบูรณ์นักก็ตาม  เด็ก Gen Z ไม่ชอบอยู่ในกฎเกณฑ์   ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง  มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่ใช้การบังคับ เข้มงวด  หรืออาจเปลี่ยนไปเป็นการดื้อรั้น  ความท้าทาย อยากรู้อยากเห็นอยากลองด้วยตัวเองจะมีสูงสุดในวัยนี้ คุณต้องคอยสังเกต ความชอบ ไม่ชอบ อย่าเคร่งครัดกับพวกเขามากนัก อธิบายให้พวกเขาเข้าใจ และมีขอบเขตของความมีอิสระ เพราะบางครั้งฮอร์โมนในวัยของพวกเขาก็ทำให้อยากเป็นผู้ใหญ่  ได้ทำอะไรได้ตามใจตามความคิดของตนเอง บางครั้งก็อยากจะมีคนดูแล อยากจะสบายแบบเด็ก ๆ

 

ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น  

การเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นจะช่วยให้พวกเขาเกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  อย่าแปลกใจถ้าพวกเขาอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมาก ๆ  เริ่มต้นจากที่บ้านสนับสนุนให้เขามีความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดี  มีประโยชน์กับผู้อื่น  ให้เขาเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้การยอมรับอย่างจริงใจ แนะนำการช่วยเหลือ  แบ่งปัน การใช้คำว่าขอบคุณ ขอโทษ  การอ่อนโน้มถ่อมตนมีสัมมาคารวะกับบุคคลในวัยที่แตกต่างกัน แน่นอนเขาต้องได้รับการยอมรับที่ดี เป็นที่รักใคร่ เอ็นดู ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือ และแน่นอน มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอนาคต

 
เป้าหมายในการดำเนินชีวิต    

เป็นอีกอารมณ์ในการตามหาตัวตน เรื่องเรียน อาชีพในอนาคต พยายามบันทึกโดยดูสิ่งที่เขาชอบ พฤติกรรมการแสดงออก  คุณอาจช่วยให้คำแนะนำ ไม่ให้เขาสับสน หลงทาง กับความหลากหลายในความสามารถ กับความต้องการของตัวเอง  แนะนำให้เขาหาความรู้ หาทักษะเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา รวมถึงอธิบายเสริมเรื่องของจริยธรรม มโนธรรม  ความถูกต้องของการใช้ชีวิตของตัวเอง หรือกับเพื่อน ๆ ในสังคม คอยระวัง สังเกตความคิดเชิงอุดมคติที่อาจมีสูงเกินไป เพื่อช่วยเสริมพื้นฐานอารมณ์ที่ดี สำหรับการปรับตัวเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา    

 

          อย่าลืมว่าเมื่อคุณก้าวทันตามอารมณ์ของลูกแล้ว คุณเองก็ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง แสดงออกให้ดีด้วยเช่นกัน  ไม่ยากเลยย้อนกลับไปตอนต้นใหม่ มีสมุดบันทึกอีกเล่มสังเกต เรียนรู้ จดบันทึกอารมณ์ของตัวเองไปพร้อมกับลูก บอกแล้วว่าการเรียนรู้เรื่องอารมณ์นั้นสนุกจริง ๆ 

 

อังสนา  ทรัพย์สิน

 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก https://med.mahidol.ac.th, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://th.theasianparent.com, https://new.camri.go.th, https://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow